ผมอยากให้ทุกคนเข้าใจประมวลรัษฎากร และนำไปใช้ได้อย่างถูกต้อง
สุเทพ พงษ์พิทักษ์

ศึกษาประมวลรัษฎากร ด้วยตนเอง ตอนที่ 5: หลักและทฤษฎีภาษีอากรตามประมวลรัษฎากร 2

บทความวันที่ 26 ก.ค. 2560  .  เขียนโดย อจ.สุเทพ  .  เข้าชม 3401 ครั้ง

หลักและทฤษฎีภาษีอากรตามประมวลรัษฎากร 2


21. หลักรายจ่ายของฝ่ายหนึ่ง ต้องเป็นรายได้ของอีกฝ่ายหนึ่ง

หลักรายจ่ายของฝ่ายหนึ่ง ต้องเป็นรายได้ของอีกฝายหนึ่ง หรือหลักทุกเดบิตต้องมีเครดิตด้วยจำนวนที่เท่ากัน – ตามหลักการบัญชีที่รับรองทั่วไป ถูกนำมาบัญญัติเป็นหลักเกณฑ์และเงื่อนไขทางภาษีเงินได้นิติบุคคลมาตรา 65 ตรี (18) แห่งประมวลรัษฎากร โดยบัญญัติว่า

“(18) รายจ่ายที่พิสูจน์ไม่ได้ว่าใครเป็นผู้รับ”  

 

22. หลักการแยกรายการส่วนตัว กับกิจการ

หลีกการแยกรายการรายจ่ายส่วนตัวออกต่างหากจากกิจการ เป็นหลักการทางบัญชีที่รับรองทั่วไป (Generally Accepted Accounting Principle) ในส่วนที่เป็นแม่บทการบัญชี หรือข้อสมมติมูลฐานทางการบัญชี ที่ถูกนำมาบัญญัติเป็นเงื่อนไขรายจ่ายต้องห้ามตามมาตรา 65 ตรี (3) แห่งประมวลรัษฎากร

“(3) รายจ่ายอันมีลักษณะเป็นการส่วนตัว การให้โดยเสน่หา หรือการกุศลเว้นแต่รายจ่ายเพื่อการกุศลสาธารณะ หรือเพื่อการสาธารณะประโยชน์ตามที่อธิบดีกำหนดโดยอนุมัติรัฐมนตรี ให้หักได้ในส่วนที่ไม่เกินร้อยละ 2 ของกำไรสุทธิ และรายจ่ายเพื่อการศึกษาหรือเพื่อการกีฬาตามที่อธิบดีกำหนดโดยอนุมัติรัฐมนตรี ให้หักได้อีกในส่วนที่ไม่เกินร้อยละ 2 ของกำไรสุทธิ”


23. หลักความระมัดระวัง (Conservatism Assumption)

เป็นหลักการบันทึกข้อมูลทางบัญชี กรณีที่สามารถที่จะปฏิบัติได้มากกว่าหนึ่งวิธี ถ้าแต่ละวิธีให้ผลลัพธ์ที่แตกต่างกัน นักบัญชีควรเลือกวิธีที่จะแสดงผลลัพธ์ในทางต่ำมากกว่าวิธีที่แสดงทางสูง เพื่อเป็นการหลีกเลี่ยงการแสดงสินทรัพย์และกำไรที่มากกว่าความเป็นจริง

เป็นการใช้ดุลยพินิจในการประมาณการภายใต้ความไม่แน่นอนเพื่อไม่ให้สินทรัพย์หรือรายได้แสดงจำนวนสูงเกินไป และไม่แสดงรายการหนี้สินหรือค่าใช้จ่ายต่ำเกินไป หรือ การบันทึกสินทรัพย์และกำไรด้วยจำนวนขั้นต่ำที่คาดว่าจะได้รับ และบันทึกหนี้สินด้วยจำนวนเงินสูงสุดที่คาดว่าจะเกิดขึ้น เช่น การรับรู้มูลค่าสินค้าคงเหลือตามราคาทุนหรือราคาตลาดที่ต่ำกว่า

ซึ่งในทางภาษีเงินได้นิติบุคคลได้นำมาบัญญัติเป็บเงื่อนไขทางภาษีอากรตามมาตรา 65 ทวิ (5) และ (6) แห่งประมวลรัษฎากร ดังนี้

มาตรา 65 ทวิ

       (5) เงินตรา ทรัพย์สินหรือหนี้สินซึ่งมีค่าหรือราคาเป็นเงินตราต่างประเทศ ที่เหลืออยู่ในวันสุดท้ายของรอบระยะเวลาบัญชี ให้คำนวณค่าหรือราคาเป็นเงินตราไทย ดังนี้

             (ก) กรณีบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลนอกจาก (ข) ให้คำนวณค่าหรือราคาของเงินตรา หรือทรัพย์สินเป็นเงินตราไทย ตามอัตราถัวเฉลี่ยที่ธนาคารพาณิชย์รับซื้อ ซึ่งธนาคารแห่งประเทศไทยได้คำนวณไว้ และให้คำนวณค่า หรือราคาของหนี้สินเป็นเงินตราไทยตามอัตราถัวเฉลี่ยที่ธนาคารพาณิชย์ขาย ซึ่งธนาคารแห่งประเทศไทยได้คำนวณไว้

       (6) ราคาสินค้าคงเหลือในวันสุดท้ายของรอบระยะเวลาบัญชี ให้คำนวณตามราคาทุนหรือราคาตลาด แล้วแต่อย่างใดจะน้อยกว่า และให้ถือราคานี้เป็นราคาสินค้าคงเหลือยกมาสำหรับรอบระยะเวลาบัญชีใหม่ด้วย

       การคำนวณราคาทุนตามวรรคก่อน เมื่อได้คำนวณตามหลักเกณฑ์ใด ตามวิชาการบัญชี ให้ใช้หลักเกณฑ์นั้นตลอดไป เว้นแต่จะได้รับอนุมัติจากอธิบดีจึงจะเปลี่ยนหลักเกณฑ์ได้”

 

24. หลักการรับรู้รายได้ - รายจ่าย/ค่าใช้จ่าย

หลักการรับรู้รายได้ (Recognition)

24.1 ในทางบัญชี หลักการเกี่ยวกับการกำหนดระยะเวลาในการรับรู้รายการและการรับรู้จำนวนเงินในการบันทึกรายการของกิจการ โดยมีหลักการพิจารณาว่า มีความเป็นไปได้ค้อนข้างแน่นอนที่ประโยชน์เชิงเศรษฐกิจของกิจการจะเข้าหรือออกจากกิจการ เช่น การซื้อหรือขายสินทรัพย์สามารถวัดมูลค่าของประโยชน์เชิงเศรษฐกิจได้อย่างน่าเชื่อถือ เช่น ราคาซื้อหรือขายสินทรัพย์

24.2       ในทางภาษีอากร

        (1) กรณีภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ให้รับรู้เงินได้พึงประเมินที่เกิดกิจกรรมที่ก่อให้เกิดเงินได้พึงประเมินแล้วนั้นตามเกณฑ์เงินสด ตามนิยามศัพท์คำว่า “เงินได้พึงประเมิน” ตามมาตรา 39 แห่งประมวลรัษฎากร

        (2) กรณีภาษีเงินได้นิติบุคคล การคำนวณรายได้และรายจ่าย ให้ใช้เกณฑ์สิทธิ โดยให้นำรายได้ที่เกิดขึ้นในรอบระยะเวลาบัญชีใด แม้ว่าจะยังไม่ได้รับชำระในรอบระยะเวลาบัญชีนั้น มารวมคำนวณเป็นรายได้ในรอบระยะเวลาบัญชีนั้น และให้นำรายจ่ายทั้งสิ้นที่เกี่ยวกับรายได้นั้น แม้จะยังมิได้จ่ายในรอบระยะเวลาบัญชีนั้นมารวมคำนวณเป็นรายจ่ายของรอบระยะเวลาบัญชีนั้น ตามมาตรา 65 วรรคสอง แห่งประมวลรัษฎากร

        (3) กรณีภาษีมูลค่าเพิ่ม พิจารณาตามหลักความรับผิดในการเสียภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 78 มาตรา 78/1 และมาตรา 78/3 แห่งประมวลรัษฎากร

        (4) กรณีภาษีธุรกิจเฉพาะ เป็นไปตามมาตรา 91/8 วรรคสอง แห่งประมวลรัษฎากร ดังนี้

             “การคำนวณรายรับตามวรรคหนึ่ง ให้เป็นไปตามวิธีการ หลักเกณฑ์และการปฏิบัติทางบัญชี และเพื่อประโยชน์ในการคำนวณรายรับ เมื่อได้เลือกปฏิบัติเป็นอย่างใดแล้วให้ถือปฏิบัติเป็นอย่างเดียวกันตลอดไป เว้นแต่จะได้รับอนุมัติจากอธิบดีให้เปลี่ยนแปลงได้”

 

25. หลักการถือเป็นรายได้ตามกฎหมาย (Deemed Income) 

ในกรณีที่รัฐพิจารณาว่า ไม่อาจจะควบคุมการรับรู้รายได้เพื่อให้เสียภาษีเงินได้ได้ เนื่องจากสินค้าถูกส่งออกไปต่างประเทศ ให้แก่หรือตามคำสั่งของผู้ที่มีความสัมพันธ์เกี่ยวข้องกับผู้มีเงินได้ จึงให้ถือเป็นการขายเมื่อมีการส่งสินค้าออกไปต่างประเทศโดยมิใช่เพื่อขาย ตามมาตรา 40 ทวิ และมาตรา 70 ตรี แห่งประมวลรัษฎากร แต่ก็มีข้อยกเว้นกรณีเป็นของที่ส่งไปเป็นตัวอย่างหรือเพื่อการวิจัยโดยเฉพาะ หรือเป็นสินค้าทัณฑ์บนตามกฎหมายศุลกากร ดังนี้

มาตรา 40 ทวิ ผู้ใดส่งสินค้าออกไปต่างประเทศให้แก่ หรือตามคำสั่งของสำนักงานใหญ่ สาขา ตัวการ ตัวแทน นายจ้างหรือลูกจ้าง ให้ถือว่าการที่ได้ส่งสินค้าไปนั้นเป็นการขายในประเทศไทยด้วย และให้ถือราคาสินค้าตามราคาตลาดในวันที่ส่งไปเป็นเงินได้พึงประเมินในปีที่ส่งไปนั้น

        ความในวรรคก่อนมิให้ใช้บังคับในกรณีที่สินค้านั้น

        (1) เป็นของที่ส่งไปเป็นตัวอย่างหรือเพื่อการวิจัยโดยเฉพาะ

        (2) เป็นของผ่านแดน

        (3) เป็นของที่นำเข้ามาในราชอาณาจักรแล้วส่งกลับออกไปให้ผู้ส่งเข้ามาภายในหนึ่งปีนับแต่วันที่สินค้านั้นเข้ามาในราชอาณาจักร

        (4) เป็นของที่ส่งออกไปนอกราชอาณาจักรแล้วส่งกลับคืนเข้ามาให้ผู้ส่งในราชอาณาจักรภายในหนึ่งปีนับแต่วันที่ส่งสินค้าออกไปนอกราชอาณาจักร

มาตรา 70 ตรี บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลใด ส่งสินค้าออกไปต่างประเทศให้แก่ หรือตามคำสั่งของสำนักงานใหญ่ สาขา บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลในเครือเดียวกัน ตัวการ ตัวแทน นายจ้าง หรือลูกจ้าง ให้ถือว่าการที่ได้ส่งสินค้าไปนั้นเป็นการขายในประเทศไทยด้วย และให้ถือราคาสินค้าตามราคาตลาดในวันที่ส่งไปเป็นรายได้ในรอบระยะเวลาบัญชีที่ส่งไปนั้น

        ความในวรรคก่อนมิให้ใช้บังคับในกรณีที่สินค้านั้น

        (1) เป็นของที่ส่งไปเป็นตัวอย่างหรือเพื่อการวิจัยโดยเฉพาะ

        (2) เป็นของผ่านแดน

        (3) เป็นของที่นำเข้ามาในราชอาณาจักร แล้วส่งกลับออกไปให้ผู้ส่งเข้ามาภายในหนึ่งปี นับแต่วันที่สินค้านั้นเข้ามาในราชอาณาจักร

        (4) เป็นของที่ส่งออกไปนอกราชอาณาจักรแล้วส่งกลับคืนเข้ามาให้ผู้ส่งในราชอาณาจักรภายในหนึ่งปี นับแต่วันที่ส่งสินค้าออกไปนอกราชอาณาจักร

 

26. หลักการเสียภาษีอากรแทนกัน

มีสินค้าบางประเภทที่รัฐผูกขาดเป็นผู้ผลิต ได้แก่ สินค้ายาสูบ ที่ผลิดโดยโรงงานยาสูบ กระทรวงการคลัง และมีการกำหนดให้เสียภาษีเงินได้แทนผู้ค้าส่งหรือผู้ค้าปลีก เพื่อที่จะให้ผู้ค้าส่งและผู้ค้าปลีก ที่เป็นผู้มีหน้าที่เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาได้เสียภาษีเงินได้ให้แก่รัฐโดยเบ็ดเสร็จ ตามมาตรา 48 ทวิ และมาตรา 65 จัตวา แห่งประมวลรัษฎากร ดังนี้

มาตรา 48 ทวิ ให้องค์การของรัฐบาลเสียภาษีเงินได้แทนผู้ขายสินค้าทอดหนึ่งทอดใดหรือทุกทอดที่ซื้อสินค้าขององค์การของรัฐบาล ตามวิธีการ อัตรา และประเภทสินค้าตามที่กำหนดโดยกฎกระทรวง ทั้งนี้เฉพาะสำหรับเงินได้จากการขายสินค้านั้น

(ดู กฎกระทรวง ฉบับที่ 134 (พ.ศ. 2516))

ภาษีที่เสียแทนตามวรรคหนึ่งให้ถือเป็นเครดิตของผู้เสียภาษีในการคำนวณภาษี

มาตรา 65 จัตวา ให้องค์การของรัฐบาลเสียภาษีเงินได้แทนผู้ขายสินค้า ทอดหนึ่งทอดใดหรือทุกทอด ซึ่งเป็นบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ซื้อสินค้าจากองค์การของรัฐบาลตามวิธีการ อัตรา และประเภทสินค้าที่กำหนดในกฎกระทรวง ทั้งนี้ เฉพาะสำหรับเงินได้จากการขายสินค้านั้น

(ดู กฎกระทรวง ฉบับที่ 158 (พ.ศ. 2526))

        ภาษีที่เสียแทนตามวรรคหนึ่ง ให้ถือเป็นเครดิตของผู้เสียภาษีในการคำนวณภาษี

 

27. หลัก “PAYE: Pay as You Earn” และภาษีหัก ณ ที่จ่าย

27.1 ทุกประเทศทั่วโลกมีปัญหาต่อการจัดเก็บภาษีเงินได้จากการจ้างแรงงาน จากบรรดาลูกจ้าง หรือ “มนุษย์เงินเดือน” ว่า หากรอให้ถึงกำหนดเวลาการยื่นแบบแสดงรายการเมื่อสิ้นปีภาษี รัฐอาจไม่ได้เงินภาษีจากบรรดาลูกจ้าง หรือ “มนุษย์เงินเดือน” เหล่านั้น เพราะเหตุที่ว่า บรรดาลูกจ้าง หรือ “มนุษย์เงินเดือน” ได้ใช้เงินเดือนของตนจนหมดสิ้นไปแล้ว และในบางกรณีจำนวนเงินภาษีที่ต้องเสียก็อาจมีจำนวนเกินกว่าเงินเดือนที่ได้รับในแต่ละเดือน จึงมีการประดิษฐ์คิดค้นวิธีการจัดเก็บภาษีจากบรรดาลูกจ้าง หรือ “มนุษย์เงินเดือน” โดยให้สามารถเสียภาษีเงินได้ในขณะที่ได้รับเงินได้ “PAYE: Pay as You Earn” ด้วยการคำนวณภาษีเงินได้เสมือนหนึ่งว่าได้จ่ายเต็มทั้งปี แล้วเฉลี่ยจำนวนภาษีที่ต้องเสียตามจำนวนคราวที่ต้องจ่าย ก็จะทำให้บรรดาลูกจ้าง หรือ “มนุษย์เงินเดือน” สามารถเสียภาษีเงินได้ได้ ซึ่งกลายมาเป็นบทบัญญัติมาตรา 50 (1) วรรคแรก และวรรคสอง แห่งประมวลรัษฎากร และในบางประเทศกำหนดเป็นกฎหมายภาษีอากรเฉพาะที่จัดเก็บจากบรรดาลูกจ้าง หรือ “มนุษย์เงินเดือน” ต่างหากจากภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาทั่วไป

27.2 จากแนวคิดการจัดเก็บภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาจากบรรดาลูกจ้าง หรือ “มนุษย์เงินเดือน” จึงก่อให้เกิดระบบภาษีเงินได้หัก ณ ทีจ่าย (Withholding Tax) เพื่อบรรเทาภาระภาษีให้แก่ผู้มีเงินได้ โดยจัดเก็บในขณะที่ได้รับเงินได้ อีกทั้งอำนวยให้รัฐได้รับเงินภาษีเร็วขึ้นจากที่ต้องรอให้สิ้นปีภาษีเสียก่อน จึงมีการขยายบทบัญญัติมาตรา 50 มาตรา 3 เตรส มาตรา 69 ทวิ มาตรา 69 ตรี แห่งประมวลรัษฎากร ให้ครอบคลุมเกี่ยวกับการจ่ายเงินได้พึงประเมินเกือบจะทุกประเภท  

 

28. หลักการผ่อนชำระ

หลักการผ่อนชำระ เป็นไปตามมาตรา 64 แห่งประมวลรัษฎากร ใช้กับเฉพาะกรณีภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาเท่านั้น ไม่ปรากฏในกฎหมายภาษีอากรประเภทอื่น ดังนี้

มาตรา 64 เว้นแต่กรณีตามมาตรา 18 ทวิ ถ้าภาษีที่ต้องเสียตามบทบัญญัติแห่งส่วนนี้ มีจำนวนตั้งแต่ 3,000 บาทขึ้นไป ผู้ต้องเสียภาษีจะชำระเป็นสามงวดๆ ละเท่าๆ กันก็ได้ คือ

      (1) ในกรณีที่ต้องเสียตามมาตรา 56 ทวิ หรือมาตรา 57 จัตวา งวดที่หนึ่งต้องชำระตามกำหนดในมาตราดังกล่าว งวดที่สองต้องชำระภายในหนึ่งเดือนนับแต่วันที่ต้องชำระงวดที่หนึ่ง และงวดที่สามต้องชำระภายในหนึ่งเดือนนับ แต่วันสุดท้ายที่ต้องชำระงวดที่สอง

      (2) ในกรณีอื่น งวดที่หนึ่งต้องชำระภายในสามสิบวันนับแต่วันได้รับแจ้งจำนวนภาษีที่ประเมิน งวดที่สองต้องชำระภายในหนึ่งเดือนนับแต่วันสุดท้ายที่ต้องชำระงวดที่หนึ่ง และงวดที่สามต้องชำระภายในหนึ่งเดือนนับแต่วันสุดท้ายที่ต้องชำระงวดที่สอง

      การชำระภาษีตาม (1) ถ้าไม่ชำระภาษีงวดใดงวดหนึ่งภายในเวลาที่กำหนดไว้ ผู้ต้องเสียภาษีหมดสิทธิที่จะชำระภาษีเป็นรายงวดต่อไป และต้องเสียเงินเพิ่มตามมาตรา 27 สำหรับงวดที่ไม่ชำระและงวดต่อๆ ไป

      การชำระภาษีตาม (2) ไม่เป็นเหตุให้ยกเว้นการเสียเงินเพิ่มตามมาตรา 27 และถ้าไม่ชำระภาษีงวดใดงวดหนึ่งภายในเวลาที่กำหนดไว้ ผู้ต้องเสียภาษีหมดสิทธิที่จะชำระภาษีเป็นรายงวดต่อไป

จากบทบัญญัติดังกล่าว อาจแยกพิจารณาได้ดังนี้

28.1 วัตถุประสงค์

        เพื่อให้ผู้มีเงินได้ที่มีจำนวนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาที่ต้องชำระตั้งแต่ 3,000 บาท มีกำลังในการชำระภาษีเงินได้ให้แก่ทางราชการได้โดยสะดวกยิ่งขึ้น

28.2 กรณีที่ยอมให้ผ่อนชำระภาษีเงินได้ได้แก่

        (1) การยื่นแบบแสดงรายการเพื่อเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาครึ่งปี ตามมาตรา 56 ทวิ แห่งประมวลรัษฎากร ตามแบบ ภ.ง.ด.94

        (2) การยื่นแบบแสดงรายการเพื่อเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาประจำปี ตามมาตรา 56 ประกอบมาตรา 57 จัตวา แห่งประมาลรัษฎากร ตามแบบ ภ.ง.ด.90 ภ.ง.ด.91 ภ.ง.ด.95

        (3) การยื่นแบบแสดงรายการเพื่อเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาล่วงหน้า ตามมาตรา 52 ทวิ ประกอบมาตรา 57 จัดวา แห่งประมวลรัษากร  ตามแบบ ภ.ง.ด.93

        (4) การชำระภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาตามหนังสือแจ้งการประเมินของเจ้าพนักงานประเมินทุกรณีเว้นแต่กรณีการประเมินตามมาตรา 18 ทวิ แห่งประมวลรัษฎากร

28.3 เกณฑ์การผ่อนชำระ

        ให้ผู้ต้องเสียภาษีมีสิทธิผ่อนชำระชำระเป็นสามงวดๆ ละเท่าๆ กันก็ได้ ดังนี้

        (1) ในกรณีที่ต้องเสียพร้อมกับการยื่บแสดงรายการตามมาตรา 56 ทวิ หรือมาตรา 57 จัตวา แห่งประมวลรัษฎากร โดยไม่ต้องรับผิดเสียเงินเพิ่มตามมาตรา 27 แห่งประมวลรัษฎากร สำหรับการชำระในงวดที่ 2 และงวดที่ 3

             งวดที่หนึ่งต้องชำระตามกำหนดในมาตราดังกล่าว

             งวดที่สองต้องชำระภายในหนึ่งเดือนนับแต่วันที่ต้องชำระงวดที่หนึ่ง และ

             งวดที่สามต้องชำระภายในหนึ่งเดือนนับ แต่วันสุดท้ายที่ต้องชำระงวดที่สอง

             การชำระภาษีตามกรณีนี้ ถ้าผู้ต้องเสียภาษีไม่ชำระภาษีงวดใดงวดหนึ่งภายในเวลาที่กำหนดไว้ ผู้ต้องเสียภาษีหมดสิทธิที่จะชำระภาษีเป็นรายงวดต่อไป และต้องเสียเงินเพิ่มตามมาตรา 27 แห่งประมาลรัษฎากร สำหรับงวดที่ไม่ชำระและงวดต่อๆ ไป

        (2) ในกรณีอื่น

             งวดที่หนึ่งต้องชำระภายในสามสิบวันนับแต่วันได้รับแจ้งจำนวนภาษีที่ประเมิน

             งวดที่สองต้องชำระภายในหนึ่งเดือนนับแต่วันสุดท้ายที่ต้องชำระงวดที่หนึ่ง และ

             งวดที่สามต้องชำระภายในหนึ่งเดือนนับแต่วันสุดท้ายที่ต้องชำระงวดที่สอง

             การชำระภาษีตามกรณี ไม่เป็นเหตุให้ยกเว้นการเสียเงินเพิ่มตามมาตรา 27 แห่งประมวลรัษฎากร และถ้าไม่ชำระภาษีงวดใดงวดหนึ่งภายในเวลาที่กำหนดไว้ ผู้ต้องเสียภาษีหมดสิทธิที่จะชำระภาษีเป็นรายงวดต่อไป

 

29. หลักการขจัดข้อโต้แย้งทางภาษีอากร

หลักการขจัดข้อโต้แย้งทางภาษีอากร เป็นวิธีการบริหารการจัดเก็บภาษีอากรตามประมวลรัษฎากร ซึ่งกำหนดไว้ตามมาตรา 30 ประกอบมาตรา 115 และมาตรา 123 ตรี แห่งประมวลรัษฎากร ดังนี้ 

มาตรา 30 ในการอุทธรณ์การประเมินภาษีอากรที่อำเภอไม่มีหน้าที่ประเมิน ให้อุทธรณ์ภายในกำหนดเวลาสามสิบวัน นับแต่วันได้รับแจ้งการประเมิน โดยให้อุทธรณ์ตามเกณฑ์และวิธีการดังต่อไปนี้

        (1) เว้นแต่ในกรณีห้ามอุทธรณ์ตามมาตรา 21 หรือมาตรา 25

             (ก) ถ้าเจ้าพนักงานประเมินผู้ทำการประเมินมีสำนักงานอยู่ในเขตจังหวัดพระนครหรือจังหวัดธนบุรี ให้อุทธรณ์ต่อคณะกรรมการ พิจารณาอุทธรณ์ ซึ่งประกอบด้วยอธิบดี ผู้แทนกรมอัยการ และผู้แทนกรมมหาดไทย (กรมมหาดไทย ในปัจจุบันคือกรมการปกครอง)

             (ข) ถ้าเจ้าพนักงานประเมินผู้ทำการประเมินมีสำนักงานอยู่ในเขตจังหวัดอื่น ให้อุทธรณ์ต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ ซึ่งประกอบด้วยผู้ว่าราชการจังหวัดหรือผู้แทน สรรพากรเขตหรือผู้แทน และอัยการจังหวัดหรือผู้แทน

        (2) เว้นแต่กรณีห้ามอุทธรณ์ตามมาตรา 33 ให้อุทธรณ์คำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ต่อศาลภายในกำหนดเวลาสามสิบวันนับแต่วันได้รับแจ้งคำวินิจฉัยอุทธรณ์

 

        คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ตาม (ก) จะมีหลายคณะก็ได้

 

จากบทบัญญัติตามมาตรา 30 แห่งประมวลรัษฎากร อาจแยกพิจารณาได้ดังนี้

29.1 วัตถุประสงค์

        เพื่อให้โอกาสแก่ผู้ต้องเสียหรือนำส่งภาษีอากรได้ใช้สิทธิในการโต้แย้งการประเมินของจ้าพนักงานประเมินหรือพนักงานเจ้าหน้าที่อากรแสตมป์

29.2 องค์คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์

        (1) ถ้าเจ้าพนักงานประเมินผู้ทำการประเมินมีสำนักงานอยู่ในเขตจังหวัดพระนครหรือจังหวัดธนบุรี ให้อุทธรณ์ต่อคณะกรรมการ พิจารณาอุทธรณ์ ซึ่งประกอบด้วยอธิบดี ผู้แทนกรมอัยการ และผู้แทนกรมมหาดไทย (กรมมหาดไทย ในปัจจุบันคือกรมการปกครอง)

        (2) ถ้าเจ้าพนักงานประเมินผู้ทำการประเมินมีสำนักงานอยู่ในเขตจังหวัดอื่น ให้อุทธรณ์ต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ ซึ่งประกอบด้วยผู้ว่าราชการจังหวัดหรือผู้แทน สรรพากรเขตหรือผู้แทน และอัยการจังหวัดหรือผู้แทน        

29.3 การอุทธรณ์การประเมินหรือคำสั่งของเจ้าพนักงานประเมินหรือพนักงานเจ้าหน้าที่ให้กระทำตามแบบที่อธิบดีกรมสรรพากรกำหนดเท่านั้น

        แบบการอุทธุรณ์ ได้แก่ ภ.ส.6 ตามมาตรา 28 แห่งประมวลรัษฎากร

29.4 กำหนดเวลาการอุทธรณ์

        ให้อุทธรณ์ภายในกำหนดเวลาสามสิบวัน นับแต่วันได้รับแจ้งการประเมินหรือคำสั่งของพนักงานเจ้าหน้าที่อากรแสตมป

29.5 การอุทธรณ์คำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์

        เว้นแต่กรณีห้ามอุทธรณ์ตามมาตรา 33 ให้อุทธรณ์คำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ต่อศาลภายในกำหนดเวลาสามสิบวันนับแต่วันได้รับแจ้งคำวินิจฉัยอุทธรณ์

29.6 กรณีห้ามอุทธรณ์ (หลักกฎหมายปิดปาก)

         การห้ามอุทธรณ์การประเมินของเจ้าพนักงานประเมินตามมาตรา 21 มาตรา 25 มาตรา 33 มาตรา 88/1 และ มาตรา 91/21 แห่งประมวลรัษฎากร

 

30. หลักการเยียวยาให้กลับคืนสภาพเดิม 

หลักการเยียวยาให้กลับคืนสภาพเดิมตามที่ปรากฏในประมวลรัษฎากรมีเป็นอาทิ

30.1 การคืนภาษีอากรที่ผู้ต้องเสียภาษีอากรหรือผู้นำส่งได้ชำระหรือนำส่งภาษีอากรไว้เกินไป ตามมาตรา 27 ตรี มาตรา 63 มาตรา 84 – มาตรา 84/4 มาตรา 91/11 และมาตรา 122 แห่งประมวลรัษฎากร

        (1) กรณีถาษีเงินได้เป็นไปตามมาตรา มาตรา 27 ตรี และมาตรา 63 แห่งประมวลรัษฎากร

        (2) กรณีภาษีมูลค่าเพิ่มเป็นไปตามมาตรา 84 – มาตรา 84/4 แห่งประมวลรัษฎากร

        (3) กรณีภาษีธุรกิจเฉพาะเป็นไปตามมาตรา 91/11 แห่งประมวลรัษฎากร และ

        (4) กรณีอากรแสตมป์เป็นไปตามมาตรา 122 แห่งประมวลรัษฎากร

30.2 การให้ดอกเบี้ยแก่ผู้ได้รับคืนภาษีอากรตามมาตรา 4 ทศ แห่งประมวลรัษฎากร ประกอบกับกฎกระทรวง ฉบับที่ 161 พ.ศ. 2526 



31. หลักการป้องกันการโอนกำไรโดยกลไกการตั้งราคา (Transfer Pricing) 

เพื่อให้การจัดเก็บภาษีอากรเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ประมวลรัษฎากร ได้บัญญัติบทบัญญัติเพื่อป้องกันการโอนกำไรโดยกลไกการตั้งราคา (Transfer Pricing) ดังนี้

มาตรา 65 ทวิ

        (4) ในกรณีโอนทรัพย์สิน ให้บริการ หรือให้กู้ยืมเงิน โดยไม่มีค่าตอบแทน ค่าบริการ หรือดอกเบี้ย หรือมีค่าตอบแทน ค่าบริการ หรือดอกเบี้ยต่ำกว่าราคาตลาดโดยไม่มีเหตุอันสมควร เจ้าพนักงานประเมินมีอำนาจประเมินค่าตอบแทน ค่าบริการ หรือดอกเบี้ยนั้น ตามราคาตลาดในวันที่โอน ให้บริการหรือให้กู้ยืมเงิน

             (พร้อมทั้งได้วางแนวทางปฏิบัติตามคำสั่งกรมสรรพากรที่ ป. 113/2545 )

        (7) การคำนวณราคาทุนของสินค้าที่ส่งเข้ามาจากต่างประเทศนั้น เจ้าพนักงานประเมินมีอำนาจประเมินโดยเทียบกับราคาทุนของสินค้าประเภทและชนิดเดียวกันที่ส่งเข้าไปในประเทศอื่นได้

 

32. หลักภาษีอากรประเมิน 

32.1 ความหมาย

        “ภาษีอากรประเมินหมายถึง ภาษีอากรประเภทที่กฎหมายกำหนดให้ผู้ต้องเสียภาษีอากรมีหน้าที่ยื่นแบบแสดงรายการประเมินตนเอง (Self-assessment) ว่า มีเงินได้หรือรายได้หรือรายรับในช่วงเวลาที่กฎหมายกำหนดเป็นจำนวนเท่าใด เมื่อคำนวณภาษีอากรได้เป็นจำนวนเงินภาษีอากรที่ต้องชำระหรือนำส่งหรือมีสิทธิขอคืนเป็นจำนวนเท่าใดแล้ว ให้ผู้ต้องเสียภาษีหรือผู้ต้องนำส่งภาษีอากรยื่นแบบแสดงรายการตามที่อธิบดีกรมสรรพากรกำหนด และภายในเวลาที่กฎหมายกำหนด พร้อมทั้งชำระหรือนำส่งภาษีอากร และปฏิบัติการเกี่ยวกับภาษีอากรประเมินให้ถูกต้องครบถ้วน ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่กฎหมายกำหนด และให้เจ้าพนักงานประเมินเป็นผู้มีอำนาจตรวจสอบความถูกต้องของจำนวนภาษีอากรที่ต้องเสียหรือนำส่ง และการปฏิบัติการเกี่ยวกับหน้าที่ทางภาษีอากรของผู้ต้องเสียหรือนำส่งภาษีอากรนั้น กรณีเจ้าพนักงานประเมินพบว่ามีกรณีชำระหรือนำส่งภาษีอากร และการปฏิบัติการเกี่ยวกับหน้าที่ทางภาษีอากรไม่ถูกต้อง ครบถ้วนตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่กฎหมายกำหนด ให้เจ้าพนักงานประเมินมีอำนาจประเมินเรียกเก็บภาษีอากร พร้อมทั้งเบี้ยปรับ และเงินเพิ่ม หรือดำเนินคดีอาญาแก่ผู้ต้องเสียหรือนำส่งภาษีอากรนั้นต่อไป (Authoritative Assessment) ซึ่งผู้ต้องเสียภาษีหรือผู้ต้องนำส่งภาษีต้องชำระภายในกำหนดเวลา มิฉะนั้น ให้ถือเป็นภาษีอากรค้างตามนัยมาตรา 12 ที่รัฐต้องพิจารณาดำเนินการต่อไป ทั้งนี้ เพื่ออำนวยให้เกิดความเป็นธรรมในการจัดเก็บภาษีอากรตามเจตนารมณ์ของกฎหมาย

32.2 วัตถุประสงค์

        เพื่อจำแนกภาษีอากรที่จัดเก็บตามประมวลรัษฎากรออกตามลักษณะของการบริหารการจัดเก็บ ออกเป็นภาษีอากรประเภทที่กำหนดให้ผู้ต้องเสียภาษีหรือผู้นำส่งภาษีมีหน้าที่ยื่นรายการประเมินตนเองตามแบบและภายในเวลาทีกฎหมายกำหนดออกต่างหากจากภาษีอากรประเภทที่ไม่มีข้อกำหนดังกล่าว เพื่อรวบรวมวิธีการบริหารการจัดเก็บภาษีอากรที่ใช้ร่วมกันมาบัญญัติรวมกันไว้ ณ ที่เดียว ทั้งนี้ เว้แต่จะมีบัญญัติไว้เป็นอย่างอื่น 

32.3 ภาษีอากรที่จัดอยู่ในประเภทภาษีอากรประเมิน

        คำว่า ภาษีอากรประเมิน มีกำหนดนิยามศัพท์ไว้ในมาตรา 14 หมวด 2 วิธีการเกี่ยวแก่ภาษีอากรประเมิน ลักษณะ 2 ภาษีอากรฝ่ายสรรรพากร แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่งบัญญัติว่า ภาษีอากรประเมิน คือ ที่มีระบุไว้ในหมวดนั้นๆ ว่าเป็นภาษีอากรประเมิน

        หมวดภาษีอากรนั้นๆ ที่บัญญัติว่าเป็นภาษีอากรประเมินได้แก่

        (1) หมวด 3 ภาษีเงินได้ ทั้งภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาและภาษีเงินได้นิติบุคคลตามมาตรา 38 ซึ่งบัญญัติว่า ภาษีเงินได้นี้อยู่ในประเภทภาษีอากรประเมิน และให้เจ้าพนักงานประเมินเป็นผู้ประเมินเกี่ยวกับภาษีในหมวดนี้

        (2) หมวด 4 ภาษีมูลค่าเพิ่ม ตามมาตรา 77 บัญญัติว่า ภาษีมูลค่าเพิ่มเป็นภาษีอากรประเมิน”  

        (3) หมวด 5 ภาษีธุรกิจเฉพาะ ตามมาตรา 91 บัญญัติว่า ภาษีธุรกิจเฉพาะเป็นภาษีอากรประเมิน

32.4 วิธีการเกี่ยวแก่ภาษีอากรประเมิน หมายถึง วิธีการบริหารการจัดเก็บภาษีอากรประเมิน ประกอบด้วย

        (1) การยื่นรายการประเมินตนเองโดยผู้ต้องเสียหรือนำส่งภาษีอากร ตามมาตรา 17 วรรคแรก แห่งประมวลรัษฎากร

        (2) เจ้าพนักงานประเมินตามมาตรา 16 ประกอบมาตรา 4 แห่งประมวลรัษฎากร

        (3) อำนาจเจ้าพนักงานประเมิน ตามมาตรา 18 ถึงมาตรา 27 จัตวา แห่งประมวลรัษฎากร เว้นแต่มาตรา 27 ตรี แห่งประมวลรัษฎากร

        (4) การขอคืนภาษีอากร ตามมาตรา 27 ตรี แห่งประมวลรัษฎากร

        (5) หน้าที่อื่นของผู้ต้องเสียหรือนำส่งภาษีอากร ตามมาตรา 17 วรรคสองและวรรคสาม แห่งประมวลรัษฎากร

        (6) การอุทธรณ์การประเมินตามมาตรา 28 ถึงมาตรา 34 แห่งประมวลรัษฎากร

        (7) บทกำหนดโทษ (ทางอาญา) ตามมาตรา 35 ถึงมาตรา 37 ตรี แห่งประมวลรัษฎากร

 

33. หลักสภาพบังคับ (Sanction)

เพื่อให้กฎหมายมีสภาพบังคับจึงจำเป็นต้องมีบทลงโทษทั้งทางแพ่งและทางอาญาดังนี้

33.1 บทกำหนดโทษทางแพ่ง

        (1) เบี้ยปรับ

             กรณีภาษีเงินได้

             มาตรา 22 ในการประเมินตามมาตรา 20 หรือมาตรา 21 ผู้ต้องเสียภาษีต้องรับผิดเสียเบี้ยปรับหนึ่งเท่าของจำนวนเงินภาษีที่ต้องชำระอีก

             มาตรา 26 เว้นแต่จะบัญญัติไว้เป็นอย่างอื่นในลักษณะนี้ ในการประเมิน ตามมาตรา 24 หรือมาตรา 25 ผู้ต้องเสียภาษีต้องรับผิดเสียเบี้ยปรับอีกสองเท่าของจำนวนเงินภาษีที่ต้องชำระ

             กรณีภาษีมูลค่าเพิ่มและภาษีธุรกิจเฉพาะ

             มาตรา 89 ให้ผู้มีหน้าที่เสียภาษี หรือบุคคลตามมาตรา 86/13 เสียเบี้ยปรับในกรณีและตามอัตราดังต่อไปนี้

                     (1) ประกอบกิจการโดยมิได้จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม ตามมาตรา 85 หรือมาตรา 85/1 หรือประกอบกิจการเมื่อถูกสั่งเพิกถอนใบทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 85/17 แล้ว ให้เสียเบี้ยปรับอีกสองเท่าของเงินภาษีที่ต้องเสียในเดือนภาษี ตลอดระยะเวลาที่ไม่ปฏิบัติตามบทบัญญัติดังกล่าว หรือเป็นเงินหนึ่งพันบาทต่อเดือนภาษีแล้วแต่อย่างใดจะมากกว่า                             

                     (2) มิได้ยื่นแบบแสดงรายการภาษีหรือแบบนำส่งภาษีภายในกำหนดเวลา ให้เสียเบี้ยปรับอีกสองเท่าของเงินภาษีที่ต้องเสียหรือนำส่งในเดือนภาษี

                     (3) ยื่นแบบแสดงรายการภาษีหรือแบบนำส่งภาษีไว้ไม่ถูกต้องหรือมีข้อผิดพลาด อันเป็นเหตุให้จำนวนภาษีที่ต้องเสียหรือนำส่งในเดือนภาษีคลาดเคลื่อนไป ให้เสียเบี้ยปรับอีกหนึ่งเท่าของเงินภาษีที่เสียคลาดเคลื่อนหรือที่นำส่งคลาดเคลื่อน

                     (4) ยื่นแบบแสดงรายการภาษีไว้ไม่ถูกต้องหรือมีข้อผิดพลาด อันเป็นเหตุให้จำนวนภาษีขายหรือจำนวนภาษีซื้อในเดือนภาษีที่แสดงไว้คลาดเคลื่อนไป ให้เสียเบี้ยปรับอีกหนึ่งเท่าของจำนวนภาษีขายที่แสดงไว้ขาดไป หรือจำนวนภาษีซื้อที่แสดงไว้เกินไป

                     (5) มิได้จัดทำใบกำกับภาษี และส่งมอบให้แก่ผู้ซื้อสินค้า หรือผู้รับบริการตามที่กำหนดในส่วน 10 ให้เสียเบี้ยปรับอีกสองเท่าของจำนวนภาษีตามใบกำกับภาษี

                     (6) ออกใบกำกับภาษี ใบเพิ่มหนี้ หรือใบลดหนี้ โดยไม่มีสิทธิที่จะออกตามกฎหมายตามมาตรา 86/13 ให้เสียเบี้ยปรับอีกสองเท่าของจำนวนภาษีตามใบกำกับภาษี ใบเพิ่มหนี้ หรือใบลดหนี้นั้น

                     (7) นำใบกำกับภาษีปลอม ไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วนมาใช้ในการคำนวณภาษี ให้เสียเบี้ยปรับอีกสองเท่าของจำนวนภาษีตามใบกำกับภาษีนั้น

                           ในกรณีใบกำกับภาษีที่ผู้ได้รับประโยชน์ไม่สามารถนำพิสูจน์ได้ว่าบุคคลใดเป็นผู้ออกใบกำกับภาษี ให้ถือว่าเป็นใบกำกับภาษีปลอม

                     (8) มิได้เก็บสำเนาใบกำกับภาษีในกรณีภาษีขายไว้ตามที่กฎหมายกำหนด ให้เสียเบี้ยปรับอีกร้อยละสองของจำนวนภาษีตามใบกำกับภาษี

                     (9) มิได้เก็บใบกำกับภาษีในกรณีภาษีซื้อที่ใช้เครดิตภาษีในการคำนวณภาษีไว้ตามที่กฎหมายกำหนด ให้เสียเบี้ยปรับอีกอัตราร้อยละสองของจำนวนภาษีที่นำเครดิตนั้น

                     (10) มิได้ทำรายงานตามที่กฎหมายกำหนด หรือรายงานอื่นตามที่อธิบดีกำหนดตามมาตรา 87/1 หรือมีสินค้าขาดจากรายงานสินค้าและวัตถุดิบให้เสียเบี้ยปรับอีกสองเท่าของเงินภาษี ซึ่งคำนวณจากฐานภาษีที่มิได้ทำรายงาน หรือมิได้ลงรายการในรายงานให้ถูกต้อง

 

                     เบี้ยปรับตามมาตรานี้อาจงดหรือลดลงได้ตามระเบียบที่อธิบดีกำหนดโดยอนุมัติรัฐมนตรี

        (2) เงินเพิ่ม

             กรณีภาษีเงินได้

             มาตรา 27 บุคคลใดไม่เสียหรือนำส่งภาษีภายในกำหนดเวลาตามที่บัญญัติไว้ในหมวดต่างๆ แห่งลักษณะนี้เกี่ยวกับภาษีอากรประเมิน ให้เสียเงินเพิ่มอีกร้อยละ 1.5 ต่อเดือน หรือเศษของเดือนของเงินภาษีที่ต้องเสีย หรือนำส่งโดยไม่รวมเบี้ยปรับ

                     ในกรณีอธิบดีอนุมัติให้ขยายกำหนดเวลาชำระหรือนำส่งภาษี และได้มีการชำระหรือนำส่งภาษีภายในกำหนดเวลาที่ขยายให้นั้น เงินเพิ่มตามวรรคหนึ่งให้ลดลงเหลือร้อยละ 0.75 ต่อเดือนหรือเศษของเดือน

                     การคำนวณเงินเพิ่มตามวรรคหนึ่งและวรรคสอง ให้เริ่มนับเมื่อพ้นกำหนดเวลาการยื่นรายการหรือนำส่งภาษีจนถึงวันชำระหรือนำส่งภาษี แต่เงินเพิ่มที่คำนวณได้มิให้เกินจำนวนภาษีที่ต้องเสียหรือนำส่ง ไม่ว่าภาษีที่ต้องเสียหรือนำส่งนั้นจะเกิดจากการประเมินหรือคำสั่งของเจ้าพนักงานหรือคำวินิจฉัยอุทธรณ์ หรือคำพิพากษาของศาล

             มาตรา 67 ตรี ในกรณีที่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล ไม่ยื่นรายการและชำระภาษีตามมาตรา 67 ทวิ (1) หรือยื่นรายการและชำระภาษีตามมาตรา 67 ทวิ (1) โดยแสดงประมาณการกำไรสุทธิขาดไปเกินร้อยละ 25 ของกำไรสุทธ ิซึ่งได้จากกิจการหรือเนื่องจากกิจการที่กระทำในรอบระยะเวลาบัญชีนั้น โดยไม่มีเหตุอันสมควร บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลนั้นต้องเสียเงินเพิ่มอีกร้อยละ 20 ของจำนวนเงินภาษีที่ต้องชำระตามมาตรา 67 ทวิ (1) หรือของกึ่งหนึ่งของจำนวนเงินภาษีที่ต้องเสียในรอบระยะเวลาบัญชีนั้น หรือของภาษีที่ชำระขาดแล้วแต่กรณี

                     ในกรณีที่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล ไม่ยื่นรายการและชำระภาษีตามมาตรา 67 ทวิ (2) หรือยื่นรายการและชำระภาษีตามมาตรา 67 ทวิ (2) ไว้ไม่ถูกต้อง โดยไม่มีเหตุอันสมควร ทำให้จำนวนภาษีที่ต้องชำระขาดไป บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลนั้นต้องเสียเงินเพิ่มอีกร้อยละ 20 ของจำนวนเงินภาษีที่ต้องชำระตามมาตรา 67 ทวิ (2) หรือของภาษีที่ชำระขาด แล้วแต่กรณี

                     เงินเพิ่มตามวรรคหนึ่งและวรรคสอง ให้ถือเป็นค่าภาษีและอาจลดลงได้ตามระเบียบที่อธิบดีกำหนดโดยอนุมัติรัฐมนตรี

             มาตรา 71 ในกรณีที่

                     (2) บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลใด มิได้ลงรายการ หรือลงรายการไม่ครบถ้วน หรือไม่ตรงตามความจริงในบัญชีตามที่กำหนดไว้ในมาตรา 17 และมาตรา 68 ทวิ เป็นเหตุให้ไม่ต้องเสียภาษีหรือเสียภาษีน้อยลง เจ้าพนักงานประเมินมีอำนาจประเมินภาษีที่ขาดตามอัตราภาษีในมาตรา 67 และอาจสั่งให้ผู้ต้องเสียภาษีเสียเงินเพิ่มขึ้นอีก 2 เท่าของจำนวนเงินภาษีที่ขาดก็ได้

             มาตรา 72 ในกรณีที่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลเลิกกัน ให้ผู้ชำระบัญชีและผู้จัดการมีหน้าที่ร่วมกันแจ้งให้เจ้าพนักงานประเมินทราบการเลิกของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลนั้นภายในสิบห้าวันนับแต่วันที่เจ้าพนักงานรับจดทะเบียนเลิก ถ้าบุคคลดังกล่าวแล้วไม่ปฏิบัติตาม เจ้าพนักงานประเมินอาจสั่งให้บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลนั้นเสียเงินภาษีเพิ่มขึ้นอีก 1 เท่าของจำนวนภาษีที่ต้องเสีย เงินนี้ให้ถือเป็นค่าภาษี

             กรณีภาษีมูลค่าเพิ่มและภาษีธุรกิจเฉพาะ      

             มาตรา 89/1 บุคคลใดไม่ชำระภาษีหรือนำส่งภาษีให้ครบถ้วนภายในกำหนดเวลาตามบทบัญญัติในหมวดนี้ ให้เสียเงินเพิ่มอีกร้อยละ 1.5 ต่อเดือน หรือเศษของเดือนของเงินภาษีที่ต้องชำระหรือนำส่งโดยไม่รวมเบี้ยปรับ

                     ในกรณีที่อธิบดีอนุมัติให้ขยายเวลาเสียภาษีตามที่กำหนดในมาตรา 3 อัฏฐ และได้มีการชำระภาษีหรือนำส่งภาษีภายในกำหนดเวลาที่ขยายให้นั้น เงินเพิ่มตามวรรคหนึ่งให้ลดลงเหลือร้อยละ 0.75 ต่อเดือนหรือเศษของเดือน

                     การคำนวณเงินเพิ่มตามวรรคหนึ่งและวรรคสอง ให้เริ่มนับเมื่อพ้นกำหนดเวลายื่นแบบแสดงรายการภาษี หรือยื่นแบบนำส่งภาษีตามส่วน 7 จนถึงวันชำระภาษีหรือนำส่งภาษีแต่เงินเพิ่มที่คำนวณได้มิให้เกินจำนวนภาษีที่ต้องชำระหรือนำส่ง

33.2 บทกำหนดโทษทางอาญา

        (1) กรณีทั่วไป

             มาตรา 3 นว โทษกรณีไม่อำนวยความสะดวก หรือขัดขวางเจ้าพนักงานในการค้น ตามมาตรา 3 เบญจ แห่งประมวลรัษฎากร ต้องระวางโทษปรับไม่เกินห้าพันบาท หรือจำคุกไม่เกินหนึ่งเดือน หรือทั้งปรับทั้งจำ

             มาตรา 3 ทศ โทษกรณีไม่ปฏิบัติตามคำสั่งเจ้าพนักงาน ที่ให้แปลบัญชี เอกสาร ตามมาตรา 3 แห่งประมวลรัษฎากร ต้องระวางโทษปรับไม่เกินห้าพันบาท  

             มาตรา 4 นว โทษกรณีคนต่างด้าวที่ไม่มีใบผ่านภาษีอากร ต้องระวางโทษปรับไม่เกินหนึ่งพันบาท หรือจำคุกไม่เกินหนึ่งเดือนหรือทั้งปรับทั้งจำ

             มาตรา 13 โทษเกี่ยวกับการที่เจ้าพนักงานตามประมวลรัษฎากรเปิดเผยกิจการของผู้เสียภาษีอากร ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 500 บาท หรือจำคุกไม่เกิน 6 เดือนหรือทั้งปรับทั้งจำ

        (2) เกี่ยวกับวิธีการเกี่ยวแก่ภาษีอากรประเมินตามหมวด 2 ในลักษณะ 2 แห่งประมวลรัษฎากร

             มาตรา 35 กรณีไม่ยื่นรายการ ไม่ออกหนังสือรับรอง ไม่ปฏิบัติตามหนังสือแจ้งความ ต้องระวางโทษปรับไม่เกินสองพันบาท

             มาตรา 35 ทวิ กรณีทำลาย ย้าย ซ่อนเร้น หรือ โอนทรัพย์ที่ถูกยึดหรืออายัด ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสองปี และปรับไม่เกินสองแสนบาท

             มาตรา 36 โทษกรณีไม่ปฏิบัติตามหมายเรียก ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งเดือน หรือปรับไม่เกินสองพันบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ

             มาตรา 37 โทษกรณีหลีกเลี่ยงภาษีโดยแจ้งความเท็จ ฉ้อโกง หรือ อุบาย ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สามเดือนถึงเจ็ดปี และปรับตั้งแต่สองพันบาทถึงสองแสนบาท

             มาตรา 37 ทวิ โทษกรณีไม่ยื่นรายการโดยเจตนา ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินสองแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

              มาตรา 37 ตรี ความผิดตามมาตรา 37 มาตรา 37 ทวิ หรือมาตรา 90/4 ที่ผู้กระทำความผิดเป็นผู้มีหน้าที่เสียภาษีอากรหรือนำส่งภาษีอากร และเป็นความผิดที่เกี่ยวกับจำนวนภาษีอากรที่หลีกเลี่ยงหรือฉ้อโกงตั้งแต่สิบล้านบาทต่อปีภาษีขึ้นไป หรือจำนวนภาษีอากรที่ขอคืนโดยความเท็จ โดยฉ้อโกงหรืออุบาย หรือโดยวิธีการอื่นใดทำนองเดียวกัน ตั้งแต่สองล้านบาทต่อปีภาษีขึ้นไป และผู้มีหน้าที่เสียภาษีอากรหรือนำส่งภาษีอากรดังกล่าวได้กระทำในลักษณะที่เป็นกระบวนการหรือเป็นเครือข่าย โดยสร้างธุรกรรมอันเป็นเท็จหรือปกปิดเงินได้พึงประเมินหรือรายได้ เพื่อหลีกเลี่ยงหรือฉ้อโกงภาษีอากร และมีพฤติกรรมปกปิดหรือซ่อนเร้นทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดเพื่อมิให้ติดตามทรัพย์สินนั้นได้ ให้ถือว่าความผิดดังกล่าวเป็นความผิดมูลฐานตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน 

        (3) กรณีภาษีมูลค่าเพิ่ม

             มาตรา 90 ระวางโทษปรับไม่เกิน 2,000 บาท

             มาตรา 90/1 ระวางโทษปรับไม่เกิน 5,000 บาท

             มาตรา 90/2 ระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 เดือน ปรับไม่เกิน 5,000 บาท หรือ ทั้งจำทั้งปรับ

             มาตรา 90/3 ระวางโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน ปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือ ทั้งจำทั้งปรับ

             มาตรา 90/4 ระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 3 เดือน ถึง 7 ปี และ ปรับตั้งแต่ 2,000 บาท  ถึง 200,000 บาท

             มาตรา 90/5 ให้กรรมการผู้จัดการ ผู้จัดการ หรือ ผู้แทนของนิติบุคคลต้องรับโทษด้วย

        (4) กรณีภาษีธุรกิจเฉพาะ

             มาตรา 91/18 โทษกรณีไม่จดทะเบียน ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งเดือน หรือปรับไม่เกินห้าพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

             มาตรา 91/19 โทษกรณีไม่จัดทำรายงาน ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหกเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ

             มาตรา 91/20 โทษกรณีทำรายงานไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ ต้องระวางโทษปรับไม่เกินสองพันบาท

             มาตรา 91/21 ให้นำบทบัญญัติว่าด้วยบทกำหนดโทษตามหมวด 4 มาใช้บังคับ

        (5) กรณีอากรแสตมป์

             มาตรา 124 ไม่เสียอากรหรือไม่ขีดฆ่าแสตมป์ ต้องระวางโทษปรับไม่เกินห้าร้อยบาท

             มาตรา 125 แยกมูลค่าใบรับเพื่อหลีกเลี่ยงการเสียอากร ต้องระวางโทษปรับไม่เกินสองร้อยบาท

             มาตรา 126 ลงวันเดือนปีที่ขีดฆ่าแสตมป์เป็นเท็จ ต้องระวางโทษปรับไม่เกินห้าร้อยบาท หรือจำคุกไม่เกินสามเดือน หรือทั้งปรับทั้งจำ

             มาตรา 127 ไม่เก็บบันทึกหรือไม่ออกใบรับเมื่อถูกเรียกร้อง ต้องระวางโทษปรับไม่เกินห้าร้อยบาท

             มาตรา 127 ทวิ ไม่ออกใบรับหรือออกเป็นจำนวนเงินน้อยกว่าที่รับจริง ต้องระวางโทษปรับไม่เกินห้าร้อยบาท หรือจำคุกไม่เกินหนึ่งเดือน หรือทั้งปรับทั้งจำ

             มาตรา 128 ไม่อำนวยความสะดวกแก่เจ้าพนักงานไม่ยอมให้ยึดตราสาร ต้องระวางโทษปรับไม่เกินห้าร้อยบาท

             มาตรา 129 มีแสตมป์ปลอมหรือค้าแสตมป์ที่ใช้แล้วต้องระวางโทษปรับไม่เกินห้าพันบาท หรือจำคุกไม่เกินสามปี หรือทั้งปรับทั้งจำ