เจ้าพนักงานประเมินและอำนาจเจ้าพนักงานประเมิน (ตอนที่ 2)
บทความวันที่ 5 มี.ค. 2561 . เขียนโดย อจ.สุเทพ . เข้าชม 11416 ครั้ง
บทความวันที่ 5 มี.ค. 2561 . เขียนโดย อจ.สุเทพ . เข้าชม 11416 ครั้ง
เจ้าพนักงานประเมินและอำนาจเจ้าพนักงานประเมิน (ตอนที่ 2)
2. อำนาจเจ้าพนักงานประเมิน อำนาจพนักงานเจ้าหน้าที่และนายตรวจอากรแสตมป์
2.1 อำนาจเจ้าพนักงานประเมินที่กำหนดเป็นการทั่วไป ตามลักษณะ 1
2.1.1 อำนาจเปรียบเทียบโดยกำหนดค่าปรับแต่สถานเดียวตามมาตรา 3 ทวิ
“มาตรา 3 ทวิ ถ้าเจ้าพนักงานดังต่อไปนี้ เห็นว่าผู้ต้องหาไม่ควรต้องได้รับโทษ จำคุกหรือไม่ควรถูกฟ้องร้อง ให้มีอำนาจเปรียบเทียบโดยกำหนดค่าปรับแต่สถานเดียวในความผิดต่อไปนี้ เว้นแต่ความผิดตามมาตรา 13 คือ
(1) ความผิดที่มีโทษปรับสถานเดียว หรือมีโทษปรับหรือจำคุกไม่เกินหกเดือนหรือทั้งปรับทั้งจำ ซึ่งโทษจำคุกไม่เกินหกเดือนที่เกิดขึ้นในกรุงเทพมหานคร ให้เป็นอำนาจของอธิบดี ถ้าเกิดในจังหวัดอื่นให้เป็นอำนาจของผู้ว่าราชการจังหวัด
(2) ความผิดที่มีโทษปรับหรือโทษจำคุกเกินหกเดือน แต่ไม่เกินหนึ่งปี หรือทั้งปรับทั้งจำ ซึ่งโทษจำคุกเกินหกเดือนแต่ไม่เกินหนึ่งปี ให้เป็นอำนาจของคณะกรรมการ ซึ่งประกอบด้วยอธิบดี อธิบดีกรมการปกครองและอธิบดีกรมตำรวจ หรือผู้ที่ได้รับมอบหมาย
ถ้าผู้ต้องหาใช้ค่าปรับตามที่เปรียบเทียบภายในระยะเวลาที่ผู้มีอำนาจเปรียบเทียบกำหนดแล้ว ให้ถือว่าเป็นอันคุ้มผู้ต้องหามิให้ถูกฟ้องร้องต่อไปในกรณีแห่งความผิดนั้น
ถ้าผู้มีอำนาจเปรียบเทียบตามวรรคหนึ่งเห็นว่าไม่ควรใช้อำนาจเปรียบเทียบ หรือเมื่อเปรียบเทียบแล้ว ผู้ต้องหาไม่ยอมตามที่เปรียบเทียบ หรือยอมแล้วแต่ไม่ชำระค่าปรับภายในระยะเวลาที่ผู้มีอำนาจเปรียบเทียบกำหนด ให้ดำเนินการฟ้องร้องต่อไป และในกรณีนี้ ห้ามมิให้ดำเนินการเปรียบเทียบตามกฎหมายอื่นอีก”
2.1.2 อำนาจตรวจค้น ยึด หรืออายัดบัญชี เอกสารหรือหลักฐานตามมาตรา 3 เบญจ
“มาตรา 3 เบญจ เมื่อมีเหตุอันควรเชื่อว่ามีการหลีกเลี่ยงการเสียภาษีอากร ให้อธิบดีมีอำนาจเข้าไปหรือออกคำสั่งเป็นหนังสือ ให้เจ้าพนักงานสรรพากรเข้าไปในสถานที่หรือยานพาหนะใดเพื่อทำการตรวจค้น ยึด หรืออายัดบัญชี เอกสาร หรือหลักฐานอื่นที่เกี่ยวกับ หรือสันนิษฐานว่าเกี่ยวกับภาษีอากรที่จะต้องเสียได้ทั่วราชอาณาจักร
ในจังหวัดอื่นนอกจากกรุงเทพมหานคร ให้ผู้ว่าราชการจังหวัด หรือสรรพากรเขตมีอำนาจเช่นเดียวกับอธิบดีตามวรรคหนึ่ง สำหรับในเขตท้องที่จังหวัดหรือเขตนั้น
การทำการตามวรรคหนึ่งหรือวรรคสอง ต้องทำในระหว่างเวลาพระอาทิตย์ขึ้นถึงพระอาทิตย์ตก หรือในระหว่างเวลาทำการของผู้ประกอบกิจการนั้น”
2.1.3 อำนาจสั่งให้แปลบัญชี เอกสาร และหลักฐานต่างๆ เป็นภาษาไทยตามมาตรา 3 ฉ
“มาตรา 3 ฉ บรรดาบัญชี เอกสาร และหลักฐานต่างๆ ซึ่งเกี่ยวกับหรือสันนิษฐานว่าเกี่ยวกับภาษีอากรที่จะต้องเสีย ถ้าทำเป็นภาษาต่างประเทศ เจ้าพนักงานประเมิน หรือพนักงานเจ้าหน้าที่จะสั่งให้บุคคลใดที่มีหน้าที่รับผิดชอบจัดการแปลเป็นภาษาไทยให้เสร็จภายในเวลาที่สมควรก็ได้”
2.1.4 อำนาจตรวจสอบผู้ยื่นคำร้องขอออกใบผ่านภาษีอากรตามมาตรา 4 เบญจ
“มาตรา 4 เบญจ ให้ผู้รับคำร้องตามมาตรา 4 ตรี ตรวจสอบว่าผู้ยื่นคำร้องมีภาษีอากรที่จะต้องเสียตามมาตรา 4 ทวิ หรือไม่ ถ้าไม่มีก็ให้ออกใบผ่านภาษีอากรตามแบบที่อธิบดีกำหนดให้แก่ผู้ยื่นคำร้อง
ถ้าในการตรวจสอบตามความในวรรคก่อนปรากฏว่า ผู้ยื่นคำร้องมีเงินภาษีอากรที่ต้องเสียตามมาตรา 4 ทวิ และผู้ยื่นคำร้องได้นำเงินภาษีอากรมาชำระครบถ้วนแล้วก็ดี หรือไม่อาจชำระได้ทั้งหมดหรือได้ชำระแต่บางส่วน และผู้ยื่นคำร้องได้จัดหาผู้ค้ำประกันหรือหลักประกันที่อธิบดีหรือผู้ว่าราชการจังหวัดหรือผู้ที่ได้รับมอบหมายเห็นสมควรมาเป็นประกันเงินค่าภาษีอากรนั้นแล้วก็ดี ให้อธิบดีหรือผู้ว่าราชการจังหวัดหรือผู้ที่ได้รับมอบหมายออกใบผ่านภาษีอากรให้”
2.1.5 อำนาจออกใบผ่านภาษีอากรตามมาตรา 4 ฉ และมาตรา 4 อัฏฐ
“มาตรา 4 ฉ ในกรณีที่ผู้รับคำร้องตามมาตรา 4 ตรี พิจารณาเห็นว่าผู้ยื่นคำร้องมีเหตุผลสมควรจะต้องเดินทางออกจากประเทศไทยเป็นการรีบด่วนและชั่วคราว และผู้ยื่นคำร้องมีหลักประกันหรือหลักทรัพย์อยู่ในประเทศไทยพอคุ้มค่าภาษีอากรที่ค้าง หรือที่ต้องชำระ ให้อธิบดีหรือผู้ว่าราชการจังหวัดหรือผู้ที่ได้รับมอบหมายออกใบผ่านภาษีอากรให้”
“มาตรา 4 อัฏฐ คนต่างด้าวซึ่งมีความจำเป็นต้องเดินทางเข้าออกประเทศไทยเป็นปกติธุระเกี่ยวกับการประกอบอาชีพหรือวิชาชีพจะยื่นคำร้องต่ออธิบดี หรือผู้ว่าราชการจังหวัด หรือผู้ที่ได้รับมอบหมาย แล้วแต่กรณีขอให้ออกใบผ่านภาษีอากรให้ใช้เป็นประจำก็ได้ ถ้าผู้รับคำร้องพิจารณาเห็นว่าคนต่างด้าวผู้นั้นมีความจำเป็นดังที่ร้องขอ และมีหลักประกันหรือหลักทรัพย์อยู่ในประเทศไทยพอคุ้มค่าภาษีอากรที่ค้างหรือที่จะต้องชำระแล้วจะออกใบผ่านภาษีอากรให้ตามแบบที่อธิบดีกำหนดก็ได้ ใบผ่านภาษีอากรเช่นว่านี้ให้มีกำหนดเวลาใช้ได้ตามที่ระบุในใบผ่านภาษีอากรนั้น แต่ต้องไม่เกินกว่าหนึ่งร้อยแปดสิบวันนับแต่วันออก”
2.2 อำนาจเจ้าพนักงานประเมินตามหมวด 2 วิธีการเกี่ยวแก่ภาษีอากรประเมิน
2.2.1 อำนาจอำนาจประเมินก่อนถึงกำหนดเวลายื่นรายการเป็นไปตามมาตรา 18 ทวิ และมาตรา 60 ทวิ แห่งประมวลรัษฎากร ดังนี้
“มาตรา 18 ทวิ ในกรณีจำเป็นเพื่อรักษาประโยชน์ในการจัดเก็บภาษีอากร เจ้าพนักงานประเมิน มีอำนาจที่จะประเมินเรียกเก็บภาษีจากผู้ต้องเสียภาษี ก่อนถึงกำหนดเวลายื่นรายการได้ เมื่อได้ประเมินแล้วให้แจ้งจำนวน ภาษีที่ต้องเสียไปยังผู้ต้องเสียภาษี และให้ผู้ต้องเสียภาษี ชำระภาษีภายในเจ็ดวันนับแต่วันได้รับแจ้งการประเมิน ในกรณีนี้จะอุทธรณ์การประเมินก็ได้
ภาษีที่ประเมินเรียกเก็บตามความในวรรคก่อน ให้ถือเป็น เครดิตของผู้ต้องเสียภาษีในการคำนวณภาษี
ในการใช้อำนาจตามความในมาตรานี้ เจ้าพนักงานประเมินจะสั่งให้ยื่นรายการตามแบบที่อธิบดีกำหนดด้วยก็ได้”
จากบทบัญญัติดังกล่าวอาจแยกพิจารณาได้ดังนี้
(1) มาตรา 18 ทวิ ใช้ในกรณีจำเป็นเพื่อรักษาประโยชน์ในการจัดเก็บภาษีอากรประเมิน ไม่ว่าจะเป็นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ภาษีเงินได้นิติบุคคล ภาษีมูลค่าเพิ่ม และภาษีธุรกิจเฉพาะ
(2) คำว่า “กรณีจำเป็นเพื่อรักษาประโยชน์ในการจัดเก็บภาษีอากร” ตามมาตรา 18 ทวิ นั้น เป็นกรณีที่เจ้าพนักงานประเมินไม่อาจงดเว้นหรือละเลยไม่ดำเนินการ ในอันที่จะใช้อำนาจประเมินตามมาตรา 18 ทวิ ซึ่งทำให้รัฐเสียหายเพราะการงดเว้นการกระทำ ซึ่งเจ้าพนักงานประเมินอาจต้องรับผิด ทั้งทางแพ่งและทางอาญา
(3) เมื่อได้ประเมินแล้ว ให้เจ้าพนักงานประเมินแจ้งจำนวนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาที่ประเมินเป็นหนังสือแจ้งการประเมิน ไปยังผู้ต้องเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา
(4) กำหนดเวลาในการชำระภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาตามหนังสือแจ้งการประเมินภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาตามมาตรา 18 ทวิ ภายใน 7 วัน นับแต่วันที่ได้รับหนังสือแจ้งการประเมิน
(5) การประเมินภาษีเงินได้บุคคลธรรมดากรณีนี้ เจ้าพนักงานประเมินยังไม่มีอำนาจประเมินเงินเพิ่มภาษีตามมาตรา ได้ จนกว่าจะพ้นกำหนดเวลาตามมาตรา 18 ทวิ ดังกล่าวเสียก่อน ซึ่งหากผู้ต้องเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาไม่ชำระก็ให้รับผิดเสียเงินเพิ่มตามมาตรา 27 ในอัตราร้อยละ 1.5 ต่อเดือนหรือเศษของเดือนของเงินภาษี
(6) การประเมินภาษีเงินได้บุคคลธรรมดากรณีนี้ ผู้ต้องเสียภาษีอาจใช้สิทธิอุทธรณ์การประเมินต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ตามมาตรา 30 ได้
(7) เจ้าพนักงานประเมินมีอำนาจที่จะสั่งให้ผู้ต้องเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดายื่นรายการตามแบบที่อธิบดีกำหนด
(8) การประเมินภาษีเงินได้บุคคลธรรมดากรณีนี้ หากมีจำนวนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดามีจำนวนตั้งแต่ 3,000 บาทขึ้นไป ผู้ต้องเสียภาษีไม่มีสิทธิขอผ่อนชำระตามมาตรา 64
2.2.2 อำนาจประเมินตามแบบแสดงรายการ เป็นไปตามมาตรา 18 ดังนี้
“มาตรา 18 รายการที่ยื่นเพื่อเสียภาษีอากรนั้น ให้อำเภอหรือเจ้าพนักงานประเมิน เป็นผู้ประเมินตามที่กำหนดไว้ในหมวดภาษีอากรนั้นๆ และเมื่อได้ประเมินแล้ว ให้แจ้งจำนวนภาษีอากรที่ประเมินไปยังผู้ต้องเสียภาษีอากร ในกรณีนี้จะอุทธรณ์ การประเมินก็ได้
ในกรณีที่ผู้ต้องเสียภาษีอากรถึงแก่ความตายเสียก่อนได้รับแจ้งจำนวนภาษีอากรที่ประเมิน ให้อำเภอหรือเจ้าพนักงานประเมินแจ้งจำนวนภาษีอากรที่ประเมิน ไปยังผู้จัดการมรดกหรือไปยังทายาทหรือผู้อื่นที่ครอบครองทรัพย์มรดก แล้วแต่กรณี
ถ้าเมื่อประเมินแล้ว ไม่ต้องเรียกเก็บหรือเรียกคืนภาษีอากร การแจ้งจำนวนภาษีอากร เป็นอันงดไม่ต้องกระทำ แต่อำเภอหรือเจ้าพนักงานประเมินยังคงดำเนินการ ตามมาตรา 19 มาตรา 20 และมาตรา 21 ได้
การประเมินตามวรรคหนึ่งและวรรคสอง ให้นำมาตรา 27 มาใช้บังคับ โดยอนุโลม”
จากบทบัญญัติดังกล่าวอาจแยกพิจารณาได้ดังนี้
(1) เป็นบทบัญญัติให้อำนาจเจ้าพนักงานประเมินในอันที่จะประเมินความถูกต้องของรายการตามแบบแสดงรายได้ที่ผู้ต้องเสียภาษีหรือผู้นำส่งภาษีได้ยื่นไว้แล้วตามมาตรา 17 ไม่ว่าจะยื่นแบบแสดงรายการภายในกำหนดเวลาหรือไม่ก็ตาม ทั้งนี้ เพื่อประโยชน์ในการบริหารการจัดเก็บภาษีอากรประเมินตามประมวลรัษฎากร
(2) กรณีมีภาษีที่ต้องประเมินเรียกเก็บเพิ่มเติม ให้เจ้าพนักงานประเมินมีอำนาจแจ้งการประเมินไปยังผู้ต้องเสียภาษี
กรณีภาษีเงินได้บุคคลธรรดาที่ผู้ต้องเสียภาษีอากรถึงแก่ความตายเสียก่อนได้รับแจ้งจำนวนภาษีอากรที่ประเมิน ให้เจ้าพนักงานประเมินแจ้งจำนวนภาษีอากรที่ประเมิน ไปยังผู้จัดการมรดกหรือไปยังทายาทหรือผู้อื่นที่ครอบครองทรัพย์มรดก แล้วแต่กรณี
(3) ถ้าเมื่อประเมินแล้ว ไม่ต้องเรียกเก็บหรือเรียกคืนภาษีอากร การแจ้งจำนวนภาษีอากร เป็นอันงดไม่ต้องกระทำ แต่เจ้าพนักงานประเมินยังคงดำเนินการออกหมายเรียกและประเมินเรียกเก็บภาษีพร้อมทั้งแจ้งการประเมินจำนวนภาษีและเบี้ยปรับ ตามมาตรา 19 มาตรา 20 และมาตรา 21 แล้วแต่กรณี ได้ต่อไป
(4) พร้อมกับการประเมินจำนวนภาษีอากร ให้เจ้าพนักงานประเมินทำการประเมินเงินเพิ่มตามมาตรา 27 ด้วย
(5) ให้ผู้ต้องเสียภาษีหรือผู้นำส่งภาษีชำระภาษีอากรตามหนังสือแจ้งการประเมินภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ได้รับหนังสือแจ้งการประเมิน (มาตรา 18 ตรี)
(6) การประเมินตามบทบัญญัตินี้ให้สิทธิแก่ผู้ต้องเสียภาษีหรือนำส่งภาษีให้สามารถอุทธรณ์การประเมินของเจ้าพนักงานประเมินได้
2.2.3 อำนาจประเมินตามผลการตรวจสอบตามหมายเรียกกรณีผู้ต้องเสียภาษียื่นแบบแสดงรายการ เป็นไปตามมาตรา 19 มาตรา 20 มาตรา 21 มาตรา 22 มาตรา 27 และมาตรา 18 ตรี ดังนี้
“มาตรา 19 เว้นแต่จะมีบทบัญญัติไว้เป็นอย่างอื่น กรณีที่เจ้าพนักงานประเมินมีเหตุอันควรเชื่อว่า ผู้ใดแสดงรายการตามแบบที่ยื่นไม่ถูกต้องตามความจริงหรือไม่บริบูรณ์ ให้เจ้าพนักงานประเมินมีอำนาจออกหมายเรียกผู้ยื่นรายการนั้นมาไต่สวน และออกหมายเรียกพยานกับสั่งให้ผู้ยื่นรายการหรือพยานนั้น นำบัญชีเอกสารหรือหลักฐานอื่นอันควรแก่เรื่องมาแสดงได้ แต่ต้องให้เวลาล่วงหน้าไม่น้อยกว่าเจ็ดวันนับแต่วันส่งหมาย ทั้งนี้ การออกหมายเรียกดังกล่าว จะต้องกระทำภายในเวลาสองปี นับแต่วันที่ได้ยื่นรายการไม่ว่าการยื่นรายการนั้น จะได้กระทำภายในเวลาที่กฎหมายกำหนด หรือเวลาที่รัฐมนตรีหรืออธิบดีขยายหรือเลื่อนออกไปหรือไม่ ทั้งนี้ แล้วแต่วันใดจะเป็นวันหลัง เว้นแต่กรณีปรากฏหลักฐานหรือมีเหตุอันควรสงสัยว่าผู้ยื่นรายการมีเจตนาหลีกเลี่ยงภาษีอากร หรือเป็นกรณีจำเป็นเพื่อประโยชน์ในการคืนภาษีอากร อธิบดีจะอนุมัติให้ขยายเวลาการออกหมายเรียกดังกล่าวเกินกว่าสองปีก็ได้ แต่ต้องไม่เกินห้าปีนับแต่วันที่ได้ยื่นรายการ แต่กรณีขยายเวลาเพื่อประโยชน์ในการคืนภาษีอากรให้ขยายได้ไม่เกินกำหนดเวลาตามที่มีสิทธิขอคืนภาษีอากร”
“มาตรา 20 เมื่อได้จัดการตามมาตรา 19 และทราบข้อความแล้ว เจ้าพนักงานประเมินมีอำนาจที่จะแก้จำนวนเงินที่ประเมิน หรือที่ยื่นรายการไว้เดิมโดยอาศัย พยานหลักฐานที่ปรากฏและแจ้งจำนวนเงินที่ต้อง ชำระอีกไปยังผู้ต้องเสียภาษีอากร ในกรณีนี้จะอุทธรณ์การประเมินก็ได้”
“มาตรา 21 ถ้าผู้ต้องเสียภาษีอากรไม่ปฏิบัติตามหมาย หรือคำสั่งของเจ้าพนักงานประเมิน ตามมาตรา 19 หรือไม่ยอมตอบคำถามเมื่อซักถามโดยไม่มีเหตุผลอันสมควร เจ้าพนักงานประเมินมีอำนาจประเมินเงินภาษีอากรตามที่รู้เห็นว่าถูกต้อง และแจ้งจำนวนเงินซึ่งต้องชำระไปยังผู้ต้องเสียภาษีอากร ในกรณีนี้ห้ามมิให้อุทธรณ์การประเมิน”
“มาตรา 27 บุคคลใดไม่เสียหรือนำส่งภาษีภายในกำหนดเวลาตามที่บัญญัติไว้ในหมวดต่างๆ แห่งลักษณะนี้เกี่ยวกับภาษีอากรประเมิน ให้เสียเงินเพิ่มอีกร้อยละ 1.5 ต่อเดือน หรือเศษของเดือนของเงินภาษีที่ต้องเสีย หรือนำส่งโดยไม่รวมเบี้ยปรับ
ในกรณีอธิบดีอนุมัติให้ขยายกำหนดเวลาชำระหรือนำส่งภาษี และได้มีการชำระหรือนำส่งภาษีภายในกำหนดเวลาที่ขยายให้นั้น เงินเพิ่มตามวรรคหนึ่งให้ลดลงเหลือร้อยละ 0.75 ต่อเดือนหรือเศษของเดือน
การคำนวณเงินเพิ่มตามวรรคหนึ่งและวรรคสอง ให้เริ่มนับเมื่อพ้นกำหนดเวลาการยื่นรายการหรือนำส่งภาษีจนถึงวันชำระหรือนำส่งภาษี แต่เงินเพิ่มที่คำนวณได้มิให้เกินจำนวนภาษีที่ต้องเสียหรือนำส่ง ไม่ว่าภาษีที่ต้องเสียหรือนำส่งนั้นจะเกิดจากการประเมินหรือคำสั่งของเจ้าพนักงานหรือคำวินิจฉัยอุทธรณ์ หรือคำพิพากษาของศาล”
“มาตรา 27 ทวิ เบี้ยปรับตามมาตรา 22 และมาตรา 26 และเงินเพิ่มตามมาตรา 27 ให้ถือเป็นเงินภาษี
เบี้ยปรับตามวรรคหนึ่ง อาจงดหรือลดลงได้ตามระเบียบที่อธิบดีกำหนดโดยอนุมัติรัฐมนตรี ระเบียบดังกล่าวนี้ให้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา”
“มาตรา 18 ตรี ภายใต้บังคับมาตรา 18 ทวิ ในกรณีเจ้าพนักงานประเมิน ได้ประเมินให้เสียภาษี บุคคลผู้มีหน้าที่เสียภาษีจะต้องชำระภาษีนั้น พร้อมทั้งเบี้ยปรับ และเงินเพิ่มตามที่บัญญัติไว้ในหมวดนี้ ภายในสามสิบวันนับแต่วันได้รับแจ้งการประเมิน”
จากบทบัญญัติดังกล่าวอาจแยกพิจารณาได้ดังนี้
(1) อำนาจในการออกหมายเรียก จะต้องกระทำภายในเวลาสองปี นับแต่วันที่ได้ยื่นรายการไม่ว่าการยื่นรายการนั้น จะได้กระทำภายในเวลาที่กฎหมายกำหนด หรือเวลาที่รัฐมนตรีหรืออธิบดีขยายหรือเลื่อนออกไปหรือไม่ ทั้งนี้ แล้วแต่วันใดจะเป็นวันหลัง เว้นแต่กรณีปรากฏหลักฐานหรือมีเหตุอันควรสงสัยว่าผู้ยื่นรายการมีเจตนาหลีกเลี่ยงภาษีอากร หรือเป็นกรณีจำเป็นเพื่อประโยชน์ในการคืนภาษีอากร อธิบดีจะอนุมัติให้ขยายเวลาการออกหมายเรียกดังกล่าวเกินกว่าสองปีก็ได้ แต่ต้องไม่เกินห้าปีนับแต่วันที่ได้ยื่นรายการ แต่กรณีขยายเวลาเพื่อประโยชน์ในการคืนภาษีอากรให้ขยายได้ไม่เกินกำหนดเวลาตามที่มีสิทธิขอคืนภาษีอากร (มาตรา 19)
(2) อำนาจในการประเมินและแจ้งการประเมิน กรณีประเมินตามพยานหลักฐานที่ปรากฏจากการตรวจสอบบัญชีและเอกสารหลักฐานที่ผู้เสียภาษีให้ความร่วมมือด้วยดี และใช้อำนาจแก้จำนวนเงินที่ประเมิน หรือที่ยื่นรายการไว้เดิม โดยผู้ต้องเสียภาษีมีสิทธิอุทธรณ์การประเมิน (มาตรา 20)
(3) อำนาจในการประเมินและแจ้งการประเมิน กรณีประเมินตามที่รู้เห็นว่าถูแต้อง จากการตรวจสอบภาษีอากร เนื่องจากผู้เสียภาษีไม่ให้ความร่วมมือด้วยดี ซึ่งห้ามมิให้ผู้ต้องเสียอุทธรณ์การประเมิน (มาตรา 21)
(4) อำนาจในการประเมินเบี้ยปรับ จำนวนไม่เกินหนึ่งเท่าของเงินภาษี ซึ่งอาจพิจารณาลดหรืองดได้ตามคำสั่งกรมสรรพากรที่ ท.ป. 81/2541 (มาตรา 22)
(5) อำนาจในการประเมินเงินเพิ่ม ในอัตราร้อยละ 1.5 ต่อเดือนหรือเศษของเดือนของเงินภาษี (มาตรา 27)
(6) ผู้ต้องเสียภาษีต้องชำระภาษีอากรตามหนังสือแจ้งการประเมินภายใน 30 วัน นับแต่ได้รับหนังสือแจ้งการประเมิน (มาตรา 18 ตรี)
2.2.4 อำนาจประเมินตามผลการตรวจสอบตามหมายเรียกกรณีผู้ต้องเสียภาษียื่นแบบแสดงรายการ เป็นไปตามมาตรา 23 มาตรา 24 มาตรา 25 มาตรา 26 มาตรา 27 และมาตรา 18 ตรี ดังนี้
“มาตรา 23 ผู้ใดไม่ยื่นรายการ ให้อำเภอหรือเจ้าพนักงานประเมินแล้วแต่กรณี มีอำนาจออกหมายเรียกตัวผู้นั้นมาไต่สวน และออกหมายเรียกพยานกับสั่งให้ ผู้ที่ไม่ยื่นรายการ หรือพยานนั้นนำบัญชี หรือพยานหลักฐานอันควรแก่เรื่องมาแสดงได้ แต่ต้องให้เวลาล่วงหน้าไม่น้อยกว่าเจ็ดวันนับแต่วันส่งหมาย”
“มาตรา 24 เมื่อได้จัดการตามมาตรา 23 และทราบข้อความแล้ว อำเภอหรือเจ้าพนักงานประเมินแล้วแต่กรณี มีอำนาจประเมินเงินภาษีอากร และแจ้งจำนวนภาษีอากรที่ต้องชำระไปยังผู้ต้องเสียภาษีอากร ในกรณีนี้จะอุทธรณ์การประเมินก็ได้”
“มาตรา 25 ถ้าผู้ได้รับหมายหรือคำสั่งของอำเภอ หรือเจ้าพนักงานประเมิน แล้วแต่กรณี ไม่ปฏิบัติตามหมายหรือคำสั่งของอำเภอหรือเจ้าพนักงานประเมิน ตามมาตรา 23 หรือไม่ยอมตอบคำถามเมื่อซักถามโดยไม่มีเหตุผลอันสมควร อำเภอหรือเจ้าพนักงานประเมิน มีอำนาจประเมินเงินภาษีอากรตามที่รู้เห็นว่าถูกต้อง และแจ้งจำนวนภาษีอากรไปยังผู้ต้องเสียภาษีอากร ในกรณีนี้ห้ามมิให้อุทธรณ์การประเมิน”
“มาตรา 26 เว้นแต่จะบัญญัติไว้เป็นอย่างอื่นในลักษณะนี้ ในการประเมิน ตามมาตรา 24 หรือมาตรา 25 ผู้ต้องเสียภาษีต้องรับผิดเสียเบี้ยปรับอีกสองเท่าของจำนวนเงินภาษีที่ต้องชำระ”
“มาตรา 27 มาตรา 27 ทวิ และมาตรา 18 ตรี” เช่นเดียวกับกรณีตาม 2.2.3
จากบทบัญญัติดังกล่าวอาจแยกพิจารณาได้ดังนี้
(1) อำนาจในการออกหมายเรียก มีสิทธิกระทำภายในเวลาสิบปี นับแต่วันที่ได้ยื่นรายการไม่ว่าการยื่นรายการนั้น จะได้กระทำภายในเวลาที่กฎหมายกำหนด หรือเวลาที่รัฐมนตรีหรืออธิบดีขยายหรือเลื่อนออกไปหรือไม่ ทั้งนี้ แล้วแต่วันใดจะเป็นวันหลัง (มาตรา 23)
(2) อำนาจในการประเมินและแจ้งการประเมิน กรณีประเมินตามพยานหลักฐานที่ปรากฏจากการตรวจสอบบัญชีและเอกสารหลักฐานที่ผู้เสียภาษีให้ความร่วมมือด้วยดี และใช้อำนาจแก้จำนวนเงินที่ประเมิน หรือที่ยื่นรายการไว้เดิม (มาตรา 24)
(3) อำนาจในการประเมินและแจ้งการประเมิน กรณีประเมินตามที่รู้เห็นว่าถูแต้อง จากการตรวจสอบภาษีอากร เนื่องจากผู้เสียภาษีไม่ให้ความร่วมมือด้วยดี ซึ่งห้ามมิให้ผู้ต้องเสียอุทธรณ์การประเมิน โดยผู้ต้องเสียภาษีมีสิทธิอุทธรณ์การประเมิน (มาตรา 25)
(4) อำนาจในการประเมินเบี้ยปรับ จำนวนไม่เกินสองเท่าของเงินภาษี ซึ่งอาจพิจารณาลดหรืองดได้ตามคำสั่งกรมสรรพากรที่ ท.ป. 81/2541 (มาตรา 26)
(5) อำนาจในการประเมินเงินเพิ่ม ในอัตราร้อยละ 1.5 ต่อเดือนหรือเศษของเดือนของเงินภาษี (มาตรา 27)
(6) ผู้ต้องเสียภาษีต้องชำระภาษีอากรตามหนังสือแจ้งการประเมินภายใน 30 วัน นับแต่ได้รับหนังสือแจ้งการประเมิน (มาตรา 18 ตรี)
2.2.5 ส่งหนังสือแจ้งความแก่ผู้มีสิทธิขอคืน หรือบุคคลอื่นที่เกี่ยวข้องมาให้ถ้อยคำ หรือส่งเอกสาร หรือหลักฐานอันควรแก่เรื่องเพื่อประกอบการพิจารณาได้ตามที่เห็นสมควรตามมาตรา 27 จัตวา ดังนี้
“มาตรา 27 จัตวา เพื่อประโยชน์ในการคืนภาษีอากรตามบทบัญญัติแห่งประมวลรัษฎากร เจ้าพนักงานประเมินอาจส่งหนังสือแจ้งความแก่ผู้มีสิทธิขอคืน หรือบุคคลอื่นที่เกี่ยวข้องมาให้ถ้อยคำ หรือส่งเอกสาร หรือหลักฐานอันควรแก่เรื่องเพื่อประกอบการพิจารณาได้ตามที่เห็นสมควร”
ตารางเปรียบเทียบการประเมินตามผลการตรวจสอบ
รายการ
ประเมินตามผลการตรวจสอบตามหมายเรียก
กรณีผู้ต้องเสียภาษียื่นแบบแสดงรายการ
กรณีผู้ต้องเสียภาษีไม่ยื่นแบบแสดงรายการ
1. มูลกรณีในการออกหมายเรียก
(1) มีเหตุอันควรเชื่อว่า แสดงรายการตามแบบที่ยื่นไม่ถูกต้องตามความจริงหรือไม่บริบูรณ์
(2) ปรากฏหลักฐานหรือมีเหตุอันควรสงสัยว่าผู้ยื่นรายการมีเจตนาหลีกเลี่ยงภาษีอากร
(3) กรณีจำเป็นเพื่อประโยชน์ในการคืนภาษีอากร
ผู้ต้องเสียภาษีอากรไม่ยื่นแบบแสดงรายการตามมาตรา 17
2. อำนาจในการออกหมายเรียกและคำสั่ง
มาตรา 19
มาตรา 23
3. กำหนดเวลาในการออกหมายเรียก
(1) กรณีทั่วไป ภายในเวลาสองปี นับแต่วันที่ได้ยื่นรายการไม่ว่าจะยื่นรายการภายในเวลาที่กฎหมายกำหนด หรือเวลาที่รัฐมนตรีหรืออธิบดีขยายหรือเลื่อนออก ไปหรือไม่ ทั้งนี้ แล้วแต่วันใดจะเป็นวันหลัง
(2) กรณีมีหลักฐานหรือเหตุอันควรสงสัยว่าหลีกเลี่ยงภาษีอากร อธิบดีกรมสรรพากรจะอนุมัติให้ขยายเวลาการออกหมายเรียกดังกล่าวเกินกว่าสองปีก็ได้ แต่ต้องไม่เกินห้าปีนับแต่วันที่ได้ยื่นรายการ
(3) กรณีกรณีขยายเวลาเพื่อประโยชน์ในการคืนภาษีอากรให้ขยายได้ไม่เกินกำหนด เวลาตามที่มีสิทธิขอคืนภาษีอากร
ภายใน 10 ปี นับแต่วันพ้นกำหนด เวลายื่นรายการ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/30
4. อำนาจประเมินและแจ้งการประเมิน กรณีปฏิบัติตามหมาย เรียกและให้ความร่วมมือด้วยดี
มาตรา 20 แก้จำนวนเงินที่ประเมิน หรือที่ยื่นรายการไว้เดิมโดยอาศัย พยานหลักฐานที่ปรากฏ
เมื่อได้จัดการตามมาตรา 23 และทราบข้อความแล้ว
5. อำนาจประเมินเงินภาษีอากรตามที่รู้เห็นว่าถูกต้อง และแจ้งจำนวนภาษีอากร
มาตรา 21 กรณีผู้ต้องเสียภาษีอากรไม่ปฏิบัติตามหมาย หรือคำสั่งของเจ้าพนักงานประเมิน ตามมาตรา 19 หรือไม่ยอมตอบคำถามเมื่อซักถามโดยไม่มีเหตุผลอันสมควร ต้องห้ามการอุทธรณ์
มาตรา 25 ไม่ปฏิบัติตามหมายหรือคำสั่งของเจ้าพนักงานประเมิน หรือไม่ยอมตอบคำถามเมื่อซักถามโดยไม่มีเหตุผลอันสมควร ต้องห้ามการอุทธรณ์
6. อำนาจประเมินเบี้ยปรับ
มาตรา 22 จำนวน 1 เท่าของเงินภาษี
มาตรา 26 จำนวน 2 เท่าของเงินภาษี
7. อำนาจประเมินเงินเพิ่ม
มาตรา 27 อัตรา 1.5% ของเงินภาษีโดยไม่รวมเบี้ยปรับ
เช่นเดียวกัน
8. อำนาจลดหรืองดเบี้ยปรับ
มาตรา 27 ทวิ ดูคำสั่งกรมสรรพากรที่ ท.ป. 81/2542
เช่นเดียวกัน
9. กำหนดเวลาชำระภาษีอากรตามหนังสือแจ้งการประเมิน
มาตรา 18 ตรี ภายใน 30 วัน นับแต่วันได้รับหนังสือแจ้งการประเมิน
เช่นเดียวกัน
10. การอุทธรณ์การประเมิน
มาตรา 30 ภายใน 30 วัน นับแต่วันได้รับหนังสือแจ้งการประเมิน ตามแบบ ภ.ส.6 เว้นแต่กรณีห้ามอุทธรณ์
เช่นเดียวกัน
2.3 อำนาจเจ้าพนักงานประเมินที่บัญญัติเป็นอย่างอื่นในหมวด 3 กรณีภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา
2.3.1 อำนาจตามมาตรา 40 (5)(ก) ดังนี้
“มาตรา 40 เงินได้พึงประเมินนั้น คือ เงินได้ประเภทดังต่อไปนี้รวมตลอดถึงเงินค่าภาษีอากรที่ผู้จ่ายเงินหรือผู้อื่นออกแทนให้สำหรับเงินได้ประเภทต่างๆ ดังกล่าว ไม่ว่าในทอดใด...
(5) เงินหรือประโยชน์อย่างอื่นที่ได้เนื่องจาก
(ก) การให้เช่าทรัพย์สิน
(ข) การผิดสัญญาเช่าซื้อทรัพย์สิน
(ค) การผิดสัญญาซื้อขายเงินผ่อน ซึ่งผู้ขายได้รับคืนทรัพย์สินที่ซื้อขายนั้นโดยไม่ต้องคืนเงินหรือประโยชน์ที่ได้รับไว้แล้ว
ในกรณี (ก) ถ้าเจ้าพนักงานประเมินมีเหตุอันควรเชื่อว่า ผู้มีเงินได้แสดงเงินได้ต่ำไปไม่ถูกต้องตามความเป็นจริง เจ้าพนักงานประเมินมีอำนาจประเมินเงินได้นั้นตามจำนวนเงินที่ทรัพย์สินนั้นสมควรให้เช่าได้ตามปกติ และให้ถือว่า จำนวนเงินที่ประเมินนี้เป็นเงินได้พึงประเมินของผู้มีเงินได้ ในกรณีนี้จะอุทธรณ์การประเมินก็ได้ ทั้งนี้ ให้นำบทบัญญัติว่าด้วยการอุทธรณ์ตามส่วน 2 หมวด 2 ลักษณะ 2 มาใช้บังคับโดยอนุโลม...”
2.3.2 อำนาจประเมินเงินได้สุทธิ (Net Worth) เป็นไปตามมาตรา 49 ดังนี้
“มาตรา 49 ในกรณีที่ผู้มีเงินได้มิได้ยื่นรายการเงินได้ หรือเจ้าพนักงานประเมินพิจารณาเห็นว่าผู้มีเงินได้ยื่นรายการเงินได้ต่ำกว่าจำนวนที่ควรต้องยื่น ให้เจ้าพนักงานประเมินโดยอนุมัติอธิบดีมีอำนาจที่จะกำหนดจำนวนเงินได้สุทธิขึ้น ทั้งนี้ โดยถือเงินหรือทรัพย์สินซึ่งเป็นกรรมสิทธิ์หรือเข้ามาอยู่ในครอบครองของผู้มีเงินได้ หรือรายจ่ายของผู้มีเงินได้ หรือฐานะความเป็นอยู่ หรือพฤติการณ์ของผู้มีเงินได้ หรือสถิติเงินได้ของผู้มีเงินได้เอง หรือของผู้อื่นที่กระทำกิจการทำนองเดียวกับของผู้เงินได้เป็นหลักในการพิจารณา แล้วทำการประเมินแจ้งจำนวนเงินที่ต้องชำระไปยังผู้ต้องเสียภาษี ทั้งนี้ ให้นำบทบัญญัติมาตรา 19 ถึงมาตรา 26 มาใช้บังคับโดยอนุโลม”
จากบทบัญญัติดังกล่าวอาจแยกพิจารณาได้ดังนี้
(1) มูลเหตุที่ต้องดำเนินการประเมินเงินได้สุทธิตามมาตรา 60 ทวิ ในกรณีดังต่อไปนี้
(ก) ผู้มีเงินได้มิได้ยื่นรายการเงินได้ หรือ
(ข) เจ้าพนักงานประเมินพิจารณาเห็นว่าผู้มีเงินได้ยื่นรายการเงินได้ต่ำกว่าจำนวนที่ควรต้องยื่น
(2) เจ้าพนักงานประเมินโดยอนุมัติอธิบดีมีอำนาจที่จะกำหนดจำนวนเงินได้สุทธิขึ้น ทั้งนี้ โดยถือหลักเกณฑ์ดังต่อไปนี้เป็นเกณฑ์ในการพิจารณา
(ก) เงินหรือทรัพย์สินซึ่งเป็นกรรมสิทธิ์หรือเข้ามาอยู่ในครอบครองของผู้มีเงินได้ หรือ
(ข) รายจ่ายของผู้มีเงินได้ หรือ
(ค) ฐานะความเป็นอยู่ หรือพฤติการณ์ของผู้มีเงินได้ หรือ
(ง) สถิติเงินได้ของผู้มีเงินได้เอง หรือของผู้อื่นที่กระทำกิจการทำนองเดียวกับของผู้เงินได้เป็น
(3) แล้วทำการประเมินแจ้งจำนวนเงินที่ต้องชำระไปยังผู้ต้องเสียภาษี
(4) ในการดำเนินการดังกล่าว ให้นำบทบัญญัติมาตรา 19 ถึงมาตรา 26 มาใช้บังคับโดยอนุโลม
2.3.3 อำนาจประเมินภาษีเงินได้ก่อนถึงกำหนดเวลายื่นรายการ ตามมาตรา 60 ทวิ
“มาตรา 60 ทวิ ในกรณีจำเป็นเพื่อประโยชน์ในการจัดเก็บภาษีตามหมวดนี้ เจ้าพนักงานประเมินมีอำนาจที่จะประเมินเรียกเก็บภาษีจากบุคคลใดๆ ก่อนถึงกำหนดเวลายื่นรายการตามความในมาตรา 56 มาตรา 57 หรือมาตรา 57 ทวิ แล้วแต่กรณีก็ได้ เมื่อได้ประเมินแล้วให้แจ้งจำนวนภาษีที่ประเมินไปยังผู้ต้องเสียภาษี ในกรณีนี้จะอุทธรณ์การประเมินก็ได้
ภาษีที่ประเมินเรียกเก็บตามความในวรรคก่อน ให้ถือเป็นเครดิตของผู้ต้องเสียภาษีในการคำนวณภาษีจากยอดเงินได้สุทธิทั้งปี”
จากบทบัญญัติดังกล่าวอาจแยกพิจารณาได้ดังนี้
(1) มาตรา 60 ทวิ ใช้ในกรณีจำเป็นเพื่อประโยชน์ในการจัดเก็บเฉพาะกรณีภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาเท่านั้น ไม่สามารถนำไปใช้กับภาษีอากรประเมินประเภทอื่นได้ดังเช่นกรณีอำนาจประเมินก่อนถึงกำหนดเวลายื่นรายการตามมาตรา 18 ทวิ ได้ เนื่องจากมาตรา 60 ทวิ เป็นบทบัญญัติในส่วน หมวด 3 ในลักษณะ 2 อันเป็นบทบัญญัติกฎหมายพิเศษที่ใช้เฉพาะภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาเท่านั้น
(2) คำว่า “กรณีจำเป็นเพื่อประโยชน์ในการจัดเก็บภาษีอากร” ตามมาตรา 60 ทวิ นั้น เป็นการบัญญัติลดขนาดของความจำเป็นลงจากกรณีมาตรา 18 ทวิ ซึ่งใช้คำว่า “ในกรณีจำเป็นเพื่อรักษาประโยชน์ในการจัดเก็บภาษีอากร” ซึ่งหากเจ้าพนักงานประเมินละเว้นไม่ดำเนินการใช้อำนาจประเมินตามมาตรา 18 ทวิ รัฐอาจเสียหาย ซึ่งเจ้าพนักงานประเมินอาจต้องรับผิด ทั้งทางแพ่งและทางอาญา แต่ในส่วนของการดำเนินการตามมาตรา 60 ทวิ นั้น เป็นไปเพียงเพื่อประโยชน์ในการจัดเก็บภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาเท่านั้น ให้เจ้าพนักงานประเมินมีอำนาจในการใช้ดุลพินิจได้อย่างเต็มที่ ในอันที่จะประเมินเรียกเก็บภาษีเงินได้บุคลธรรมดาก่อนถึงกำหนดเวลายื่นรายการหรือไม่ก็ได้ ซึ่งแม้เจ้าพนักงานประเมินไม่ดำเนินการ รัฐก็ไม่เสียประโยชน์แต่อย่างใด
(3) เมื่อได้ประเมินแล้ว ให้เจ้าพนักงานประเมินแจ้งจำนวนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาที่ประเมินเป็นหนังสือแจ้งการประเมิน ไปยังผู้ต้องเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา
(4) กำหนดเวลาในการชำระภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาตามหนังสือแจ้งการประเมินภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาไม่มีบัญญัติไว้เป็นอย่างอื่น จึงต้องนำความตามมาตรา 18 ตรี ซึ่งกำหนดให้ชำระภาษีอากรตามหนังสือแจ้งการประเมินภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ได้รับหนังสือแจ้งการประเมิน
(5) การประเมินภาษีเงินได้บุคคลธรรมดากรณีนี้ เจ้าพนักงานประเมินยังไม่มีอำนาจประเมินเงินเพิ่มภาษีตามมาตรา ได้ จนกว่าจะพ้นกำหนดเวลาตามมาตรา 18 ตรี เสียก่อน กล่าวคือให้ชำระภาษีภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ได้รับหนังสือแจ้งการประเมิน ซึ่งหากผู้ต้องเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาไม่ชำระก็ให้รับผิดเสียเงินเพิ่มตามมาตรา ในอัตราร้อยละ ต่อเดือนหรือเศษของเดือนของเงินภาษี
(6) การประเมินภาษีเงินได้บุคคลธรรมดากรณีนี้ ผู้ต้องเสียภาษีอาจใช้สิทธิอุทธรณ์การประเมินต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ตามมาตรา 30 ได้
(7) เจ้าพนักงานประเมินไม่มีอำนาจที่จะสั่งให้ผู้ต้องเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดายื่นรายการตามแบบที่อธิบดีกำหนด ซึ่งแตกต่างจากการใช้อำนาจของเจ้าพนักงานประเมินตามมาตรา 18 ทวิ
(8) การประเมินภาษีเงินได้บุคคลธรรมดากรณีนี้ หากมีจำนวนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดามีจำนวนตั้งแต่ 3,000 บาทขึ้นไป ผู้ต้องเสียภาษีมีสิทธิขอผ่อนชำระตามมาตรา 64 เป็นจำนวน 3 งวดๆ ละเท่าๆ กัน
อนึ่ง อาจจำแนกความแตกต่างของบทบัญญัติอำนาจเจ้าพนักงานประเมินในการประเมินก่อนถึงกำหนดเวลายื่นรายการตามมาตรา 18 ทวิ และมาตรา 60 ทวิ ได้ดังนี้
รายการ
มาตรา 18 ทวิ
มาตรา 60 ทวิ
1. ใช้กับภาษีอากรประเภทใด
ใช้กับภาษีอากรประเมินทุกประเภท
ใช้กับเฉพาะภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา
2. กรณีที่ใช้บังคับ
ใช้ในกรณีจำเป็นเพื่อรักษาประโยชน์ในการจัดเก็บภาษีอากรประเมิน เป็นกรณีที่กำหนดให้เจ้าพนักงานประเมินต้องเข้าดำเนินการทันทีมิฉะนั้น รัฐอาจต้องเสียประโยชน์อันพิงมีได้
ใช้ในกรณีจำเป็นเพื่อประโยชน์ในการจัดเก็บภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ให้เจ้าพนักงานประเมินใช้ดุลพินิจได้ตามเหตุผลความจำเป็นว่า จะทำการประเมินก่อนถึงกำหนดเวลาหรือไม่ก็ได้
3. กำหนดเวลาประเมิน
ประเมินก่อนถึงกำหนดเวลายื่นรายการภาษีอากรประเมินประเภทนั้นๆ
ประเมินก่อนถึงกำหนดเวลายื่นรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา
4. อำนาจแจ้งการประเมิน
เจ้าพนักงานประเมินมีอำนาจแจ้งการประเมิน
เช่นเดียวกัน
5. กำหนดเวลาชำระภาษี
ให้ผู้เสียภาษีชำระภาษีอากรภายใน 7 วัน นับแต่วันได้รับแจ้งการประเมิน
ให้ผู้เสียภาษีชำระภาษีอากรภายใน 30 วันนับแต่วันได้รับแจ้งการประเมิน
6. การอุทธรณ์การประเมิน
กระทำได้
เช่นเดียวกัน
7. การสั่งให้ยื่นแบบแสดงรายการ
เจ้าพนักงานประเมินจะสั่งให้ยื่นรายการตามแบบที่อธิบดีกำหนดด้วยก็ได้
เจ้าพนักงานประเมินไม่มีอำนาจสั่ง
8. การผ่อนชำระตามมาตรา 64
เป็นกรณีห้ามมิให้ผ่อนชำระ
ผู้มีหน้าที่เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาอาจผ่อนชำระได้
9. การถือเป็นเครดิตภาษี
ให้ถือเป็นเครดิตภาษีในการคำนวณภาษี
เช่นเดียวกัน
2.4 กรณีภาษีเงินได้นิติบุคคล
2.4.1 อำนาจประเมินค่าตอบแทน ค่าบริการ หรือดอกเบี้ยให้เป็นไปตามราคาตลาด ตามมาตรา 65 ทวิ (4)
“มาตรา 65 ทวิ การคำนวณกำไรสุทธิและขาดทุนสุทธิในส่วนนี้ให้เป็นไปตามเงื่อนไขดังต่อไปนี้ ...
(4) ในกรณีโอนทรัพย์สิน ให้บริการ หรือให้กู้ยืมเงิน โดยไม่มีค่าตอบแทนค่าบริการหรือดอกเบี้ย หรือมีค่าตอบแทน ค่าบริการหรือดอกเบี้ยต่ำกว่าราคาตลาดโดยไม่มีเหตุอันสมควร เจ้าพนักงานประเมินมีอำนาจประเมินค่าตอบแทน ค่าบริการหรือดอกเบี้ยนั้นตามราคาตลาดในวันที่โอนให้บริการ หรือให้กู้ยืมเงิน”
กรมสรรพากรได้คำสั่งกรมสรรพากรได้วางแนวทางปฏิบัติในการตรวจและแนะนำผู้เสียภาษีในการคำนวณกำไรสุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้ของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลตามมาตรา 65 กรณีการกำหนดราคาโอนให้เป็นไปตามราคาตลาดตามคำสั่งกรมสรรพากรที่ ป. 113/2545 เรื่อง การเสียภาษีเงินได้ของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล กรณีการกำหนดราคาโอนให้เป็นไปตามราคาตลาด ลงวันที่ 16 พฤษภาคม 2545
2.4.2 อำนาจประเมินราคาทุนของสินค้าที่ส่งเข้ามาจากต่างประเทศ ตามมาตรา 65 ทวิ (7)
“มาตรา 65 ทวิ การคำนวณกำไรสุทธิและขาดทุนสุทธิในส่วนนี้ให้เป็นไปตามเงื่อนไขดังต่อไปนี้ ...
(7) การคำนวณราคาทุนของสินค้าที่ส่งเข้ามาจากต่างประเทศนั้นเจ้าพนักงานประเมินมีอำนาจประเมิน โดยเทียบเคียงกับราคาทุนของสินค้าประเภทและชนิดเดียวกับที่ส่งเข้าไปในประเทศอื่นได้
2.4.3 อำนาจประเมินภาษีเงินได้นิติบุคคลกรณีบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายของต่างประเทศไม่สามารถคำนวณกำไรสุทธิได้
“มาตรา 66 บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายไทย หรือที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายของต่างประเทศและกระทำกิจการในประเทศไทย ต้องเสียภาษีตามบทบัญญัติในส่วนนี้
บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล ที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายของต่าง ประเทศและกระทำกิจการในที่อื่นๆ รวมทั้งในประเทศไทย ให้เสียภาษีในกำไรสุทธิจากกิจการ หรือเนื่องจากกิจการที่ได้กระทำในประเทศไทยในรอบระยะเวลาบัญชีและการคำนวณกำไรสุทธิให้ปฏิบัติเช่นเดียวกับมาตรา 65 และมาตรา 65 ทวิ แต่ถ้าไม่สามารถจะคำนวณกำไรสุทธิดังกล่าวแล้วได้ ให้นำบทบัญญัติว่าด้วยการประเมินภาษีตามมาตรา 71 (1) มาใช้บังคับโดยอนุโลม”
“มาตรา 76 ทวิ บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลซึ่งตั้งขึ้นตามกฎหมายของต่างประเทศ มีลูกจ้าง หรือผู้ทำการแทน หรือผู้ทำการติดต่อ ในการประกอบกิจการในประเทศไทย ซึ่งเป็นเหตุให้ได้รับเงินได้หรือผลกำไรในประเทศไทย ให้ถือว่า บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลนั้นประกอบกิจการในประเทศไทย และให้ถือว่า บุคคลผู้เป็นลูกจ้างหรือผู้ทำการแทน หรือผู้ทำการติดต่อเช่นว่านั้นไม่ว่าจะเป็นบุคคลธรรมดาหรือนิติบุคคล เป็นตัวแทนของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล ซึ่งตั้งขึ้นตามกฎหมายของต่างประเทศ และให้บุคคลนั้นมีหน้าที่และความรับผิดในการยื่นรายการ และเสียภาษีตามบทบัญญัติในส่วนนี้ เฉพาะที่เกี่ยวกับเงินได้หรือผลกำไรที่กล่าวแล้ว
ในกรณีที่กล่าวในวรรคแรก ถ้าบุคคลผู้มีหน้าที่และความรับผิดในการยื่นรายการและเสียภาษีไม่สามารถจะคำนวณกำไรสุทธิเพื่อเสียภาษีตามบทบัญญัติในส่วนนี้ได้ ให้นำบทบัญญัติว่าด้วยการประเมินภาษีตามมาตรา 71 (1) มาใช้บังคับโดยอนุโลม
ในกรณีการประเมินตามความในมาตรานี้ จะอุทธรณ์การประเมินก็ได้”
2.4.4 อำนาจประเมินเงินเพิ่มตามมาตรา 67 ตรี
“มาตรา 67 ตรี ในกรณีที่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลไม่ยื่นรายการและชำระภาษีตามมาตรา 67 ทวิ (1) หรือยื่นรายการและชำระภาษีตามมาตรา 67 ทวิ (1) โดยแสดงประมาณการกำไรสุทธิขาดไปเกินร้อยละ 25 ของกำไรสุทธิซึ่งได้จากกิจการหรือเนื่องจากกิจการที่กระทำในรอบระยะเวลาบัญชีนั้นโดยไม่มีเหตุอันสมควร บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลนั้นต้องเสียเงินเพิ่มอีกร้อยละ 20 ของจำนวนเงินภาษีที่ต้องชำระตามมาตรา 67 ทวิ (1) หรือของกึ่งหนึ่งของจำนวนเงินภาษีที่ต้องเสียในรอบระยะเวลาบัญชีนั้น หรือของภาษีที่ชำระขาด แล้ว แต่กรณีมาตรา 67 ทวิ (2)
ในกรณีที่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลไม่ยื่นรายการและชำระภาษีตามมาตรา 67 ทวิ (2) หรือยื่นรายการและชำระภาษีตามมาตรา 67 ทวิ (2) ไว้ไม่ถูกต้องโดยไม่มีเหตุอันสมควร ทำให้จำนวนภาษีที่ต้องชำระขาดไป บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลนั้นต้องเสียเงินเพิ่มอีกร้อยละ 20 ของจำนวนเงินภาษีที่ต้องชำระตามมาตรา 67 ทวิ (2) หรือของภาษีที่ชำระขาดแล้วแต่กรณี
เงินเพิ่มตามวรรคหนึ่งและวรรคสอง ให้ถือเป็นค่าภาษีและอาจลดลงได้ตามระเบียบที่อธิบดีกำหนดโดยอนุมัติรัฐมนตรี”
จากบทบัญญัติดังกล่าวอาจแยกพิจารณาได้ดังนี้
(1) กรณีประมาณการกำไรสุทธิขาดไปเกินกว่าร้อยละ 25 ของกำไรสุทธิที่ได้จากกิจการหรือเนื่องจากกิจการที่ได้กระทำในรอบระยะเวลาบัญชี
(ก) กำไรสุทธิจากการดำเนินกิจการในรอบระยะเวลาบัญชี ตามแบบ ภ.ง.ด.50 ที่จะนำมาเปรียบเทียบกับประมาณการกำไรสุทธิ ตามแบบ ภ.ง.ด.51 เพื่อคำนวณหาอัตราร้อยละของจำนวนประมาณการกำไรสุทธิขาดไปเกินกว่าร้อยละ 25 ตามมาตรา 67 ตรี หมายถึง กำไรสุทธิทางภาษีอากรที่ได้ปรับปรุงให้เป็นไปตามเงื่อนไขแห่งประมวลรัษฎากร มาตรา 65 มาตรา 65 ทวิ มาตรา 65 ตรี มาตรา 70 ตรี และมาตรา 74 แล้ว มิใช่กำไรสุทธิทางการเงินตามงบกำไรขาดทุนตามมาตรฐานการบัญชีของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล
(ข) กรณีประมาณการกำไรสุทธิขาดไปเกินกว่าร้อยละ 25 ของกำไรสุทธิที่ได้จากกิจการหรือเนื่องจากกิจการที่ได้กระทำในรอบระยะเวลาบัญชี โดยไม่มีเหตุอันสมควร บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลนั้นต้องรับผิดดังนี้
1) ความรับผิดเกี่ยวกับเงินเพิ่มตามมาตรา 67 ตรี เสียเงินเพิ่มในอัตราร้อยละ 20 ของเงินภาษีภาษีทีชำระไว้ขาด ตามมาตรา 67 ตรี
(2) ในกรณีที่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลไม่ยื่นรายการและชำระภาษีตามมาตรา 67 ทวิ (2) หรือยื่นรายการและชำระภาษีตามมาตรา 67 ทวิ (2) ไว้ไม่ถูกต้องโดยไม่มีเหตุอันสมควร ทำให้จำนวนภาษีที่ต้องชำระขาดไป บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลนั้นต้องเสียเงินเพิ่มอีกร้อยละ 20 ของจำนวนเงินภาษีที่ต้องชำระตามมาตรา 67 ทวิ (2)
อย่างไรก็ตาม เงินเพิ่มตามมาตรา 67 ตรี ดังกล่าว เจ้าพนักงานประเมินมีอำนาจสั่งลดลงได้ตามคำสั่งกรมสรรพากรที่ ท.ป. 81/2542 ดังนี้
(ก) กรณีบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลได้ยื่นแบบแสดงรายการ ภ.ง.ด.51 และชำระภาษีเงินได้นิติบุคคลพร้อมกับการยื่นแบบแสดงรายการโดยไม่ได้รับคำเตือนหรือคำเรียกตรวจสอบไต่สวนโดยตรงเป็นหนังสือ ให้ลดเงินเพี่มได้แต่ต้องเสียในอัตราและตามเงื่อนไขดังต่อไปนี้
1) ถ้าชำระภายใน 2 วันนับแต่วันพ้นกำหนดเวลายื่นรายการ ให้เสียร้อยละ 0.10 ของเงินเพิ่มที่ต้องชำระ
2) ถ้าชำระภายหลัง 2 วันแต่ไม่เกิน 7 วันนับแต่วันพ้นกำหนดเวลายื่นรายการ ให้เสียร้อยละ 0.50 ของเงินเพิ่มที่ต้องชำระ
(ข) กรณีอื่นนอกจาก (ก) ให้เสียร้อยละ 1.5 ต่อเดือนหรือเศษของเดือนของเงินภาษีที่ต้องชำระแต่ไม่เกินเงินเพิ่มที่กฎหมายกำหนด (ร้อยละ 20 ของจำนวนภาษีที่ชำระล่าช้าหรือชำระขาดไป)
หมายเหตุ
1. ในการคิดเงินเพิ่มตามมาตรา 67 ตรี กรณีประมาณการกำไรสุทธิขาดไปเกินกว่าร้อยละ 25 ของกำไรสุทธิที่ได้จากกิจการหรือเนื่องจากกิจการที่ได้กระทำในรอบระยะเวลาบัญชี ตามแบบ ภ.ง.ด.50 หากบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลมีภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่ายตามแบบ ภ.ง.ด.51 มาหัก บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลยังคงต้องรับผิดเสียเงินเพิ่มตามมาตรา 67 ตรี ต่อไป เนื่องจากความผิดดังกล่าวเป็นความผิดสำเร็จ ซึ่งไม่คำนึงว่าผู้เสียภาษีได้ชำระภาษีเงินได้นิติบุคคลไปแล้วหรือไม่ประการใด
2. กรณีประมาณการกำไรสุทธิตามแบบ ภ.ง.ด.51 เกินไปกว่าร้อยละ 25 ของกำไรสุทธิตามแบบ ภ.ง.ด.50 ไม่มีความผิดแต่อย่างใด
(3) เหตุอันสมควรเนื่องจากการจัดทำประมาณการกำไรสุทธิขาดไปเกินกว่าร้อยละ 25 ของกำไรสุทธิ
ในการเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลครึ่งปี (ภ.ง.ด.51) ที่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลทั่วไป ซึ่งมิใช่บริษัทจดทะเบียน ธนาคารพาณิชย์ บริษัทเงินทุน หลักทรัพย์ หรือเครดิตฟองซิเอร์ หรือบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ได้รับอนุมัติจากอธิบดีกรมสรรพากรให้ยื่น ภ.ง.ด.51 โดยเสียภาษีเงินได้จากกำไรสุทธิที่เกิดขึ้นจริงสำหรับรอบระยะเวลา 6 เดือนแรกของรอบระยะเวลาบัญชี) โดยต้องจัดทำประมาณการกำไรสุทธิหรือขาดทุนสุทธินั้น หากกิจการประมาณการกำไรสุทธิขาดไปเกินกว่าร้อยละ 25 ของกำไรสุทธิในแต่ละรอบระยะเวลาบัญชี โดยไม่มีเหตุผลอันสมควร อาจต้องเสียเงินเพิ่มในอัตราร้อยละ 20 ของภาษีที่ชำระขาดไป ดังนั้น เพื่อหลีกเลี่ยงปัญหาการประมาณกำไรสุทธิขาดไปเกินกว่าร้อยละ 25 ของกำไรสุทธิในแต่ละรอบระยะเวลาบัญชี โดยไม่มีเหตุอันสมควร ซึ่งกรมสรรพากรได้กำหนดเงื่อนไขเกี่ยวกับ “เหตุอันสมควร” กรณียื่นประมาณการกำไรสุทธิ ตามคำสั่งกรมสรรพากรที่ ป. 50/2537 นอกจากนี้ให้พิจารณาแนวทางปฏิบัติกรมสรรพากรที่ มก. 9/2550
2.4.5 อำนาจประเมินกรณีพิเศษตามมาตรา 71 ดังนี้
“มาตรา 71 ในกรณีที่
(1) บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลใด ไม่ยื่นรายการซึ่งจำเป็นต้องใช้ในการคำนวณภาษีตามบทบัญญัติในส่วนนี้ หรือมิได้ทำบัญชี หรือทำไม่ครบตามที่กำหนดไว้ในมาตรา 17 และมาตรา 68 ทวิ หรือไม่นำบัญชี เอกสารหรือหลักฐานอื่นมาให้เจ้าพนักงานประเมินทำการไต่สวนตามมาตรา 19 หรือมาตรา 23 เจ้าพนักงานประเมินมีอำนาจประเมินภาษีในอัตราร้อยละ 5 ของยอดรายรับก่อนหักรายจ่ายใดๆ หรือยอดขายก่อนหักรายจ่ายใดๆ ของรอบระยะเวลาบัญชี แล้วแต่อย่างใดจะมากกว่า ถ้ายอดรายรับก่อนหักรายจ่าย หรือยอดขายก่อนหักรายจ่ายดังกล่าวไม่ปรากฏ เจ้าพนักงานประเมินมีอำนาจประเมิน โดยอาศัยเทียบเคียงกับยอดในรอบระยะเวลาบัญชีก่อนนั้นขึ้นไป ถ้ายอดในรอบระยะเวลาบัญชีก่อนไม่ปรากฏให้ประเมินได้ตามที่เห็นสมควร
(2) บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลใด มิได้ลงรายการ หรือลงรายการไม่ครบถ้วน หรือไม่ตรงตามความจริงในบัญชีตามที่กำหนดไว้ในมาตรา 17 และมาตรา 68 ทวิ เป็นเหตุให้ไม่ต้องเสียภาษีหรือเสียภาษีน้อยลง เจ้าพนักงานประเมินมีอำนาจประเมินภาษีที่ขาดตามอัตราภาษีในมาตรา 67 และอาจสั่งให้ผู้ต้องเสียภาษีเสียเงินเพิ่มขึ้นอีก 2 เท่าของจำนวนเงินภาษีที่ขาดก็ได้
(3) บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลใด มิได้ปฏิบัติตามคำสั่งของอธิบดีซึ่งสั่งตามมาตรา 17 เจ้าพนักงานประเมินมีอำนาจสั่งให้บริษัท หรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลนั้นปฏิบัติตามคำสั่งของอธิบดีให้เสร็จภายในสามสิบวันนับแต่วันได้รับคำสั่งของเจ้าพนักงานประเมิน หรือสั่งให้จัดบุคคลมาปฏิบัติตามคำสั่งของอธิบดี ณ สำนักงานของเจ้าพนักงานประเมิน ให้เสร็จภายในกำหนดเวลาดังกล่าวแล้วก็ได้ ถ้าบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลดังกล่าวไม่ปฏิบัติตาม หรือปฏิบัติไม่ครบถ้วน เจ้าพนักงานประเมินมีอำนาจประเมินภาษีในอัตราและวิธีการดังกล่าวใน (1)
บทบัญญัติมาตรานี้ไม่เป็นการเสื่อมสิทธิที่เจ้าพนักงานประเมิน จะประเมินให้เสียภาษีตามบทบัญญัติในมาตราอื่น
การประเมินตามความในมาตรานี้ จะอุทธรณ์การประเมินก็ได้”
อย่างไรก็ตาม กรมสรรพากรได้ออกคำสั่งกรมสรรพากรที่ ป. 78/2541 ลงวันที่ 27 ตุลาคม 2541 กำหนดขอบเขตการใช้อำนาจตามมาตรา 71 (1) ลงวันที่ 27 ตุลาคม 2541 ดังนี้
“เพื่อให้เจ้าพนักงานสรรพากรถือเป็นแนว ทางปฏิบัติสำหรับการประเมินภาษีเงินได้นิติบุคคล ตามมาตรา 71 (1) กรมสรรพากรจึงมีคำสั่ง ดังต่อไปนี้
ข้อ 1 ให้ยกเลิกคำสั่งกรมสรรพากรที่ ป. 5/2527 เรื่อง การประเมินภาษีเงินได้นิติบุคคล ตามมาตรา 71 (1) ลงวัน 20 พฤศจิกายน 2527
ข้อ 2 กรณีที่เจ้าพนักงานประเมินออกหมายเรียกบริษัท หรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลใด เพื่อทำการตรวจสอบภาษีอากร ตามมาตรา 19 และสั่งให้บริษัท หรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลนั้น นำบัญชี เอกสารหรือหลักฐานอื่นมาให้เจ้าพนักงานประเมินทำการตรวจสอบด้วย ถ้าบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลนั้นได้นำบัญชี เอกสารหรือหลักฐานประกอบการลงบัญชีที่จำเป็นต้องใช้ในการคำนวณภาษีเงินได้นิติบุคคลมามอบให้ตามหมายเรียกและเพียงพอแก่การตรวจสอบเพื่อหากำไรสุทธิได้แล้ว ให้เจ้าพนักงานประเมินทำการตรวจสอบและประเมินภาษีเงินได้ ตามมาตรา 20
กรณีที่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลนั้น
(ก) นำบัญชี เอกสาร หรือหลักฐานประกอบการลงบัญชีมามอบให้เจ้าพนักงานประเมินตามหมายเรียก แต่ไม่เพียงพอแก่การตรวจสอบเพื่อหากำไรสุทธิ หรือ
(ข) ไม่นำบัญชี เอกสาร หรือหลักฐานประกอบการลงบัญชีมามอบให้เจ้าพนักงานประเมินตามหมายเรียก หรือ
(ค) ไม่ปฏิบัติตามหมายเรียกให้เจ้าพนักงานประเมินทำการประเมินภาษีโดยอาศัยอำนาจ ตามมาตรา 71 (1)
ข้อ 3 กรณีสำนักงาน หรือสถานประกอบการ หรือสถานที่เก็บรักษาบัญชี เอกสารหรือหลักฐานประกอบการลงบัญชีที่ได้รับอนุมัติหรืออนุญาตตามกฎหมายว่าด้วยการบัญชีหรือกฎหมายอื่นของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลนั้น ประสบภัยธรรมชาติหรือถูกเพลิงไหม้ทั้งหมดหรือบางส่วน เป็นเหตุให้ไม่สามารถนำบัญชี เอกสารหรือหลักฐานประกอบการลงบัญชีมามอบให้เจ้าพนักงานประเมินทำการตรวจสอบภาษีอากรตามหมายเรียกที่ออกตามมาตรา 19 ให้เจ้าพนักงานประเมินทำการประเมินภาษีโดยถือปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีกำหนด
ข้อ 4 กรณีที่เจ้าพนักงานประเมินออกหมายเรียกบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลใด เพื่อทำการตรวจสอบภาษีอากร ตามมาตรา 23 และสั่งให้บริษัท หรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลนั้นนำบัญชี เอกสาร หรือหลักฐานอื่นมาให้เจ้าพนักงานประเมินทำการตรวจสอบด้วย ให้เจ้าพนักงานประเมินทำการประเมินภาษีเงินได้นิติบุคคล ตามมาตรา 24 พร้อมทั้งเบี้ยปรับ 2 เท่าของจำนวนเงินภาษีอากรที่ต้องชำระ ตามมาตรา 26 หรือจะทำการประเมินภาษีเงินได้ตามมาตรา 71 (1) ก็ได้ แล้วแต่ว่าภาษีตามวิธีใดจะมีจำนวนมากกว่า
ข้อ 5 กรณีที่เจ้าพนักงานประเมินออกหมายเรียก ตามมาตรา 19 หรือมาตรา 23 แห่งประมวลรัษฎากร เพื่อทำการตรวจสอบภาษีอากรบริษัท หรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ประกอบ กิจการขายส่งสินค้าบางประเภท ซึ่งเจ้าพนักงานประเมินสามารถหาหลักฐานเพื่อนำมาใช้ในการคำนวณกำไรสุทธิได้โดยง่าย เช่น กิจการขายส่งสุรา เบียร์ ยาสูบ น้ำมันเชื้อเพลิง ปูนซีเมนต์ เป็นต้น ให้เจ้าพนักงานประเมินตรวจสอบและประเมินภาษีเงินได้ ตามมาตรา 20 หรือมาตรา 24 พร้อมทั้งเบี้ยปรับอีก 1 เท่า หรือ 2 เท่าของจำนวนเงินภาษีอากรที่ต้องชำระ ตามมาตรา 22 หรือมาตรา 26 แล้วแต่กรณี
ข้อ 6 กรณีตามข้อ 4 เจ้าพนักงานประเมินจะไม่ประเมินภาษีเงินได้โดยอาศัยอำนาจ ตามมาตรา 71 (1) ก็ได้ ถ้าปรากฏข้อเท็จจริงว่ามีเหตุอันสมควรที่จะไม่ประเมินภาษีเงินได้ ตามมาตรา 71 (1) โดยได้รับอนุมัติจากอธิบดีกรมสรรพากรหรือผู้ที่ได้รับมอบหมายเป็นแต่ละกรณีไป
ข้อ 7 บรรดาระเบียบ ข้อบังคับ คำสั่ง หนังสือตอบข้อหารือ หรือทางปฏิบัติใดที่ขัดหรือแย้งกับคำสั่งนี้ ให้เป็นอันยกเลิก
ข้อ 8 คำสั่งนี้ให้ถือปฏิบัติตั้งแต่วันที่ลงในคำสั่งนี้เป็นต้นไป”
2.4.6 อำนาจประเมินเงินเพิ่มตามมาตรา 72
“มาตรา 72 ในกรณีที่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลเลิกกัน ให้ผู้ชำระบัญชี และผู้จัดการมีหน้าที่ร่วมกันแจ้งให้เจ้าพนักงานประเมินทราบการเลิกของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลนั้นภายในสิบห้าวัน นับแต่วันที่เจ้าพนักงานรับจดทะเบียนเลิก ถ้าบุคคลดังกล่าวแล้วไม่ปฏิบัติตามเจ้าพนักงานประเมินอาจสั่งให้บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลนั้น เสียเงินภาษีเพิ่มขึ้นอีก 1 เท่า ของจำนวนภาษีที่ต้องเสีย เงินนี้ให้ถือเป็นค่าภาษี...”
2.5 อำนาจเจ้าพนักงานประเมินบัญญัติเป็นอย่างอื่นในหมวด 4 ภาษีมูลค่าเพิ่ม
2.5.1 อำนาจประเมินภายหลังพ้นกำหนดเวลายื่นรายการ (มาตรา 88 ถึงมาตรา 88/2)
“มาตรา 88 เจ้าพนักงานประเมินมีอำนาจประเมินภาษีมูลค่าเพิ่ม เบี้ยปรับ และเงินเพิ่มตามหมวดนี้ ในเมื่อ
(1) ปรากฏแก่เจ้าพนักงานประเมินว่า ผู้มีหน้าที่เสียภาษีมิได้ยื่นแบบแสดงรายการภาษี แบบนำส่งภาษี หรือแบบใบขนสินค้าภายเวลาที่กฎหมายกำหนด
(2) ในกรณีเจ้าพนักงานประเมินมีหลักฐานแสดงว่า ผู้มีหน้าที่เสียภาษียื่นแบบแสดงรายการภาษี แบบนำส่งภาษี หรือแบบใบขนสินค้าโดยแสดงจำนวนภาษีที่ต้องเสียต่ำกว่าความเป็นจริง
(3) ผู้มีหน้าที่เสียภาษีไม่ปฏิบัติตามหมายเรียกของเจ้าพนักงานประเมิน หรือไม่ยอมตอบคำถามของเจ้าพนักงานประเมินโดยไม่มีเหตุอันสมควร
(4) ผู้ประกอบการไม่สามารถแสดงใบกำกับภาษีในกรณีภาษีซื้อ หรือสำเนาใบกำกับภาษีขายพร้อมทั้งหลักฐานยื่นเพื่อการคำนวณภาษีหรือการเครดิตภาษี
(5) ผู้ประกอบการไม่เก็บสำเนาใบกำกับภาษีและหลักฐานต่างๆ ประกอบการลงรายงานตามที่กฎหมายกำหนดไว้ หรือ
(6) ปรากฏแก่เจ้าพนักงานประเมินว่า ผู้ประกอบการซึ่งต้องยื่นคำขอจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 85/1 มิได้จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม
มาตรา 88/1 เจ้าพนักงานประเมินมีอำนาจประเมินภาษีมูลค่าเพิ่ม เบี้ยปรับ และเงินเพิ่มตามหมวดนี้ ในเมื่อปรากฎว่าบุคคลใดออกใบกำกับภาษี ใบเพิ่มหนี้ ใบลดหนี้ โดยไม่มีสิทธิที่จะออกตามกฎหมายตามมาตรา 86/13 โดยให้เจ้าพนักงานประเมินมีอำนาจประเมินภาษีมูลค่าเพิ่มตามจำนวนที่ปรากฎในใบกำกับภาษี ใบเพิ่มหนี้ ใบลดหนี้นั้นได้
มาตรา 88/2 เพื่อประโยชน์ในการดำเนินการตามมาตรา 88 และมาตรา 88/1 เจ้าพนักงานประเมินมีอำนาจ
(1) จัดทำรายการลงในแบบแสดงรายการภาษี แบบนำส่งภาษี หรือแบบใบขนสินค้าตามหลักฐานที่เห็นว่าถูกต้อง เมื่อผู้มีหน้าที่เสียภาษีมิได้ยื่นแบบแสดงรายการภาษี แบบนำส่งภาษี หรือแบบใบขนสินค้า
(2) แก้ไขเพิ่มเติมรายการในแบบแสดงรายการภาษี แบบนำส่งภาษี หรือแบบใบขนสินค้าเพื่อให้ถูกต้อง
(3) ประเมินภาษีในกรณีที่มีหนักฐานแสดงว่า ผู้ประกอบการเสียภาษีหรือแสดงมูลค่าของฐานภาษีต่ำกว่าความเป็นจริง
(4) กำหนดมูลค่าที่ควรได้รับ โดยพิจารณาถึงฐานะความเป็นอยู่ หรือพฤติการณ์ของผู้ประกอบการ หรือสถิติการค้าของผู้ประกอบการเอง หรือของผู้ประกอบการที่กระทำกิจการทำนองเดียวกัน หรือพิจารณาหลักเกณฑ์อย่างอื่น อันอาจแสดงมูลค่าที่ได้รัยได้โดยสมควร
(5) การแก้ไขเปลี่ยนแปลงมูลค่าของสินค้าที่ซื้อหรือของค่าบริการจากการรับบริการ แล้วแต่กรณี เมื่อมีกรณีตามาตรา 88 (3)(4) หรือ (5)
(6) ประเมินภาษีตามที่รู้เห็น หรือพิจารณาว่าถูกต้อง เมื่อมีกรณีตามมาตรา 88 (3)(4) หรือ (5) โดยไม่จำต้องปฏิบัติตาม (1) ถึง (4) ก็ได้
ในการใช้อำนาจของเจ้าพนักงานประเมินเมื่อมีกรณีตามมาตรา 85 (6) ให้ถือว่าผู้ประกอบการซึ่งต้องยื่นคำขอจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 85/1 แต่มิได้จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มมีความรับผิดในการเสียภาษีเสมือนเป็นผู้ประกอบการจดทะเบียน”
2.5.2 อำนาจในการตรวจปฏิบัติการ (มาตรา 88/3)
“มาตรา 88/3 เจ้าพนักงานประเมินมีอำนาจเข้าไปในสถานประกอบการของผู้ประกอบการ ไม่ว่าจะเป็นผู้ประกอบการจดทะเบียนหรือไม่ หรือในสถานที่อื่นที่เกี่ยวข้องระหว่างพระอาทิตย์ขึ้นและพระอาทิตย์ตก หรือระหว่างเวลาทำการของผู้ประกอบการ และทำการตรวจสอบเพื่อให้ทราบว่าผู้ประกอบการได้ปฏิบัติการโดยถูกต้องตามบทบัญญัติในหมวดนี้หรือไม่ ในการนี้เจ้าพนักงานประเมินมีอำนาจสั่งผู้ประกอบการ หรือบุคคลที่อยู่ในสถานที่นั้นให้ปฏิบัติการเท่าที่จำเป็น เพื่อประโยชน์ในการตรวจสอบเอกสารหลักฐานต่างๆ อันควรแก่เรื่อง และมีอำนาจยึดเอกสารหลักฐานเหล่านั้นมาตรวจสอบไต่สวนได้
ในการดำเนินการตามวรรคหนึ่ง ให้เจ้าพนักงานประเมินแสดงบัตรประจำตัว พร้อมทั้งหนังสือหรือหลักฐานต่อผู้ที่เกี่ยวข้องเมื่อเข้าไปทำการตรวจสอบ”
อาศัยอำนาจตามมาตรา 88/3 เจ้าพนักงานประเมินมีอำนาจในการตรวจปฏิบัติการเกี่ยวกับการปฏิบัติหน้าที่ในระบบภาษีมูลค่าเพิ่มของผู้ประกอบการดังต่อไปนี้
(1) สำรวจ (Canvassing)
(2) แนะนำ (Educational Visit)
การแนะนำ คือ การที่เจ้าพนักงานสรรพากรออกไปให้คำปรึกษาแนะนำ ตลอดจนชี้แจงและตอบข้อซักถามต่างๆ แก่ผู้ประกอบการ ณ สถานประกอบการของผู้ประกอบการ
การแนะนำมีวัตถุประสงค์สำคัญเพื่อสร้างความรู้ ความเข้าใจให้แก่ผู้ประกอบการในส่วนที่เกี่ยวกับตัวบทกฎหมาย ระเบียบปฏิบัติ ตลอดจนวิธีการจัดทำบัญชีและการเก็บรักษาเอกสารหลักฐานที่เกี่ยวข้อง และเพื่อให้คำปรึกษาแนะนำผู้ประกอบการในด้านต่างๆ อันจะทำให้ผู้ประกอบการสามารถกรอกแบบแสดงรายการภาษี และชำระภาษี หรือขอคืนภาษีมูลค่าเพิ่ม ได้อย่างถูกต้องภายในระยะเวลาที่กำหนด
นอกจากนี้ ในการออกแนะนำนั้น จะทำให้เจ้าพนักงานสรรพากรสามารถรวบรวมข้อมูลต่างๆ เกี่ยวกับกิจการของผู้ประกอบการ ซึ่งจะสามารถนำมาใช้ประโยชน์ในการบริหารการจัดเก็บภาษี และควบคุมตรวจสอบภาษีมูลค่าเพิ่มของผู้ประกอบการได้เป็นอย่างดีในโอกาสต่อไป
การแนะนำจะกระทำในกรณีที่ผู้ประกอบการเริ่มประกอบการใหม่ หรือในกรณีที่ผู้ประกอบการต้องการคำปรึกษาแนะนำเป็นพิเศษ และสำหรับในช่วงแรกของการนำระบบภาษีมูลค่าเพิ่มมาใช้บังคับในประเทศไทย การแนะนำถือเป็นความจำเป็นที่ต้องระดมการแนะนำให้ผู้ประกอบการมีความรู้ความเข้าใจในระบบภาษีมูลค่าเพิ่มอย่างกว้างขวางและทั่วถึง
(3) ตรวจปฏิบัติการ (Routine Control Visit)
“การตรวจปฏิบัติการ” หมายถึง การตรวจการปฏิบัติตามบทบัญญัติส่วนที่เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่มและภาษีธุรกิจเฉพาะ ณ สำนักงาน สถานประกอบการ สถานที่อื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องหรือสันนิษฐานว่าเกี่ยวข้อง โดยแบ่งเป็น
(ก) “การตรวจปฏิบัติการทั่วไป” เป็นการตรวจความถูกต้องในการเสียภาษีมูลค่าเพิ่มและภาษีธุรกิจเฉพาะในส่วนที่ผู้ประกอบการต้องปฏิบัติตามที่กฎหมายและระเบียบกำหนดไว้
(ข) “การตรวจปฏิบัติการเฉพาะประเด็น” เป็นการตรวจความถูกต้องของการปฏิบัติตามกฎหมายของผู้เสียภาษีมูลค่าเพิ่มและภาษีธุรกิจเฉพาะ ตามประเด็นที่เจ้าพนักงานตรวจปฏิบัติการกำหนด และผ่านการอนุมัติของผู้มีอำนาจเกี่ยวกับการตรวจปฏิบัติการ เช่น
1) การตรวจสภาพข้อเท็จจริงของการประกอบการในบางประเด็น เช่น ประเด็นรายรับจากการขายหรือการให้บริการ กระบวนการผลิต ความถูกต้องในการจัดทำเอกสารและบัญชี เป็นต้น
2) การตรวจเพื่อคืนภาษีมูลค่าเพิ่มและภาษีธุรกิจเฉพาะในกรณีที่ต้องตรวจก่อนคืนหรือภายหลังที่ดำเนินการคืนภาษีมูลค่าเพิ่ม และภาษีธุรกิจเฉพาะแล้ว
3) การตรวจการขาย ณ จุดขาย
4) การตรวจปฏิบัติการผู้ประกอบการที่ขายสินค้าให้นักท่องเที่ยว
5) การตรวจปฏิบัติการเพื่อประกอบการพิจารณาคำร้องต่างๆ ของผู้ประกอบการ
6) การตรวจนับสินค้าและวัตถุดิบ
7) การตรวจใบกำกับภาษีปลอม
8) การสอบยันใบกำกับภาษี
9) กรณีอื่นๆ ที่ผู้มีอำนาจสั่งการกำหนด
การตรวจปฏิบัติการเป็นการตรวจสถานประกอบการของผู้ประกอบการทุกรายอย่างเป็นระบบตามระยะเวลาที่กำหนดไว้ ความถี่ของการตรวจปฏิบัติการสำหรับผู้ประกอบการแต่ละรายจะแตกต่างกันไป เช่น ผู้ประกอบการจดทะเบียนรายใหญ่จะต้องเข้าตรวจปฏิบัติการทุกปี รายขนาดกลางทุก 2 ปี หรือรายขนาดเล็กทุก 4 ปี ในการตรวจปฏิบัติการแต่ละครั้งจะต้องมีการตรวจเอกสารหลักฐานต่างๆ กับรายการที่ปรากฏในแบบแสดงรายการ เพื่อยืนยันว่าการยื่นแบบแสดงรายการเป็นไปอย่างถูกต้องและครบถ้วน
การตรวจปฏิบัติการทั่วไปจะเป็นการตรวจสอบแบบแสดงรายการของงวดภาษีงวดในงวดหนึ่งเท่านั้น แต่ถ้ามีปัญหาเกี่ยวข้องกับเดือนภาษีอื่นๆ ก็จะมีการตรวจโยงไปถึงเดือนภาษีนั้นด้วย
นอกจากนี้ในการออกตรวจปฏิบัติการแต่ละครั้งนั้นจะได้มีการตรวจการจัดทำบัญชี การเก็บรักษาเอกสารหลักฐานต่างๆ ว่า เป็นไปตามที่กฎหมายกำหนดหรือไม่ ขณะเดียวกันเจ้าพนักงานสรรพากรก็จะได้ให้คำปรึกษา และแนะนำแนวทางปฏิบัติเกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่มให้แก่ผู้ประกอบการด้วย รวมทั้งจะได้มีการรวบรวมข้อมูลต่างๆ ของผู้ประกอบการ เพื่อใช้พิจารณากำหนดความถี่ของการตรวจปฏิบัติการครั้งต่อๆ ไปด้วย
ระยะเวลาที่ใช้ในการตรวจปฏิบัติการ จะขึ้นอยู่กับขนาดและประเภทของกิจการ ซึ่งโดยทั่วไปจะใช้เวลาโดยเฉลี่ยประมาณ 2 วันต่อราย
ในการตรวจปฏิบัติการครั้งหนึ่งๆ หากตรวจสอบพบการกระทำความผิด ที่เป็นความเล็กน้อยที่ผู้ประกอบการมิได้มีเจตนาหลีกเลี่ยงภาษีมูลค่าเพิ่ม ก็ให้พนักงานเจ้าหน้าที่ให้คำแนะนำและแนวทางปฏิบัติที่ถูกต้อง ถ้าเป็นความผิดในส่วนที่เป็นสาระสำคัญ ที่ผู้ประกอบการมีเจตนาหลีกเลี่ยง ก็จะทำการประเมินภาษีเพิ่มเติม หรือดำเนินการตรวจสอบอย่างละเอียดต่อไป
2.5.3 อำนาจในการออกหมายเรียก (มาตรา 88/4)
“มาตรา 88/4 ในการดำเนินการของเจ้าพนักงานประเมินในส่วนนี้ เจ้าพนักงานประเมินมีอำนาจออกหมายเรียกผู้มีหน้าที่เสียภาษี ผู้ทำการแทนหรือพยานกับผู้มีอำนาจสั่งบุคคลเหล่านั้นให้นำบัญชีเอกสารหรือหลักฐานอื่นอันควนแก่เรื่องมาตรวจสอบไต่สวนได้ หรือออกคำสั่งให้พยานตอบคำถามเป็นหนังสือ แต่จะต้องให้เวลาล่วงหน้าไม่น้อยกว่าเจ็ดวัน นับแต่วันได้รับหมายเรียกหรือได้รับคำสั่ง”
2.5.4 อำนาจแจ้งการประเมิน (มาตรา 88/5)
“มาตรา 88/5 เมื่อเจ้าพนักงานประเมินได้ประเมินภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 88 หรือมาตรา 88/1 แล้วให้แจ้งการประเมินเป็นหนังสือไปยังผู้มีหน้าที่เสียภาษีหรือบุคคลตามมาตรา 88/1 ในกรณีนี้ผู้มีหน้าที่เสียภาษีหรือบุคคลตามมาตรา 88/1 จะใช้สิทธิอุทธรณ์การประเมินตามบทบัญญัติในส่วน 2 ของหมวด 2 ลักษณะ 2 ก็ได้ เว้นแต่ในกรณีที่เจ้าพนักงานประเมินได้ทำการประเมินเพราะเหตุตามมาตรา 88 (3) ห้ามมิให้อุทธรณ์”
3.5.5 กำหนดเวลาในการประเมิน ตามมาตรา 88/6
“มาตรา 88/6 การประเมินของเจ้าพนักงานประเมิน ให้กระทำได้ภายในกำหนดเวลาดังต่อไปนี้
(1) สำหรับผู้ประกอบการ
(ก) สองปีนับแต่วันสุดท้ายแห่งกำหนดเวลายื่นแบบแสดงรายการภาษี หรือวันสุดท้ายแห่งกำหนดเวลาที่รัฐมนตรีหรืออธิบดีขยายหรือเลื่อนออกไปแล้วแต่วันใดจะเป็นวันหลัง ทั้งนี้ เฉพาะในกรณีที่ผู้มีหน้าที่เสียภาษีมิได้ยื่นแบบแสดงรายการภาษีภายในกำหนดเวลาดังกล่าว
(ข) สองปีนับแต่วันที่ผู้มีหน้าที่เสียภาษียื่นแบบแสดงรายการภาษี ทั้งนี้ เฉพาะในกรณีที่ผู้มีหน้าเสียภาษียื่นแบบแสดงรายการภาษีหลังวันสุดท้ายแห่งกำหนดเวลาดังกล่าวใน (ก) แต่ต้องไม่เกินสิบปีนับแต่วันสุดท้ายแห่งกำหนดเวลายื่นแบบแสดงรายการภาษี
(ค) สิบปีนับแต่วันสุดท้ายแห่งกำหนดเวลายื่นแบบแสดงรายการภาษี ในกรณีที่ผู้มีหน้าที่ยื่นแบบแสดงรายการภาษี โดยแสดงฐานภาษีต่ำกว่ามูลค่าที่ผู้ประกอบการได้รับหรือพึงได้รับ เป็นจำนวนเกินกว่าร้อยละยื่สิบห้าของฐานภาษีที่แสดงในแบบแสดงรายการภาษี
(2) สำหรับผู้นำเข้าซึ่งมิใช่ผู้ประกอบการ สองปีนับแต่วันยื่นใบขนสินค้า เว้นแต่กรณีที่ผู้นำเข้ามีข้อโต้แย้งคามกฎหมายว่าด้วยศุลกากรหรือเป็นคดีในศาล สองปีนับแต่วันที่ได้รับแจ้งคำวินิจฉัยข้อโต้แย้งอากรขาเข้าเป็นหนังสือ หรือนับแต่วันที่มีคำพิพากษาถึงที่สุด แล้วแต่กรณี
(3) สำหรับผู้ที่มีหน้าที่นำส่งภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 83/5 มาตรา 83/6 หรือมาตรา 83/7 สองปีนับแต่วันพ้นกำหนดเวลานำส่งเงินภาษีมูลค่าเพิ่ม
ในกรณีมีเหตุอันควรเชื่อว่าผู้ประกอบการ ผู้นำเข้า หรือผู้มีหน้าที่นำส่งภาษี มูลค่าเพิ่มแสดงรายการตามปบบแสดงรายการภาษี แบบใบขนสินค้าหรือแบบนำส่งภาษีไม่ถูกต้องตามความเป็นจริงหรือไม่สมบรณ์ ให้เจ้าพนักงานประเมินโดยอนุมัติอธิบดีประเมินภาษีได้ภายในกำหนดเวลาห้าปีนับแต่กำหนดเวลาตาม (1)(ก) (2) และ (3) แล้วแต่กรณี"
2.5.6 อำนาจประเมินเบี้ยปรับ เงินเพิ่มภาษีมูลค่าเพิ่ม
เบี้ยปรับ และเงินเพิ่มภาษีมูลค่าเพิ่ม เป็นตามบทบัญญัติมาตรา 89 และมาตรา 89/1 แห่งประมวลรัษฎากร ดังนี้
“มาตรา 89 ให้ผู้มีหน้าที่เสียภาษี หรือบุคคลตามมาตรา 86/13 เสียเบี้ยปรับในกรณีและตามอัตราดังต่อไปนี้
(1) ประกอบกิจการโดยมิได้จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 85 หรือมาตรา 85/1 หรือประกอบกิจการเมื่อถูกสั่งเพิกถอนใบทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 85/17 แล้ว ให้เสียเบี้ยปรับอีกสองเท่าของเงินภาษีที่ต้องเสียในเดือนภาษี ตลอดระยะเวลาที่ไม่ปฏิบัติตามบทบัญญัติดังกล่าว หรือเป็นเงินหนึ่งพันบาทต่อเดือนภาษี แล้วแต่อย่างใดจะมากกว่า
(2) มิได้ยื่นแบบแสดงรายการภาษีหรือแบบนำส่งภาษีภายในกำหนดเวลา ให้เสียเบี้ยปรับสองเท่าของเงินภาษีที่ต้องเสียหรือนำส่งในเดือนภาษี
(3) ยื่นแบบแสดงรายการภาษีหรือแบบนำส่งภาษีไว้ไม่ถูกต้องหรือมีข้อผิดพลาด อันเป็นเหตุให้จำนวนภาษีที่ต้องเสียหรือนำส่งในเดือนภาษีคลาดเคลื่อนไป ให้เสียเบี้ยปรับอีกหนึ่งเท่าของเงินภาษีที่เสียคลาดเคลื่อน หรือที่นำส่งคลาดเคลื่อน
(4) ยื่นแบบแสดงรายการภาษีไว้ไม่ถูกต้อง หรือมีข้อผิดพลาดอันเป็นเหตุให้จำนวนภาษีขายหรือจำนวนภาษีซื้อในเดือนภาษีที่แสดงไวดคลาดเคลื่อไป ให้เสียเบี้ยปรับอีกหนึ่งเท่าของจำนวนภาษีขายที่แสดงไว้ขาดไปหรือจำนวนภาษีซื้อที่แสดงไว้เกินไป
(5) มิได้จัดทำใบกำกับภาษี และส่งมอบให้แก่ผู้ซื้อสินค้าหรือผู้รับบริการตามที่กำหนดในส่วน 10 ให้เสียเบี้ยปรับอีกสองเท่าของจำนวนภาษีตามใบกำกับภาษี
(6) ออกใบกำกับภาษี ใบเพิ่มหนี้ หรือใบลดหนี้ โดยไม่มีสิทธิที่จะออกตามกฎหมายตามมาตรา 86/13 ให้เสียเบี้ยปรับอีกสองเท่าของจำนวนภาษีตามใบกำกับภาษี ใบเพิ่มหนี้ หรือใบลดหนี้นั้น
(7) นำใบกำกับภาษีปลอม ไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วนมาใช้ในการคำนวณภาษี ให้เสียเบี้ยปรับอีกสองเท่าของจำนวนภาษีตามใบกำกับภาษีนั้น
ในกรณีใบกำกับภาษีที่ผู้ได้รับประโยชน์ไม่สามารถนำพิสูจน์ได้ว่า บุคคลใดเป็นผู้ออกใบกำกับภาษี ให้ถือว่าเป็นใบกำกับภาษีปลอม
(8) มิได้เก็บสำเนาใบกำกับภาษี ในกรณีภาษีขายไว้ตามที่กฎหมายกำหนด ให้เสียเบี้ยปรับอีกร้อยละสองของจำนวนเงินภาษีตามใบกำกับภาษี
(9) มิได้เก็บใบกำกับภาษีในกรณีภาษีซื้อที่ใช้เครดิตภาษี ในการคำนวณภาษีไว้ตามที่กฎหมายกำหนด ให้เสียเบี้ยปรับอีกร้อยละสองของจำนวนภาษีที่นำมาเครดิตนั้น
(10) มิได้ทำรายงานตามที่กฎหมายกำหนด หรอรายงานอื่นตามที่อธิบดีกำหนดตามมาตรา 87/1 หรือมีสินค้าขาดจากรายงานสินค้าและวัตถุดิบ ให้เสียเบี้ยปรับอีกสองเท่าของเงินภาษีซึ่งคำนวณจากฐานภาษีที่มิได้ทำรายงาน หรือมิได้ลงรายการในรายงานให้ถูกต้อง
เบี้ยปรับตามมาตรานี้ อาจงดหรือลดลงได้ตามระเบียบที่อธิบดีกำหนดโดยอนุมัติรัฐมนตรี”
“มาตรา 89/1 บุคคลใดไม่ชำระภาษี หรือนำส่งภาษีให้ครบถ้วนภายในกำหนดเวลาตามบทบัญญัติในหมวดนี้ ให้เสียเงินเพิ่มอีกร้อยละ 1.5 ต่อเดือนหรือเศษของเดือนของเงินภาษีที่ต้องชำระหรือนำส่งโดยไม่รวมเบี้ยปรับ
ในกรณีที่อธิบดีอนุมัติให้ขยายเวลาเสียภาษีตามที่กำหนดในมาตรา 3 อัฏฐ และได้มีการชำระภาษีหรือนำส่งภาษีภายในกำหนดเวลาที่ขยายให้นั้น เงินเพิ่มตามวรรคหนึ่งให้ลดหรืองดลงเหลือร้อยละ 0.75 ต่อเดือนหรือเศษของเดือน
การคำนวณเงินเพิ่มตามวรรคหนึ่งหรือวรรคสอง ให้เริ่มนับเมื่อพ้นกำหนดเวลายื่นแบบแสดงรายการภาษีหรือยื่นแบบนำส่งภาษีตามส่วน 7 จนถึงวันชำระภาษีหรือนำส่ง แต่เงินเพิ่มที่คำนวณได้มิให้เกินจำนวนภาษีที่ต้องชำระหรือนำส่ง”
2.6 อำนาจเจ้าพนักงานประเมินบัญญัติเป็นอย่างอื่นในหมวด 5 ภาษีธุรกิจเฉพาะ
2.6.1 อำนาจประเมินภาษีธุรกิจเฉพาะ เบี้ยปรับ และเงินเพิ่มตามมาตรา 91/15 ดังนี้
“มาตรา 91/15 เจ้าพนักงานประเมินมีอำนาจประเมินภาษี เบี้ยปรับ และเงินเพิ่มตามหมวดนี้ ในเมื่อ
(1) ปรากฏแก่เจ้าพนักงานประเมินว่าผู้มีหน้าที่เสียภาษีมิได้ยื่นแบบแสดงรายการภายในเวลาที่กฎหมายกำหนด
(2) ในกรณีเจ้าพนักงานประเมินมีหลักฐานแสดงว่า ผู้มีหน้าที่เสียภาษียื่นแบบแสดงรายการไม่ถูกต้อง หรือมีข้อผิดพลาดทำให้จำนวนภาษีที่ต้องเสียคลาดเคลื่อนไป หรือ
(3) ผู้มีหน้าที่เสียภาษีหรือผู้มีหน้าที่ยื่นแบบแสดงรายการแทนผู้ประกอบกิจการไม่ปฏิบัติตามหมายเรียกของเจ้าพนักงานประเมิน หรือไม่ยอมตอบคำถามของเจ้าพนักงานประเมินโดยไม่มีเหตุผลอันสมควร หรือไม่สามารถแสดงหลักฐานเพื่อการคำนวณภาษี”
2.6.2 เพื่อประโยชน์ในการดำเนินการตามมาตรา 91/15 เจ้าพนักงานประเมินมีอำนาจตามมาตรา 91/16 ดังนี้
“มาตรา 91/16 เพื่อประโยชน์ในการดำเนินการตามมาตรา 91/15 เจ้าพนักงานประเมินมีอำนาจ
(1) จัดทำรายการลงในแบบแสดงรายการตามหลักฐานที่เห็นว่าถูกต้อง เมื่อผู้ประกอบกิจการมิได้ยื่นแบบแสดงรายการ
(2) แก้ไขเพิ่มเติมรายการในแบบแสดงรายการหรือในเอกสารอื่นประกอบแบบแสดงรายการเพื่อให้ถูกต้อง
(3) กำหนดราคาขายสินค้าโดยเทียบเคียงกับราคาขายในวันเดียวกันหรือใกล้เคียงกันของสินค้าประเภทหรือชนิดเดียวกันตามราคาตลาดที่อาจเทียบเคียงกันได้
(4) กำหนดดอกเบี้ย ส่วนลด ค่าธรรมเนียม ค่าบริการ กำไรก่อนหักรายจ่ายใดๆ จากการซื้อหรือขายตั๋วเงินหรือแลกเปลี่ยนหรือซื้อขายเงินตรา การออกตั๋วเงิน หรือการส่งเงินไปต่างประเทศตามราคาตลาดที่อาจเทียบเคียงได้
(5) กำหนดรายรับซึ่งผู้ประกอบกิจการควรได้รับ เพราะผู้ประกอบกิจการกับผู้ซื้อมีการควบคุมหรือความสัมพันธ์กันในด้านทุนหรือด้านการจัดการ
(6) กำหนดดอกเบี้ย ราคาทรัพย์สิน หรือค่าบริการตามราคาตลาดในวันให้กู้ยืมเงิน วันที่โอน หรือให้บริการ ในกรณีที่การให้กู้ยืมเงิน การโอนทรัพย์สิน หรือการให้บริการนั้นไม่มีดอกเบี้ย ค่าตอบแทน หรือค่าบริการหรือมีดอกเบี้ย ค่าตอบแทน หรือค่าบริการต่ำกว่าราคาตลาดโดยไม่มีเหตุอันสมควร
(7) กำหนดรายรับโดยพิจารณาถึงฐานะความเป็นอยู่หรือพฤติการณ์ของผู้ประกอบกิจการ หรือสถิติการค้าของผู้ประกอบกิจการเองหรือของผู้ประกอบกิจการอื่นที่กระทำกิจการทำนองเดียวกัน หรือพิจารณาจากหลักเกณฑ์อย่างอื่นอันอาจแสดงรายรับได้โดยสมควร
(8) ประเมินภาษีตามที่รู้เห็นหรือพิจารณาว่าถูกต้องเมื่อมีกรณีตามมาตรา 91/12 (3) โดยไม่ต้องปฏิบัติตาม (1) ถึง (7) ก็ได้
2.6.3 อำนาจในการตรวจปฏิบัติการ ตามมาตรา 91/21 (5) และมาตรา 88/3 ดังนี้
ตามมาตรา 91/21 กำหนดให้นำบทบัญญัติตามหมวด 4 ภาษีมูลค่าเพิ่มมาใช้บังคับกับการจัดเก็บภาษีธุรกิจเฉพาะหลายกรณี ในส่วนของอำนาจเจ้าพนักงานประเมินเป็นไปตามมาตรา 91/21 (5) ซึ่งกำหนดให้นำมาตรา 88/3 มาตรา 88/4 และมาตรา 88/5 มาใช้บังคับโดยอนุโลม
“มาตรา 88/3 เจ้าพนักงานประเมินมีอำนาจเข้าไปในสถานประกอบการของผู้ประกอบการ ไม่ว่าจะเป็นผู้ประกอบการจดทะเบียนหรือไม่ หรือในสถานที่อื่นที่เกี่ยวข้องระหว่างพระอาทิตย์ขึ้นและพระอาทิตย์ตก หรือระหว่างเวลาทำการของผู้ประกอบการ และทำการตรวจสอบเพื่อให้ทราบว่าผู้ประกอบการได้ปฏิบัติการโดยถูกต้องตามบทบัญญัติในหมวดนี้หรือไม่ ในการนี้เจ้าพนักงานประเมินมีอำนาจสั่งผู้ประกอบการ หรือบุคคลที่อยู่ในสถานที่นั้นให้ปฏิบัติการเท่าที่จำเป็น เพื่อประโยชน์ในการตรวจสอบเอกสารหลักฐานต่างๆ อันควรแก่เรื่อง และมีอำนาจยึดเอกสารหลักฐานเหล่านั้นมาตรวจสอบไต่สวนได้
ในการดำเนินการตามวรรคหนึ่ง ให้เจ้าพนักงานประเมินแสดงบัตรประจำตัว พร้อมทั้งหนังสือหรือหลักฐานต่อผู้ที่เกี่ยวข้องเมื่อเข้าไปทำการตรวจสอบ”
2.6.4 อำนาจในการออกหมายเรียก ตามมาตรา 91/21 (5) และมาตรา 88/4
“มาตรา 88/4 ในการดำเนินการของเจ้าพนักงานประเมินในส่วนนี้ เจ้าพนักงานประเมินมีอำนาจออกหมายเรียกผู้มีหน้าที่เสียภาษี ผู้ทำการแทนหรือพยานกับผู้มีอำนาจสั่งบุคคลเหล่านั้นให้นำบัญชีเอกสารหรือหลักฐานอื่นอันควนแก่เรื่องมาตรวจสอบไต่สวนได้ หรือออกคำสั่งให้พยานตอบคำถามเป็นหนังสือ แต่จะต้องให้เวลาล่วงหน้าไม่น้อยกว่าเจ็ดวัน นับแต่วันได้รับหมายเรียกหรือได้รับคำสั่ง”
2.6.5 อำนาจแจ้งการประเมิน ตามมาตรา 91/21 (5) และมาตรา 88/5
“มาตรา 88/5 เมื่อเจ้าพนักงานประเมินได้ประเมินภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 88 หรือมาตรา 88/1 แล้วให้แจ้งการประเมินเป็นหนังสือไปยังผู้มีหน้าที่เสียภาษีหรือบุคคลตามมาตรา 88/1 ในกรณีนี้ผู้มีหน้าที่เสียภาษีหรือบุคคลตามมาตรา 88/1 จะใช้สิทธิอุทธรณ์การประเมินตามบทบัญญัติในส่วน 2 ของหมวด 2 ลักษณะ 2 ก็ได้ เว้นแต่ในกรณีที่เจ้าพนักงานประเมินได้ทำการประเมินเพราะเหตุตามมาตรา 88 (3) ห้ามมิให้อุทธรณ์”
2.7 อำนาจพนักงานเจ้าหน้าที่และนายตรวจอากรแสตมป์
2.7.1 อำนาจตรวจปฏิบัติการและออกหมายเรียก
“มาตรา 123 เมื่อมีเหตุสมควร พนักงานเจ้าหน้าที่หรือนายตรวจมีอำนาจเข้าไปในสถานการค้า หรือสถานที่ที่เกี่ยวข้องระหว่างพระอาทิตย์ขึ้นและพระอาทิตย์ตก หรือในเวลาที่เปิดทำการของสถานการค้าหรือสถานที่นั้น เพื่อทำการตรวจสอบตราสารว่า ได้ปิดแสตมป์บริบูรณ์ตามความในมาตรา 104 หรือไม่ หรือทำการตรวจสอบเพื่อทราบว่าได้ออกใบรับตามความในมาตรา 105 มาตรา 106 หรือทำหรือเก็บต้นขั้วสำเนาใบรับตามความในมาตรา 105 ทวิ หรือทำ หรือเก็บบันทึกตามความในมาตรา 105 ตรี หรือไม่ กับมีอำนาจเรียกและยึดตราสาร หรือเอกสาร และออกหมายเรียกตัวผู้มีหน้าที่เสียอากร ผู้ทรงตราสาร หรือผู้ถือเอาประโยชน์แห่งตราสาร และพยานหลักฐานอื่นอันควรแก่เรื่องมาไต่สวนได้”
2.7.2 อำนาจอธิบดีกรมสรรพากรโดยอนุมัติรัฐมนตรีมีอำนาจกำหนดวิธีการให้ผู้มีหน้าที่เสียอากรปฏิบัติ
“มาตรา 123 ทวิ เพื่อให้การเสียอากรในหมวดนี้เป็นไปโดยรัดกุม ให้อธิบดีโดยอนุมัติรัฐมนตรีมีอำนาจกำหนดวิธีการให้ผู้มีหน้าที่เสียอากรปฏิบัติ การกำหนดวิธีการเช่นว่านี้เมื่อได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้วให้ใช้บังคับได้
เพื่อความสะดวกของผู้มีหน้าที่เสียอากร การปฏิบัติในการขีดฆ่าตามความในมาตรา 103 หรือการปฏิบัติตามความในมาตรา 105 มาตรา 105 ทวิ มาตรา105 ตรี และมาตรา 105 จัตวา นั้น อธิบดีโดยอนุมัติรัฐมนตรีมีอำนาจกำหนดวิธีการให้ปฏิบัติเป็นอย่างอื่น หรือจะยกเว้นไม่ให้ต้องปฏิบัติก็ได้”
(ดูประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับอากรแสตมป์ (ฉบับที่ 21))
(ดูประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับอากรแสตมป์ (ฉบับที่ 22))
(ดูประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับอากรแสตมป์ (ฉบับที่ 23))
(ดูประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับอากรแสตมป์ (ฉบับที่ 29))
(ดูประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับอากรแสตมป์ (ฉบับที่ 32))
(ดูประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับอากรแสตมป์ (ฉบับที่ 33))
(ดูประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับอากรแสตมป์ (ฉบับที่ 37))
2.7.3 อำนาจกำหนดจำนวนเงินที่แสดงไว้ในใบรับนั้นตามจำนวนเงินที่สมควรได้รับตามปกติ
“มาตรา 123 ตรี ถ้าพนักงานเจ้าหน้าที่มีเหตุอันควรเชื่อว่าจำนวนเงินที่แสดงไว้ในใบรับตามลักษณะแห่งตราสาร 28. (ข) และ (ค) แห่งบัญชีอัตราอากรแสตมป์ต่ำไป พนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจกำหนดจำนวนเงินที่แสดงไว้ในใบรับนั้นตามจำนวนเงินที่สมควรได้รับตามปกติ และให้ผู้ออกใบรับมีหน้าที่เสียค่าอากรจากจำนวนเงินที่กำหนดนั้น
ผู้ออกใบรับซึ่งถูกกำหนดจำนวนเงินตามวรรคหนึ่งจะอุทธรณ์การกำหนดจำนวนเงินนั้นก็ได้ ทั้งนี้ให้นำบทบัญญัติว่าด้วยการอุทธรณ์ตามส่วน 2 หมวด 2 ลักษณะ 2 มาใช้บังคับโดยอนุโลม”