ผมอยากให้ทุกคนเข้าใจประมวลรัษฎากร และนำไปใช้ได้อย่างถูกต้อง
สุเทพ พงษ์พิทักษ์

ลดอัตราภาษีสำหรับค่าแรง และยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล สำหรับการลงทุนในสามจังหวัดชายแตน

บทความวันที่ 2 ก.ย. 2560  .  เขียนโดย อจ.สุเทพ  .  เข้าชม 2968 ครั้ง

ลดอัตราภาษีสำหรับค่าแรง และยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล

สำหรับการลงทุนในสามจังหวัดชายแตน

 

โดยที่รัฐบาลมีนโยบายส่งเสริมและสนับสนุนการลงทุนในเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจ เฉพาะในท้องที่สามจังหวัด คือ จังหวัดนราธิวาส จังหวัดปัตตานี และจังหวัดยะลา โดยให้บุคลากรที่เป็นแรงงานฝีมือและผู้เชี่ยวชาญที่อยู่นอกเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจไปทํางานประจําในเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจ โดยการตราพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการลดอัตราและยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 628) พ.ศ. 2560 ลดอัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาหัก ณ ที่จ่าย สําหรับเงินได้ที่ได้รับเนื่องจากการจ้างแรงงานในเขตดังกล่าว บางกรณี และยกเว้นภาษีเงินได้ให้แก่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล สําหรับเงินได้เป็นจํานวนสองเท่าของรายจ่ายที่ได้จ่ายจริงสําหรับการลงทุนในเขตดังกล่าว บางกรณี จึงขอนำมากล่าวดังต่อไปนี้

 

1. การลดอัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาหัก ณ ที่จ่าย

1.1 ให้ลดอัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาในการหักภาษี ณ ที่จ่าย ตามมาตรา 50 (1) แห่งประมวลรัษฎากร และคงจัดเก็บในอัตราร้อยละ 3 ของเงินได้ สําหรับเงินได้พึงประเมินที่ผู้มีเงินได้ได้รับเนื่องจากการจ้างแรงงานของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลซึ่งมีสถานประกอบกิจการตั้งอยู่ในเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจ เฉพาะในเขต 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ คือ จังหวัดนราธิวาส จังหวัดปัตตานี และจังหวัดยะลา สําหรับเงินได้พึงประเมินที่ได้รับตั้งแต่วันที่ 27 กันยายน พ.ศ. 2559 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2563 ซึ่งเมื่อคํานวณตามอัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา (อัตราก้าวหน้า) แล้ว ผู้มีเงินได้ต้องเสียภาษีในอัตราสูงกว่าร้อยละ 3 ของเงินได้ เมื่อถึงกําหนดยื่นรายการเกี่ยวกับเงินได้พึงประเมิน ได้รับยกเว้นไม่ต้องนําเงินได้พึงประเมินนั้นมารวมคํานวณเพื่อเสียภาษีเงินได้ ท้ังนี้ เฉพาะกรณีที่ผู้มีเงินได้ไม่ขอรับเงินภาษีที่ถูกหักไว้นั้นคืนหรือไม่ขอเครดิตเงินภาษีที่ถูกหักไว้นั้น ไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน

      และในกรณีผู้มีเงินได้พึงประเมินดังกล่าวบางราย ที่ยอมให้ผู้จ่ายเงินได้หักภาษี ณ ที่จ่ายตามมาตรา 50 (1) แห่งประมวลรัษฎากร ในอัตราร้อยละ 3 ของเงินได้ ก็ให้ผู้มีเงินได้มีสิทธิได้รับยกเว้นไม่ต้องนําเงินได้ดังกล่าวมารวมคํานวณเพื่อเสียภาษีเงินได้

      ในกรณีที่ผู้มีเงินได้มีเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (4) และ (8) แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่งถูกหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายตามมาตรา 50 แห่งประมวลรัษฎากรไว้แล้ว และมีสิทธิเลือกเสียภาษีตามมาตรา 48 (3) และ (4) แห่งประมวลรัษฎากร

      ผู้มีเงินได้จะมีสิทธิได้รับการยกเว้นดังกล่าว เมื่อปรากฏว่าในการยื่นรายการเกี่ยวกับเงินได้พึงประเมิน ผู้มีเงินได้มิได้นําเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (4) และ (8) แห่งประมวลรัษฎากร และเงินได้พึงประเมินที่ถูกหักภาษี ณ ที่จ่าย มารวมคํานวณเพื่อเสียภาษีเงินได้ โดยต้องไม่ขอรับเงินภาษีที่ถูกหักไว้นั้นคืน หรือไม่ขอเครดิตเงินภาษีที่ถูกหักไว้นั้น ไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน

      ในการได้รับยกเว้นดังกล่าว ผู้มีเงินได้ต้องยื่นรายการเกี่ยวกับเงินได้พึงประเมินที่ได้รับยกเว้นไม่ต้องนํามารวมคํานวณเพื่อเสียภาษีเงินได้ด้วย

1.2 ผู้มีเงินได้ที่จะได้รับสิทธิดังกล่าว ต้องมีคุณสมบัติและเป็นไปตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขดังนี้

      (1) เป็นแรงงานฝีมือหรือผู้เชี่ยวชาญที่มีคุณสมบัติตามที่อธิบดีกรมสรรพากรประกาศกําหนด

      (2) เป็นลูกจ้างตามสัญญาจ้างแรงงานโดยมีระยะเวลาการทํางานไม่น้อยกว่าหนึ่งปี ในบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล (นายจ้าง) ซึ่งมีสถานประกอบกิจการตั้งอยู่ในเขต 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ และปฏิบัติงานตามสัญญาจ้างแรงงานในเขตดังกล่าว โดยนายจ้างนั้นได้แจ้งการจ้างลูกจ้างดังกล่าวต่อสํานักงานสรรพากรพื้นที่ที่สถานประกอบกิจการตั้งอยู่ในเขตดังกล่าวก่อนจ่ายเงินได้ให้ลูกจ้างครั้งแรกของการจ้างแรงงาน ให้ได้รับสิทธิลดอัตราภาษีเงินได้ตั้งแต่วันที่สํานักงานสรรพากรพื้นที่ได้รับแจ้งจากนายจ้าง

      (3) ก่อนเข้าทํางานกับนายจ้างตามข้อ 2 เป็นแห่งแรกนับตั้งแต่วันที่ 27 กันยายน พ.ศ. 2559 ผู้มีเงินได้ต้องมีภูมิลําเนาอยู่นอกเขต 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ และไม่ได้ทํางานอยู่ในเขต 3 จังหวัดดังกล่าว หรือกรณีผู้มีเงินได้ได้ทํางานในเขต 3 จังหวัดดังกล่าว มาก่อนการเข้าทํางานกับนายจ้าง จะต้องเป็นการเข้าทํางานเมื่อพ้นกําหนด 1 ปี นับแต่วันที่การจ้างงานในเขต 3 จังหวัดดังกล่าว ครั้งก่อนได้สิ้นสุดลง

      (4) ในปีภาษีที่ผู้มีเงินได้ใช้สิทธิลดอัตราภาษีเงินได้ ผู้มีเงินได้ต้องอยู่ในเขต 3 จังหวัดดังกล่าว ไม่น้อยกว่าหนึ่ง 180 วันในปีภาษีนั้น โดยต้องมีหลักฐานการอยู่อาศัยที่ได้รับการรับรองจากนายจ้างหรือเจ้าของสถานที่ที่พักอาศัยและเก็บหลักฐานนั้นไว้เพื่อให้เจ้าพนักงานประเมินตรวจสอบ

      (5) กรณีประสงค์จะยกเลิกการใช้สิทธิลดอัตราภาษีเงินได้ ให้บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลตาม (๒) แจ้งต่อสํานักงานสรรพากรพื้นที่ที่ได้แจ้งการจ้างลูกจ้างเพื่อขอใช้สิทธิลดอัตราภาษีเงินได้

      (6) ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีกรมสรรพากรประกาศกําหนด

1.3 กรณีไม่ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีกรมสรรพากรประกาศกําหนด เกี่ยวกับการลดอัตราภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย สำหรับการจ้างแรงงนนในปีภาษีใด ให้สิทธิลดอัตราภาษีเงินได้เป็นอันระงับไปเฉพาะปีภาษีนั้น

 

2. การยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล

2.1  ให้ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลให้แก่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ไม่มีสถานประกอบกิจการอยู่ในเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจเฉพาะในท้องที่สามจังหวัดชายแดน คือ จังหวัดนราธิวาส จังหวัดปัตตานี และจังหวัดยะลา เป็นจํานวนสองเท่าของรายจ่ายที่ได้จ่ายจริง ดังนี้

      (1) สําหรับเงินลงทุนในหุ้นหรือการเป็นหุ้นส่วนซึ่งเป็นการเพิ่มทุนของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลอื่นที่มีสถานประกอบกิจการตั้งอยู่ในเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจเท่านั้น โดยไม่รวมถึงหุ้นบุริมสิทธิและบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลนั้นต้องนําเงินลงทุนไปใช้ในการประกอบกิจการในเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจเท่านั้น

          คำว่า สถานประกอบกิจการหมายความว่า สถานที่ซึ่งผู้ประกอบกิจการใช้ประกอบกิจการเป็นประจํา หรือสถานที่ซึ่งใช้เป็นที่ผลิตสินค้าเป็นประจํา

      (2) สําหรับเงินลงทุนเพื่อจัดตั้งบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลซึ่งมีสถานประกอบกิจการตั้งอยู่ในเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจเท่านั้น และบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่จัดตั้งขึ้นนั้นต้องนําเงินลงทุนไปใช้ในการประกอบกิจการในเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจเท่านั้น

      บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่จะได้รับสิทธิยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลดังกล่าว ต้องไม่ขายหรือโอนหุ้นหรือการเป็นหุ้นส่วนของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ลงทุน เว้นแต่ได้ขายหรือโอนหุ้นหรือการเป็นหุ้นส่วนของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ลงทุนโดยมีเหตุอันสมควรตามที่อธิบดีประกาศกําหนด ทั้งนี้ ต้องเป็นการลงทุนตั้งแต่วันที่ 27 กันยายน พ.ศ. 2559 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2563 และเป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีกรมสรรพากรประกาศกําหนด

2.2 กรณีไม่ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีกรมสรรพากรประกาศกําหนด เกี่ยวกับการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล ให้สิทธิที่จะได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลสิ้นสุดลง และให้บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลนําเงินได้ที่ได้ใช้สิทธิยกเว้นภาษีเงินได้ไปแล้วมารวมคํานวณเป็นรายได้เพื่อเสียภาษีเงินได้ในรอบระยะเวลาบัญชีที่ได้ใช้สิทธินั้น