ผมอยากให้ทุกคนเข้าใจประมวลรัษฎากร และนำไปใช้ได้อย่างถูกต้อง
สุเทพ พงษ์พิทักษ์

"การประกอบวิชาชีพของผู้สอบบัญชีภาษีอากร" เป็นกิจการที่ไ้ด้รับยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 81 (1)(ฌ) แห่งประมวลรัษฎากร

บทความวันที่ 9 พ.ย. 2560  .  เขียนโดย อจ.สุเทพ  .  เข้าชม 7798 ครั้ง

"การประกอบวิชาชีพของผู้สอบบัญชีภาษีอากร"

เป็นกิจการที่ไ้ด้รับยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 81 (1)(ฌ) แห่งประมวลรัษฎากร 


          ตามประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 217) ลงวันที่ 24 ตุลาคม พ.ศ. 2560 กำหนดให้ "การประกอบวิชาชีพของผู้สอบบัญชีภาษีอากร" เป็นกิจการที่ไ้ด้รับยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 81 (1)(ฌ) แห่งประมวลรัษฎากร ในฐานะที่เป็นการให้บริการการประกอบวิชาชีพอิสระอื่น ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 24 ตุลาคม พ.ศ. 2560 

          การยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 81 (1)(ฌ) แห่งประมวลรัษฎากร ให้แก่การให้บริการวิชาชีพอิสระ ที่เป็นการสอบบัญชี และการว่าความนั้น เป็นการบัญญัติต่อเนื่องมาตั้งแต่ระบบภาษีการค้า จึงยังคงใช้คำเดิม แต่การสอบบัญชีภาษีอากรเป็นวิชาชีพใหม่ ที่เพิ่มกำหนดขึ้นในภายหลังเมื่อปี 2544 และตามมาตรา 81 (1)(ฌ) แห่งประมวลรัษฎากร ก็กล่าวนำให้ยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับวิชาชีพอืสระอย่างอื่น จึงใช้คำว่า การประกอบวิชาชีพ... เพื่อให้ "ล้อกัน" กับบทบัญญัติตามกฎหมายดังกล่าว

          วิชาชีพของผู้สอบบัญชีภาษีอากรนั้น เกิดขึ้นก็แต่โดยที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 11 แห่งพระราชบัญญัติการบัญชี พ.ศ. 2543 ออกกฎกระทรวง ว่าด้วยการยกเว้นไม่ต้องจัดให้งบการเงินได้รับการตรวจสอบและแสดงความเห็นโดยผู้สอบบัญชีรับอนุญาต พ.ศ. 2544 กำหนดให้ห้างหุ้นส่วนจดทะเบียนที่มีทุนเรียกชำระแล้วไม่เกิน 5,000,000 บาท และหรือมีรายได้ไม่เกิน 30,000,000 บาท และหรือมีทรัพย์สินรวมไม่เกิน 30,000,000 บาท ไม่ต้องจัดให้มีการตรวจสอบและแสดงความเห็นในงบการเงินที่ต้องยื่นต่อกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์

          ต่อมา อธิบดีกรมสรรพากร (นายศุภรัตน์ ควัฒน์กุล) โดยอนุมัติรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 3 สัตต แห่งประมวลรัษฎากร จึงได้ออกประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับการตรวจสอบและรับรองบัญชี เรื่อง กำหนดระเบียบเกี่ยวกับการตรวจสอบและรับรองบัญชีตามมาตรา 3 สัตต แห่งประมวลรัษฎากร ลงวันที่ 12 มีนาคม พ.ศ. 2544 โดยให้ยกเลิกประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับการตรวจสอบและรับรองบัญชี เรื่อง กำหนดระเบียบเกี่ยวกับการตรวจสอบและรับรองบัญชีตามมาตรา 3 สัตต แห่งประมวลรัษฎากร ลงวันที่ 19 มิถุนายน พ.ศ. 2523 พร้อมทั้งออกคำสั่งกรมสรรพากรเพื่อให้การปฏิบัติตามประกาศอธิบดีกรมสรรพากรดังกล่าวเป็นไปด้วยดี ประกอบด้วย
          1. คำสั่งกรมสรรพากรที่ ท.ป. 98/2544 เรื่อง กำหนดคุณสมบัติ การทดสอบ การขอขึ้นทะเบียน การออกใบอนุญาต การอบรม การต่ออายุ และการขอออก ใบแทนใบอนุญาตเป็น ผู้สอบบัญชีภาษีอากร 
          2. คำสั่งกรมสรรพากรที่ ท.ป. 122/2545 เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์การปฏิบัติงาน และการรายงานการตรวจสอบและรับรองบัญชีของผู้สอบบัญชีภาษีอากรตามมาตรา 3 สัตต และ 
          3. คำสั่งกรมสรรพากรที่ ท.ป. 123/2545 เรื่อง กำหนดจรรยาบรรณของผู้ตรวจสอบและรับรองบัญชีตามมาตรา 3 สัตต แห่งประมวลรัษฎากร 
          ทั้งนี้ ได้กำหนดให้การตรวจสอบและรับรองบัญชีเพื่อประโยชน์แห่งการจัดเก็บภาษีอากร สำหรับรอบระยะเวลาบัญชีที่สิ้นสุดในหรือหลังวันที่ 31 ธันวาคม 2545 ต้องกระทำโดย “ผู้ตรวจสอบและรับรองบัญชี” ที่เป็นผู้มีคุณสมบัติตามที่อธิบดีกรมสรรพากรกำหนด 
          เพื่อประโยชน์ในการพัฒนาผู้สอบบัญชีภาษีอากรอธิบดีกรมสรรพากรอาศัยอำนาจตามประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับการตรวจสอบและรับรองบัญชี เรื่อง กำหนดระเบียบเกี่ยวกับการตรวจสอบและรับรองบัญชีตามมาตรา 3 สัตต แห่งประมวลรัษฎากร ลงวันที่ 12 มีนาคม 2544 และคำสั่งกรมสรรพากรที่ ท.ป. 98/2544 ออกประกาศอธิบดีกรมสรรพากรเพิ่มเติมดังนี้
          1. ประกาศอธิบดีกรมสรรพากร การอบรมทางด้านกฎหมายภาษีอากรของผู้สอบบัญชี ลงวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2546 
          2. ประกาศอธิบดีกรมสรรพากร องค์กรวิชาชีพบัญชีหรือหน่วยงานที่อธิบดีให้ความเห็นชอบในการจัดอบรมทางด้านกฎหมายภาษีอากรแก่ผู้สอบบัญชี ลงวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2546
          3. ประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขเกี่ยวกับการทดสอบเป็นผู้สอบบัญชีภาษีอากร ตามมาตรา 3 สัตต แห่งประมวลรัษฎากร ลงวันที่ 4 มีนาคม 2548 
          4. ประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขเกี่ยวกับการอบรมของผู้สอบบัญชีภาษีอากร ลงวันที่ 4 มีนาคม 2548 
          5. ประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เรื่อง กำหนดแบบคำขอ/แบบแจ้งเกี่ยวกับการตรวจสอบและรับรองบัญชี และหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการยื่นแบบคำขอ/แบบแจ้งเกี่ยวกับ การตรวจสอบและรับรองบัญชี ตามมาตรา 3 สัตต ลงวันที่ 4 มีนาคม 2548 
          6. ประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขเกี่ยวกับการขอขึ้นทะเบียน การออกใบอนุญาต การต่ออายุใบอนุญาต การขอออกใบแทนใบอนุญาต และการขอแก้ไขทะเบียนของผู้สอบบัญชีภาษีอากร ตามมาตรา 3 สัตต ลงวันที่ 4 มีนาคม 2548

          ลักษณะของการประกอบวิชาชีพของผู้สอบบัญชี ตามมาตรา 3 สัตต แห่งประมวลรัษฎากร เป็น "การตรวจสอบตามข้อกำหนดที่ตกลงกัน" (Agreed upon Procedure) ที่กรมสรรพากรเป็นผู้กำหนดเท่านั้น หาได้ครอบคลุมถึงการประกอบอาชีอื่นๆ ที่ผู้สอบบัญชีภาษีอากรพึงกระทำโดยสุจริต ไม่ ดังนั้น การประกอบวิชาชีพของผู้สอบบัญชีภาษีอากรตามประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 217) เรื่อง กำหนดการให้บริการการประกอบวิชาชีพอิสระอื่น ตามมาตรา 81 (1)(ฌ) แห่งประมวลรัษฎากร ลงวันที่ 24 ตุลาคม พ.ศ. 2560 จะมีได้อย่างเป็นทางการก็แต่เฉพาะ "การตรวจสอบและรับรองบัญชีตามมาตรา 3 สัตต แห่งประมวลรัษฎากร" เท่านั้น ทั้งนี้ สำหรับรอบระยะเวลาบัญชีที่สิ้นสุดในหรือหลังวันที่ 31 ธันวาคม 2545 เป็นต้นไปเท่านั้น ไม่อาจตีความอย่างกว้าง ให้ครอบคลุมไปถึงการการประกอบอาชีพอื่นใดที่ผู้สอบบัญชีภาษีอากรได้กรทำ นอกเหนือไปจาก "การตรวจสอบและรับรองบัญชี"
          

ต้องเรียนว่า ตามความเห็นของผม "การประกอบวิชาชีพของผู้สอบบัญชีภาษีอากร" เป็นการประกอบวิชาชีพอิสระ ด้านการสอบบัญชี มาตั้งแต่ต้น นับแต่มีผู้สอบบัญชีภาษีอากรท่านแรก และมีรายได้จากการประกอบวิชาชีพ "ตรวจสอบและรับรองบัญชี ตามมาตรา 3 สััตต ประกอบกับมาตรา 69 แห่งประมวลรัษฎากร" นับแต่บาทแรกแล้ว

          ขอเปรียบเทียบให้เห็นภาพว่า "ผู้สอบบัญชีภาษีอากร" เป็น "ดารา" วิชาชีพของดารา คือ การเป็น "นักแสดงสาธารณะ" เท่านั้น

 ไมว่าจะเป็น

 นักแสดงละคร ภาพยนตร์ วิทยุ โทรทัศน์ นักร้อง นักดนตรี นักกีฬาอาชีพ หรือนักแสดงเพื่อความบันเทิงใดๆ ไม่ว่าจะแสดงเดี่ยว เป็นหมู่คณะหรือแข่งชันเป็นทีม เช่น นักแสดงละครเวที นักแสดงภาพยนตร์ นักแสดงละครวิทยุ นักแสดงละครโทรทัศน์ ผู้ดำเนินรายการทางโทรทัศน์ นักแสดงตลก นายแบบ นางแบบ นักพูดรายการทอล์โชว์ นักมวยอาชีพ นักฟุตบอลอาชีพ เป็นต้น  


          ดังนั้น หาก "ดารา" ไปอ่านข่าว ไปเป็นประชาสัมพันธ์ ไปขายของ ก็หาใช่การเป็น "นักแสดงสาธารณะ" ฉันใด งานอื่นใดที่ไม่การตรวจสอบและรับรองบัญชีตามมาตรา 3 สัตต แห่งประมวลรัษฎากร ก็ย่อมไม่ใช่วิชาชีพของผู้สอบบัญชีภาษีอากร ฉันนั้น

          การตีความเกี่ยวกับกฎหมายว่าด้วยการยกเว้นภาษีอากร นั้น ท่านกำหนดให้ต้องตีความอย่างแคบเท่านั้นครับ

          การที่มีการออกประกาศฉบับนี้ เป็นไปเพื่อตอกย้ำความถูกต้องของแนวคิดที่มีมาแต่เดิมเท่านั้น และสร้างความมั่นคงให้กับวิชาชีพการสอบบัญชีภาษีอากร ที่มีส่วนช่วยในการพัฒนาประเทศชาติ ในส่วนของการตรวจสอบและรับรองงบการเงินของห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่มีทุนชำระแล้วในวันสุดท้ายข้องรอบระยะเวลาบัญชีไม่เกิน 5 ล้านบาท ทรัพย์สินสุทธิไม่เกิน 30 ล้านบาท และมีรายได้ไม่เกิน 30 ล้านบาท

          จึงหวังว่า จะไม่มีใคร (บ้าจี้!!!!) มองว่า ก่อนวันที่ 24 ตุลาคม พ.ศ. 2560 "การประกอบวิชาชีพของผู้สอบบัญชีภาษีอากร" เป็นกิจการที่ไม่ไ้ด้รับยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 81 (1)(ฌ) แห่งประมวลรัษฎากร หากแต่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม ให้ต้องเสียความรู้สึกต่อกันนะครับ

-------------------------------------


ประกาศอธิบดีกรมสรรพากร 
เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 217)
เรื่อง กำหนดการให้บริการการประกอบวิชาชีพอิสระอื่น ตามมาตรา 81 (1)(ฌ) แห่งประมวลรัษฎากร 
--------------------------

          อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 81 (1)(ฌ) แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 30) พ.ศ. 2534 อธิบดีกรมสรรพากร โดยอนุมัติรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กำหนดการให้บริการการประกอบวิชาชีพอิสระอื่น ไว้ดังต่อไปนี้ 
          ข้อ 1. การประกอบวิชาชีพของผู้สอบบัญชีภาษีอากร 
          ข้อ 2. ประกาศนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันประกาศเป็นต้นไป

ประกาศ ณ วันที่ 24 ตุลาคม พ.ศ. 2560


ประสงค์ พูนธเนศ
(นายประสงค์ พูนธเนศ) 
อธิบดีกรมสรรพากร