การจ่ายค่าที่ปรึกษาให้กับบริษัทในประเทศญี่ปุ่น
บทความวันที่ 4 ก.ย. 2560 . เขียนโดย อจ.สุเทพ . เข้าชม 7088 ครั้ง
บทความวันที่ 4 ก.ย. 2560 . เขียนโดย อจ.สุเทพ . เข้าชม 7088 ครั้ง
การจ่ายค่าที่ปรึกษาให้กับบริษัทในประเทศญี่ปุ่น
การจ่ายค่าที่ปรึกษาให้กับบริษัทในประเทศญี่ปุ่น มีภาระภาษีดังนี้
1. กรณีภาษีเงินได้นิติบุคคล
โดยทั่วไป “คำปรึกษา” เกี่ยวกับการเปิดบริษัทในไทยถือเป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (2) แห่งประมวลรัษฎากร หากบริษัทฯ จ่ายไปให้บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายของต่างประเทศ และมิได้ประกอบกิจการในประเทศไทย บริษัทฯ มีหน้าที่ต้องคำนวณหักภาษีเงินได้นิติบุคคล ณ ที่จ่าย ในอัตราร้อยละ 15 ของเงินได้ที่จ่ายน ตามมาตรา 70 แห่งประมวลรัษฎากร พร้อมทั้งยื่นแบบ ภ.ง.ด.54 เพื่อนำส่งภาษีเงินได้นิติบุคคล ณ ที่จ่ายนั้น ภายในวันที่ 7 ของเดือนถัดไป
แต่เนื่องจากประเทศไทย และประเทศญี่ปุ่นมีข้อตกลงว่าด้วยการยกเว้นการเก็บภาษีซ้ำซ้อนระหว่างกัน (DTA) ซึ่งตาม DTA ไม่มีข้อกำหนดให้ประเทศไทยจัดเก็บภาษีเงินได้นิติบุคคลจากบริษัทที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายของประเทศญี่ปุ่น สำหรับเงินได้พึงประเมินประเภทดังกล่าว (รวมทั้งเงินได้จากวิชาชีพอิสระ) เพราะกำหนดให้เป็นเงินได้ที่เป็น “กำไรจากธุรกิจ” (Business Profit) หากแต่ประเทศไทยจะจัดเก็บภาษีเงินได้นิติบุคคลจากเงินได้พึงประเมินประเภทดังกล่าวได้ ก็แต่โดยที่บริษัทที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายของประเทศญี่ปุ่นนั้น มี่ “สถานประกอบการถาวร” (PE: Permanent Establishment) ในประเทศไทยเท่านั้น
อย่างไรก็ตาม ต้องพิจารณาต่อไปว่า การให้บริการเป็นที่ปรึกษาในการจัดตั้งบริษัทในประเทศไทยนั้น โดยข้อเท็จจริงไม่มีความยุ่งยากสลับซับซ้อนแต่ประการได รายละเอียดของคำปรึกษาอาจเป็น “ค่าสิทธิ” (Royalty)
คำว่า "ค่าสิทธิ" ที่ใช้ในข้อ 12 วรรคสาม แห่ง DTA ไทย – ญี่ปุ่น หมายถึง “การจ่ายไม่ว่าชนิดใดๆ ที่ได้รับเป็นค่าตอบแทนเพื่อการใช้หรือสิทธิในการใช้ลิขสิทธิ์ในงานวรรณกรรม ศิลปหรืองานวิทยาศาสตร์ใดๆ รวมทั้งฟิล์มภาพยนตร์และฟิล์มหรือเทปที่ใช้สำหรับการกระจายเสียงทางวิทยุหรือทางโทรทัศน์ สิทธิบัตร เครื่องหมายการค้า แบบหรือหุ่นจำลอง แผนผัง สูตร หรือกรรมวิธีลับใดๆ หรือเพื่อข้อสนเทศที่เกี่ยวกับประสบการณ์ทางอุตสาหกรรม พาณิชยกรรม หรือทางวิทยาศาสตร์” (Royalties means payments of many kind received as a consideration for the use of, or the right to use … for information concerning industrial commercial or scientific experience.)
บริษัทฯ จึงต้องพิจารณาว่า การจ่ายค่าที่ปรึกษาเกี่ยวกับการจดทะเบียนในประเทศไทยเข้าลักษณะเป็น การจ่ายค่าตอบแทนเพื่อการใช้หรือสิทธิในการใช้ข้อสนเทศที่เกี่ยวกับประสบการณ์ทางอุตสาหกรรม พาณิชยกรรม หรือทางวิทยาศาสตร์หรือไม่ หาก “ใช่” ก็จะถือเป็นการจ่ายเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (3) แห่งประมวลรัษฎากร ที่ตาม DTA กำหนดยอมให้จัดเก็บภาษีเงินได้นิติบุคคลจากบริษัทที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายของประเทศญี่ปุ่น โดยให้บริษัทฯ ผู้จ่ายเงินได้คำนวณรหักภาษีเงินได้นิติบุคคลตามมาตรา 70 แห่งประมวลรัษฎากรได้
แต่ถ้าการจ่ายค่าที่ปรึกษาเกี่ยวกับการจดทะเบียนในประเทศไทยไม่เข้าลักษณะเป็น การจ่ายค่าตอบแทนเพื่อการใช้หรือสิทธิในการใช้ข้อสนเทศที่เกี่ยวกับประสบการณ์ทางอุตสาหกรรม พาณิชยกรรม หรือทางวิทยาศาสตร์ บริษัทฯ ก็ไม่มีหน้าที่ต้องคำนวณหักภาษีเงินได้นิติบุคคลตามมาตรา 70 แห่งประมวลรัษฎากร แต่อย่างใด
2. กรณีภาษีมูลค่าเพิ่ม
การให้คำปรึกษาเกี่ยวกับการจดทะเบียนในประเทศไทยถือเป็น “ให้บริการ” ตามมาตรา 77/1 (10) แห่งประมวลรัษฎากร เข้าลักษณะเป็นการให้บริการที่ให้ในต่างประเทศ และได้มีการใช้บริการนั้นในประเทศไทย ซึ่งอยู่ในข่ายที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 77/2 (1) และวรรคท้าย ของมาตรา 77/2 แห่งประมวลรัษฎากร บริษัทฯ ในฐานะผู้จ่ายเงินได้มีหน้าที่ต้องนำส่งภาษีมูลค่าเพิ่มตามแบบ ภ.พ.36 ภายในวันที่ 7 ของเดือนถัดไป ตามมาตรา 83/6 แห่งประมวลรัษฎากร