ผมอยากให้ทุกคนเข้าใจประมวลรัษฎากร และนำไปใช้ได้อย่างถูกต้อง
สุเทพ พงษ์พิทักษ์

ศึกษาประมวลรัษฎากร ด้วยตนเอง ตอนที่ 4 : หลักและทฤษฎีภาษีอากรตามประมวลรัษฎากร 1

บทความวันที่ 26 ก.ค. 2560  .  เขียนโดย อจ.สุเทพ  .  เข้าชม 10999 ครั้ง

หลักและทฤษฎีภาษีอากรตามประมวลรัษฎากร 1

 

1. ลักษณะภาษีอากรที่ดีประกอบด้วย 

(1) เป็นธรรม (Equity) ความเป็นธรรมแนวดิ่ง (หลักความสามารถในการเสียภาษีอากร) ความเป็นธรรมแนวนอน (ความมีมาตรฐานเดียว) 

(2) แน่นอน (ความชัดเจน) (Certainty & Clarify) ได้แก่ความแน่นอนใน หลักการจัดเก็บภาษีอากร ผู้มีหน้าที่เสียภาษี ฐานภาษี อัตราภาษี วิธีการคำนวณภาษี วิธีการเสียภาษี วิธีการขจัดข้อโต้แย้งทางภาษี และบทกำหนดโทษ 

(3) สะดวก (Convenience) ได้แก่ ความสะดวกในวิธีการคำนวณภาษี (รวมทั้งฐานภาษีและอัตราภาษี) วิธีการเสียภาษี วิธีการขอคืนภาษี 

(4) ประหยัด (Economy) ได้แก่ ประหยัดค่าใช้จ่ายในการจัดเก็บ ค่าใช้จ่ายในการปฏิบัติตามกฎหมาย (Compliance Cost) รวมทั้งมีลักษณะ การหลีกเลี่ยงได้ยาก” 

(5) อำนวยรายได้ (Productivity) ในการตรากฎหมายภาษีอากรใดๆ ต้องอำนวยรายได้ให้แก่รัฐมากเพียงพอ 

(6) เป็นกลางทางเศรษฐกิจ (Neutrality) ไม่ก่อให้เกิดการเบี่ยงเบนในการเลือกใช้ทรัพยากร การประกอบอาชีพ ในปัจจุบันนำมาใช้กับภาษีเงินได้ ภาษีมูลค่าเพิ่ม

(7) ยืดหยุ่น (Flexible) เพื่อให้เกิดความเหมาะสมกับสภาวการณ์ทางเศรษฐกิจ สังคม เช่น มีบทบัญญัติให้อำนาจในอันที่จะตราหรือออกกฎหมายลูกเพื่อการยกเว้นหรือลดอัตราภาษีอากร

 

2. หลักการจำแนก "ภาษี" กับ "อากร" (Tax and Duty)

โดยทั่วไป "ภาษีอากร" หมายถึง เงินที่รัฐบังคับจัดเก็บจากบุคคล ด้วยการตราเป็นกฎหมาย โดยที่รัฐไม่ผูกพันที่จะจ่ายภาษีอากรให้แก่ผู้เสียภาษีอากร หากแต่รัฐนำรายได้ค่าภาษีอากรไปใช้เพื่อการบริหารประเทศ ให้บริการแก่ประชาชน เพื่อความสงบสุขของประชาขนอย่างยั่งยืน 

(1) "ภาษี" (Tax) เป็นเงินที่รัฐมุ่งจัดเก็บจากฐานภาษีดังต่อไปนี้ 

      (ก) ฐานรายได้ ได้แก่ ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ภาษีเงินได้นิติบคุคล ภาษีเงินได้ปิโตรเลียม และภาษีการรับมรดก ซึ่งรัฐสามารถจัดเก็บภาษีจากฐานรายได้ดังกล่าว ได้โดยตรงจากผู้ต้องเสียภาษี และผู้ต้องเสียภาษีต้องรับภาระภาษีจากฐานรายได้นี้ไว้ โดยไม่สามารถผลักภาระไปยังบุคคลอื่นได้

      (ข) ฐานการจับจ่ายใช้สอย หรือฐานการบริโภค ซึ่งรัฐมุ่งจัดเก็บภาษีจากการจับจ่ายใช้สอยของผู้บริโภค ที่ประสงค์จะบริโภคสินค้าหรือบริการที่ผลิตหรือสร้างสรรค์ขึ้นในประเทศ อาทิ ภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีธุรกิจเฉพาะ ภาษีสรรพสามิต ภาษีศุลกากร 

      (ค) ฐานทรัพย์สิน โดยรัฐมุ่งจัดเก็บภาษีจากทรัพย์สินประเภทที่มีหลักฐานทางทะเบียนจากผู้ที่เป็นเจ้าของทรัพย์สินประเภทนั้นๆ อาทิ ภาษีโรงเรือนและที่ดิน ภาษีป้าย หรือภาษีบำรุงท้องที่ ซึ่งต่อไปรัฐจะเปลี่ยนเป็น "ภาษีทรัพย์สิน" 

(2) "อากร" (Duty) เป็นเงินที่รัฐเรียกเก็บจากบริการที่รัฐจัดให้แก่ผู้ใช้บริการของรัฐ ในลักษณะทำนองเดียวกับค่าธรรมเนียม อาทิ

      (ก) อากรแสตมป์ เป็นการเรียกเก็บค่าธรรมเนียมที่รัฐยอมให้ใช้ตราสารที่ปิดแสตมป์บริบูรณ์นั้น เป็นพยานหลักฐานในคดีแพ่งได้ ตามมาตรา 118 แห่งประมวลรัษฎากร 

      (ข) อากรรังนกอีแอ่น เป็นการจัดเก็บค่าธรรมเนียมแก่ผู้ที่ได้รับสัมปทานในการจัดเก็บรังนกอีแอ่น

      (ค) อากรศุลกากร ในอีกลักษณะหนึ่งของ "ภาษี" เป็นกรณีที่รัฐเรียกเก็บค่าธรรมเนียมในการนำสินค้าที่มีรูปร่างเข้ามาในประเทศ 

      (ง) อากรสรรพสามิต เป็นกรณีที่รัฐเรียกเก็ฐค่าธรรมเนียมจากสินค้าหรือบริการพิเศษบางประเภทที่รัฐต้องการกำกัดการบริโภค หรือ "ภาษีอากรบาป" หรือค่าธรรมเนียมการ "เป็นเจ้าของทรัพย์สินหรือบริการ" ที่สร้างสรรค์ขึ้นในประเทศแต่เพียงลำพัง "สามิต" โดยรากศัพท์แปลว่า "ความเป็นเจ้าของ" 

      (จ) อากรประมง

      (ฉ) ค่าภาคหลวงแร่

      (ช) ค่าธรรมเนียมชั่ง ตวง วัด 

      (ซ) ค่าธรรมเนียมใบอนุญาตต่างๆ เช่น ค่าธรรมเนียมใบอนุญาตให้ใช้รถยนต์ รถจักรยานยนต์ ค่าธรรมเนียมการใช้ทางหลวง หรือทางพิเศษ ค่าธรรมเนียมศาล เป็นต้น

 

3. หลักการผลักภาระภาษี (Tax Shifting) 

ในทางเศรษฐศาสตร์นิยมจำแนกประเภทภาษีอากรตามหลักการผลักภาระภาษี ดังนี้

(1) ภาษีทางตรง (Direct Tax) ได้แก่ ภาษีอากรประเภทที่ผู้ต้องเสียหรือนำส่งภาษีอากรไม่สามารถผลักภาระไปยังบุคคลอื่นได้ ต้องรับภาระภาษีประเภทนั้นไว้เอง ในทางภาษีเงินได้ รัฐจะไม่ยินยอมให้นำค่าภาษีเงินได้ทั้งกรณีภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา และภาษีเงินได้นิติบุคคลไปถือเป็นรายจ่ายในการคำนวณเงินได้สุทธิหรือกำไรสุทธิ แล้วแต่กรณี โดยถือเป็นรายจ่ายต้องห้ามตามมาตรา 65 ตรี (6) แห่งประมวลรัษฎากร

      ในส่วนของภาษีมูลค่าเพิ่ม ที่ผู้บริโภคต้องเสียและรับภาระภาษีมูลค่าเพิ่มนั้นไว้เองโดยไม่สามารถผลักภาระภาษีต่อไปยังบุคคลอื่นได้ ถือเป็น "ภาษีทางตรง" ด้วยเช่นกัน เช่น ภาษีมูลค่าเพิ่มจากการนำทรัพย์สิน หรือจากการนำส่งภาษีมุลค่าเพิ่ม ตามแบบ ภ.พ.36

(2) ภาษีทางอ้อม (Indirect Tax) ได้แก่ ภาษีอากรประเภทที่ผู้ต้องเสียหรือนำส่งภาษีอากรประเภทนั้นๆ สามารถผลักภาระภาษีทอดต่อไปยังบุคคลอื่นได้ โดยบวกรวมเข้าเป็นต้นทุนหรือรายจ่ายในการขายสินค้าหรือบริการ มักใช้กับภาษีการบริโภค ที่รัฐไม่อาจจัดเก็บโดยต้องได้จากผู้บริโภค ต้องบัญญัติให้ผู้ประกอบการเป็นผู้มีหน้าที่เสียภาษีอากร และมีสิทธิผลักภาระภาษีต่อไปยังผู้บริโภคโดยบวกภาษีอากรเพิ่มใปในราคาสิค้าได้

 

4. หลักผลประโยชน์ตอบแทน 

ภายใต้หลักความเป็นธรรมสัมพัทธ์ แบ่งออกเป็นสองหลักย่อย คือ

หลักผลประโยชน์ ผู้ที่ได้รับประโยชน์จากสินค้าหรือบริการใดๆ ของรัฐ จะต้องเป็นผู้เสียภาษีเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการผลิตสินค้าหรือบริการเหล่านั้นตามสัดส่วนหรือขนาดของประโยชน์ที่ตนได้รับ เช่น ภาษีการใช้ถนน ค่าธรรมเนียมผ่านทางหรือค่าใบอนุญาตทำการต่างๆ 

หลักความสามารถในการเสียภาษี วัดจากทรัพย์สิน รายได้หรือการใช้จ่ายของแต่ละบุคคล ซึ่งเกี่ยวโยงกับทฤษฎีการเสียสละเท่ากัน แบ่งเป็น

ทฤษฎีการเสียสละสัมบูรณ์เท่ากัน ผู้เสียภาษีทุกคนควรเสียสละอรรถประโยชน์ในจำนวนที่เท่ากัน จึงต้องเก็บจากผู้มีรายได้สูงมากกว่าที่ จะเก็บจากผู้มีรายได้ต่ำกว่า

ทฤษฎีการเสียสละตามสัดส่วนเท่ากัน ผู้เสียภาษีทุกคนควรเสียสละอรรถประโยชน์ในสัดส่วนเดียวกันทั้งหมด

ทฤษฎีการเสียสละส่วนเพิ่มเท่ากัน ผู้เสียภาษีทุกคนควรเสียสละอรรถประโยชน์ที่ตนมีอยู่จนกระทั่งอรรถประโยชน์ส่วนเพิ่มของผู้เสียภาษีแต่ละรายเท่ากัน เป็นการเก็บภาษีที่มีอัตราก้าวหน้ามากที่สุด

ที่มา: https://www.scribd.com/doc/20157781


5. หลัก "กฎหมายพิเศษ" และ "กฎหมายทั่วไป"

5.1 ความหมาย 

      (1) กฎหมายทั่วไป (Jus Generale) = กฎหมายที่ข้อความใช้บังคับเป็นการทั่วไป ไม่จำกัดบุคคล สถานที่ เวลาหรือเหตุการณ์ เช่น ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ประมวลกฎหมายอาญา เป็นต้น 

      (2) กฎหมายพิเศษ (Jus Speciale) = กฎหมายที่ข้อความใช้บังคับบุคคล สถานที่ เวลา หรือเหตุการณ์ เป็นกรณีพิเศษ เช่น กฎหมายว่าด้วยล้มละลาย ประมวลรัษฎากร 

5.2 ที่มาของกฎหมายทั่วไป และกฎหมายพิเศษ 

      (1) ความขัดแย้งกันของบทบัญญัติแห่งกฎหมายหนึ่งกับบทบัญญัติในอีกกฎหมายหนึ่ง อันเป็นกฎหมายในระดับเดียวกัน 

      (2) ความขัดแย้งกันของบทบัญญัติในกฎหมายเดียวกัน

5.3 การพิจารณากฎหมายทั่วไป และกฎหมายพิเศษ 

      (1) ในระหว่างกฎหมายด้วยกัน กฎหมายที่บัญญัติใช้บังคับเป็นการทั่วไปเป็นกฎหมายทั่วไป ส่วนกฎหมายที่บัญญัติใช้เป็นการเฉพาะ เป็นกฎหมายพิเศษ เช่น 

           เกี่ยวกับ "นิติกรรมสัญญาและ เอกเทศสัญญา หนี้" 

           - กฎหมายทั่วไป ได้แก่ ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ 

           - กฎหมายพิเศษ ได้แก่ ประมวลรัษฎากร และกฎหมายว่าด้วยภาษีอาการทั้งหลาย

           เกี่ยวกับ "ความรับผิดทางอาญา"

           - กฎหมายทั่วไป ่อาทิ ประมวลกฎหมายอาญา 

           - กฎหมายพิเศษ อาทิ ประมวลรัษฎากร และกฎหมายว่าด้วยภาษีอาการทั้งหลาย รวมทั้งความรับผิดทางอาญาตามกฎหมายพิเศษอื่นๆ 

           เกี่ยวกับ "การยกเว้นภาษีอากร" 

           - กฎหมายทั่วไป ่อาทิ ประมวลรัษฎากร

           - กฎหมายพิเศษ อาทิ พระราชบัญญัติส่งเสริมการลงทุน พ.ศ. 2520 พ.ร.บ. กองทุนสงเคราะห์การทำสวนยาง พ.ศ. 2503 (มาตรา 23) พ.ร.บ. การรถไฟแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2494 (มาตรา 19) อนุสัญญาภาษีซ้อน 

           เกี่ยวกับ "การดำเนินคดีในศาลยุติธรรม"

           - กฎหมายทั่วไป อาทิ ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง 

           - กฎหมายพิเศษ อาทิ การอุทธรณ์ตามประมวลรัษฎากร และกฎหมายว่าด้วยวิธีพิจารณาความในคดีภาษีอากร 

      (2) ในกฎหมายฉบับเดียวกัน 

           (ก) บทบัญญัติที่ใช้บังคับเป็นการทั่วไป โดยไม่มีข้อความแสดงให้เห็น หรือบัญญัติไว้เป็นอย่างอื่น ถือเป็นกฎหมายทั่วไป โดยชื่อบทบัญญัติจะแสดงว่าเป็นกฎหมายทั่วไป เช่น   

                 - ลักษณะ 1 ข้อความเบื้องต้น เป็นกฎหมายทั่วไปของบทบัญญัติแห่งประมวลรัษฎากรทั้งมวล

                 - หมวด 1 เบ็ดเสร็จทั่วไป (มาตรา 5 - มาตรา 13) และหมวด 1 ทวิ คณะกรรมการวินิจฉัยภาษีอากร (มาตรา 13 ทวิ - มาตรา 13 อัฎฐ) ในลักษณะ 2 เป็นกฎหมายทั่วไปของบทบัญญัติในลักษณะ 2 ทั้งหมด 

                 - หมวด 2 วิธีการเกี่ยวแก่ภาษีอากรประเมิน (มาตรา 14 - มาตรา 37 ทวิ) เป็นกฎหมายทั่วไปของบทบัญญัติในหมวด 3 หมวด 4 และหมวด 5 ทั้งหมด 

           (ข) ในกฎหมายฉบับเดียวกัน บทบัญญัติที่ใช้บังคับเป็นการเฉพาะเจาะจง เช่น 

                 - ลักษณะ 2 ภาษีอากรฝ่ายสรรพากร เป็นกฎหมายพิเศษของบทบัญญัติตามลักษณะ 1

                 - หมวด 2 วิธีการเกี่ยวแก่ภาษีอากรประเมิน หมวด 3 ภาษีเงินได้ หมวด 4 ภาษีมูลค่าเพิ่ม หมวด 5 ภาษีธุรกิจเฉพาะ และหมวด 6 อากรแสตมป์ เป็นกฎหมายพิเศษของหมวด 1 บทเบ็ดเสร็จทั่วไป 

                 - หมวด 3 ภาษีเงินได้ หมวด 4 ภาษีมูลค่าเพิ่ม และหมวด 5 ภาษีธุรกิจเฉพาะ เป็นกฎหมายพิเศษของหมวด 2 วิธีการเกี่ยวแก่ภาษีอากรประเมิน 

      (3) ในกรณีที่มีบทบัญญัติเรื่องเดียวกันซ้ำกัน แต่มีเนื้อความแสดงให้เห็นเป็นพิเศษ หรือบัญญัติไว้แตกต่างไปจากบทบัญญัติทั่วไป ถือเป็นกฎหมายพิเศษ 

      (4) การใช้บังคับกฎหมายทั่วไป และกฎหมายพิเศษ 

           (ก) กฎหมายพิเศษใช้บังคับก่อนหรือยกเว้นกฎหมายทั่วไป 

           (ข) กรณีที่ไม่มีกฎหมายพิเศษบัญญัติไว้ ให้ใช้บังคับตามกฎหมายทั่วไป 

      (5) ข้อสังเกตบทบัญญัติกฎหมายทั่วไปตามประมวลรัษฎากรมักปรากฏข้อความต่อไปนี้ 

           - “ในประมวลรัษฎากรนี้ หรือในหมวดนี้ เว้นแต่ข้อความจะแสดงให้เห็นเป็นอย่างอื่นเช่น มาตรา 2 มาตรา 39 มาตรา 77/1 มาตรา 103

           - “เว้นแต่จะมีบัญญัติไว้เป็นอย่างอื่นเช่น มาตรา 11 มาตรา 15 มาตรา 27 ตรี มาตรา 111

           - ภายใต้บังคับมาตรา... เช่น มาตรา 18 ตรี มาตรา 57 จัตวา 69 ทวิ มาตรา 78 มาตรา 79 มาตรา 82/3 มาตรา 83 มาตรา 83/4 มาตรา 83/8 มาตรา 86 มาตรา 87

 

6. หลัก กฎหมายเอกชน" และ "กฎหมายมหาชน” 

หลัก กฏหมายเอกชน และกฎหมายมหาชนในประมวลรัษฎากร 

6.1 พิจารณาจาก จำนวนภาษีอากรที่รัฐจัดเก็บอันถือเป็น หนี้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ เป็นหนี้ที่เกิดขึ้นโดยผลของกฎหมาย นิติเหตุมีความเป็นบุริมสิทธิมี เบี้ยปรับและ เงินเพิ่มเป็นบทลงโทษเพื่อให้เกิดสภาพบังคับ 

      กรณีผู้ต้องเสียหรือผุ้นำส่งไม่ชำระให้นำบทบัญญัติกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาปรับใช้ กรมสรรพากรและผู้ต้องเสียภาษีมีฐานะเป็นบุคคลเท่าเทียมกัน

6.2 พิจารณาจาก บทกำหนดโทษทางอาญา และการให้อำนาจแก่เจ้าพนักงานประเมินหรือพนักงานเจ้าหน้าที่อากรแสตมป์ ซึ่งเป็นกรณีที่รัฐมีอำนาจเหนือผู้ต้องเสียภาษี อันเป็นกฎหมายมหาชน

 

7. หลักรอบระยะเวลา และหลักความสม่ำเสมอ 

7.1 หลักรอบระยะเวลา

      เพื่อการบริหารการจัดเก็บภาษีอากรตามประมวลรัษฎากร ทั้งกรณีภาษีเงินได้บุคคละรรมดา ใช้ "ปีภาษี" ตามมาตรา 39 แห่งประมวลรัษฎากร กรณีภาษีเงินได้นิติบุคคล ใช้ "รอบระยะเวลาบัญชี" ตามมาตรา 65 แห่งประมวลรัษฎากร ภาษีมูลค่าเพิ่ม และภาษีธุรกิจเฉพาะ ใช้ "เดีอนภาษี" ตามมาตรา 77/1 (23) แห่งประมวลรัษฎากร โดย เฉพาะการคำนวณ การยื่นรายการและการเสียภาษีของผู้ต้องเสียภาษี

7.2 หลักความสม่ำเสมอ 

      ความสม่ำเสมอ ความมีมาตรฐาน (Consistency) ได้แก่ การปฏิบัติในหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขเดียวกันตลอดไป

      (1) ความสม่ำเสมอกรณีทั่วไป ได้แก่ ความชัดเจน แน่นอน เกี่ยวกับ 

           - ผู้มีหน้าที่เสียภาษี

           - ฐานภาษี อัตราภาษี และวิธีการคำนวณภาษี 

           - การคำนวณอัตราแลกเปลี่ยน ตามมาตรา 9

      (2) หลักความสม่าเสมอ กรณีภาษีเงินได้นิติบุคคล

            - รอบระยะเวลาบัญชี 

           - วิธีการคำนวณค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคา

            - วิธีการตีราคาสินค้าคงเหลือตามราคาทุน

      (3) หลักความสม่ำเสมอ กรณีภาษีธุรกิจเฉพาะ 

           เกณฑ์การคำนวณรายรับตามมาตรา 91/8

 

8. หลักการใช้หน่วยเงินตราไทยในการคำนวณภาษีอากร

หลัก การใช้หน่วยเงินตราในการคำนวณภาษีตามประมวลรัษฎากร กำหนดให้ใช้หน่วยเงินตราไทย ดังนี้

"มาตรา 9 เว้นแต่จะมีบัญญัติไว้เป็นอย่างอื่น ถ้าจำเป็นต้องคำนวณเงินตราต่างประเทศเป็นเงินตราไทยเพื่อปฏิบัติการตามลักษณะนี้ ให้คิดตามอัตราแลกเปลี่ยนซึ่งกระทรวงการคลังประกาศเป็นคราว ๆ"
(แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 8) พ.ศ. 2494 ใช้บังคับ 25 เม.ย. พ.ศ. 2494 เป็นต้นไป) 
(ดู ประกาศกระทรวงการคลัง เรื่อง อัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศเป็นเงินตราไทย และคำสั่งกรมสรรพากร ป.132/2548)

มาตรา 65 ทวิ (5) การคำนวณค่าหรือราคาเงินตรา ทรัพย์สิน หรือหนี้สินซึ่งมีค่าหรือราคาเป็นเงินตราต่างประเทศ ให้เป็นเงินตราไทย 

       กรณีคงเหลืออยู่ในวันสุดท้ายของรอบระยะเวลาบัญชี 

       กรณีที่รับมาหรือจ่ายไปในระหว่างรอบระยะเวลาบัญชี ให้คำนวณค่า หรือราคาเป็นเงินตราไทยตามราคาตลาดในวันที่รับมาหรือจ่ายไปนั้น

มาตรา 65 ทวิ (8) การคำนวณราคาทุนของสินค้าที่เป็นเงินตราต่างประเทศ ให้เป็นเงินตราไทย ให้คำนวณตามอัตราแลกเปลี่ยนในท้องตลาดของวันที่ได้สินค้านั้นมา

มาตรา 79/4 ในกรณีที่มูลค่าของฐานภาษีที่ได้รับหรือ พึงได้รับจากการขายสินค้า การให้บริการ หรือการนำเข้าเป็นเงินตราต่างประเทศ ให้คำนวณเงินตราต่างประเทศนั้น เป็นเงินตราไทยตามหลักเกณฑ์ดังต่อไปนี้

       (1) ในกรณีได้รับเงินตราต่างประเทศจากการ ขายสินค้าหรือการให้บริการ และได้มีการขายเงินตราต่างประเทศ ที่ได้รับชำระนั้น เป็นเงินตราไทยในเดือนที่ความรับผิดในการเสียภาษีมูลค่าเพิ่มเกิดขึ้น ให้ถือเงินตราไทยจากการขายนั้นเป็นมูลค่าของฐานภาษีที่ได้รับ หรือพึงได้รับจากการขายสินค้า หรือการให้บริการแล้วแต่กรณี เว้นแต่มิได้มีการขายเงินตราต่างประเทศในเดือนที่ ความรับผิดในการเสียภาษีมูลค่าเพิ่มเกิดขึ้น ให้ถือตามอัตราถัวเฉลี่ยที่ธนาคารพาณิชย์รับซื้อ ซึ่งธนาคารแห่งประเทศไทยได้คำนวณไว้ในวันทำการสุดท้าย ของเดือนที่ความรับผิดในการเสียภาษีมูลค่าเพิ่มเกิดขึ้น

       (2) ในกรณีนำเข้าสินค้าให้คำนวณราคา ซี.ไอ.เอฟ. ของสินค้านำเข้าที่เป็นเงินตราต่างประเทศ เป็นเงินตราไทยตามอัตราที่กรมศุลกากรใช้คำนวณเพื่อเรียกเก็บอากรขาเข้าตามกฎหมายว่าด้วยศุลกากร

 

9. หลักถ้อยทีถ้อยปฏิบัติต่อกัน (Reciprocal)

ต่างฝ่ายต่างปฏิบัติดีต่อกันในเรื่องเดียวกันหรือในทำนองเดียวกัน เกี่ยวกับการจัดเก็บภาษีอากรจากบุคคลผู้ถือสัญชาติอื่น

 

10. หลักกฎหมายปิดปาก

เป็นไปเพื่อประโยชน์ในการบริหารการจัดเก็บภาษีอากร ในอันที่จะให้เกิดความรวดเร็ว ลดขั้นตอนการปฏิบัติ ภายใต้ขอบเขตของความเป็นธรรมตามกฎหมาย เช่น 

มาตรา 8 วรรคท้าย ในการส่งหมายเรียก หนังสือแจ้งให้เสียภาษีอากรหรือหนังสืออื่นซึ่งมีถึงบุคคลใดตามลักษณะ 2 แห่งประมวลรัษฎากรนั้น

       เมื่อได้ปฏิบัติตามวิธีดังกล่าวข้างต้นแล้ว ให้ถือว่าเป็นอันได้รับแล้ว” 

มาตรา 10เจ้าพนักงานผู้ใดโดยหน้าที่ราชการตามลักษณะนี้ ได้รู้เรื่องกิจการของผู้เสียภาษีอากรหรือของผู้อื่นที่เกี่ยวข้อง ห้ามมิให้นำออกแจ้งแก่ผู้ใด หรือยังให้ทราบกันไปโดยวิธีใด เว้นแต่จะมีอำนาจที่จะทำได้โดยชอบด้วยกฎหมาย

การห้ามอุทธรณ์การประเมินของเจ้าพนักงานประเมินตามมาตรา 21 มาตรา 25 มาตรา 33 มาตรา 88/1 และ มาตรา 91/21 แห่งประมวลรัษฎากร 

อำนาจในการวินิจฉัยว่าเป็นการขายสินค้าหรือการให้บริการของอธิบดีกรมสรรพากรตามมาตรา 77/5 แห่งประมวลรัษฎากร

 

11. หลักเนื้อหาสำคัญกว่ารูปแบบ 

ให้ความสำคัญต่อข้อเท็จจริงมากกว่ารูปแบบของเอกสารหลักฐาน เช่น

สัญญาซื้อขาย เป็นรูปแบบ แต่เนื้อหากำหนดให้กรรมสิทธิ์ตกเป็นของผู้ซื้อเมื่อชำระราคาครบถ้วนแล้ว เช่นนี้ ถือเป็นสัญญาเช่าซื้อ ที่ต้องปิดอากรแสตมป์ 

ตั๋วสัญญาใช้เงินที่มีทั้งผู้กู้และผู้ให้กู้ลงนามร่วมกัน เช่นนี้ ถือเป็นสัญญากู้ยืมเงินที่ต้องปิดอากรแสตมป์ 

มีบางกรณีที่กฎหมายยึดถือ หลัก รูปแบบสำคัญกว่าเนื้อหา” 

แต่ก็ให้โอกาสแก่ผู้เสียภาษีอากรที่จะใช้หลัก เนื้อหาสำคัญกว่ารูปแบบอาทิ

มาตรา 61 บัญญัติว่า “บุคคลใดมีชื่อในหนังสือสำคัญใดๆ แสดงว่า (1) เป็นเจ้าของทรัพย์สินอันระบุไว้ในหนังสือสำคัญ และทรัพย์สินนั้นก่อให้เกิดเงินได้พึงประเมิน หรือ (2) เป็นผู้ได้รับเงินได้พึงประเมินโดยหนังสือสำคัญเช่นว่านั้น

เจ้าพนักงานประเมินมีอำนาจประเมินเรียกเก็บภาษีทั้งหมดจากผู้มีชื่อใน หนังสือสำคัญนั้นก็ได้ แต่ถ้าบุคคลนั้นต้องโอนเงินได้พึงประเมินให้แก่บุคคลอื่น บุคคลนั้นมีสิทธิหักเงินภาษีจากจำนวนเงินซึ่งต้องโอนให้แก่บุคคลอื่นตามส่วน”

 

12. หลักผู้ใดกล่าวอ้าง ผู้นั้นนำสืบ

เป็นไปตามหลักกฎหมายพยาน

ใช้ในกรณีที่เจ้าพนักงานประเมินมีอำนาจในการกล่าวหาว่า ผู้ต้องเสียภาษีอากรชำระภาษีอากรไม่ถูกต้องครบถ้วนตามทีกฎหมายกำหนด หรือปฏิบัติหน้าที่ทางภาษีอากรไม่ถูกต้อง 
หากผู้ต้องเสียภาษีโต้แย้ง ข้อกล่าวหา โดยอ้างว่าตนเองเสียภาษีอากรถูกต้องครบถ้วนและปฏิบัติหน้าที่ทางภาษีอากรโดยถูกต้องแล้ว ผู้ต้องเสียภาษีอากรนั้นๆ มีหน้าที่ต้องพิสูจน์ความถูกต้องแห่งตน

การพิสูจน์ความถูกต้องดังกล่าว ศาลฎีกาได้เคยมีแนวทางว่า ต้องพิสูจน์โดยปราศจากข้อสงสัยของเจ้าพนักงานประเมิน

 

13. หลัก แหล่งเงินได้" และ "ถิ่นที่อยู่” (หลักสัญชาติ) 

หลักแหล่งเงินได้ และหลักถิ่นที่อยู่ เป็นหลักที่นำมาใช้ในการจัดเก็บภาษีเงินได้ทั้งกรณีภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ที่ มาตรา 41 แห่งประมวลรัษฎากร และภาษีเงินได้นิติบุคคล ที่ มาตรา 66 แห่งประมวลรัษฎากร 

13.1 กรณีภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา 

       (1) หลักแหล่งเงินได้ (Source Rule) ใช้ในกรณีที่ผู้มีเงินได้ได้รับเงินได้จากแหล่งเงินได้ในประเทศ จึงมีหน้าที่ต้องเสียภาษ๊เงินได้ที่ได้รับจากแหล่งเงินได้ในประเทศไทย ไม่ว่าจะได้รับเงินได้นั้นในประเทศไทยหรือต่างประเทศก็ตาม 

             เงินได้ที่เกิดจากแหล่งเงินได้ในประเทศไทย ได้แก่

             (ก) เงินได้เนื่องจากหน้าที่งานที่ทำในประเทศไทย 

             (ข) เงินได้เนื่องจาก(หน้าที่งานที่ทำในต่างประเทศเพื่อ) กิจกการของนายจ้างในประเทศไทย 

             (ค) เงินได้เนื่องจากทรัพย์สินในประเทศไทย

             (ง) เงินได้เนื่องจากกิจการที่ทำในประเทศไทย 

       (2) หลักถิ่นที่อยู่ (Resident Rule) ใช้ในกรณีที่ผู้่มีเงินได้เป็นผู้อยู่ในประเทศไทยถึง 180 วัน ในปีภาษ๊ (ไม่ว่าจะอยูติดต่อต่อเนื่องหรือไม่ก็ตาม) และได้รับเงินได้จากแหล่งเงินได้ในต่างประเทศ และได้นำเงินได้นั้นเข้ามาในประเทศไทย (ภายในปีภาษีเดียวกับปีที่เกิดเงินได้) ผู้มีเงินได้นั้นมีหน้าที่ต้องเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาตามประมวลรัษฎากร สำหรับเงินได้จากแหล่งเงินได้ในต่างประเทศที่เป็นไปตามองค์ประกอบดังกล่าว 

             เงินได้ที่เกิดจากแหล่งเงินได้ในต่างประเทศ ได้แก่

             (ก) เงินได้เนื่องจากหน้าที่งานที่ทำในต่างประเทศ (เพื่อกิจการของนายจ้างในต่างประเทศ) 

             (ข) เงินได้เนื่องจากทรัพย์สินในต่างประเทศ

             (ค) เงินได้เนื่องจากกิจการที่ทำในต่างประเทศ 

13.2 กรณีภาษีเงินได้นิติบุคคล

       (1) หลักแหล่งเงินได้ (Source Rule) ใช้ในกรณีบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายของต่างประเทศมีรายได้จากแหล่งเงินได้ในประเทศไทย ให้มีหน้าที่เสียภาษีเงินได้นิติบุคคลตามประมวลรัษฎากร เนื่องจาก

             (ก) เข้ามาประเกอบกิจการในประเทศไทย แห่งเดียวโดยเฉพาะ ตามมาตรา 66 วรรคแรก แห่งประมวลรัษฎากร

             (ข) ประกอบกิจการในที่อื่นและในประเทศไทย โดยให้เสียภาษีเงินได้นิติบุคคลเฉพาะรายได้จากที่เกิดขึ้นในประเทศไทยเท่านั้น ตามมาตรา 66 วรรคสอง มาตรา 67 แห่งประมวลรัษฎากร 

             (ค) มีลูกจ้างหรือผู้ทำการแทนหรือผู้ทำการติดต่อในการประกอบกิจการในประเทศไทย ซึ่งเป็นเหตุให้ได้รับเงินได้หรือผลกำไรในประเทศไทย ให้ถือว่าบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลนั้น ประกอบกิจการในประเทศไทย และให้ถือว่าบุคคลผู้เป็นลูกจ้าง หรือผู้ทำการแทน หรือผู้ทำการติดต่อเช่นว่านั้น ไม่ว่าจะเป็นบุคคลธรรมดา หรือนิติบุคคลเป็นตัวแทนของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล ซึ่งตั้งขึ้นตามกฎหมายของต่างประเทศ และให้บุคคลนั้นมีหน้าที่ และความรับผิดในการยื่นรายการและเสียภาษีตามบทบัญญัติในส่วนนี้ เฉพาะที่เกี่ยวกับเงินได้หรือผลกำไรที่กล่าวแล้ว ตามมาตรา 76 ทวิ แห่งประมวลรัษฎากร 

             (ง) มิได้ประกอบกิจการในประเทศไทย แต่ได้รับเงินได้พึงประเมินที่้เกิดจากแหล่งเงินได้ในประเทศไทย ตามมาตรา 40 (2)(3)(4)(5) หรือ (6) แห่งประมวลรัษฎากร ที่จ่ายจากหรือในประเทศไทย ให้บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายของต่างประเทศนั้นมีหน้าทีเสียภาษีเงินได้ในประเทศไทย โดยให้ผู้จ่ายเงินได้คำนวณหักภาษีเงินได้นิติบุคคล ณ ที่จ่ายตามมาตรา 70 แห่งประมวลรัษฎากร 

             (จ) กรณีบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ตึ้งขั้นตามกฎหมายของต่างประเทศ ประกอบกิจการในประเทศไทย ประสงค์จะจำหน่ายเงินกำไรออกไปต่างประเทศ ให้บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลนั้นมีหน้าที่เสียภาษีเงินได้นิติบุคคลจากการจำหน่ายกำไรนั้นตามมาตรา 70 ทวิ แหงประมวลรัษฎากร

       (2) หลักถิ่นที่อยู่ (Resident Rule) ใช้ในกรณีที่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายไทย มีหน้าที่ต้องเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลจากฐานกำไรสุทธิทั้งรายได้ที่เกิดจากแหล่งเงินได้ในประเทศไทย และแหล่งเงินได้ในต่างประเทศ ตามหลัก World Wide Income

 

14. หลัก ความสามารถในการเสียภาษี" และ "ความมั่งคั่ง” 

14.1 หลักความสามารถในการเสียภาษี (Ability to Pay Principle) 

       (1) กรณีภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ใช้ในการจัดเก็บภาษีจากเงินได้สุทธิตามมาตรา 48 (1)(4) หรือ (5) แห่งประมวลรัษฎากร ในอัตราก้าวหน้า (Progressive Rate)

       (2) กรณีภาษีเงินได้นิติบุคคล ใช้ในการจัดเก็บภาษีเงินได้จากกำไรสุทธิทางภาษีอากรตามมาตรา 65 แห่งประมวลรัษฎากร 

14.2 หลักความมั่งคั่ง (Wealth Principle)

       (1) กรณีภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ใช้ในการจัดเก็บภาษีจากเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 48 (2) แห่งประมวลรัษฎากร 

       (2) กรณีภาษีเงินได้นิติบุคคล ใช้ในการจัดเก็บภาษีเงินได้จากรายได้หรือรายรับก่อนหักรายจ่ายใดๆ ตามมาตรา 70 มาตรา 70 ทวิ มาตรา 71 (1) แห่งประมวลรัษฎากร หรือกรณีมูลนิธิหรือสมาคมที่ประกอบกิจการซึ่งมีรายได้

 

15. หลักความซ้ำซ้อนในการจัดเก็บภาษีอากร 

ภาษีซ้อน หมายถึง การจัดเก็บภาษีจากเงินได้จำนวนเดียวกันมากกว่า 1 ครั้ง หรืออาจกล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือ เงินได้ จำนวนเดียวกัน ถูกนำมาใช้เป็นฐานในการคำนวณเรียกเก็บภาษีเกินกว่าหนึ่งครั้ง

ลักษณะความซ้ำซ้อนภาษี แยกพิจารณาได้เป็น

15.1 ภาษีซ้อนเชิงเศรษฐกิจ (Economic Taxation) หมายถึง กรณีที่เงินได้จำนวนเดียวกันถูกนำมาใช้เป็นฐานในการจัดเก็บภาษีโดยรัฐ รัฐหนึ่งมากกว่าหนึ่งครั้ง ซึ่งเป็นการเรียกเก็บจากบุคคลสองคน หรือมากกว่านั้น

        การที่กำไรของบริษัทถูกเก็บภาษีเงินได้นิติบุคคลครั้งหนึ่งและเพื่อนำกำไรหลังเสียภาษีเงินได้แล้วไปจ่ายเป็นเงินปันผลให้แก่บุคคลธรรมดาผู้ถือหุ้น เงินปันผลจำนวนดังกล่าวก็จะถูกเก็บภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาอีกครั้งหนึ่ง

15.2 ภาษีซ้อนเชิงอำนาจรัฐ (Juridical Double Taxation) หรือ ภาษีซ้อนระหว่างประเทศ หมายถึง กรณีที่เงินได้ จำนวนเดียวกันถูกนำมาใช้เป็นฐานในการจัดเก็บภาษีจากบุคคลเดียวกันโดยรัฐมากกว่าหนึ่งรัฐ

       เงินได้ ที่อยู่ในอีกรัฐหนึ่ง รัฐที่มีการจ่ายเงินได้ หรือ รัฐแหล่งเงินได้จะอ้างสิทธิเก็บภาษี จากเงินได้ที่จ่ายในขณะที่รัฐถิ่นที่อยู่ของผู้รับเงินได้ หรือรัฐกันที่อยู่ ก็จะอ้างสิทธิ์เก็บภาษีจากเงินได้ดังกล่าวด้วยเช่นกัน

 

 

16. หลักการขจัดความซ้ำซ้อนในการเสียภาษีอากร

การแก้ไขความซ้ำซ้อนของอำนาจรัฐในการจัดเก็บภาษี คือแต่ละรัฐมีอำนาจในการตรากฎหมายเพื่อจัดเก็บภาษีได้โดยอาศัยความสัมพันธ์ (จุดก่อเกี่ยว) ระหว่างรัฐกับผู้เสียภาษี หรืออนุสัญญาภาษีซ้อน

16.1 การยกเว้นภาษีเงินได้ในประเทศที่เป็นแหล่งเงินได้

16.2 ให้เครดิตภาษีเงินได้ที่ไ้เสียให้แก่ประเทศแหล่งเงินได้ในประเทศที่เป็นถิ่นทีอยู่

17. หลักภาษีเบ็ดเสร็จเด็ดขาด (Final Tax) หรือการเลือกเสียภาษี

17.1 แต่เดิมนั้น หลักภาษีเบ็ดเสร็จเด็ดขาด (Final Tax) มีบัญญัติไว้ก็แต่เพียงมาตรา 70 แห่งประมวลรัษฎากร มาตราเดียวเท่านั้น กล่าวคือ กรณีบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายของต่างประเทศ มิได้ประกอบกิจการในประเทศไทย แต่ได้รับเงินได้พึงประเมินจากแหล่งเงินได้ในประเทศไทย (Source of Income in Thailand) ตามมาตรา 40 (2)(3)(4)(5) หรือ (6) ที่จ่ายจากหรือในประเทศไทย ให้ห้บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลนั้นเสียภาษี โดยให้ผู้จ่ายหักภาษีจากเงินได้พึงประเมินที่จ่ายตามอัตราภาษีเงินได้ สำหรับบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลแล้วนำส่งสำนักงานสรรพากรพื้นที่สาขาในท้องที่นั้น พร้อมกับยื่นรายการตามแบบที่อธิบดีกำหนด (ภ.ง.ด.54) ภายในเจ็ดวันนับแต่วันสิ้นเดือนของเดือนที่จ่ายเงินได้พึงประเมินนั้น ทั้งนี้ ให้นำมาตรา 54 มาใช้บังคับโดยอนุโลม

        ภาษีเงินได้นิติบุคคล ณ ที่จ่ายตามมาตรา 70 แห่งประมวลรัษฎากร ดังกล่าวจึงแตกต่างไปจากภาษีเงินได้นิติบุคคลหัก ณ ทีจ่าย กรณีทั่วไป ตรงที่บทบัญญัติมาตรา 70 แห่งประมวลรัษฎากร มิได้บัญญัติให้นำภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่ายมาถือเป็นเครดิตในการคำนวณภาษีเงินได้นิติบุคคล ดังนั้น เมื่อผู้จ่ายคำนวณหักภาษีเงินได้ ณ ทีจ่ายและนำส่งไว้ถูกต้องครบถ้วนตามหลักเกณฑ์ วิธีการ เงื่อนไข และอัตราที่กฎหมายกำหนดแล้ว ผู้มีเงินได้ก็ไม่พึงต้องมีภาระใดๆ ตามประมวลรัษฎากร ในทางภาษีอากรจึงเรียกว่า “ภาษีเบ็ดเสร็จเด็ดขาด

17.2 ต่อมาได้มีการบัญญัติมาตรา 48 (3)(4) และ (5) มาตรา 57 ฉ แห่งประมวลรัษฎากร รวมทั้งพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 262) พ.ศ. 2536 และฉบับอื่นๆ กำหนดให้เลือกเสี่ยภาษีเงินได้เท่าที่ถูกหักภาษีเงินได้ไว้ ณ ที่จ่าย ดังนี้

        (1) การเลือกเสียภาษี PIT ตามมาตรา 48 (3) สำหรับเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (4)(ก)(ข) และ (ช) 

             (ก) เงินได้ตามมาตรา 40 (4)(ก) ดังต่อไปนี้ ซึ่งถูกหัก WT 15% 

                   - ดอกเบี้ยเงินฝากประจำธนาคารในราชอาณาจักร หรือสหกรณ์

                   - ดอกเบี้ยหุ้นกู้ ดอกเบี้ยพันธบัตร

                   - ดอกเบี้ยตั๋วเงิน

                   - ดอกเบี้ยเงินกู้ยืมที่ได้จากบริษัทหรือห้างฯ นิติบุคคล         หรือนิติบุคคลอื่น

                   - ผลต่างระหว่างราคาไถ่ถอนกับราคาจำหน่ายตั๋วเงินหรือตราสารแสดงสิทธิในหนี้ที่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลหรือนิติบุคคลอื่นเป็นผู้ออก

             (ข) เงินได้ตามมาตรา 40 (4)(ข) ซึ่งถูกหัก WT 10%

             (ค) เงินได้ตามมาตรา 40 (4)(ช) ซึ่งถูกหัก WT 15%  

                   ผลประโยชน์ที่ได้จากการโอนพันธบัตร หุ้นกู้ หรือตั๋วเงิน หรือตราสารแสดงสิทธิในหนี้ที่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลหรือนิติบุคคลอื่นเป็นผู้ออก ทั้งนี้ เฉพาะที่ตีราคาเป็นเงินได้เกินกว่าที่ลงทุน

        (2) การเลือกเสีย PIT ตามมาตรา 48 (4) สำหรับเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (8) ที่เป็นเงินได้จากการขายอสังหาริมทรัพย์ที่ได้มาโดยมิได้มุ่งค้าหากำไร

        (3) การเลือกเสีย PIT ตามมาตรา 48 (5) สำหรับเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (1) ที่เป็นเงินได้ที่นายจ้างจ่ายให้ครั้งเดียวเพราะเหตุออกจากงาน (One Time Payment) ซึ่งอายุงานต้องไม่น้อยกว่า 5 ปี  

        (4) การเลือกเสีย PIT ตามมาตรา 57 ฉ สำหรับเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (1) กรณีภริยาเป็นผู้มีเงินได้  

        (5) การเลือกเสีย PIT ตาม พรฎ. (ฉ. 262) พ.ศ. 2536 สำหรับเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (8) ที่เป็นเงินปันผลจากกองทุนรวมที้ตั้งโดย พรบ.หลักทรัพย์หรือตลาดหลักทรัพย์ ยอมให้ผู้จ่าย หัก WT. 10%

        (6) การเลือกเสีย PIT ตามมาตรา 5 จตุทศ แห่ง พรฎ. (ฉ.10) สำหรับเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (8) ที่เป็นรางวัลสลากการกุศลงวดพิเศษฯ ยอมให้ผู้จ่ายหัก WT 1%

        (7) การเลือกเสีย PIT ตาม พรฎ. (ฉบับที่ 405) พ.ศ. 2545 สำหรับพนักงานที่เป็นคนต่างด้าวของ ROHสำนักงานปฏิบัติการภูมิภาค ซึ่งถูกหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายไว้แล้วในอัตรา 15.0% ของเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (1)

        (8) การเลือกเสีย PIT ตาม พรฎ. (ฉบับที่ 409) พ.ศ. 2545 สำหรับนักแสดงภาพยนตร์ต่างประเทศเฉพาะกรณีที่มีการดำเนินการถ่ายทำภาพยนตร์ในประเทศไทยโดยบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายของต่างประเทศ และได้รับอนุญาตให้ถ่ายทำภาพยนตร์ในประเทศไทยจากคณะอนุกรรมการพิจารณาคำขออนุญาตถ่ายทำภาพยนตร์ต่างประเทศในประเทศไทย ซึ่งผู้จ่ายเงินได้ที่เป็นบุคคล บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล หรือนิติบุคคลอื่น ห้างหุ้นส่วนสามัญหรือคณะบุคคลที่มิใช่นิติบุคคล ได้คำนวณหักภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ณ ที่จ่ายในอัตรา 10.0% ตามข้อ 9 (2)(ก) ของคำสั่งกรมสรรพากรที่ ท.ป. 4/2528 ทั้งนี้ เฉพาะกรณีที่ผู้รับประโยชน์ไม่ขอรับเงินภาษีที่ถูกหักไว้นั้นคืนหรือไม่ขอเครดิตเงินภาษีที่ถูกหักไว้นั้นไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน

        (9) การเลือกเสีย PIT ตาม พรฎ. (ฉบับที่ 494) พ.ศ. 2553 สำหรับเงินได้พึงประเมินจากการขายพลอย ทับทิม มรกต บุษราคัม โกเมน โอปอล นิล เพทาย ไพฑูรย์ หยก และอัญมณีที่มีลักษณะทำนองเดียวกัน เฉพาะที่ยังมิได้เจียระไน แต่ไม่รวมถึงสิ่งทำเทียมวัตถุดังกล่าวหรือที่ทำขึ้นใหม่ เพชร ไข่มุก และสิ่งทำเทียมเพชรหรือไข่มุกหรือที่ทำขึ้นใหม่ และได้ถูกหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายไว้แล้วในอัตรา 1.0% ของยอดเงินได้ ตามข้อ 12/5 ของคำสั่งกรมสรรพากรที่ ท.ป. 4/2528 ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีประกาศกำหนด ทั้งนี้ เฉพาะเงินได้พึงประเมินที่ได้รับตั้งแต่วันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2553 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2554

        (10) การเลือกเสีย PIT ตาม พรฎ. (ฉบับที่ 533) พ.ศ. 2555 สำหรับเงินได้ที่เป็นเงินชดเชยเงินปันผลซึ่งผู้รับประโยชน์ได้รับตามสัญญาก่อตั้งทรัสต์ และยอมให้ทรัสตีผู้จ่ายเงินได้หักภาษี ณ ที่จ่ายในอัตรา 10.0% ของเงินชดเชยเงินปันผลที่ได้รับ ทั้งนี้ เฉพาะกรณีที่ผู้รับประโยชน์ไม่ขอรับเงินภาษีที่ถูกหักไว้นั้นคืนหรือไม่ขอเครดิตเงินภาษีที่ถูกหักไว้นั้นไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน

        การกำหนดให้ผู้มีเงินได้มีสิทธิเลือกเสียภาษีเงินได้ เท่าที่ถูกหักภาษีเงินได้ ณ ทีจ่าย ถือเป็นการเสียเบ็ดเสร็จเด็ดขาดเช่นเดียวกัน  

 

18. หลักการยกเว้นและลดหย่อน 

การยกเว้นภาษีและการลดหย่อน ล้วนแต่เป็นไปเพื่อบรรเทาภาระภาษีอากร

18.1 การยกเว้นภาษีอากร มีกำหนดบัญญัติไว้ในกฎหมายภาษีอากรทุกประเภท ทั้งที่บัญญัติไว้ในบทบัญญัติแห่งประมวลรัษฎากร และที่บัญญัติเพิ่มโดยพระราชกฤษฎีกา และกฎกระทรวง ดังนี้ 

        (1) กรณีภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา

             (ก) การยกเว้นตามมาตรา 42 แห่งประมวลรัษฎากร

             (ข) การยกเว้นโดยกฎกระทรวงที่ออกตามความในมาตรา 42 (17) แห่งประมวลรัษฎากร

             (ค) การยกเว้นโดยพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร โดยอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 3 แห่งประมวลรัษฎากร

             (ง) การให้เครดิตภาษีตามมาตรา 47 ทวิ แห่งประมวลรัษฎากร เพื่อขจัดความซ้ำซ้อนเชิงเศรษฐกิจ (Economic Double Taxation)

             (จ) การยกเว้นโดยกฎหมายอื่น อาทิ พระราชบัญญัติส่งเสริมการลงทุน พ.ศ. 2520

             (ฉ) การยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาและการให้เครดิตตามอนุสัญญาภาษีซ้อน เพื่อการขจัดความซ้ำซ้อนเชิงอำนาจรัฐ (Juridical Double Taxation)

        (2) กรณีภาษีเงินได้นิติบุคคล

             (ก) การยกเว้นรายได้ที่เป็นเงินปันผลหรือเงินสวนแบ่งของกำไร ซึ่งมีเจตนารมณ์เพื่อการขจัดความซ้ำซ้อนในการเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลจากฐานกำไรสุทธิ อาทิ กรณีตามมาตรา 65 ทวิ (10) แห่งประมวลรัษฎากร การยกเว้นเงินส่วนแบ่งของกำไรจากกิจการร่วมค้า ตามมาตรา 5 ทวิ แห่งพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 10) พ.ศ. 2500

             (ข) การยกเว้นรายได้ให้แก่มูลนิธิหรือสมาคมที่ประกอบการกิจการซึ่งมีรายได้ตามมาตรา 65 ทวิ (13) แห่งประมวลรัษฎากร

             (ค) การยกเว้นภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายตามมาตรา 70 วรรคท้าย แห่งประมวลรัษฎากร เพื่อให้ได้เงินกู้ที่อัตราต่ำมาใช้ในการพัฒนาประเทศ

             (ง) การยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลตามพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร เพื่อเป็นการส่งเสริมการประกอบกิจการตามแนวนโยบายของรัฐ

             (จ) การยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลและการให้เครดิตตามอนุสัญญาภาษีซ้อน รวมทั้งกรณีตามพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 300) พ.ศ. 2539 เพื่อการขจัดความซ้ำซ้อนเชิงอำนาจรัฐ (Juridical Double Taxation)

        (3) กรณีภาษีมูลค่าเพิ่ม

             (ก) การยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม ตามมาตรา 81 แห่งประมวลรัษฎากร และพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 239) พ.ศ. 2534 เพื่อการบรรเทาภาระภาษีและในบางกรณีเป็นไปตามหลักถ้อยทีถ้อยปฏิบัติ

             (ข) การยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มตามพระราชกฤษฎีกาออกตามความในมาตรา 3 แห่งประมวลรัษฎากร เพื่อสนองรับต่อนโยบายของรัฐ

        (4) กรณีภาษีธุรกิจเฉพาะ

             (ก) การยกเว้นภาษีธุรกิจเฉพาะ ตามมาตรา 91/3 แห่งประมวลรัษฎากร และพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 240) พ.ศ. 2534 เพื่อการบรรเทาภาระภาษี

             (ข) การยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มตามพระราชกฤษฎีกาออกตามความในมาตรา 3 แห่งประมวลรัษฎากร เพื่อสนองรับต่อนโยบายของรัฐ

        (5) กรณีอากรแสตมป์

             (ก) การยกเว้นอากรแสตมป์ตามที่กำหนดในบัญชีอัตราอากรแสตมป์ ตามแนวนโยบายของรัฐ

             (ข) การยกเว้นอากรแสตมป์ ตามมาตรา 6 แห่งพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 10) พ.ศ. 2500

             (ค) การยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มตามพระราชกฤษฎีกาออกตามความในมาตรา 3 แห่งประมวลรัษฎากร เพื่อสนองรับต่อนโยบายของรัฐ       

18.2 การหักลดหย่อน (Allowances) มีบัญญัติเฉพาภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาตามมาตรา 47 แห่งประมวลรัษฎากร เท่านั้น

 

19. หลักการยกเว้น ถ้าจัดเก็บได้ยาก

การบัญญิติกฎหมายเพื่อการจัดเก็บภาษีอากรนั้น หากเป็นกรณีที่รัฐไม่อาจจัดเก็บภาษีอากรได้ โดยสะดวก รวมทั้งไม่อำนวยให้เกิดรายได้ และเสียค่าใช้จ่ายในการจัดเก็บภาษีอากรไม่คุ้ม  รัฐก้จะได้บัญญัติกฎหมายเพื่อจัดเก็บภาษีอากรจากกิจกรรมนั้น แต่หากเป็นกรณีที่ต้องเสียภาษีอากรตามบทบัญญัติของรัฐ ก็มักจะบัญญัติเป็นรายการยกเว้น อาทิ

19.1 กรณีภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา เช่น

        (1) เงินได้จากการขายสังหาริมทรัพย์อันเป็นมรดก หรือสังหาริมทรัพย์ที่ได้มาโดยมิได้มุ่งในทางการค้าหรือหากำไรตามมาตรา 42 (9) แห่งประมวลรัษฎากร        

        (2) เงินได้ที่ได้รับจากการอุปการะหรือจากการให้โดยเสน่หาจากบุพการี ผู้สืบสันดาน หรือคู่สมรส เฉพาะเงินได้ในส่วนที่ไม่เกินยี่สิบล้านบาทตลอดปีภาษีนั้น ตามมาตรา 42 (27) แห่งประมวลรัษฎากร

        (3) เงินได้ที่ได้รับจากการอุปการะโดยหน้าที่ธรรมจรรยาหรือจากการให้โดยเสน่หาเนื่องในพิธี หรือตามโอกาสแห่งขนบธรรมเนียมประเพณี ทั้งนี้ จากบุคคลซึ่งมิใช่บุพการี ผู้สืบสันดาน หรือคู่สมรสเฉพาะเงินได้ในส่วนที่ไม่เกินสิบล้านบาทตลอดปีภาษีนั้น ตามมาตรา 42 (28) แห่งประมวลรัษฎากร

19.2 กรณีภาษีมูลค่าเพิ่ม

        (1) การขายพืชผลทางการเกษตร ไม่ว่าจะเป็น ลำต้น กิ่ง ใบ เปลือก หน่อ ราก เหง้า ดอก หัว ฝัก เมล็ด หรือส่วนอื่น ๆ ของพืช และวัตถุพลอยได้จากพืช ทั้งนี้ ที่อยู่ในสภาพสดหรือรักษาสภาพไว้ เพื่อมิให้เสียเป็นการชั่วคราวในระหว่างขนส่ง

        (2) การขายสัตว์ ไม่ว่าจะมีชีวิตหรือไม่มีชีวิต และในกรณีสัตว์ไม่มีชีวิต ไม่ว่าจะเป็นเนื้อ ส่วนต่างๆ ของสัตว์ ไข่ น้ำนม และวัตถุพลอยได้จากสัตว์ ทั้งนี้ ที่อยู่ในสภาพสด หรือรักษาสภาพไว้เพื่อมิให้เสียเป็นการชั่วคราวในระหว่างขนส่ง 

 

20. หลักการบริโภค 

หลักการจัดเก็บภาษีอากรจากการบริโภค หมายถึง การนำค่าใช้จ่ายในการบริโภคสินค้าหรือบริการมาเป็นฐานในการเรียกเก็บภาษีอากร  เช่น ภาษีการขายทั่วไป ภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีธุรกิจเฉพะ ภาษีสรรพสามิต อากรศุลกากร เป็นต้น  ภาษีที่เก็บจากฐานการบริโภคนี้เป็นฐานภาษีที่สำคัญอีกฐานหนึ่งของประเทศกำลังพัฒนา  เพราะว่า ภาษีเก็บจากฐานการบริโภคเป็นภาษีที่เก็บค่อนข้างง่าย มีความซับซ้อนน้อยกว่าภาษีที่จัดเก็บจากฐานรายได้  และกำลังการบริโภคของประชาชนโดยทั่วไปอยู่ในระดับสูงเมื่อเทียบกับการออม