ผมอยากให้ทุกคนเข้าใจประมวลรัษฎากร และนำไปใช้ได้อย่างถูกต้อง
สุเทพ พงษ์พิทักษ์

หลักเกณฑ์การหักลดหย่อมดอกเบี้ยเงินกู้ยืมเพื่อที่อยู่อาศัย

บทความวันที่ 11 ก.ค. 2560  .  เขียนโดย อจ.สุเทพ  .  เข้าชม 4089 ครั้ง

หลักเกณฑ์การหักลดหย่อมดอกเบี้ยเงินกู้ยืมเพื่อที่อยู่อาศัย

1. เกี่ยวกับค่าลดหย่อนดอกเบี้ยเงินกู้ยืมเพื่อที่อยู่อาศัยนั้น เป็นไปตามมาตรา 47 (1)(ซ) แห่งประมวลรัษฎากร ดังนี้ 
....(ซ) ดอกเบี้ยเงินกู้ยืมที่ผู้มีเงินได้จ่ายให้แก่ธนาคารหรือสถาบันการเงินอื่น บริษัทประกันชีวิต สหกรณ์หรือนายจ้างสำหรับการกู้ยืมเงินเพื่อซื้อ เช่าซื้อ หรือสร้างอาคารอยู่อาศัย โดยจำนองอาคารที่ซื้อหรือสร้างเป็นประกันการกู้ยืมนั้น ตามจำนวนที่จ่ายจริงแต่ไม่เกิน 10,000 บาท ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ และวิธีการที่อธิบดีกำหนดโดยอนุมัติรัฐมนตรีและประกาศในราชกิจจานุเบกษา อาคารดังกล่าวให้หมายความรวมถึงอาคารพร้อมที่ดินด้วย
....อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 47(1)(ซ) แห่งประมวลรัษฎากร อธิบดีกรมสรรพากรโดยอนุมัติรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ออกประกาศอธิบดีกรมสรรพากร
เกี่ยวกับภาษีเงินได้(ฉบับที่ 86) เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการ การหักลดหย่อนสำหรับดอกเบี้ยเงินกู้ยืมตามมาตรา 47(1)(ซ) แห่งประมวลรัษฎากร ลงวันที่ 17 พฤศจิกายน พ.ศ. 2543 กำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการเพื่อการหักลดหย่อนสำหรับดอกเบี้ยเงินกู้ยืมไว้ดังต่อไปนี้ ทั้งนี้ โดยให้ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2543 เป็นต้นไป
....1.1 การหักลดหย่อนสำหรับดอกเบี้ยเงินกู้ยืมตามมาตรา 47(1)(ซ) แห่งประมวลรัษฎากร ให้หักลดหย่อนได้ตามหลักเกณฑ์ดังต่อไปนี้
..........(1) เป็นดอกเบี้ยเงินกู้ยืมสำหรับการกู้ยืมจากผู้ประกอบกิจการในราชอาณาจักรดังต่อไปนี้
..................(ก) ธนาคาร
..................(ข) บริษัทตามกฎหมายว่าด้วยการประกอบธุรกิจเงินทุน ธุรกิจหลักทรัพย์ และธุรกิจเครดิตฟองซิเอร์
..................(ค) บริษัทประกันชีวิต
..................(ง) สหกรณ์
..................(จ) นายจ้างซึ่งมีระเบียบเกี่ยวกับเงินกองทุนที่จัดสรรไว้เพื่อสวัสดิการแก่ลูกจ้าง
..................(ฉ) บรรษัทตลาดรองสินเชื่อที่อยู่อาศัยตามกฎหมายว่าด้วยบรรษัทตลาดรองสินเชื่อที่อยู่อาศัย
..........(2) เป็นดอกเบี้ยเงินกู้ยืมตามสัญญากู้ยืมเงินเพื่อซื้อ เช่าซื้ออาคาร อาคารพร้อมที่ดิน หรือห้องชุดในอาคารชุด หรือเพื่อสร้างอาคารใช้อยู่อาศัยบนที่ดินของตนเองหรือบนที่ดินที่ตนเองมีสิทธิครอบครอง
..........(3) ต้องจำนองอาคารหรือห้องชุดในอาคารชุด หรืออาคารพร้อมที่ดินเป็นประกันการกู้ยืมเงินนั้น โดยมีระยะเวลาจำนองตามระยะเวลาการกู้ยืม
..........(4) ต้องใช้อาคารหรือห้องชุดในอาคารชุดตาม (3) เป็นที่อยู่อาศัยในปีที่ขอหักลดหย่อน แต่ไม่รวมถึงกรณีลูกจ้างซึ่งถูกนายจ้างสั่งให้ไปปฏิบัติงานของนายจ้าง ณ ต่างถิ่นเป็นประจำหรือกรณีอาคารหรือห้องชุดดังกล่าวเกิดอัคคีภัย ภัยธรรมชาติ หรือภัยอันเกิดจากเหตุอื่น ทั้งนี้ เฉพาะที่มิใช่ความผิดของผู้มีเงินได้ จนไม่อาจใช้อาคารชุดหรือห้องชุดนั้นอยู่อาศัยได้ 
..........(5) กรณีผู้มีเงินได้มีอาคารหรือห้องชุดในอาคารชุดตาม (3) เป็นที่อยู่อาศัยในปีที่ขอหักลดหย่อนเกินกว่า 1 แห่ง ให้หักลดหย่อนได้ทุกแห่งสำหรับอาคารหรือห้องชุดในอาคารชุดตาม (3)
..........(6) ให้หักลดหย่อนได้ตลอดปีภาษี ไม่ว่ากรณีที่จะหักลดหย่อนได้นั้นจะมีอยู่ตลอดปีภาษีหรือไม่
..........(7) กรณีผู้มีเงินได้หลายคนร่วมกันกู้ยืมให้หักลดหย่อนได้ทุกคนโดยเฉลี่ยค่าลดหย่อนตามส่วนจำนวนผู้มีเงินได้ แต่รวมกันต้องไม่เกินจำนวนที่จ่ายจริงและไม่เกิน 10,000 บาท
..........(8) กรณีสามีภริยาร่วมกันกู้ยืมโดยสามีหรือภริยามีเงินได้ฝ่ายเดียวให้หักลดหย่อนสำหรับผู้มีเงินได้เต็มจำนวนตามที่จ่ายจริงแต่ไม่เกิน 10,000 บาท
..........(9) กรณีผู้มีเงินได้ซึ่งมีสิทธิหักลดหย่อนอยู่ก่อนแล้วต่อมาได้สมรสกัน ให้ยังคงหักลดหย่อนได้ดังนี้
..................(ก) ถ้าต่างฝ่ายต่างยื่นรายการเกี่ยวกับภาษีเงินได้พึงประเมินที่ตนได้รับในปีภาษีที่ล่วงมาแล้วตามวรรคหนึ่งของมาตรา 57 ฉ แห่งประมวลรัษฎากร ให้ต่างฝ่ายต่างหักลดหย่อนดอกเบี้ยเงินกู้ยืมส่วนของตนได้ตามจำนวนที่จ่ายจริงแต่ไม่เกิน 10,000 บาท
..................(ข) ถ้าต่างฝ่ายต่างยื่นรายการเกี่ยวกับภาษีเงินได้พึงประเมินเฉพาะส่วนที่เป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (1) แห่งประมวลรัษฎากร โดยไม่ถือเป็นเงินได้ของอีกฝ่ายหนึ่งตามวรรคสามของมาตรา 57 ฉ แห่งประมวลรัษฎากร ให้ต่างฝ่ายต่างหักลดหย่อนดอกเบี้ยเงินกู้ยืมส่วนของตนได้ตามจำนวนที่จ่ายจริงแต่ไม่เกิน 10,000 บาท
..................(ค) ถ้าสามีภริยาตกลงยื่นรายการและเสียภาษีรวมกัน โดยถือเอาเงินได้พึงประเมินของตนเป็นเงินได้ของสามีหรือภริยาอีกฝ่ายหนึ่งตามวรรคสามของมาตรา 57 ฉ แห่งประมวลรัษฎากร ให้ผู้มีเงินได้หักลดหย่อนดอกเบี้ยเงินกู้ยืมส่วนของตนได้ตามจำนวนที่จ่ายจริงแต่ไม่เกิน 10,000 บาท และหักลดหย่อนดอกเบี้ยเงินกู้ยืมส่วนของสามีหรือภริยาได้ตามจำนวนที่จ่ายจริงแต่ไม่เกิน 10,000 บาท 
..........(10) กรณีมีการแปลงหนี้ใหม่ด้วยการเปลี่ยนตัวเจ้าหนี้เงินกู้ยืมระหว่างผู้ให้กู้ตาม (1) ให้ยังคงหักลดหย่อนได้ตามจำนวนที่จ่ายจริงแต่ไม่เกิน 10,000 บาท
....1.2 ดอกเบี้ยเงินกู้ยืมตามข้อ 1.1 ให้หมายความรวมถึงดอกเบี้ยเงินกู้ยืมเพื่อชำระหนี้เงินกู้ยืมเพื่อซื้อ เช่าซื้อ หรือสร้างอาคารที่อยู่อาศัย หรือห้องชุดด้วย ทั้งนี้ เฉพาะดอกเบี้ยสำหรับเงินกู้ยืมเพื่อชำระหนี้ส่วนที่ไม่เกินกว่าหนี้ที่ค้างชำระนั้น (ข้อ 3)
....1.3 การหักลดหย่อนตามประกาศนี้ ผู้มีเงินได้ต้องมีหลักฐานจากเจ้าหนี้ผู้ให้กู้ยืมที่พิสูจน์ได้ว่าได้มีการจ่ายดอกเบี้ยสำหรับการกู้ยืมเงินด้วย (ข้อ 4)

2. ต่อมาได้มีการออกกฎกระทรวง ฉบับต่างๆ เพิ่มเติมข้อ 2 ของกฎกระทรวง ฉบับที่ 126 (พ.ศ. 2509) เป็นข้อ 2 (52) (53) และ (59) เพื่อกำหนดดังนี้
....(52) เงินได้เท่าที่ได้จ่ายเป็นดอกเบี้ยเงินกู้ยืม สำหรับการกู้ยืมเงินเพื่อซื้อ เช่าซื้อ หรือสร้างอาคารที่อยู่อาศัย โดยจำนองอาคารที่ซื้อหรือสร้างเป็นประกันการกู้ยืมนั้น ตามจำนวนที่จ่ายจริงแต่ไม่เกินหนึ่งแสนบาท ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่อธิบดีกำหนด ทั้งนี้ เฉพาะดอกเบี้ยเงินกู้ยืมที่ได้จ่ายตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2550 เป็นต้นไป ซึ่งจ่ายให้แก่ 
..........(ก) กองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์เพื่อแก้ไขปัญหาในระบบสถาบันการเงินที่จัดตั้งขึ้นตามกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ 
..........(ข) กองทุนรวมเพื่อแก้ไขปัญหาในระบบสถาบันการเงินที่จัดตั้งขึ้นตามกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ 
..........(ค) นิติบุคคลเฉพาะกิจซึ่งจัดตั้งขึ้นเพื่อดำเนินการแปลงสินทรัพย์เป็นหลักทรัพย์ตามกฎหมายว่าด้วยนิติบุคคลเฉพาะกิจเพื่อการแปลงสินทรัพย์ เป็นหลักทรัพย์ ทั้งนี้ เฉพาะกรณีที่นิติบุคคลเฉพาะกิจดังกล่าวเข้ารับช่วงสิทธิเป็นเจ้าหนี้เงินกู้แทนกองทุนรวมตาม (ก) หรือ (ข) ธนาคารหรือสถาบันการเงินอื่น บริษัทประกันชีวิต สหกรณ์ หรือนายจ้าง 
..........กรณีที่ผู้มีเงินได้หักลดหย่อนตามมาตรา 47 (1)(ซ) แห่งประมวลรัษฎากร หรือได้รับยกเว้นไม่ต้องนำเงินได้ตาม (53) หรือ (59) รวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้ เงินได้ที่ได้รับยกเว้นตามวรรคหนึ่งเมื่อรวมกับค่าลดหย่อนตามมาตรา 47 (1)(ซ) แห่งประมวลรัษฎากร หรือเงินได้ตาม (53) หรือ (59) แล้วแต่กรณี ต้องไม่เกินหนึ่งแสนบาท 
..........อาคารตามวรรคหนึ่งให้หมายความรวมถึงอาคารพร้อมที่ดินด้วย 
(แก้ไขเพิ่มเติมโดยกฎกระทรวง ฉบับที่ 264 (พ.ศ. 2550) ตั้งแต่ 1 มกราคม 2550 เป็นต้นไป) 
(ดู ประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 165))
....(53) เงินได้เท่าที่ได้จ่ายเป็นดอกเบี้ยเงินกู้ยืมให้แก่ธนาคารหรือสถาบันการเงินอื่น บริษัทประกันชีวิต สหกรณ์ หรือนายจ้าง สำหรับการกู้ยืมเงินเพื่อซื้อ เช่าซื้อ หรือสร้างอาคารที่อยู่อาศัย โดยจำนองอาคารที่ซื้อหรือสร้างเป็นประกันการกู้ยืมนั้น ตามจำนวนที่จ่ายจริงในส่วนที่เกินหนึ่งหมื่นบาทแต่ไม่เกินเก้าหมื่นบาท และเฉพาะดอกเบี้ยเงินกู้ยืมที่ได้จ่ายตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2550 เป็นต้นไป ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่อธิบดีกำหนด 
..........กรณีที่ผู้มีเงินได้หักลดหย่อนตามมาตรา 47(1)(ซ) แห่งประมวลรัษฎากร หรือได้รับยกเว้นไม่ต้องนำเงินได้ตาม (52) หรือ (59) รวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้ เงินได้ที่ได้รับยกเว้นตามวรรคหนึ่งเมื่อรวมกับค่าลดหย่อนตามมาตรา 47(1)(ซ) แห่งประมวลรัษฎากร หรือเงินได้ตาม (52) หรือ (59) แล้วแต่กรณี ต้องไม่เกินหนึ่งแสนบาท 
..........อาคารตามวรรคหนึ่งให้หมายความรวมถึงอาคารพร้อมที่ดินด้วย 
(แก้ไขเพิ่มเติมโดยกฎกระทรวง ฉบับที่ 264 (พ.ศ. 2550) ตั้งแต่ 1 มกราคม 2550 เป็นต้นไป) 
(ดู ประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 166))
....(59) เงินได้เท่าที่ได้จ่ายเป็นดอกเบี้ยเงินกู้ยืมให้แก่กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการตามกฎหมายว่าด้วยกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ สำหรับการกู้ยืมเงินเพื่อซื้อ เช่าซื้อ หรือสร้างอาคารที่อยู่อาศัย ตามจำนวนที่จ่ายจริงแต่ไม่เกินหนึ่งแสนบาท และเฉพาะดอกเบี้ยเงินกู้ยืมที่ได้จ่ายตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2550 เป็นต้นไป ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่อธิบดีกำหนด
..........กรณีที่ผู้มีเงินได้หักลดหย่อนตามมาตรา 47(1)(ซ) แห่งประมวลรัษฎากร หรือได้รับยกเว้นไม่ต้องนำเงินได้ตาม (52) หรือ (53) รวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้ เงินได้ที่ได้รับยกเว้นตามวรรคหนึ่งเมื่อรวมกับ ค่าลดหย่อนตามมาตรา 47(1)(ซ) แห่งประมวลรัษฎากร หรือเงินได้ตาม (52) หรือ (53) แล้วแต่กรณี ต้อง ไม่เกินหนึ่งแสนบาท
..........อาคารตามวรรคหนึ่งให้หมายความรวมถึงอาคารพร้อมที่ดินด้วย 
(แก้ไขเพิ่มเติมโดยกฎกระทรวง ฉบับที่ 264 (พ.ศ. 2550) ตั้งแต่ 1 มกราคม 2550 เป็นต้นไป) 
(ดู ประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 167))


....อาศัยอำนาจตามความในข้อ 2 (52) (53) และ (59) แห่งกฎกระทรวง ฉบับที่ 126 (พ.ศ. 2509) ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร อธิบดีกรมสรรพากรกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการ เพื่อการยกเว้นภาษีเงินได้สำหรับเงินได้เท่าที่ได้จ่ายเป็นดอกเบี้ยเงินกู้ยืม สำหรับการกู้ยืมเงินเพื่อซื้อ เช่าซื้อ หรือสร้างอาคารที่อยู่อาศัย โดยจำนองอาคารที่ซื้อหรือสร้างเป็นประกันการกู้ยืมนั้น ดังต่อไปนี้ตามประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 165) (ฉบับที่ 166) และ (ฉบับที่ 167) พอสรุปหลักเกณฑ์และวิธีการ เพื่อการยกเว้นภาษีเงินได้สำหรับเงินได้เท่าที่ได้จ่ายเป็นดอกเบี้ยเงินกู้ยืม สำหรับการกู้ยืมเงินเพื่อซื้อ เช่าซื้อหรือสร้างอาคารที่อยู่อาศัย โดยจำนองอาคารที่ซื้อหรือสร้างเป็นประกันการกู้ยืมนั้น ตามข้อ 2 (52)(53) และ (59) แห่งกฎกระทรวง ฉบับที่ 126 (พ.ศ. 2509) ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร ได้ดังต่อไปนี้ 
....2.1 การยกเว้นภาษีเงินได้สำหรับเงินได้เท่าที่จ่ายเป็นดอกเบี้ยเงินกู้ยืมสำหรับการกู้ยืมเงินเพื่อซื้อ เช่าซื้อ หรือสร้างอาคารที่อยู่อาศัย โดยจำนองอาคารที่ซื้อหรือสร้างเป็นประกันการกู้ยืมนั้น ต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์ ดังต่อไปนี้
.........(1) เป็นดอกเบี้ยเงินกู้ยืมที่ผู้มีเงินได้จ่ายให้แก่
...............(ก) กองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์เพื่อแก้ไขปัญหาในระบบสถาบันการเงินที่จัดตั้งขึ้นตามกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์
...............(ข) กองทุนรวมเพื่อแก้ไขปัญหาในระบบสถาบันการเงินที่จัดตั้งขึ้นตามกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์
...............(ค) นิติบุคคลเฉพาะกิจซึ่งจัดตั้งขึ้นเพื่อดำเนินการแปลงสินทรัพย์เป็นหลักทรัพย์ตามกฎหมายว่าด้วยนิติบุคคลเฉพาะกิจเพื่อการแปลงสินทรัพย์เป็นหลักทรัพย์ ทั้งนี้ เฉพาะกรณีที่นิติบุคคลเฉพาะกิจดังกล่าวเข้ารับช่วงสิทธิเป็นเจ้าหนี้เงินกู้แทนกองทุนรวมตาม (ก) หรือ (ข) ธนาคารหรือสถาบันการเงินอื่น บริษัทประกันชีวิต สหกรณ์ หรือนายจ้าง
...............(ง) ธนาคาร
...............(จ) บริษัทตามกฎหมายว่าด้วยการประกอบธุรกิจเงินทุน ธุรกิจหลักทรัพย์ และธุรกิจเครดิตฟองซิเอร์
...............(ฉ) บริษัทประกันชีวิต
...............(ช) สหกรณ์
...............(ซ) นายจ้างซึ่งมีระเบียบเกี่ยวกับเงินกองทุนที่จัดสรรไว้เพื่อสวัสดิการแก่ลูกจ้าง 
...............(ฌ) บรรษัทตลาดรองสินเชื่อที่อยู่อาศัยตามกฎหมายว่าด้วยบรรษัทตลาดรองสินเชื่อที่อยู่อาศัย
……….…...(ญ) กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการตามกฎหมายว่าด้วยกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ
.........(2) เป็นดอกเบี้ยเงินกู้ยืมตามสัญญากู้ยืมเงินเพื่อซื้อ เช่าซื้ออาคาร อาคารพร้อมที่ดิน หรือห้องชุดในอาคารชุด หรือเพื่อสร้างอาคารใช้อยู่อาศัยบนที่ดินของตนเองหรือบนที่ดินที่ตนเองมีสิทธิครอบครอง
.........(3) ต้องจำนองอาคารหรือห้องชุดในอาคารชุด หรืออาคารพร้อมที่ดินเป็นประกันการกู้ยืมเงินนั้น โดยมีระยะเวลาจำนองตามระยะเวลาการกู้ยืม
.........(4) ต้องใช้อาคารหรือห้องชุดในอาคารชุดตาม (3) เป็นที่อยู่อาศัยในปีที่ได้รับยกเว้นภาษี แต่ไม่รวมถึงกรณีลูกจ้างซึ่งถูกนายจ้างสั่งให้ไปปฏิบัติงานของนายจ้าง ณ ต่างถิ่นเป็นประจำ หรือกรณีอาคารหรือห้องชุดดังกล่าวเกิดอัคคีภัย ภัยธรรมชาติ หรือภัยอันเกิดจากเหตุอื่น ทั้งนี้ เฉพาะที่มิใช่ความผิดของผู้มีเงินได้ จนไม่อาจใช้อาคารหรือห้องชุดนั้นอยู่อาศัยได้
.........(5) กรณีผู้มีเงินได้มีอาคารหรือห้องชุดในอาคารชุดตาม (3) เป็นที่อยู่อาศัยในปีที่ได้รับยกเว้นภาษีเกินกว่า 1 แห่ง ให้ได้รับยกเว้นภาษีได้ทุกแห่งสำหรับอาคารหรือห้องชุดในอาคารชุดตาม (3)
.........(6) ให้ได้รับยกเว้นภาษีตลอดปีภาษี ไม่ว่ากรณีที่จะได้รับยกเว้นภาษีนั้นจะมีอยู่ตลอดปีภาษีหรือไม่
.........(7) กรณีผู้มีเงินได้หลายคนร่วมกันกู้ยืมให้ได้รับยกเว้นภาษีได้ทุกคนโดยเฉลี่ยการได้รับยกเว้นภาษีตามส่วนจำนวนผู้มีเงินได้ แต่รวมกันต้องไม่เกินจำนวนที่จ่ายจริงและไม่เกิน 100,000 บาท
.........(8) กรณีสามีภริยาร่วมกันกู้ยืมโดยสามีหรือภริยามีเงินได้ฝ่ายเดียว ให้ได้รับยกเว้นภาษีให้แก่ผู้มีเงินได้เต็มจำนวนตามที่จ่ายจริงเฉพาะส่วนที่เกิน 10,000 บาท แต่ไม่เกิน 90,000 บาท 
.........(9) กรณีผู้มีเงินได้ซึ่งมีสิทธิได้รับยกเว้นภาษีอยู่ก่อนแล้ว ต่อมาได้สมรสกันให้ยังคงได้รับยกเว้นภาษีดังนี้
...............(ก) ถ้าต่างฝ่ายต่างยื่นรายการเกี่ยวกับภาษีเงินได้พึงประเมินที่ตนได้รับในปีภาษีที่ล่วงมาแล้วตามวรรคหนึ่งของมาตรา 57 ฉ แห่งประมวลรัษฎากร ให้ต่างฝ่ายต่างได้รับยกเว้นภาษีดอกเบี้ยเงินกู้ยืมส่วนของตนได้ตามจำนวนที่จ่ายจริงแต่ไม่เกิน 100,000 บาท
...............(ข) ถ้าต่างฝ่ายต่างยื่นรายการเกี่ยวกับภาษีเงินได้พึงประเมินเฉพาะส่วนที่เป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (1) แห่งประมวลรัษฎากร โดยไม่ถือเป็นเงินได้ของอีกฝ่ายหนึ่งตามวรรคสามของมาตรา 57 ฉ แห่งประมวลรัษฎากร ให้ต่างฝ่ายต่างได้รับยกเว้นภาษีดอกเบี้ยเงินกู้ยืมส่วนของตนได้ตามจำนวนที่จ่ายจริงแต่ไม่เกิน 100,000 บาท
...............(ค) ถ้าสามีภริยาตกลงยื่นรายการและเสียภาษีรวมกัน โดยถือเอาเงินได้พึงประเมินของตนเป็นเงินได้ของสามีหรือภริยาอีกฝ่ายหนึ่งตามวรรคสามของมาตรา 57 ฉ แห่งประมวลรัษฎากร ให้ผู้มีเงินได้ได้รับยกเว้นภาษีดอกเบี้ยเงินกู้ยืมส่วนของตนได้ตามจำนวนที่จ่ายจริงแต่ไม่เกิน 100,000 บาทและได้รับยกเว้นภาษีดอกเบี้ยเงินกู้ยืมส่วนของของสามีหรือภริยาได้ตามจำนวนที่จ่ายจริงแต่ไม่เกิน 100,000 บาท
........1.10 กรณีมีการแปลงหนี้ใหม่ด้วยการเปลี่ยนตัวเจ้าหนี้เงินกู้ยืมระหว่างผู้ให้กู้ตาม (1) ให้ยังคงได้รับยกเว้นภาษีได้ตามจำนวนที่จ่ายจริงเฉพาะส่วนที่เกิน 10,000 บาท แต่ไม่เกิน 90,000 บาท 
....2.2 ดอกเบี้ยเงินกู้ยืมตามข้อ 1. ให้หมายความรวมถึงดอกเบี้ยเงินกู้ยืมเพื่อชำระหนี้เงินกู้ยืมเพื่อซื้อ เช่าซื้อ หรือสร้างอาคารที่อยู่อาศัย หรือห้องชุดด้วย ทั้งนี้ เฉพาะดอกเบี้ยสำหรับเงินกู้ยืมเพื่อชำระหนี้ส่วนที่ไม่เกินกว่าหนี้ที่ค้างชำระนั้น
....2.3 การได้รับยกเว้นภาษีตามประกาศนี้ ผู้มีเงินได้ต้องมีหลักฐานจากเจ้าหนี้ผู้ให้กู้ยืมที่พิสูจน์ได้ว่าได้มีการจ่ายดอกเบี้ยสำหรับการกู้ยืมเงินด้วย
....2.4 ในกรณีที่ผู้มีเงินได้หักลดหย่อนตามมาตรา 47 (1)(ซ) แห่งประมวลรัษฎากร หรือได้รับยกเว้นไม่ต้องนำเงินได้ตาม (52) (53) หรือ (59) ของข้อ 2 แห่งกฎกระทรวงฉบับที่ 126 (พ.ศ. 2509) ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร รวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้ เงินได้ที่ได้รับยกเว้นตามข้อ 1. เมื่อรวมกับค่าลดหย่อนตามมาตรา 47 (1)(ซ) แห่งประมวลรัษฎากร หรือเงินได้ตาม (52) (53) หรือ (59) ของข้อ 2 แห่งกฎกระทรวงฉบับที่ 126 (พ.ศ. 2509) ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร แล้วแต่กรณี ต้องไม่เกิน 100,000 บาท
....2.5 การได้รับยกเว้นภาษีตามกรณีนี้ ให้ผู้มีเงินได้นำเงินได้ที่ได้รับยกเว้นภาษีไปคำนวณหักจากเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 แห่งประมวลรัษฎากร เมื่อได้หักตามมาตรา 42 ทวิ ถึงมาตรา 46 แห่งประมวลรัษฎากร แล้ว