เจ้าพนักงานประเมินและอำนาจเจ้าพนักงานประเมิน (ตอนที่ 1)
บทความวันที่ 5 มี.ค. 2561 . เขียนโดย อจ.สุเทพ . เข้าชม 11504 ครั้ง
บทความวันที่ 5 มี.ค. 2561 . เขียนโดย อจ.สุเทพ . เข้าชม 11504 ครั้ง
เจ้าพนักงานประเมินและอำนาจเจ้าพนักงานประเมิน (ตอนที่ 1)
เจ้าพนักงานประเมินและอำนาจเจ้าพนักงานประเมิน
เป็นส่วนหนึ่งของวิธีการเสียภาษีอากรประเมิน ทั้งกรณีภาษีเงินได้ ภาษีมูลค่าเพิ่ม และภาษีธุรกิจเฉพาะ
ซึ่งกฎหมายบัญญัติขึ้นเพื่อประโยชน์ในการบริหารการจัดเก็บภาษีอากรประเมินเพื่ออำนวยให้เกิดความเป็นธรรมในการจัดเก็บภาษีอากร
ซึ่งในบทนี้
จึงขอนำประเด็นเจ้าพนักงานประเมินและอำนาจเจ้าพนักงานประเมินมากล่าวโดยกล่าวถึง
พนักงานเจ้าหน้าที่อากรแสตมป์ และอำนาจของพนักงานเจ้าหน้าที่อากรแสตมป์ รวมทั้งเจ้าพนักงานรับแบบแสดงรายการ
เพื่อการศึกษาเปรียบเทียบให้เกิดความเข้าใจเกี่ยวกับเจ้าพนักงานประเมินและอำนาจเจ้าพนักงานประเมิน
ตามหัวข้อต่อไปนี้
1. เจ้าพนักงานประเมิน
พนักงานเจ้าหน้าที่อากรแสตมป์ และเจ้าพนักงานรับแบบแสดงรายการ
2. อำนาจเจ้าพนักงานประเมิน อำนาจพนักงานเจ้าหน้าที่และนายตรวจอากรแสตมป์
3. การงดหรือลดเบี้ยปรับภาษีมูลค่าเพิ่ม
4. การลดหรืองดเงินเพิ่มอากรแสตมป์
5. บทสรุป
อนึ่ง บทบัญญัติที่อ้างถึงในบทนี้
ถ้ามิได้แสดงให้เห็นเป็นอย่างอื่น ให้หมายความถึงบทบัญญัติแห่งประมวลรัษฎากร
1. เจ้าพนักงานประเมิน พนักงานเจ้าหน้าที่อากรแสตมป์ และเจ้าพนักงานรับแบบแสดงรายการ
เจ้าพนักงานประเมิน พนักงานเจ้าหน้าที่หรือนายตรวจอากรแสตมป์
และเจ้าพนักงานรับแบบแสดงรายการ
เป็นบุคลากรที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังอาศัยอำนาจตามมาตรา 4
พิจารณาแต่งตั้งตามประกาศกระทรวงการคลัง และประกาศในราชกิจจานุเบกษา
เพื่อปฏิบัติงานตามอำนาจหน้าที่ที่บัญญัติไว้ในประมวลรัษฎากร
ในอันที่จะอำนวยให้เกิดความเป็นธรรมในการจัดเก็บภาษีอากร
“มาตรา 4 ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังรักษาการตามประมวลรัษฎากรนี้ และให้มีอำนาจแต่งตั้งเจ้าพนักงานประเมินและเจ้าพนักงานอื่น
โดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา...”
“มาตรา 16 “เจ้าพนักงานประเมิน”
หมายความว่า บุคคลหรือคณะบุคคลซึ่งรัฐมนตรีแต่งตั้ง”
“ มาตรา
103 ในหมวดนี้ เว้นแต่ข้อความจะแสดงให้เห็นเป็นอย่างอื่น
“พนักงานเจ้าหน้าที่” หมายความว่า
เจ้าพนักงานซึ่งรัฐมนตรีแต่งตั้ง
“นายตรวจ” หมายความว่า
เจ้าพนักงานซึ่งรัฐมนตรีแต่งตั้ง”
จากบทบัญญัติดังกล่าว อาจแยกพิจารณาเกี่ยวกับเจ้าพนักงานประเมิน
พนักงานเจ้าหน้าที่หรือนายตรวจอากรแสตมป์ และเจ้าพนักงานรับแบบแสดงรายการ
ได้ดังนี้
1.1 ความหมาย
1.1.1 “เจ้าพนักงานประเมิน” ตามมาตรา 16 ได้กำหนดนิยามของคำว่า “เจ้าพนักงานประเมิน” ว่า หมายความว่า
บุคคลหรือคณะบุคคลซึ่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังแต่งตั้ง
นิยามดังกล่าว
กำหนดแต่เพียงเบื้องต้นว่า เจ้าพนักงานประเมิน อาจเป็นบุคคลหรือคณะบุคคลที่แต่งตั้งโดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเท่านั้น
แต่เมื่อสืบค้นต่อไปที่มาตรา 38 ก็พบคุณลักษณะของเจ้าพนักงานประเมินเพิ่มเติมอีกดังนี้
“มาตรา
38 ภาษีเงินได้นี้อยู่ในประเภทภาษีอากรประเมิน และให้เจ้าพนักงานประเมินเป็นผู้ประเมินเกี่ยวกับภาษีในหมวดนี้”
ดังนั้น “เจ้าพนักงานประเมิน”
หมายถึง บุคคลหรือคณะบุคคลที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังออกประกาศแต่งตั้ง โดยให้เป็นผู้มีอำนาจหน้าที่ตรวจสอบความถูกต้องของจำนวนภาษีอากรตามประเภทภาษีอากรประเมินทั้งภาษีเงินได้
ภาษีมูลค่าเพิ่ม และภาษีธุรกิจเฉพาะ ที่ผู้ต้องเสียหรือนำส่งต้องเสียหรือนำส่ง
และการปฏิบัติการเกี่ยวกับหน้าที่ทางภาษีอากรของผู้ต้องเสียหรือนำส่งภาษีอากรนั้น
กรณีเจ้าพนักงานประเมินพบว่ามีกรณีชำระหรือนำส่งภาษีอากร
และการปฏิบัติการเกี่ยวกับหน้าที่ทางภาษีอากรดังกล่าวไม่ถูกต้อง
ครบถ้วนตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่กฎหมายกำหนด
ให้เจ้าพนักงานประเมินมีอำนาจประเมินเรียกเก็บภาษีอากร พร้อมทั้งเบี้ยปรับ
และเงินเพิ่ม หรือดำเนินคดีอาญาแก่ผู้ต้องเสียหรือนำส่งภาษีอากรนั้นต่อไป
“เจ้าพนักงานประเมิน”
มีอำนาจหน้าที่เกี่ยวกับภาษีอากรประเมิน อันได้แก่ ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา
ภาษีเงินได้นิติบุคคล ภาษีมูลค่าเพิ่ม และภาษีธุรกิจเฉพาะ เท่านั้น จะดำเนินการใดๆ
เกี่ยวกับอากรแสตมป์ไม่ได้
1.1.2 “พนักงานเจ้าหน้าที่” และ “นายตรวจ” กรณีอากรแสตมป์
เนื่องจากอากรแสตมป์ตามหมวด
6 มิได้จัดอยู่ในประเภทภาษีอากรประเมิน
จึงจำเป็นต้องกำหนดเจ้าพนักงานเพื่อดำเนินการเกี่ยวกับความถูกต้องครบถ้วนของการเสียอากรแสตมป์
“พนักงานเจ้าหน้าที่” มีอำนาจหน้าที่เกี่ยวกับอากรแสตมป์เท่านั้น ซึ่งตามมาตรา
115
กำหนดให้พนักงานเจ้าหน้าที่จัดการเรียกเก็บโดยออกเป็นคำสั่งให้เสียอากรแสตมป์ตามหลักเกณฑ์
วิธีการ เงื่อนไข และอัตราที่กฎหมายกำหนด
เป็นที่น่าสังเกตว่า แม้จะมีนิยามศัพท์คำว่า “นายตรวจ” ตามมาตรา 103 และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังได้ออกประกาศกระทรวงการคลัง
ว่าด้วยการแต่งตั้งเจ้าพนักงานประเมิน แต่งตั้ง “นายตรวจอากรแสตมป์” แต่ในรายละเอียดของบทบัญญัติกลับไม่พบอำนาจในการเรียกเก็บอากรแสตมป์เป็นคำสั่งแต่อย่างใด
เว้นแต่อำนาจในการตรวจการปฏิบัติเกี่ยวกับอากรแสตมป์ และอำนาจในการเรียกและยึดตราสาร
หรือเอกสาร และออกหมายเรียกตัวผู้มีหน้าที่เสียอากร ผู้ทรงตราสาร
หรือผู้ถือเอาประโยชน์แห่งตราสาร และพยานหลักฐานอื่นอันควรแก่เรื่องมาไต่สวนได้
ตามมาตรา 123
1.1.3 “เจ้าพนักงานรับแบบแสดงรายการ”
เนื่องจากแบบแสดงราการใช้กับภาษีอากรประเมิน
ซึ่งตามมาตรา 17 กำหนดให้ต้องเสียหรือนำส่งภาษีอากรประเมินมีหน้าที่ยื่นแบบแสดงรายการตามแบบที่อธิบดีกรมสรรพากรกำหนดและภายในเวลาที่กำหนดไว้ในหมวดว่าด้วยภาษีอากรประเมินต่างๆ
ได้กำหนดไว้ ดังนั้น “เจ้าพนักงานรับแบบแสดงรายการ” จึงใช้กับเฉพาะภาษีอากรประเมินเท่านั้น
1.2 การแต่งตั้งเจ้าพนักงานสรรพากรให้ปฏิบัติหน้าที่เป็นเจ้าพนักงานประเมิน
พนักงานเจ้าหน้าที่อากรแสตมป์ และเจ้าพนักงานรับแบบแสดงรายการ
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง
อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 4 ออกประกาศกระทรวงการคลัง ว่าด้วยการแต่งตั้งเจ้าพนักงาน (ฉบับที่ 54) ลงวันที่ 4
กันยายน 2552 ดังต่อไปนี้
“ข้อ 1
ให้ยกเลิกประกาศกระทรวงการคลัง ว่าด้วยการแต่งตั้งเจ้าพนักงาน (ฉบับที่ 39) เรื่อง
แต่งตั้งเจ้าพนักงานประเมินตามประมวลรัษฎากร ลงวันที่ 11 ตุลาคม 2545
ข้อ 2 ให้ข้าราชการพลเรือนสามัญดังต่อไปนี้
เป็นเจ้าพนักงานประเมินตามมาตรา 16
(1) สังกัดกรมสรรพากร นอกจากที่ระบุใน (2)(3) และ (4)
ในเขตท้องที่ทั่วราชอาณาจักร
(2) สังกัดสำนักงานสรรพากรภาค
ในเขตท้องที่สำนักงานสรรพากรภาคนั้น
(3) สังกัดสำนักงานสรรพากรพื้นที่
ในเขตท้องที่สำนักงานสรรพากรพื้นที่นั้น เว้นแต่กรณีตรวจนับสินค้าและวัตถุดิบ
ตรวจสอบยันใบกำกับภาษี และตรวจปฏิบัติการ
ให้ใช้บังคับกับสถานประกอบการที่อยู่นอกเขตพื้นที่นั้นด้วย ทั้งนี้
เฉพาะกรณีที่ได้รับอนุมัติจากอธิบดีกรมสรรพากร หรือผู้ที่อธิบดีกรมสรรพากรมอบหมาย
(4) สังกัดสำนักงานสรรพากรพื้นที่สาขา
ในเขตท้องที่สำนักงานสรรพากรพื้นที่สาขานั้น
การใช้อำนาจของเจ้าพนักงานตามวรรคหนึ่ง
สำหรับกรณีการทำการประเมินภาษี การสั่งลดเบี้ยปรับเงินเพิ่มภาษี การไต่สวน
สอบสวนหรือซักถามผู้เสียภาษีหรือผู้นำส่งภาษี หรือพยานบุคคล
ให้กระทำได้เฉพาะเจ้าพนักงานซึ่งเป็นข้าราชการพลเรือนสามัญประเภทบริหาร
ประเภทอำนวยการ ประเภทวิชาการ และประเภททั่วไประดับชำนาญงานขึ้นไป
แต่จะให้เจ้าพนักงานที่เป็นข้าราชการพลเรือนสามัญประเภททั่วไประดับปฏิบัติงาน
เป็นผู้จดคำให้การก็ได้ แต่ไม่รวมถึงกรณีที่เจ้าพนักงานซึ่งเป็นข้าราชการพลเรือนสามัญปฏิบัติหน้าที่ในตำแหน่งสรรพากรพื้นที่สาขา
ในเขตท้องที่สำนักงานสรรพากรพื้นที่สาขานั้น
ในกรณีที่ผู้ใดได้รับหมายเรียก
หรือหนังสือแจ้งความของเจ้าพนักงานตาม (2) (3) หรือ (4) ดังกล่าวแล้ว
ต่อมาได้ออกไปเสียจากเขตท้องที่ดังกล่าว ให้เจ้าพนักงานนั้นดำเนินการตรวจสอบ
และทำการประเมินหรือสั่งเรียกเก็บภาษีอากรได้จนเสร็จการ
กรณีผู้เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาเป็นสามีภริยา
ห้างหุ้นส่วนสามัญ หรือคณะบุคคลที่มิใช่นิติบุคคล
หรือกรณีผู้เสียภาษีเป็นบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่เลิกกิจการ
ไม่ว่าจะจดทะเบียนเสร็จการชำระบัญชีแล้วหรือไม่ หรือมีสถานประกอบการหลายแห่ง
ให้เจ้าพนักงานประเมินตาม (2)(3) หรือ (4) ดังกล่าว
ซึ่งอยู่ในท้องที่อันเป็นที่อยู่อาศัยของสามี
ที่ตั้งของห้างหุ้นส่วนสามัญหรือคณะบุคคลที่มิใช่นิติบุคคล ที่ตั้งของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่เลิกกิจการไม่ว่าจะจดทะเบียนเสร็จการชำระบัญชีแล้วหรือไม่
หรือที่ตั้งของสถานประกอบการ
ที่เป็นสำนักงานใหญ่มีอำนาจดำเนินการตามวรรคสองแก่ภริยา
ผู้เป็นหุ้นส่วนทุกคนในห้างหุ้นส่วนสามัญหรือคณะบุคคลที่มิใช่นิติบุคคล
ผู้ชำระบัญชี หรือสถานประกอบการแห่งอื่นที่มิใช่สำนักงานใหญ่ได้ทุกแห่ง
ถึงแม้จะอยู่ต่างท้องที่อันเป็นที่อยู่อาศัยของสามีที่ตั้งของห้างหุ้นส่วนสามัญหรือคณะบุคคลที่มิใช่นิติบุคคล
ที่ตั้งของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่เลิกกิจการไม่ว่าจะจดทะเบียนเสร็จการชำระบัญชีแล้วหรือไม่
หรือที่ตั้งของสถานประกอบการที่เป็นสำนักงานใหญ่
ข้อ 3
ให้ข้าราชการพลเรือนสามัญดังต่อไปนี้ เป็นพนักงานเจ้าหน้าที่อากรแสตมป์
นายตรวจอากรแสตมป์ตามความในมาตรา
103
(1) สังกัดกรมสรรพากร นอกจากที่ระบุใน (2)(3)
หรือ (4) ในเขตท้องที่ทั่วราชอาณาจักร
(2) สังกัดสำนักงานสรรพากรภาค
ในเขตท้องที่สำนักงานสรรพากรภาคนั้น
(3) สังกัดสำนักงานสรรพากรพื้นที่
ในเขตท้องที่สำนักงานสรรพากรพื้นที่นั้น
(4) สังกัดสำนักงานสรรพากรพื้นที่สาขา
ในเขตท้องที่สำนักงานสรรพากรพื้นที่สาขานั้น
ข้อ 4 ให้ข้าราชการพลเรือนสามัญดังต่อไปนี้
เป็นเจ้าพนักงานรับแบบแสดงรายการตามบทบัญญัติแห่งประมวลรัษฎากร
(1) สังกัดกรมสรรพากร
นอกจากที่ระบุใน (2) (3) และ (4) ในเขตท้องที่ทั่วราชอาณาจักร
(2) สังกัดสำนักงานสรรพากรภาค
ในเขตท้องที่สำนักงานสรรพากรภาคนั้น
(3) สังกัดสำนักงานสรรพากรพื้นที่
ในเขตท้องที่สำนักงานสรรพากรพื้นที่นั้น
(4) สังกัดสำนักงานสรรพากรพื้นที่สาขา
ในเขตท้องที่สำนักงานสรรพากรพื้นที่สาขานั้น
ข้อ 5
เจ้าพนักงานประเมินตามข้อ 2 พนักงานเจ้าหน้าที่อากรแสตมป์ นายตรวจอากรแสตมป์ตามข้อ 3
และเจ้าพนักงานรับแบบแสดงรายการ ตามข้อ 4
ให้หมายความรวมถึงลูกจ้างประจำหรือลูกจ้างชั่วคราวสังกัดกรมสรรพากรซึ่งหัวหน้าส่วนราชการสังกัดกรมสรรพากรมอบหมายให้ปฏิบัติงานในหน้าที่หรือตำแหน่งดังกล่าวด้วย
เพื่อประโยชน์ในการตรวจสอบภาษีอากร
ในกรณีที่อธิบดีกรมสรรพากรสั่งให้เจ้าพนักงานประเมิน พนักงานเจ้าหน้าที่อากรแสตมป์
นายตรวจอากรแสตมป์ และเจ้าพนักงานรับแบบแสดงรายการตามข้อ 2 ข้อ 3 และข้อ 4
ไปช่วยราชการหรือไปปฏิบัติราชการในท้องที่ใดท้องที่หนึ่งให้เจ้าพนักงานดังกล่าวมีอำนาจตามที่กำหนดไว้ในข้อ
2 ข้อ 3
และข้อ 4 ในท้องที่ที่ไปช่วยราชการหรือไปปฏิบัติราชการนั้นด้วย
ข้อ 6
ประกาศนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 11
ธันวาคม 2551 เป็นต้นไป”
1.2
การแต่งตั้งให้บุคคลอื่นที่มิใช่เจ้าพนักงานสรรพากร ปฏิบัติหน้าที่เจ้าพนักงานประเมิน
อาศัยอำนาจตามมาตรา 4 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังได้ออกประกาศกระทรวงการ คลังแต่งตั้งบุคคลอื่นที่มิใช่เจ้าพนักงานสรรพากรเป็นเจ้าพนักงานประเมินตามมาตรา
16 ดังนี้
1.2.1 ประกาศกระทรวงการคลัง ว่าด้วยการแต่งตั้งเจ้าพนักงาน (ฉบับที่ 8) ลงวันที่ 25 มิถุนายน
2523 แต่งตั้งให้ปลัดกระทรวงการคลัง
เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย อธิบดีกรมทะเบียนการค้า
และผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการค้าง เป็นเจ้าพนักงานประเมินตามมาตรา 16
สำหรับกรณีการวางแผนกจัดเก็บภาษีอากรตามประมวลรัษฎากร
1.2.2 ประกาศกระทรวงการคลัง
ว่าด้วยการแต่งตั้งเจ้าพนักงาน (ฉบับที่ 10) ลงวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2525
แต่งตั้งให้เจ้าหน้าที่ผู้รับจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมเกี่ยวกับสังหาริมทรัพย์
เป็นเจ้าพนักงานประเมินตามมาตรา 16
สำหรับกรณีการวางแผนจัดเก็บภาษีอากรตามประมวลรัษฎากร
1.2.3 ประกาศกระทรวงการคลัง
ว่าด้วยการแต่งตั้งเจ้าพนักงาน (ฉบับที่ 13) ลงวันที่ 21 มิถุนายน 2526
แต่งตั้งให้ผู้อำนวยการ รองผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง
หรือข้าราชการพลเรือนสามัญตั้งแต่ระดับปฏิบัติการขึ้นไป
สังกัดสำนักนโยบายการออมและการลงทุน
สำนักงานเศรษฐกิจการคลังเป็นเจ้าพนักงานประเมินตามมาตรา 16 สำหรับกรณีการวางแผนจัดเก็บภาษีอากรตามประมวลรัษฎากร
1.2.4 ประกาศกระทรวงการคลัง
ว่าด้วยการแต่งตั้งเจ้าพนักงาน (ฉบับที่ 17) ลงวันที่ 24 เมษายน 2530
แต่งตั้งให้บุคคลผู้ได้รับอนุญาตจากอธิบดีกรมสรรพากร
เป็นเจ้าพนักงานประเมินตามมาตรา 16 แห่งประมวลรัษฎากร
เฉพาะกรณีรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับผู้เสียภาษีอากร
1.2.5 ประกาศกระทรวงการคลัง
ว่าด้วยการแต่งตั้งเจ้าพนักงาน (ฉบับที่ 22) ลงวันที่ 14 พฤศจิกายน 2533
แต่งตั้งให้อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ เป็นเจ้าพนักงานประเมินตามมาตรา
16
สำหรับกรณีการรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับผู้เสียภาษีอากรเพื่อจัดส่งให้ประชาคมยุโรป หรือหน่วยงานของรัฐบาลต่างประเทศที่มีหน้าที่และความรับผิดชอบเกี่ยวกับพาณิชย์หรือเศรษฐกิจ
1.2.6 ประกาศกระทรวงการคลัง
ว่าด้วยการแต่งตั้งเจ้าพนักงาน (ฉบับที่ 24) ลงวันที่ 27 ธันวาคม 2534
แต่งตั้งให้
(1) ข้าราชการพลเรือนสามัญตั้งแต่ระดับ 3 ขึ้นไป
สังกัดกรมศุลกากร เป็นเจ้า พนักงานประเมินตามมาตรา 16 เฉพาะกรณีที่เกี่ยวข้องกับการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม
สำหรับสินค้าที่นำเข้าหรือส่งออก และกรณีของตกค้างตามมาตรา 78/2
(3)
(2) ข้าราชการพลเรือนสามัญตั้งแต่ระดับ 3 ขึ้นไป สังกัดกรมศุลกากร เป็นเจ้าพนักงานประเมินตามมาตรา 16 สำหรับการรับคำอุทธรณ์และคัดค้านการประเมินภาษีอากร (กศก.171) กรณีอุทธรณ์คัดค้านการประเมินภาษีมูลค่าเพิ่มที่กรมศุลกากรประเมิน
1.2.7 ประกาศกระทรวงการคลัง
ว่าด้วยการแต่งตั้งเจ้าพนักงาน (ฉบับที่ 33) ลงวันที่ 5 เมษายน 2541
แต่งตั้งให้ผู้จัดการส่วนการเงิน บัญชี และตรวจสอบสัญญาแบ่งปันผลผลิต (Manager
of the Department of Finance, Accountant and PSC Audit) และผู้ช่วยผู้จัดการส่วนการเงิน
บัญชี และตรวจสอบสัญญาแบ่งปันผลผลิต (Assistant Manager of the Department
of Finance, Accountant and PSC Audit) ขององค์กรร่วมไทย-มาเลเซีย
ตามพระราชบัญญัติองค์กรร่วมไทย-มาเลเซีย พ.ศ. 2533
เป็นเจ้าพนักงานประเมินตามมาตรา 16
สำหรับกรณีการเสียภาษีของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลซึ่งจัดตั้งขึ้นตามกฎหมายต่างประเทศ
และเข้ามาประกอบกิจการในประเทศไทย เฉพาะในเขตพื้นที่พัฒนาร่วมไทย-มาเลเซีย ตามพระราชบัญญัติองค์กรร่วมไทย-มาเลเซีย
พ.ศ. 2533
1.2.8 ประกาศกระทรวงการคลัง
ว่าด้วยการแต่งตั้งเจ้าพนักงาน (ฉบับที่ 35) ลงวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2542
แต่งตั้งให้พนักงานเจ้าหน้าที่ผู้รับจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์ตามประมวลกฎหมายที่ดินเป็นเจ้าพนักงานประเมิน
ตามมาตรา 16 เฉพาะกรณีรับชำระภาษีธุรกิจเฉพาะ
และแบบแสดงรายการภาษีของผู้มีหน้าที่เสียภาษีธุรกิจเฉพาะ
สำหรับกิจการขายอสังหาริมทรัพย์เป็นทางค้าหรือหากำไร ตามมาตรา 91/2
(6)
1.2.9 ประกาศกระทรวงการคลัง
ว่าด้วยการแต่งตั้งเจ้าพนักงาน (ฉบับที่ 37) ลงวันที่ 25 มกราคม 2542
แต่งตั้งให้บุคลากรของสถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย (AIT) เป็นเจ้าพนักงานประเมินตามมาตรา
16
สำหรับกรณีดำเนินการร่วมกับสถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย (AIT) ในฐานะที่ปรึกษากรมสรรพากร
ตามโครงการ Tax Administration Component ภายใต้โครงการเงินกู้ธนาคารโลก
1.2.10 ประกาศกระทรวงการคลัง
ว่าด้วยการแต่งตั้งเจ้าพนักงาน (ฉบับที่ 50) ลงวันที่ 10 มีนาคม 2549
แต่งตั้งให้ข้าราชการพลเรือนสามัญดังต่อไปนี้ เป็นเจ้าพนักงานประเมินตามมาตรา
16 สำหรับกรณีรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับผู้เสียภาษีอากร
(1) สังกัดศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร
สำนักงานปลัดกระทรวงกระทรวงการคลัง
(2) สังกัดสำนักนโยบายการคลังและสำนักนโยบายภาษี
สำนักงานเศรษฐกิจการคลังกระทรวงการคลัง
1.2.11 ประกาศกระทรวงการคลัง
ว่าด้วยการแต่งตั้งเจ้าพนักงาน (ฉบับที่ 46) ลงวันที่ 6 กรกฎาคม 2549
แต่งตั้งให้บุคคลดังต่อไปนี้ เป็นเจ้าพนักงานประเมินตามมาตรา 16 เฉพาะกรณีการบันทึกข้อมูลเกี่ยวกับภาษีอากรและกรณีอื่นที่เกี่ยวข้อง
(1) บุคคลซึ่งเป็นพนักงานหรือลูกจ้างของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล
ที่กรมสรรพากรได้จัดจ้างให้ปฏิบัติงานด้านฮาร์ดแวร์ (Hardware) ด้านซอฟต์แวร์ (Software) และการบันทึกข้อมูลเกี่ยวกับภาษีอากร
(2) บุคคลซึ่งเป็นหุ้นส่วนในห้างหุ้นส่วนสามัญที่มิใช่นิติบุคคลหรือบุคคลในคณะบุคคล
ที่กรมสรรพากรได้จัดจ้างให้ปฏิบัติงานด้านฮาร์ดแวร์ (Hardware) ด้านซอฟต์แวร์ (Software) และการบันทึกข้อมูลเกี่ยวกับภาษีอากร
(3) บุคคลซึ่งเป็นพนักงานหรือลูกจ้างของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล
และบุคคลซึ่งเป็นหุ้นส่วนในห้างหุ้นส่วนสามัญที่มิใช่นิติบุคคลหรือบุคคลในคณะบุคคลที่ปฏิบัติงานด้านฮาร์ดแวร์
(Hardware) ด้านซอฟต์แวร์ (Software) ที่กรมสรรพากรได้จัดซื้อ
ทั้งนี้ บุคคลดังกล่าวต้องเป็นผู้ได้รับอนุญาตจากอธิบดีกรมสรรพากร
1.2.12 ประกาศกระทรวงการคลัง
ว่าด้วยการแต่งตั้งเจ้าพนักงาน (ฉบับที่ 52) ลงวันที่ 30 มีนาคม 2552
แต่งตั้งให้ข้าราชการพลเรือนสามัญดังต่อไปนี้ เป็นเจ้าพนักงานประเมินตามมาตรา 16 สำหรับกรณีการค้นหาข้อมูลเกี่ยวกับผู้เสียภาษีอากรร่วมกันของกรมสรรพากร
กรมศุลกากร และกรมสรรพสามิต
สำนักงานปลัดกระทรวงการคลัง
(1) ปลัดกระทรวงการคลัง
(2) รองปลัดกระทรวงการคลัง
หัวหน้ากลุ่มภารกิจด้านรายได้
(3) ที่ปรึกษาเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร
(4) ผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร
สำนักงานปลัดกระทรวงการคลัง
(5) ผู้อำนวยการส่วนบริหารจัดการข้อมูลสารสนเทศ
กระทรวงการคลัง
(6) ผู้อำนวยการส่วนพัฒนาระบบงานประมวลข้อมูลสารสนเทศ
ศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร
กรมศุลกากร
(1) อธิบดีกรมศุลกากร
(2) รองอธิบดีด้านปราบปราม
(3) ผู้อำนวยการสำนักงานศุลกากรท่าเรือกรุงเทพ
(4) ผู้อำนวยการสำนักงานศุลกากรตรวจสินค้าท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ
(5) ผู้อำนวยการสำนักงานศุลกากรตรวจของผู้โดยสารท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ
(6) ผู้อำนวยการสำนักงานศุลกากรกรุงเทพ
(7) ผู้อำนวยการสำนักสิทธิประโยชน์ทางภาษีอากร
(8) ผู้อำนวยการสำนักตรวจสอบอากร
(9) ผู้อำนวยการสำนักงานศุลกากรท่าเรือแหลมฉบัง
(10) ผู้อำนวยการสำนักเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร
(11) ผู้อำนวยการสำนักสืบสวนและปราบปราม
กรมสรรพสามิต
(1) อธิบดีกรมสรรพสามิต
(2) รองอธิบดีกรมสรรพสามิต
(3) ผู้อำนวยการสำนักแผนภาษี
(4) ผู้อำนวยการสำนักมาตรฐานและพัฒนาการจัดเก็บภาษี 1
(5) ผู้อำนวยการสำนักมาตรฐานและพัฒนาการจัดเก็บภาษี
2
(6) ผู้อำนวยการสำนักตรวจสอบ
ป้องกันและปราบปราม
(7) ผู้อำนวยการส่วนตรวจสอบภาษีและสืบสวน 1
(8) ผู้อำนวยการส่วนตรวจสอบภาษีและสืบสวน
2
(9) ผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศ
(10) นักวิชาการคอมพิวเตอร์ ระดับชำนาญการพิเศษ ส่วนระบบสารสนเทศและบริการ
ศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศ
1.2.13 ประกาศกระทรวงการคลัง
ว่าด้วยการแต่งตั้งเจ้าพนักงาน (ฉบับที่ 53) ลงวันที่ 30 มีนาคม 2552
แต่งตั้งให้ข้าราชการพลเรือนสามัญประเภทบริหาร ประเภทอำนวยการ ประเภทวิชาการ
และประเภททั่วไประดับชำนาญงานขึ้นไป สังกัดสำนักตรวจสอบป้องกันและปราบปราม
กรมสรรพสามิต เป็นเจ้าพนักงานประเมินตามมาตรา 16
เฉพาะกรณีการตรวจสอบภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับสินค้าและบริการที่ต้องเสียภาษีสรรพสามิต
โดยใช้บังคับตั้งแต่วันที่ที่ลงในประกาศนี้เป็นต้นไป
1.3
การแต่งตั้งให้บุคคลอื่นที่มิใช่เจ้าพนักงานสรรพากร ปฏิบัติหน้าที่พนักงานเจ้าหน้าที่อากรแสตมป์
อาศัยอำนาจตามมาตรา
4 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังออกประกาศกระทรวงการคลังแต่งตั้งบุคคลอื่นที่มิใช่เจ้าพนักงานสรรพากรเป็นพนักงานเจ้าหน้าที่อากรแสตมป์ตามมาตรา
103 ดังนี้
1.3.1 ประกาศกระทรวงการคลัง
ว่าด้วยการแต่งตั้งเจ้าพนักงาน (ฉบับที่ 11) ลงวันที่ 11 มิถุนายน 2525
แต่งตั้งให้พนักงานเจ้าหน้าที่ผู้รับจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์
ตามประมวลกฎหมายที่ดินเป็นพนักงานเจ้าหน้าที่อากรแสตมป์ตามมาตรา 103 เฉพาะกรณีการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์
1.3.2 ประกาศกระทรวงการคลัง ว่าด้วยการแต่งตั้งเจ้าพนักงาน
(ฉบับที่ 19) ลงวันที่ 30 มิถุนายน 2531 แต่งตั้งให้พนักงานเจ้าหน้าที่ผู้รับจดทะเบียนล้อเลื่อน
ตามกฎหมายว่าด้วยล้อเลื่อน และนายทะเบียนผู้รับจดทะเบียนรถตามกฎหมายว่าด้วยรถยนต์
หรือกฎหมายว่าด้วยการขนส่งทางบก เป็นพนักงานเจ้าหน้าที่อากรแสตมป์ตามมาตรา 103 เฉพาะกรณีการจดทะเบียนล้อเลื่อนและรถ
1.4
การแต่งตั้งให้บุคคลอื่นที่มิใช่เจ้าพนักงานสรรพากร ปฏิบัติหน้าที่เจ้าพนักงานรับแบบแสดงรายการที่มิใช่เจ้าพนักงานสรรพากร
อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 4
และมาตรา 56 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังออกประกาศกระทรวงการคลัง
ว่าด้วยการแต่งตั้งเจ้าพนักงาน (ฉบับที่ 16) ลงวันที่ 27 ธันวาคม 2528
แต่งตั้งให้เจ้าหน้าที่ธนาคารซึ่งได้รับมอบหมายจากธนาคารที่กรมสรรพากรได้ออกคำสั่ง
กำหนดให้เป็นสถานที่รับแบบแสดงรายการและรับชำระเงินภาษีอากรตามประมวลรัษฎากร
เป็นเจ้าพนักงานรับแบบแสดงรายการเกี่ยวกับเงินได้พึงประเมิน