ผมอยากให้ทุกคนเข้าใจประมวลรัษฎากร และนำไปใช้ได้อย่างถูกต้อง
สุเทพ พงษ์พิทักษ์

ศึกษาประมวลรัษฎากร ด้วยตนเอง ตอนที่ 6 : โครงสร้างกฎหมายภาษีอากรตามประมวลรัษฎากร

บทความวันที่ 26 ก.ค. 2560  .  เขียนโดย อจ.สุเทพ  .  เข้าชม 5519 ครั้ง

โครงสร้างกฎหมายภาษีอากรตามประมวลรัษฎากร

 

โดยทั่วไปกฎหมายภาษีอากรตามประมวลรัษฎากร มีองค์ประกอบหรือโครงสร้างดังนี้

 

 

1. หลักการจัดเก็บภาษีอากร

หลักการจัดเก็บภาษีอากรตามประมวลรัษฎากร ประกอบด้วยหน่วยงานที่จัดเก็บภาษีอากรตามประมวลรัษฎากร ประเภทภาษีอากรตามหลักการผลักภาระภาษีอากร แนวคิดหรือหลักการสำคัญในการจัดเก็บภาษีอากร ช่วงเวลาในการจัดเก็บภาษีอากร เป็นต้น

1.1 โดยทั่วไปภาษีอากรตามประมวลรัษฎากรอยู่ในอำนาจหน้าที่และการควบคุมการจัดเก็บโดย กรมสรรพากร กระทรวงการคลัง (มาตรา 5 แห่งประมวลรัษฎากร) อย่างไรก็ตามในบางกรณีกำหนดให้หน่วยงานอื่นช่วยจัดเก็บภาษีอากรตามประมวบรัษฎากร อาทิ

      (1) สำนักงานที่ดิน กรมที่ดิน ช่วยจัดเก็บภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาหัก ณ ที่จ่ายจากการขายอสังหาริมทรัพย์ตามมาตรา 50 (5) และ (6) ประกอบมาตรา 52 ภาษีเงินได้นิติบุคคลหัก ณ ที่จ่ายจากการขายอสังหาริมทรัพย์ตามมาตรา 69 ตรี และภาษีธุรกิจเฉพาะจากการประกอบกิจการขายอสังหาริมทรัพย์เป็นทางค้าหรือหากำไรตามมาตรา 91/2 (5) ประกอบมาตรา 91/10 วรรคห้าถึงวรรคเจ็ด โดยจัดเก็บภาษีอากรดังกล่าวแล้วแต่กรณี ในขณะที่มีการจดทะเบียนสิทธิหรือนิติกรรม

      (2) กรมศุลกากร กระทรวงการคลัง จัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มจากผู้นำเข้าที่ได้นำเข้าสินค้า ตามมาตรา 83/8 ประกอบมาตรา 83/10 แห่งประมวลรัษฎากร

      (3) กรมสรรพสามิต กระทรวงการคลัง จัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มจากผู้ประกอบการจดทะเบียนที่ต้องเสียภาษีสรรพสามิต ทั้งนี้ ตามมาตรา 83/10 แห่งประมวลรัษฎากร ดังนี้

           (ก) ภาษีสุรา ตามพระราชบัญญัติภาษีสุรา

           (ข) ภาษียาสูบ ตามพระราชบัญญัติภาษียาสูบ

           (ค) ภาษีไพ่ ตามพระราชบัญญัติภาษีไพ่

           (ง) ภาษีสรรพสามิต ตามพระราชบัญญัติภาษีสรรพสามิต และพระราช บัญญัติพิกัดอัตราภาษีสรรพสามิต โดยจัดเก็บภาษีสรรพสามิตจากการผลิตและการนำเข้าสินค้า และการให้บริการดังต่อไปนี้

                 - เครื่องดื่ม

                 - น้ำมันปิโตรเลียมและผลิตภัณฑ์น้ำมันปิโตรเลียม

                 - รถยนต์นั่งและรถยนต์โดยสารที่มีที่นั่งไม่เกิน 10 คน

                 - รถจักรยานยนต์

                 - เครื่องปรับอากาศ

                 - น้ำหอม หัวน้ำหอม น้ำมันหอม

                 - เครื่องแก้วเลดคริสตัล (เครื่องแก้วเจียรนัย)

                 - เรือยอช์ต เรือนั่งเพื่อความสำราญ

                 - สนามม้าแข่ง

                 - สนามกอล์ฟ

                 - บริการอาบ อบ นวด

                 - บริการไนต์คลับ คาบาเรต์

                 - กิจการโทรคมนาคม

1.2 ภาษีอากรที่จัดเก็บจัดอยู่ในประเภทภาษีทางตรงหรือภาษีทางอ้อม เพื่อให้ทราบว่าผู้รับภาระภาษีอากรประเภทนั้นๆ เป็นบุคคลใด

1.3 เพื่อการบริหารการจัดเก็บภาษีอากรตามประมวลรัษฎากร ได้มีการจำแนกประเภทภาษีอากรออกเป็นเป็นภาษีอากรประเมิน และภาษีอากรที่มิใช่ภาษีอากรประเมิน

1.4 หลักการจัดเก็บภาษีอากรแต่ละประเภทตามประมวลรัษฎากร ได้แก่

      (1) ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ตามมาตรา 41 แห่งประมวลรัษฎากร

      (2) ภาษีเงินได้นิติบุคคล ตามมาตรา 66 แห่งประมวลรัษฎากร

      (3) ภาษีมูลค่าเพิ่ม ตามมาตรา 77/2 แห่งประมวลรัษฎากร

      (4) ภาษีธุรกิจเฉพาะ ตามมาตรา 91/2 แห่งประมวลรัษฎากร

      (5) อากรแสตมป์ ตามมาตรา 104 แห่งประมวลรัษฎากร

1.5 กำหนดเวลาในการจัดเก็บภาษีอากร

      (1) ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา จัดเก็บเป็น รายปีภาษีตามมาตรา 41 แห่งประมวลรัษฎากร

      (2) ภาษีเงินได้นิติบุคคล จัดเก็บเป็น รายรอบระยะเวลาบัญชีตามมาตรา 65 แห่งประมวลรัษฎากร

      (3) ภาษีมูลค่าเพิ่ม โดยทั่วไปจัดเก็บเป็น รายเดือนภาษีตามมาตรา 83 แห่งประมวลรัษฎากร เว้นแต่กรณีนำเข้าสินค้าตามมาตรา 83/8 แห่งประมวลรัษฎากรจัดเก็บเมื่อกระทำพิธีการทางศุลกากรตามกฎหมายว่าด้วยศุลกากร

      (4) ภาษีธุรกิจเฉพาะ โดยทั่วไปจัดเก็บเป็นราย เดือนภาษีตามมาตรา 91/10 แห่งประมวลรัษฎากรเว้นแต่การขายอสังหาริมทรัพย์เป็นทางค้าหรือหากำไรตามมาตรา 91/10 วรรคห้าถึงวรรคเจ็ด แห่งประมวลรัษฎากรจัดเก็บในขณะที่มีการจดทะเบียนสิทธิหรือนิติกรรมตามกฎหมายที่ดิน

      (5) อากรแสตมป์ จัดเก็บเมื่อมีการกระทำตราสารตามมาตรา 103 ประกอบมาตรา 104 แห่งประมวลรัษฎากรโดยวิธีแสตมป์ปิดทับ หรือเสียเป็นตัวเงิน

 

2. ผู้มีหน้าที่เสียภาษีอากรและผู้รับภาระภาษีอากร

ผู้มีหน้าที่เสียภาษีอากรอาจจำแนกได้ดังนี้

2.1 การจำแนกผู้มีหน้าที่เสียภาษีอากรตามฐานะบุคคลตามกฎหมาย แบ่งเป็น

      (ก) บุคคลธรรมดา รวมทั้งผู้ถึงแก่ความตายระหว่างปีภาษี และกองมรดก

      (ข) ห้างหุ้นส่วนหรือคณะบุคคลที่มิใช่นิติบุคคล

      (ค) บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล

      (ง) นิติบุคคลอื่น เช่น องค์การของรัฐบาล มูลนิธิ สมาคม เป็นต้น

2.2 การจำแนกผู้มีหน้าที่เสียภาษีอากรตามถิ่นที่อยู่ และภูมิลำเนา เช่น กรณีบุคคลใดอยู่ในประเทศไทยชั่วระยะเวลาหนึ่งหรือหลายระยะ รวมเวลาทั้งหมดถึง 180 วันในปีภาษีใด ให้ถือว่าเป็นผู้อยู่ในประเทศไทย ตามมาตรา 41 แห่งประมวลรัษฎากร

2.3 การจำแนกผู้มีหน้าที่เสียภาษีอากร ตามวิธีอื่น ได้แก่ การจำแนกตามสัญชาติ

 

3. วิธีการคำนวณภาษี

3.1 ฐานภาษี หรือกิจกรรมที่อยู่ในข่ายที่ต้องเสียภาษี ได้แก่

      (1) ฐานรายได้ ได้แก่ การกำหนดจัดเก็บภาษีอากรจากการมีเงินได้

           ฐานภาษีลักษณะนี้ มักใช้กับภาษีทางตรงซึ่งผู้เสียภาษีต้องเป็นผู้รับภาระภาษีที่ตนต้องเสีย โดยไม่อาจผลักภาระภาษีไปยังบุคคลอื่นได้ เช่น ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ภาษีเงินได้นิติบุคคล ภาษีเงินได้ปิโตรเลียม

      (2) ฐานรายจ่าย ได้แก่ การกำหนดจัดเก็บภาษีอากรจากการจับจ่ายใช้สอยหรือการบริโภค

           ฐานภาษีลักษณะนี้มักใช้กับภาษีทางอ้อม ซึ่งโดยทั่วไป กฎหมายกำหนดให้ผู้บริโภคเป็นผู้รับภาระภาษีอากรอันตนได้จับจ่ายใช้สอย แต่เนื่องจากรัฐไม่สามารถจัดเก็บภาษีอากรจากผู้บริโภคได้โดยตรง จึงกำหนดให้ผู้ประกอบการเป็นผู้มีหน้าที่เสียภาษีอากรนั้นๆ แต่ไม่ต้องรับภาระภาษีอากรที่ตนมีหน้าที่ต้องเสียไป โดยให้ผู้ประกอบการสามารถผลักภาระภาษีไปยังผู้ซื้อสินค้า หรือผู้รับบริการได้ เช่น ภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีธุรกิจเฉพาะ เป็นต้น

      (3) ฐานทรัพย์สิน ได้แก่ การกำหนดจัดเก็บภาษีอากรจากทรัพย์สิน

      (4) ฐานอื่นๆ ได้แก่ การกำหนดจัดเก็บภาษีอากรจากการกระทำบางประการ เช่น อากรแสตมป์จัดเก็บจากการกระทำตราสาร

3.2 อัตราภาษี

      (1) อัตราคงที่ (Flat Rate) หรืออัตราตามอัตราส่วน (Proportion Rate) หมายถึง อัตราภาษีที่คงที่ไม่เพิ่มขึ้น ไม่ว่าจำนวนฐานภาษีจะเป็นจำนวนเท่าใดก็ตาม ในบางกรณีเรียกว่า อัตราภาษีตามหลักความยุติธรรม เช่น อัตราภาษีเงินได้นิติบุคคล อัตราภาษีมูลค่าเพิ่ม อัตราภาษีธุรกิจเฉพาะ

      (2) อัตราก้าวหน้า (Progressive Rate) หมายถึง อัตราภาษียิ่งเพิ่มสูงขึ้น เมื่อจำนวนฐานภาษีมากขึ้น ในบางกรณีเรียกว่าอัตราภาษีตามหลักความสามารถในการเสียภาษี เช่น อัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาตามประมวลรัษฎากร

3.3 การคำนวณภาษี

      (1) วิธีการคำนวณภาษีโดยทั่วไปให้นำฐานภาษีมาคูณด้วยอัตราภาษีก็จะได้ผลลัพธ์เป็นจำนวนเงินภาษีที่ต้องเสีย เช่น กรณีภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ภาษีเงินได้นิติบุคคล ภาษีธุรกิจเฉพาะ หรือแม้แต่ภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับการนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศ หรือการนำส่งภาษีมูลค่าเพิ่ม

      (2) วิธีการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่มที่ต้องเสียในแต่ละเดือนภาษี สำหรับผู้ประกอบการจดทะเบียน มีวิธีการคำนวณตามมาตรา 82/3 ดังนี้

           ภาษีมูลค่าเพิ่มที่ต้องเสีย = ภาษีขาย - ภาษีซื้อ

 

4. วิธีการชำระภาษี ได้แก่

4.1 การเสียภาษีโดยการยื่นรายการประเมินตนเอง (Self-assessment)

      (1) การประเมินตนเองก่อนเวลาที่กฎหมายกำหนด หรือการเสียภาษีล่วงหน้า (Pre-payment) เช่น การยื่นรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาล่วงหน้าตามแบบ ภ.ง.ด.93 ตามมาตรา 52 ทวิ แห่งประมวลรัษฎากร

      (2) การประเมินตนเองตามกำหนดเวลายื่นรายการที่กฎหมายกำหนด

           (ก) ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาครึ่งปี และภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาประจำปี

            (ข) ภาษีเงินได้นิติบุคคลครึ่งรอบระยะเวลาบัญชี และภาษีเงินได้นิติบุคคลประจำรอบระยะเวลาบัญชี

           (ค) ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา และภาษีเงินได้นิติบุคคลหัก ณ ที่จ่าย

           (ง) ภาษีเงินได้นิติบุคคลจากการจำหน่ายเงินกำไรไปต่างประเทศ

           (จ) ภาษีมูลค่าเพิ่ม รายเดือนภาษี และการนำส่งภาษีมูลค่าเพิ่ม

           (ฉ) ภาษีธุรกิจเฉพาะ รายเดือนภาษี

4.2 การเสียภาษีโดยเจ้าพนักงานประเมินเรียกเก็บ (Authoritative Assessment)

      (1) การประเมินก่อนถึงกำหนดเวลายื่นรายการ เช่น การประเมินภาษีเงินได้ตามมาตรา 18 ทวิ หรือมาตรา 60 ทวิ แห่งประมวลรัษฎากร เป็นต้น

      (2) การประเมินตามผลการตรวจสอบ (Tax Investigation)

           (ก) การประเมินตามแบบแสดงรายการที่ยื่น

           (ข) การประเมินตามผลการตรวจสอบตามออกหมายเรียก เนื่องจากผู้เสียภาษียื่นแบบแสดงรายการ

           (ค) การประเมินตามผลการตรวจสอบ ตามออกหมายเรียกเนื่องจากผู้เสียภาษีมิได้ยื่นแบบแสดงรายการ

      (3) การประเมินกรณีพิเศษอื่นๆ

4.3 การเสียภาษีโดยหักไว้ ณ ที่จ่าย (Withholding Tax หรือ Deduction at Source) เช่น ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาหัก ณ ที่จ่าย ตามมาตรา 50 และมาตรา 3 เตรส แห่งประมวลรัษฎากรภาษีเงินได้นิติบุคคลหัก ณ ที่จ่าย ตามมาตรา 69 ทวิ มาตรา 69 ตรี มาตรา 3 เตรส และมาตรา 70 แห่งประมวลรัษฎากร ภาษีเงินได้ปิโตรเลียมหัก ณ ที่จ่าย เป็นต้น

4.4 การเสียภาษีโดยวิธีอื่น อาทิ การปิดอากรแสตมป์บนตราสาร การเสียค่าธรรมเนียม

 

5. การยกเว้นภาษี

5.1 การกำหนดยกเว้นภาษีอากรให้แก่บุคคล ได้แก่ การยกเว้นภาษีอากรตามประมวลรัษฎากรแก่เจ้าหน้าที่องค์การสหประชาชาติ หรือทบวงการชำนัญพิเศษของสหประชาชาติ เอกอัคร ราชทูต ทูต กงสุลใหญ่ กงสุล หรือบุคคลในคณะทูต ตามมาตรา 4 แห่งพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 10) พ.ศ. 2500 เป็นต้น

5.2 การกำหนดยกเว้นภาษีอากรสำหรับการกระทำกิจกรรมหรือรายได้

      การยกเว้นภาษีอากรสำหรับการกระทำกิจกรรมหรือรายได้ตามประมวลรัษฎากร อาทิ

      (1) การยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาสำหรับเงินได้พึงประเมินบางประเภทตามมาตรา 42 แห่งประมวลรัษฎากร

      (2) การยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับเงินได้ที่เป็นเงินปันผล หรือเงินส่วนแบ่งของกำไรที่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายไทย ได้รับจากบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล ที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายไทยตามมาตรา 65 ทวิ (10) แห่งประมวลรัษฎากร

      (3) การยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับการขายสินค้าหรือการให้บริการ การนำเข้า และการส่งออก ตามมาตรา 81 (1) แห่งประมวลรัษฎากร

      (4) การยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม ให้แก่ผู้ประกอบการที่มีขนาดของมูลค่าของฐานภาษีจากการขายสินค้าหรือการให้บริการต่อปีไม่เกิน 1,800,000 บาท ตามมาตรา 81/1 แห่งประมวลรัษฎากร

      (5) การยกเว้นภาษีธุรกิจเฉพาะสำหรับการขายหลักทรัพย์ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ตามมาตรา 91/3 และพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 240) พ.ศ. 2534

      (6) การยกเว้นรายได้สำหรับรายจ่ายในการฝึกอบรมและพัฒนาลูกจ้างพนักงานของตนในอัตราร้อยละ 50 ของรายจ่าย ตามพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 284 และฉบับที่ 288) พ.ศ. 2538

      (7) การยกเว้นรายได้สำหรับรายจ่ายในการวิจัยและพัฒนาในอัตราร้อยละ 100 ของรายจ่าย ตามพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 297) พ.ศ. 2539 เป็นต้น

5.3 การกำหนดยกเว้นภาษีอากรสำหรับจำนวนเงินภาษี

      การกำหนดยกเว้นภาษีอากรสำหรับจำนวนเงินภาษีตามประมวลรัษฎากร ได้แก่

      (1) การยกเว้นเศษของบาทในการคำนวณภาษีให้แก่ผู้มีหน้าที่เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ภาษีเงินได้นิติบุคคล ภาษีมูลค่าเพิ่ม และภาษีธุรกิจเฉพาะ ตามมาตรา 5 แห่งพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 10) พ.ศ. 2500

      (2) การยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาที่เจ้าพนักงานประเมินได้ประเมินแล้วมีจำนวนต่ำกว่าห้าบาท เป็นอันไม่ต้องเรียกเก็บตามมาตรา 48 วรรคท้าย

      (3) การยกเว้นภาษีธุรกิจเฉพาะในเดือนภาษีใดที่มีจำนวนไม่ถึงหนึ่งร้อยบาท ให้ผู้เสียภาษีเป็นอ้นไม่ต้องเสียตามมาตรา 91/17 แห่งประมวลรัษฎากร เป็นต้น

5.4 การให้เครดิตภาษี

      การให้เครดิตภาษีตามประมวลรัษฎากร ได้แก่

      (1) การให้เครดิตภาษีในการคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา สำหรับเงินได้ที่เป็นเงินปันผลหรือเงินส่วนแบ่งของกำไร ที่ได้จากบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายไทย ตามมาตรา 47 ทวิ แห่งประมวลรัษฎากร

      (2) การให้เครดิตภาษีตามข้อตกลงว่าด้วยการเว้นการเก็บภาษีซ้ำซ้อนระหว่างประเทศไทยกับต่างประเทศ

           (ก) การให้เครดิตทั่วไป สำหรับจำนวนภาษีเงินได้ที่ผู้เสียภาษี ซึ่งเป็นผู้มีถิ่นที่อยู่ในประเทศไทยได้จ่ายให้แก่รัฐบาลต่างประเทศ ที่ประเทศไทยมีข้อตกลงว่าด้วยการเว้นการจัดเก็บภาษีซ้ำซ้อน

           (ข) การให้ Tax Sparing แก่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายของต่างประเทศ ซึ่งได้รับการส่งเสริมการลงทุน

      (3) การให้เครดิตภาษีแก่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายไทยที่จ่ายให้แก่รัฐบาลต่างประเทศตามพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 300) พ.ศ. 2539 เป็นต้น

5.5 การกำหนดยกเว้นภาษีอากรกรณีอื่น

      การกำหนดยกเว้นภาษีอากรกรณีอื่นๆ ตามประมวลรัษฎากร ได้แก่

      (1) การหักลดหย่อนในการคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาตามมาตรา 47 แห่งประมวลรัษฎากร เช่น ค่าลดหย่อนส่วนตัวผู้มีเงินได้ คู่สมรสและบุตร รวมทั้งค่าลดหย่อนการศึกษาของบุตรของผู้มีเงินได้ ค่าลดหย่อนเบี้ยประกันชีวิต ค่าลดหย่อนเงินสะสมกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ค่าลดหย่อนดอกเบี้ยเงินกู้ยืมเพื่อที่อยู่อาศัย ค่าลดหย่อนเงินสมทบกองทุนประกันสังคม และค่าลดหย่อนเงินบริจาค

      (2) การเพิ่มจำนวนค่าใช้จ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิหรือขาดทุนสุทธิ ให้แก่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล ที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุนตามพระราชบัญญัติส่งเสริมการลงทุน พ.ศ. 2520

      (3) การเพิ่มค่าใช้จ่ายทางภาษีอากรเป็นจำนวนสองเท่าของค่าจ้าง ที่นายจ้างจ่ายให้แก่ลุกจ้างคนพิการ ตาม พระราชบัญญัติฟื้นฟูสมรรถภาพคนพิการ พ.ศ. 2534 เป็นต้น

 

6. การขอคืนภาษีอากร

กรณีผู้ต้องเสียภาษีอากร หรือผู้นำส่งภาษีอากร รวมทั้งบุคคลอื่นที่ได้เสียหรือนำส่งภาษีอากรเกินกว่าจำนวนที่ต้องเสีย หรือนำส่ง หรือไม่มีหน้าที่ต้องเสียหรือนำส่งภาษี ให้มีสิทธิขอคืนยื่นคำร้องขอคืนภาษีอากรตามแบบที่อธิบดีกำหนด และภายในเวลาที่กฎหมายกำหนด

 

7. หน้าที่อื่นทางภาษีอากร

เพื่อประโยชน์ในการบริหารการจัดเก็บภาษีอากร กฎหมายอาจกำหนดให้ผู้ต้องเสียหรือนำส่งภาษีอากรมีหน้าที่ทางภาษีอากรอื่นที่ต้องปฏิบัติเพิ่มเติม อาทิ การจดทะเบียน การจัดทำเอกสารหลักฐาน การแจ้งรายการ การจัดทำบัญชีพิเศษ

 

8. วิธีขจัดข้อโต้แย้งทางภาษีอากร

ในกฎหมายภาษีอากรทุกฉบับต้องมีข้อบัญญัติเกี่ยวกับการขจัดข้อโต้แย้งทางภาษีอากร โดยเฉพาะภาษีอากรประเภทภาษีอากรประเมิน เนื่องจากมักปรากฏข้อโต้แย้งระหว่างเจ้าพนักงานผู้ประเมินภาษีกับผู้มีหน้าที่เสียภาษีอยู่เนืองๆ และในบางกรณีไม่สามารถประนี ประนอมกันได้ จึงจำเป็นต้องมีกระบวนการขจัดข้อโต้แย้งทางภาษีอากรขึ้น ได้แก่

8.1 การวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรการพิจารณาอุทธรณ์ตามประมวลรัษฎากร

          8.2 การพิจารณาคดีภาษีอากรของศาล

      (1) การพิจารณาคดีภาษีอากรของศาลภาษีอากร

      (2) การพิจารณาคดีภาษีอากรของศาลฎีกา ได้แก่ ศาลภาษีอากรกลางหรือศาลภาษีอากร และศาลฎีกา (โดยไม่ต้องผ่านศาลอุทธรณ์)

8.3 การพิจารณาคดีของศาลปกครอง

 

9. บทกำหนดโทษ (Punishment)

กฎหมายภาษีอากรที่ดีต้องมีบทกำหนดโทษเพื่อให้กฎหมายนั้นมีสภาพบังคับ (Sanction) ให้ผู้มีหน้าที่เสียภาษีหรือผู้ที่เกี่ยวข้องพึงต้องปฏิบัติตามกฎหมาย ได้แก่

9.1 บทกำหนดโทษทางแพ่ง ได้แก่ บทกำหนดโทษอันเนื่องมาจากการที่ผู้เสียภาษีไม่ชำระภาษีอากร หรือชำระภาษีอากรไม่ถูกต้องครบถ้วน หรือไม่ปฏิบัติหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดในบางกรณีแบ่งเป็น

      (1) เบี้ยปรับ (Penalty) เนื่องจากชำระภาษีอากรผิดพลาดต่ำกว่าจำนวนที่ควรต้องเสีย หรือเนื่องจากไม่ปฏิบัติหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดบางประการ ส่วนมากมักกำหนดเป็นจำนวนเท่าของเงินภาษีที่ชำระผิดพลาดต่ำกว่าจำนวนที่พึงต้องเสียตามปกติ

      (2) เงินเพิ่ม (Surcharge) เนื่องจากชำระภาษีอากรล่าช้า ส่วนมากมักกำหนดเป็นอัตราร้อยละของจำนวนเงินภาษีที่ชำระล่าช้า เงินเพิ่มจึงมีลักษณะคล้ายกับ ดอกเบี้ย

9.2 บทกำหนดโทษทางอาญา ได้แก่ บทกำหนดโทษอันเนื่องมาจากการที่ผู้เสียภาษีฝ่าผืนบทบัญญัติของกฎหมายที่กำหนดหน้าที่ให้ปฏิบัติ แบ่งเป็น

      (1) โทษจำคุก (Imprison) เช่น ตามบทบัญญัติกำหนดอัตราระวางโทษจำคุกไว้ตั้งแต่หนึ่งเดือนถึงเจ็ดปี

      (2) โทษปรับ (Fine) เช่น ตามบทบัญญัติกำหนดอัตราระวางโทษปรับไว้ตั้งแต่ 500 บาทถึง 200,000 บาท

      บทกำหนดโทษทางอาญาตามประมวลรัษฎากร มีอยู่ในทุกส่วนของประมวลรัษฎากรที่บัญญัติเกี่ยวกับหน้าที่ของผู้ต้องเสียภาษีหรือบุคคลอื่น ดังนั้นเพื่อมิให้เกิดเป็นคดีความรกโรงรกศาล จึงได้มีบทบัญญัติให้อำนาจแก่อธิบดีกรมสรรพากร และเจ้าพนักงานสรรพากร ในอันที่กำหนดเปรียบเทียบปรับแต่เพียงสถานเดียวตามนัยมาตรา 3 ทวิ แห่งประมวลรัษฎากร