ผมอยากให้ทุกคนเข้าใจประมวลรัษฎากร และนำไปใช้ได้อย่างถูกต้อง
สุเทพ พงษ์พิทักษ์

ภาษีร้านขายยาบุคคลธรรมดา

บทความวันที่ 3 ก.ย. 2560  .  เขียนโดย อจ.สุเทพ  .  เข้าชม 12332 ครั้ง

ภาษีร้านขายยาบุคคลธรรมดา

 

ข้อเท็จจริง

น.ส. ก. เปิดร้านขายยาเล็กๆในซอยเป็นร้านขายปลีกยาให้แก่บุคคลทั่วไป สรรพากรให้จดVAT น.ส. ก. ได้ให้ความร่วมมือจด VAT วันที่ 1 กันยายน พ.ศ. 2560 ข้อเท็จจริงของร้านค้าคือ ในแต่ละวันจะขายสินค้าได้ต่อคนประมาณ 10 – 200 บาท และจะมีคนเข้าร้านซื้อสินค้าประมาณวันละ 100 คน น.ส. ก. สงสัยว่า

1. น.ส. ก. จะต้องเปิดใบกำกับภาษีขายอย่างย่อให้กับลูกค้าทุกรายที่ขายได้ใช่ไหมค่ะ แม้ว่าลูกค้าจะไม่เอาบิลก็ตาม

    ถ้าต้องออกใบกำกับภาษีอย่างย่อถึงวันละ 100 ใบ น.ส.ก.เกรงว่าจะไม่มีเวลาทำให้ได้ เดือนหนึ่งก็ต้องเปิดใบกำกับภาษีอย่างย่อถึง 3,000ฉบับ ซึ่งเป็นภาระที่หนักมาก

2. รายงานภาษีขายของ น.ส. ก. จะต้องทำอย่างไร สามารถเขียนในแบบฟอร์มรายงานภาษีขายวันละ 1 บรรทัดได้ไหมค่ะ โดยดูจากยอดเงินที่ได้รับเข้าร้านทั้งวัน เพราะถ้าต้องทำรายงานภาษีขายแบบเอาใบกำกับภาษีอย่างย่อไปใส่ทุกฉบับก็จะเท่ากับว่าเดือนหนึ่ง ๆ มีประมาณ 3,000บรรทัดเลยค่ะ

3. รายงานสินค้า น.ส. ก. ต้องจัดทำทุกรายการสินค้าที่ร้านขายหรือเปล่าค่ะ เพราะสินค้าทั้งหมดของร้านมีประมาณ 1,000 รายการสินค้า ตัวอย่าง ยาแก้ไข ยี่ห้อเดียวกัน มี 3 ขนาด ก็เท่ากับว่าต้องมีสต็อคการ์ด 3 ประเภท ถ้าต้องทำสต็อคกาณ์ดถึง 1,000 รายการตามสินค้าที่ร้านขาย จะเพิ่มภาระอย่างหนักมากให้กับทางร้านค้าต้องจ้างพนักงานบัญชีมาทำแล้วค่ะ

ซึ่งคงมีภาระทางด้านค่าใช้จ่ายจากการจด VAT นี้มากเลย

4. ในการยื่นแบบ ภ.ง.ด.94 และภ.ง.ด.90 ของน.ส.ก.จะต้องเอายอดเงินสินค้าคงเหลือ ณ.วันสิ้นรอบกลางปี กับปลายปีไปเขียนในแบบ ภ.ง.ด.90 ด้วยหรือเปล่าค่ะ

5. น.ส. ก. จดทะเบียนสมรสกับนาย ข. รายได้จากร้านขายยา สามารถยื่นในชื่อของ น.ส. ก. คนเดียวได้ไหมค่ะ คือไม่เอาไปรวมเป็นรายได้ของสามีค่ะ เพราะสามีก็มีรายได้เยอะอยู่แล้วค่ะ

6. ถ้าซื้อยากระปุกละ 1,000 เม็ด ควรตัดยอดยังไง ถ้านับเม็ดขาย ซึ่งบางครั้งขายไม่หมด ยาหมดอายุก่อน จะตัดยอดอย่างไร และยาหมดอายุ จะตัดสต๊อคโดยแจ้งอย่างไร (ต้องทิ้งแน่ ขายไม่ได้ ไม่สามารถตัดเป็นขายออกได้) หรือซื้อยามาเป็นขวดแก้วทำตกแตกระหว่างจัดเรียงสินค้า จะต้องแจ้งอย่างไร

7. หากอาจารย์สุเทพมีอะไรที่จะแนะนำรบกวนช่วยแนะนำด้วยนะคะ ขอบคุณมากค่ะ

 

ข้อกฎหมาย

อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 86/8 แห่งประมวลรัษฎากร อธิบดีกรมสรรพากรได้ออกประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 154) เรื่อง กำหนดลักษณะ และเงื่อนไขของการประกอบกิจการขายสินค้าหรือให้บริการรายย่อย และการออกใบกำกับภาษีของผู้ประกอบการจดทะเบียนตามมาตรา 86/8 แห่งประมวลรัษฎากร ลงวันที่ 2 มิถุนายน พ.ศ. 2546 ดังนี้

1. กำหนดให้การประกอบกิจการดังต่อไปนี้เป็นการขายสินค้าหรือให้บริการรายย่อย (ข้อ 2)

    (1) การขายสินค้าหรือให้บริการซึ่งผู้ประกอบการจดทะเบียนไม่เคยมีมูลค่าของฐานภาษีในเดือนใดถึง 300,000 บาท

2. ผู้ประกอบการจดทะเบียนที่ประกอบกิจการขายสินค้าหรือให้บริการรายย่อยตามข้อ 1 ไม่จำต้องออกใบกำกับภาษีสำหรับการขายสินค้าหรือการให้บริการที่มีมูลค่าครั้งหนึ่งไม่เกิน 1,000 บาท เว้นแต่ผู้ซื้อสินค้าหรือผู้รับบริการจะเรียกร้องใบกำกับภาษี (ข้อ 3)

3. ให้ผู้ประกอบการจดทะเบียนดังกล่าวจัดทำใบกำกับภาษีอย่างย่อรวบรวมการขายสินค้าหรือการให้บริการที่มีมูลค่าครั้งหนึ่งไม่เกิน 1,000 บาท ในหนึ่งวันทำการเพื่อเป็นเอกสารประกอบการลงรายการในรายงานภาษีขายตามมาตรา 87 (1) แห่งประมวลรัษฎากร โดยให้ลงรายการในรายงานภาษีขายเฉพาะมูลค่าสินค้าหรือบริการและจำนวนภาษีมูลค่าเพิ่มทั้งหมดต่อวันที่ได้รับหรือพึงได้รับซึ่งเกิดจากใบกำกับภาษีดังกล่าว โดยต้องเก็บใบกำกับภาษีดังกล่าวไว้ตามมาตรา 87/3 แห่งประมวลรัษฎากรด้วย (ข้อ 4)

อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 87/1 แห่งประมวลรัษฎากร อธิบดีกรมสรรพากรโดยอนุมัติรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กำหนดให้ผู้ประกอบการ จดทะเบียนจัดทำรายงานแตกต่างไปจากรายงานตามมาตรา 87 แห่งประมวลรัษฎากร ตามประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 104) เรื่อง กำหนดให้ผู้ประกอบการจดทะเบียนจัดทำรายงานแตกต่างไปจากรายงานตามมาตรา 87 แห่งประมวลรัษฎากร ลงวันที่ 2 มิถุนายน พ.ศ. 2543 ดังต่อไปนี้

ข้อ 3 ให้ผู้ประกอบการจดทะเบียนซึ่งมีหน้าที่เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ได้รับยกเว้นไม่ต้องจัดทำรายงานสินค้าและวัตถุดิบ ตามมาตรา 87 (3) แห่งประมวล รัษฎากร แต่จะต้องทำการตรวจนับสินค้าคงเหลือ ณ วันที่ 30 มิถุนายน ของปี และวันที่ 31 ธันวาคมของปี และกรอกรายการสินค้าคงเหลือในแบบรายละเอียดสินค้าคงเหลือ โดยต้องมีรายการและข้อความอย่างน้อยตามแบบที่แนบท้ายประกาศนี้ และให้ถือว่าแบบรายละเอียดสินค้าคงเหลือเป็นรายงานสินค้าและวัตถุดิบตามมาตรา 87 (3) แห่งประมวลรัษฎากร

       ความในวรรคหนึ่ง ไม่ใช้บังคับกับผู้ประกอบการจดทะเบียนดังต่อไป

       (1) ผู้ประกอบการจดทะเบียนที่ประกอบกิจการโรงเลื่อย โรงค้าไม้ แปรรูป และกิจการอื่นใดซึ่งต้องจัดทำบัญชีตามกฎหมายว่าด้วยป่าไม้

       (2) ผู้ประกอบการจดทะเบียนที่ประกอบกิจการค้าของเก่า ซึ่งต้องจัดทำบัญชีตามกฎหมายว่าด้วยการค้าของเก่า

       (3) ผู้ประกอบการจดทะเบียนที่ได้รับอนุมัติให้จัดตั้งคลังสินค้าทัณฑ์บน ประเภทร้านค้าปลอดอากร ซึ่งต้องจัดทำบัญชีแยกประเภทสินค้าตามกฎหมายว่าด้วยศุลกากร

       (4) ผู้ประกอบการจดทะเบียนที่ประกอบกิจการปิโตรเลียมตามกฎหมาย ว่าด้วยปิโตรเลียม

       (5) ผู้ประกอบการจดทะเบียนซึ่งขายสินค้าให้แก่

             (ก) ผู้ทำสัญญาแบ่งปันผลผลิตกับองค์กรร่วมไทย-มาเลเซีย ตามกฎหมายว่าด้วยองค์กรร่วมไทย-มาเลเซีย

             (ข) ผู้ขายสินค้าหรือผู้ให้บริการซึ่งได้ทำสัญญาเป็นหนังสือโดยตรงกับผู้ทำสัญญาแบ่งปันผลผลิตกับองค์กรร่วมไทย-มาเลเซีย ตามกฎหมายว่าด้วยองค์กรร่วม ไทย-มาเลเซีย

 

ต่อบคำถาม  

1. หากตามข้อเท็จจริง น.ส. ก. ไม่เคยมีมูลค่าของฐานภาษีในเดือนใดถึง 300,000 บาท และมีมูลค่าขายสินค้าครั้งหนึ่งไม่เกิน 1,000 บาท ตามลักษณะ และ เงื่อนไขของการประกอบกิจการขายสินค้าหรือให้บริการรายย่อย และการออกใบกำกับภาษีของผู้ประกอบการจดทะเบียนตามมาตรา 86/8 แห่งประมวลรัษฎากร ตามประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 154) ลงวันที่ 2 มิถุนายน พ.ศ. 2546 น.ส. ก. ก็ไม่จำต้องออกใบกำกับภาษีสำหรับการขายสินค้าดังกล่าว เว้นแต่ผู้ซื้อสินค้าจะเรียกร้องใบกำกับภาษี

    และให้จัดทำใบกำกับภาษีอย่างย่อรวบรวมการขายสินค้าหรือการให้บริการที่มีมูลค่าครั้งหนึ่งไม่เกิน 1,000 บาท ในหนึ่งวันทำการเพื่อเป็นเอกสารประกอบการลงรายการในรายงานภาษีขายตามมาตรา 87 (1) แห่งประมวลรัษฎากร

2. การจัดทำรายงานภาษีขายของ น.ส. ก. ให้ลงรายการในรายงานภาษีขายเฉพาะมูลค่าสินค้าหรือบริการและจำนวนภาษีมูลค่าเพิ่มทั้งหมดต่อวันที่ได้รับหรือพึงได้รับซึ่งเกิดจากใบกำกับภาษีดังกล่าว โดยต้องเก็บใบกำกับภาษีดังกล่าวไว้ตามมาตรา 87/3 แห่งประมวลรัษฎากรด้วย

3. รายงานสินค้า น.ส. ก. เป็นผู้ประกอบการจดทะเบียนที่เป็นบุคคลธรรมดา จึงไม่ต้องจัดทำทุกรายการสินค้าที่ร้านขาย หากแต่จะต้องทำการตรวจนับสินค้าคงเหลือ ณ วันที่ 30 มิถุนายน ของปี และวันที่ 31 ธันวาคมของปี และกรอกรายการสินค้าคงเหลือในแบบรายละเอียดสินค้าคงเหลือ โดยต้องมีรายการและข้อความอย่างน้อยตามแบบที่แนบท้ายประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 104) เรื่อง กำหนดให้ผู้ประกอบการจดทะเบียนจัดทำรายงานแตกต่างไปจากรายงานตามมาตรา 87 แห่งประมวลรัษฎากร ลงวันที่ 2 มิถุนายน พ.ศ. 2543 และให้ถือว่าแบบรายละเอียดสินค้าคงเหลือเป็นรายงานสินค้าและวัตถุดิบตามมาตรา 87 (3) แห่งประมวลรัษฎากร

4. ในการยื่นแบบ ภ.ง.ด.94 และ ภ.ง.ด.90 ของ น.ส. ก. ไม่ต้องนำยอดเงินสินค้าคงเหลือ ณ วันสิ้นรอบกลางปี กับปลายปีไปเขียนในแบบ ภ.ง.ด.90 เว้นแต่กรณีเลือกหักค่าใช้จ่ายจริงหรือค่าใช้จ่ายตามความจำเป็นและสมควร ก็ต้องใช้ยอดสินค้าคงเหลือเพื่อการคำนวณต้นทุนสินค้าที่ขาย ตามหลักการบัญชีที่รับรองทั่วไป

5. น.ส. ก. จดทะเบียนสมรสกับนาย ข. รายได้จากร้านขายยา สามารถยื่นในชื่อของ น.ส. ก. คนเดียวได้ โดยไม่ต้องนำไปรวมเป็นรายได้ของสามี ตามมาตรา 57 ฉ แห่งประมวลรัษฎากร

6. การตัดต้นทุนให้ใช้วิธีการทางบัญชีต้นทุนตามวิธี Peirodic

    กรณีขายไม่หมด ยาหมดอายุก่อน ให้ตัดยอดยาหมดอายุ เป็นค่าใช้จ่ายในปีภาษีนี้น รวมทั้งกรณีซื้อยามาเป็นขวดแก้วทำตกแตกระหว่างจัดเรียงสินค้า การทำลายสินค้าให้แจ้งให้เจ้าพนักงานประเมินทราบตามคำสั่งกรมสรรพากรที่ ป. 79/2541

7. ถือเป็นเรื่องที่ดีที่มีความสนใจกฎหมายภาษีอากร ให้ศึกษาเพิ่มเติมตามที่ได้แจ้งให้ทราบข้างต้นโดยละเอียด ไม่เข้าใจประการใด ก็ให้สอบถามเพิ่มเติมไปได้