ผมอยากให้ทุกคนเข้าใจประมวลรัษฎากร และนำไปใช้ได้อย่างถูกต้อง
สุเทพ พงษ์พิทักษ์

คูปองแทนเงินสด

วันที่ 7 ม.ค. 2562  .  เรียบเรียงโดย wiwatc webmaster  .  เข้าชม 5 ครั้ง

ศุกร์ 4 มกราคม พ.ศ. 2562 เวลา 01:05 น.
คุณ Xiulan Yu "เพ็ญศรี"
เรียนถามอาจารย์ที่เคารพ
หากบริษัทฯ มีการมอบคูปองแทนเงินสด มีการสะสมแต้มเพื่อนำแต้มที่สะสมใช้แทนเงินสด ทั้งสองกรณีนี้ บริษัทฯ ต้องออกใบเสร็จเต็มตามมูลค่าบริการ ให้แก่ลูกค้าใช่หรือไม่คะ ส่วนคูปอง หรือแต้มที่ลูกค้านำมาใช้ ลงเป็นค่าใช้จ่ายส่งเสริมการขายจะได้ไหมคะ รบกวนอาจารย์แนะนำด้วยค่ะ เนื่องจากลูกค้าต้องการใบเสร็จเต็มมูลค่า โดยมีความเห็นว่าคูปอง หรือแต้มที่นำมาใช้มีค่าเทียบเท่าเงินสด
ขอบพระคุณอาจารย์ค่ะ
ด้วยความเคารพอย่างสูง

1 คำตอบ
กรณีบริษัทฯ จัดรายการส่งเสริมการขาย โดย
1. มอบคูปองแทนเงินสด (ส่วนลด)
2. การสะสมแต้มเพื่อนำแต้มที่สะสมใช้แทนเงินสด
ทั้งสองกรณีดังกล่าว บริษัทฯ ไม่ต้องออกใบเสร็จเต็มตามมูลค่าบริการ ให้แก่ลูกค้า เนื่องจากเป็นรายจ่ายของบริษัทฯ จนกว่าจะมีการนำคูปองหรือหลักฐานการสะสมแต้มเพียงแต่ต้องดำเนินการดังนี้
ประการแรก บริษัทฯ ต้องมีโปรแกรมช่วยจำว่า บริษัทฯ ได้มอบคูปองเงินสดไปเป็นจำนวนเท่าใด โดยยังไม่ต้องรับรู้รายจ่าย เพราะยังไม่เกิดภาระเป็นรายจ่ายอย่างแท้จริง
ประการที่สอง หากมีการมอบคูปองหรือหลักฐานการสะสมแต้มที่จะนำมาใช้แทนเงินสด ให้แก่ผู้ซื้อสินค้าไปขายต่อ บริษัทฯ มีหน้าที่ต้องออกหนังสือรับรองการหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย ในอัตรา 3% ของมูลค่าคูปองส่วนสด และนำส่งพร้อมทั้งยื่นแบบ ภ.ง.ด.3 หรือ ภ.ง.ด.53 ภายในวันที่ 7 ของเดือนถัดไป แล้วแต่กรณี
ประการที่สาม ต้องจำแนกได้ว่า คูปองที่มอบให้แก่ลูกค้านั้น บริษัทฯ จะ Treat เป็นส่วนลดการค้า เฉพาะรายการที่นำกลับมาซื้อสินค้าตามรายการที่กำหนด (Specific Goods) ให้ถือเป็นส่วนลดการค้า และหากนำมาใช้ในการซื้อสินค้าทั่วไปหรือเพื่อการลดหนี้ ให้ถือเป็นส่วนลดเงินสด
เมื่อลูกค้านำคูปองหรือหลักฐานการสะสมแต้มมาใช้ในการซื้อสินค้า ในทางภาษีเงินได้นิติบุคคล ให้บริษัทฯ รับรู้เป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิ พร้อมกับบันทึกเป็นรายได้ ซึ่งจะเป็นรายการตรงกันข้ามกัน (Contra)
ผลในทางภาษีมูลค่าเพิ่ม
ประการที่หนึ่ง หากมีเงื่อนไขให้นำมาใข้เป็น "ส่วนลดการค้า" (Trade Discount) บริษัทฯ ไม่ต้องนำส่วนลดการค้ามาถือรวมเป็นมูลค่าของฐานภาษีในการคำนวณาษีมูลค่าเพิ่ม ตามมาตรา 79 (1) แห่งประมวลรัษฎากร
....หากเป็นการออกใบกำกับภาษีแบบเต็มรูปตามมาตรา 86/4 แห่งประมวลรัษฎากร ต้องแสดงส่วนลดการค้าให้เห็นชัดแจ้งในใบกำกับภาษี
....หากเป็นการออกใบกำกับภาษีอย่างย่อ ตามมาตรา 86/6 แห่งประมวลรัษฎากร สำหรับการค้าปลีก บริษัทฯ จะแสดงส่วนลดการค้าดังกล่าวไว้ในใบกำกับภาษีอย่างย่อด้วยหรือไม่ก้ได้
ประการที่สอง หากมีเงื่อนไขให้นำมาใช้เป็นส่วนลดเงินสด (Cash Discount) บริษัทฯ ต้องนำมูลค่าของสินค้าที่ขายทั้งจำนนวนก่อนหักส่วนลดเงินสดมารวมคำนวณเป็นมูลค่าของฐานภาษีในการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่มด้วย
....ในประเด็นนี้ ถือว่าบริษัทฯ ได้รับคูปองเงินสดหรือหลักฐานการสะสมแต้ม จึงต้อวออกใบกำกับภาษี/ใบเสร็จรับเงินให้แก่ลูกค้า โดยถือว่า คูปอง หรือแต้มที่นำมาใช้มีค่าเทียบเท่าเงินสด
ป.ล. อธิบายยากอยู่เหมือนกันนะ คิดว่าเป็นเรื่องง่ายๆ
เมื่อ 7 ม.ค. 2562  .  เรียบเรียงโดย wiwatc webmaster