ผมอยากให้ทุกคนเข้าใจประมวลรัษฎากร และนำไปใช้ได้อย่างถูกต้อง
สุเทพ พงษ์พิทักษ์

ภาษีการรับมรดก (4)

บทความวันที่ 2 ส.ค. 2559  .  เขียนโดย อจ.สุเทพ  .  เข้าชม 2447 ครั้ง

      4.3.3 เงินที่ได้จากการขายทอดตลาดดังกล่าว ให้หักค่าธรรมเนียม ค่าใช้จ่ายในการยึดและขายทอดตลาด และเงินภาษีค้าง ถ้ามีเงินเหลือให้คืนแก่เจ้าของทรัพย์สิน

      4.3.4      เพื่อประโยชน์ในการดำเนินการเร่งรัดหนี้ภาษีการรับมรดกตาม 4.3.1 ให้ผู้มีอำนาจตามวรรคสองมีอำนาจ

             (1) ออกหมายเรียกผู้ต้องรับผิดชำระภาษีค้างและบุคคลใดๆ ที่มีเหตุสมควรเชื่อว่าจะเป็นประโยชน์แก่การจัดเก็บภาษีค้างมาให้ถ้อยคำ

             (2) สั่งบุคคลดังกล่าวใน (1) ให้นำบัญชี เอกสาร หรือหลักฐานอื่นอันจำเป็นแก่การจัดเก็บภาษีค้างมาตรวจสอบ

             (3) การดำเนินการตาม (1) และ (2) ต้องให้เวลาล่วงหน้าไม่น้อยกว่า 7 วันนับแต่วันได้รับหมายเรียกหรือคำสั่ง

4.4 กำหนดเวลาการยื่นแบบแสดงรายการหรือแจ้งรายการต่าง ๆ การอุทธรณ์ และการเสียภาษีตามที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัติการรับมรดก พ.ศ. 2558 นี้ ถ้าผู้มีหน้าที่ต้องปฏิบัติตามกำหนดเวลาดังกล่าว มีเหตุจำเป็นจนไม่สามารถจะปฏิบัติตามกำหนดเวลาได้หรือมิได้อยู่ในประเทศไทย อธิบดีจะอนุญาตให้เลื่อนกำหนดเวลาออกไปอีกตามความจำเป็นแก่กรณีก็ได้

      ในกรณีที่มีเหตุจำเป็นเป็นการทั่วไปที่จะทำให้ผู้มีหน้าที่ต้องปฏิบัติตามพระราชบัญญัตินี้ไม่อาจปฏิบัติภายในกำหนดเวลาตามพระราชบัญญัตินี้ได้ อธิบดีจะประกาศขยายกำหนดเวลาออกไปตามสมควรจนกว่าเหตุดังกล่าวจะหมดสิ้นไปก็ได้ และเมื่อได้ขยายกำหนดเวลาออกไปแล้ว ให้ถือว่ากำหนดเวลาที่ขยายออกไปนั้นเป็นกำหนดเวลาที่กำหนดตามพระราชบัญญัตินี้

      หลักเกณฑ์และเงื่อนไขการเลื่อนหรือขยายกำหนดเวลาของอธิบดีตามวรรคหนึ่งและวรรคสองให้เป็นไปตามที่รัฐมนตรีกำหนดโดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา (มาตรา 8)

      อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 8 วรรคสาม แห่งพระราชบัญญัติภาษีการรับมรดก พ.ศ. 2558 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังกำหนดหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่อธิบดีกรมสรรพากรจะอนุญาตให้เลื่อนหรือประกาศขยายกำหนดเวลาการยื่นแบบแสดงรายการภาษีการรับมรดกหรือแจ้งรายการต่างๆ การอุทธรณ์และการเสียภาษีการรับมรดกตามที่กำหนดไว้ตามพระราชบัญญัติภาษีการรับมรดก พ.ศ. 2558 ตามประกาศกระทรวงการคลัง เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์และเงื่อนไขการเลื่อนหรือขยายกำหนดเวลา ตามพระราชบัญญัติภาษีการรับมรดก พ.ศ. 2558 ลงวันที่ 5 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2559 ดังต่อไปนี้

      4.4.1 ให้ถือว่าเหตุดังต่อไปนี้ เป็นเหตุที่อธิบดีกรมสรรพากรจะอนุญาตให้เลื่อนกำหนดเวลาออกไปอีกตามความจำเป็นแก่กรณีก็ได้ ตามมาตรา 8 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติภาษีการรับมรดก พ.ศ. 2558

             (1) เหตุจำเป็นจนไม่สามารถจะปฏิบัติตามกำหนดเวลาได้ ได้แก่ กรณีผู้มีหน้าที่เสียภาษีหรือผู้มีหน้าที่ต้องปฏิบัติการใดๆ ตามพระราชบัญญัติภาษีการรับมรดก พ.ศ. 2558 ได้รับบาดเจ็บสาหัส ทุพพลภาพ หรือป่วยเจ็บด้วยอาการทุกขเวทนาเกินกว่า 20 วันหรือจนประกอบกรณียกิจตามปกติไม่ได้เกินกว่า 20 วัน และแพทย์ซึ่งได้ขึ้นทะเบียนรับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพเวชกรรมได้แสดงความเห็นเป็นหนังสือว่ามีภาวะจำกัดหรือขาดความสามารถ ในการประกอบกิจวัตรหลักอันเป็นปกติเยี่ยงบุคคลทั่วไป อันเนื่องมาจากสาเหตุทางปัญหาสุขภาพหรือความเจ็บป่วยที่เป็นต่อเนื่องมาไม่น้อยกว่า 20 วันหรือทุพพลภาพมาแล้วไม่น้อยกว่า 20 วัน

             (2) เหตุที่ผู้มีหน้าที่เสียภาษีการรับมรดกหรือผู้มีหน้าที่ต้องปฏิบัติการใด ๆ ตามพระราชบัญญัติภาษีการรับมรดก พ.ศ. 2558 มิได้อยู่ในประเทศไทย ได้แก่ กรณีที่บุคคลนั้นมีสถานที่อยู่ในประเทศไทย อันเป็นแหล่งสำคัญหรือมีถิ่นที่อยู่ในประเทศไทยตามกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมืองและได้ออกไปนอกประเทศไทยชั่วระยะเวลาอันมีจำกัดจนเป็นเหตุให้ไม่สามารถปฏิบัติตามกำหนดเวลาโดยไม่อาจหลีกเลี่ยงได้

      4.4.2 ให้ถือว่าเหตุอุทกภัย วาตภัย อัคคีภัย ธรณีพิบัติภัย หรือภัยธรรมชาติอื่นใดที่เกิดขึ้นในประเทศไทย เป็นเหตุจำเป็นเป็นการทั่วไปที่อธิบดีกรมสรรพากรจะประกาศขยายกำหนดเวลาตามสมควรจนกว่าเหตุดังกล่าวจะสิ้นไป ตามมาตรา 8 วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติภาษีการรับมรดก พ.ศ. 2558

      4.4.3 กรณีการขออนุญาตเลื่อนกำหนดเวลาตาม 4.4.1 ให้ผู้มีหน้าที่เสียภาษีหรือผู้มีหน้าที่ต้องปฏิบัติการใด ๆ ตามพระราชบัญญัติภาษีการรับมรดก พ.ศ. 2558 ยื่นคำร้องขออนุญาตเลื่อนกำหนดเวลาต่ออธิบดีกรมสรรพากรเป็นคราว ๆ ไป

 

5. การยกเว้นภาษีการรับมรดก

5.1 ผู้ได้รับมรดกจากเจ้ามรดกแต่ละราย ไม่ว่าจะได้รับมาในคราวเดียวหรือหลายคราว ถ้ามรดกที่ได้รับมาจากเจ้ามรดกแต่ละรายรวมกันมีมูลค่าไม่เกิน 100 ล้านบาท ไม่ต้องเสียภาษีการรับมรดก (มาตรา 12)

5.2 ภาษีการรับมรดกไม่ใช้บังคับแก่

      5.2.1 มรดกที่เจ้ามรดกตายก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ

      5.2.2 มรดกที่คู่สมรสของเจ้ามรดกได้รับจากเจ้ามรดก (มาตรา 3)

 

6. การขอคืนภาษีการรับมรดก

6.1 ในกรณีที่ผู้ยื่นแบบแสดงรายการภาษีการรับมรดกได้ชำระภาษีการรับมรดก โดยไม่มีหน้าที่ต้องเสีย หรือได้ชำระไว้เกินกว่าที่ต้องเสีย ให้ผู้นั้นมีสิทธิได้รับคืนภาษีการรับมรดก โดย (มาตรา 24)

      6.1.1      ให้ผู้มีสิทธิได้รับคืนภาษีการรับมรดกยื่นคำร้องขอรับคืนภาษีการรับมรดก พร้อมด้วยเอกสารหลักฐานภายในห้าปี นับแต่วันชำระภาษีการรับมรดกทั้งหมด ต่อเจ้าหน้าที่ของสำนักงานสรรพากรพื้นที่สาขาแห่งใดแห่งหนึ่ง ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ และวิธีการตามประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีการรับมรดก (ฉบับที่ 2) เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการ เพื่อการขอคืนภาษีการรับมรดก ลงวันที่ 28 มกราคม 2559 ดังต่อไปนี้

             (1) ให้ผู้มีสิทธิได้รับคืนภาษีการรับมรดกยื่นคำร้องขอคืนภาษีการรับมรดก โดยใช้คำร้องขอคืนเงินภาษีการรับมรดกตามแบบคำร้องขอคืนเงินภาษีอากร (ค.10) เป็นแบบคำร้องขอคืนภาษีการรับมรดก

             (2) ให้ผู้มีสิทธิได้รับคืนภาษีการรับมรดกยื่นคำร้องขอคืนเงินภาษีการรับมรดกต่อเจ้าหน้าที่ของสำนักงานสรรพากรพื้นที่สาขา พร้อมด้วยเอกสารหลักฐาน ดังต่อไปนี้

                   (ก) ใบเสร็จรับเงินภาษีการรับมรดก

                   (ข) หลักฐานแสดงการเสียภาษีการรับมรดกไว้เกิน

                   (ค) หลักฐานอื่นที่เกี่ยวข้องกับประเด็นที่ขอคืน

               6.1.2 ให้เจ้าหน้าที่ของสำนักงานสรรพากรพื้นที่สาขาซึ่งรับคำร้องไว้ ส่งคำร้องพร้อมเอกสารหลักฐานต่อเจ้าพนักงานประเมินโดยเร็ว และให้เจ้าพนักงานประเมินตรวจสอบเอกสารหลักฐานให้แล้วเสร็จภายใน 150 วันนับแต่วันที่ได้รับคำร้อง และมีหนังสือแจ้งให้ผู้ยื่นคำร้องทราบภายใน 15 นับแต่การตรวจสอบแล้วเสร็จ และในกรณีที่ต้องมีการคืนภาษี ให้กรมสรรพากรคืนเงินภาษีการรับมรดกให้แล้วเสร็จภายใน 30 วันนับแต่วันที่ตรวจสอบแล้วเสร็จ

      6.1.3 ในการขอรับคืนภาษี ไม่มีสิทธิเรียกดอกเบี้ยจากเงินภาษีการรับมรดกที่คืน

      6.1.4 เพื่อประโยชน์ในการดำเนินการตรวจสอบการขอคืนภาษีการรับมรดก ให้เจ้าพนักงานประเมินมีอำนาจประเมินภาษีการรับมรดกได้ภายในระยะเวลาที่กำหนดในมาตรานี้

6.2 ในกรณีที่มีคำวินิจฉัยอุทธรณ์หรือคำพิพากษาถึงที่สุดให้ผู้อุทธรณ์หรือผู้ฟ้องคดีไม่ต้องเสียภาษีการรับมรดกหรือเสียน้อยลง ให้กรมสรรพากรคืนเงินภาษีการรับมรดกที่ต้องคืนให้แก่ผู้อุทธรณ์หรือผู้ฟ้องคดีภายในสามสิบวันนับแต่วันที่มีคำวินิจฉัยหรือคำพิพากษาถึงที่สุด แล้วแต่กรณี ทั้งนี้ โดยผู้อุทธรณ์หรือผู้ฟ้องคดีไม่ต้องยื่นคำร้องขอคืน (มาตรา 27 วรรคสอง)

 

7. หน้าที่อื่นทางภาษีการรับมรดก

หน้าที่อื่นนอกเหนือจากหน้าที่ในการคำนวณภาษีการรับมรดก และหน้าที่ในการชำระภาษีการรับมรดกตามข้อ 3 และข้อ 4 ข้างต้นแล้ว นั้น ตามกฎหมายภาษีการรับมรดกมิได้กำหนดหน้าที่อื่นให้ผู้ต้องเสียภาษีการรับมรดกต้องปฏิบัติเพิ่มเติม เว้นแต่การให้ความร่วมมือแก่เจ้าพนักงานประเมินในการตรวจสอบความถูกต้องของจำนวนภาษีการรับมรดก และการปฏิบัติหน้าที่ทางภาษีการรับมรดกให้ถูกต้องและครบถ้วน เช่น การปฏิบัติตามหมายเรียกของเจ้าพนักงานประเมิน การตอบคำถามข้อเจ้าพนักงานประเมิน

 

8. การขจัดข้อโต้แย้งทางภาษีการรับมรดก

การขจัดข้อโต้แย้งทางภาษีการรับมรดก ได้แก่ การอุทธรณ์ซึ่งเป็นไปตามมาตรา 26 ถึงมาตรา 28 แห่งพระราชบัญญัติภาษีการรับมรดก พ.ศ. 2558 ดังนี้

8.1 ผู้มีหน้าที่เสียภาษีผู้การรับมรดกใดไม่เห็นด้วยกับผลการประเมินภาษีของเจ้าพนักงานประเมินให้มีสิทธิอุทธรณ์ต่อคณะกรรมการอุทธรณ์ได้ภายในกำหนดเวลาสามสิบวันนับแต่วันที่ได้รับแจ้งการประเมินภาษีการรับมรดก ทั้งนี้ โดยยื่นตามแบบ ณ สถานที่ที่อธิบดีกำหนดโดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา (มาตรา 26)

      8.1.1 อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 26 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติภาษีการรับมรดก พ.ศ. 2558 อธิบดีกรมสรรพากรกำหนดแบบคำอุทธรณ์และสถานที่ยื่นคำอุทธรณ์การประเมินภาษีการรับมรดก ดังต่อไปนี้

             (1) ให้แบบคำอุทธรณ์ (ภ.ม.6) เป็นแบบที่ใช้ในการอุทธรณ์ต่อคณะกรรมการอุทธรณ์โดยให้พิมพ์จากระบบเครือข่ายอินเทอร์เน็ตของกรมสรรพากร http://www.rd.go.th

             (2) ให้ยื่นคำอุทธรณ์ต่อคณะกรรมการอุทธรณ์ ณ สถานที่แห่งใดแห่งหนึ่ง ดังต่อไปนี้

                   (ก) สำนักอุทธรณ์ภาษี กรมสรรพากร

                   (ข) สำนักงานสรรพากรภาคแห่งใดแห่งหนึ่ง

                   (ค) สำนักงานสรรพากรพื้นที่แห่งใดแห่งหนึ่ง

               8.1.2 คณะกรรมการอุทธรณ์

             (1) คณะกรรมการอุทธรณ์ ประกอบด้วย อธิบดีกรมสรรพากรหรือผู้แทน เป็นประธานผู้แทนสำนักงานอัยการสูงสุด และผู้แทนกรมการปกครอง เป็นกรรมการ  

             (2) คณะกรรมการอุทธรณ์ต้องพิจารณาอุทธรณ์ให้แล้วเสร็จภายใน 180 วันนับแต่วันที่ได้รับอุทธรณ์ ระยะเวลาดังกล่าวอธิบดีจะอนุมัติให้ขยายออกไปอีกก็ได้แต่ไม่เกิน 90 วัน เมื่อพ้นกำหนดเวลาดังกล่าวให้ผู้อุทธรณ์มีสิทธิฟ้องต่อศาลภาษีอากรได้ โดยไม่ต้องรอฟังผลการพิจารณาของคณะกรรมการอุทธรณ์ แต่ต้องยื่นฟ้องภายใน180 นับแต่วันที่พ้นกำหนดเวลาดังกล่าว  

      8.1.3 คำวินิจฉัยอุทธรณ์ให้ทำเป็นหนังสือ และแจ้งให้ผู้อุทธรณ์ทราบภายในสิบห้าวันนับแต่วันที่มีคำวินิจฉัย

      8.1.4 ผู้อุทธรณ์ผู้ใดไม่พอใจคำวินิจฉัยของคณะกรรมการอุทธรณ์ ให้มีสิทธิฟ้องต่อศาลภาษีอากรได้ภายใน 180 วันนับแต่วันที่ได้รับทราบคำวินิจฉัยของคณะกรรมการอุทธรณ์

8.2 การอุทธรณ์ไม่เป็นการทุเลาการเสียภาษีการรับมรดก เว้นแต่กรณีที่ผู้อุทธรณ์ได้รับอนุมัติจากอธิบดีให้รอคำวินิจฉัยอุทธรณ์หรือคำพิพากษาได้ ก็ให้มีหน้าที่ชำระภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ได้รับแจ้งคำวินิจฉัยอุทธรณ์หรือได้รับทราบคำพิพากษาถึงที่สุด แล้วแต่กรณี (มาตรา 27 

      8.2.1 ในกรณีที่มีคำวินิจฉัยอุทธรณ์ให้เสียภาษีการรับมรดกเพิ่มขึ้น ผู้อุทธรณ์จะต้องชำระภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ได้รับแจ้งคำวินิจฉัยอุทธรณ์หรือได้รับทราบคำพิพากษาถึงที่สุด แล้วแต่กรณี

      8.2.2 ในกรณีที่มีคำวินิจฉัยอุทธรณ์หรือคำพิพากษาถึงที่สุดให้ผู้อุทธรณ์หรือผู้ฟ้องคดีไม่ต้องเสียภาษีการรับมรดกหรือเสียน้อยลง ให้กรมสรรพากรคืนเงินภาษีการรับมรดกที่ต้องคืนให้แก่ผู้อุทธรณ์หรือผู้ฟ้องคดีภายในสามสิบวันนับแต่วันที่มีคำวินิจฉัยหรือคำพิพากษาถึงที่สุด แล้วแต่กรณี

8.3 เพื่อประโยชน์ในการวินิจฉัยอุทธรณ์ ให้ประธานคณะกรรมการอุทธรณ์มีอำนาจเช่นเดียวกับเจ้าพนักงานประเมินตามมาตรา 21 (มาตรา 28)

 

9. บทกำหนดโทษ

บทกำหนดโทษประกอบด้วยบทกำหนดโทษทางแพ่ง ได้แก่ เบี้ยปรับและเงินเพิ่ม เป็นไปตามมาตรา 29 ถึงมาตรา 32 ในหมวด 5 แห่งพระราชบัญญัติภาษีการรับมรดก พ.ศ. 2558 และบทกำหนดโทษทางอาญา ซึ่งเป็นไปตามมาตรา 33 ถึงมาตรา 38 ในหมวด 6 แห่งพระราชบัญญัติภาษีการรับมรดก พ.ศ. 2558 ดังนี้

9.1 บทกำหนดโทษทางแพ่ง

      9.1.2 เบี้ยปรับ

             (1)  ผู้มีหน้าที่เสียภาษีต้องเสียเบี้ยปรับในกรณีและอัตรา ดังต่อไปนี้ (มาตรา 29)

                   (ก) มิได้ยื่นแบบแสดงรายการภาษีการรับมรดกภายในกำหนดเวลา ให้เสียเบี้ยปรับอีกหนึ่งเท่าของเงินภาษีการรับมรดกที่ต้องชำระ

                   (ข) ยื่นแบบแสดงรายการภาษีการรับมรดกไว้ไม่ครบถ้วนหรือไม่ตรงต่อความเป็นจริง อันเป็นเหตุให้จำนวนภาษีการรับมรดกที่ต้องเสียขาดไป ให้เสียเบี้ยปรับอีกศูนย์จุดห้าเท่าของเงินภาษีการรับมรดกที่ต้องเสียเพิ่ม

             (2) เบี้ยปรับอาจงดหรือลดลงได้ตามหลักเกณฑ์ และเงื่อนไขที่อธิบดีกรมสรรพากรประกาศกำหนดโดยความเห็นชอบของรัฐมนตรีและประกาศในราชกิจจานุเบกษา ทั้งนี้ หลักเกณฑ์ และเงื่อนไขดังกล่าวต้องระบุให้ชัดเจนถึงเหตุแห่งการงดหรือลดเบี้ยปรับ โดยคำนึงถึงความสุจริตและเหตุจำเป็นของผู้มีหน้าที่ต้องปฏิบัติตามพระราชบัญญัตินี้เป็นสำคัญ (มาตรา 30)

      9.1.3 ภายใต้บังคับมาตรา 23 บุคคลใดไม่ชำระภาษีการรับมรดกให้ครบถ้วนภายในกำหนดเวลา ให้เสียเงินเพิ่มอีกร้อยละ 1.5 ต่อเดือนหรือเศษของเดือนของเงินภาษีการรับมรดกที่ต้องชำระ โดยไม่รวมเบี้ยปรับ (มาตรา 31)

             ในกรณีที่ได้มีการอนุญาตให้เลื่อนกำหนดเวลาการชำระภาษีการรับมรดก และได้มีการชำระภาษีการรับมรดกภายในกำหนดเวลาที่เลื่อนให้นั้น ให้ลดเงินเพิ่มลงเหลือร้อยละ 0.75 ห้าต่อเดือนหรือเศษของเดือน

             การคำนวณเงินเพิ่ม ให้เริ่มนับเมื่อพ้นกำหนดเวลายื่นแบบแสดงรายการภาษีการรับมรดกจนถึงวันที่ชำระภาษีการรับมรดก แต่เงินเพิ่มที่คำนวณได้มิให้เกินจำนวนภาษีการรับมรดกที่ต้องชำระ

      9.1.4 เบี้ยปรับและเงินเพิ่มตามพระราชบัญญัตินี้ ให้ถือเป็นเงินภาษีการรับมรดก (มาตรา 32)

9.2 บทกำหนดโทษทางอาญา

      9.2.1 ผู้ใดไม่ยื่นแบบแสดงรายการภาษีการรับมรดกตามมาตรา 17 โดยไม่มีเหตุอันสมควร ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 500,000 บาท (มาตรา 33)

      9.2.2 ผู้ใดไม่ปฏิบัติตามหมายเรียกหรือคำสั่งของเจ้าพนักงานประเมิน หรือไม่ยอมตอบคำถามของเจ้าพนักงานประเมินตามมาตรา 21 หรือของประธานคณะกรรมการอุทธรณ์ตามมาตรา 28 หรือไม่ปฏิบัติตามหมายเรียกหรือคำสั่งของผู้มีอำนาจตามมาตรา 25 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งเดือน หรือปรับไม่เกินสองหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ (มาตรา 34)

      9.2.3 ผู้ใดทำลาย ย้ายไปเสีย ซ่อนเร้น หรือโอนไปให้แก่บุคคลอื่นซึ่งทรัพย์สินที่ถูกยึดหรืออายัดตามมาตรา 25 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสองปี และปรับไม่เกินสี่แสนบาท

             ในกรณีผู้กระทำความผิดดังกล่าวเป็นนิติบุคคล หากกรรมการผู้จัดการ ผู้จัดการ หรือผู้แทนของนิติบุคคลนั้นได้มีส่วนในการกระทำความผิดของนิติบุคคล ให้กรรมการผู้จัดการ ผู้จัดการหรือผู้แทนนิติบุคคลดังกล่าว ต้องรับโทษตามที่บัญญัติไว้ในวรรคหนึ่งด้วย (มาตรา 35)

             เจ้าพนักงานผู้ใดมีหน้าที่ปฏิบัติการตามพระราชบัญญัติภาษีการรับมรดก พ.ศ. 2558 รู้ข้อมูลของผู้มีหน้าที่เสียภาษีการรับมรดก หรือของผู้อื่นที่เกี่ยวข้อง นำออกแจ้งแก่บุคคลใดหรือทำให้รู้โดยวิธีใด หรือปล่อยปละละเลย ให้ข้อมูลดังกล่าวรู้ถึงบุคคลที่ไม่มีหน้าที่ต้องรู้ โดยไม่มีอำนาจกระทำได้โดยชอบด้วยกฎหมาย ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินสองแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ เว้นแต่เป็นการเปิดเผยต่อเจ้าพนักงานประเมินภาษีอากรตามประมวลรัษฎากรเพื่อประโยชน์ในการปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมาย (มาตรา 36)