ผมอยากให้ทุกคนเข้าใจประมวลรัษฎากร และนำไปใช้ได้อย่างถูกต้อง
สุเทพ พงษ์พิทักษ์

ภาษีมูลค่าเพิ่ม กรณีเริ่มต้นประกอบกิจการคลินิกเสริมความงาม ที่ต้องการขอใบอนุญาตประกอบกิจการสถานพยาบาล

ถามวันที่ 4 ก.ย. 2559  .  ถามโดย Warin  .  เข้าชม 16 ครั้ง

กิจการ A ได้จดทะเบียนจัดตั้งบริษัท โดยได้แจ้งวัตถุประสงค์ในการประกอบกิจการคือประกอบกิจกรรมคลินิกโรคทั่วไป และได้ดำเนินการกิจการดังต่อไปนี้

1. กิจการมีวัตถุประสงค์ในการให้บริการเสริมความงาม นวดหน้า ทำทรีตเม้นท์ ฉีดโบท๊อก ฉีดฟิลเลอร์
โดยมีหมอที่มีใบอนุญาตประกอบโรคศิลป์เป็นแพทย์ประจำคลินิก และเป็นผู้ให้การรักษาในกรณีฉีดโบท๊อกซ์ ฉีดฟิลเลอร์ หรือบริการอื่นๆที่ต้องให้บริการโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ รวมถึงหมอเป็นผู้สั่งจ่ายยาให้กับลูกค้าหลังการรักษา ส่วนบริการนวดหน้าและทำทรีตเม้นท์ขั้นต้น จะมีพนักงานที่ได้รับการฝึกอบรมเป็นผู้ให้บริการ

2. หลังจากจดจัดตั้งบริษัท กิจการได้เริ่มขายคอร์สเสริมความงามให้แก่ลูกค้า (Pre-sales) ก่อนเปิดดำเนินการคลินิก และลูกค้าจะเริ่มใช้บริการภายหลัง เมื่อคลินิกพร้อมให้บริการ

3. คลินิกที่ทำการ กำลังอยู่ในระหว่างการดำเนินการก่อสร้างและตกแต่ง
4. หากคลินิกดำเนินการก่อสร้างและตกแต่งเสร็จเรียบร้อยแล้ว กิจการมีแผนที่จะดำเนินการขอใบอนุญาต
ดังต่อไปนี้ คือ
1) ใบอนุญาตให้ประกอบกิจการสถานพยาบาล : เจ้าของกิจการเป็นผู้ขอเอง
2) ใบอนุญาตให้ดำเนินการสถานพยาบาล : แพทย์ที่ได้รับใบประกอบวิชาชีพต้องเป็นผู้ขอ

ซึ่งการดำเนินการขอใบอนุญาตดังกล่าว จะใช้เวลาประมาณ 5-6 เดือนหลังเปิดทำการคลินิก หากได้ใบอนุญาตประกอบการแล้ว ถือว่าเป็นกิจการสถานพยาบาล ซึ่งเป็นกิจการที่ไม่จำเป็นต้องจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม

5. คลินิกได้รับเงินจากการขายคอร์สเสริมความงามจากลูกค้าเกิน 1.8 ล้านบาท/ปี ก่อนเปิดดำเนินการคลินิก และก่อนที่จะได้รับใบอนุญาตประกอบกิจการสถานพยาบาล และใบอนุญาตให้ดำเนินการสถานพยาบาล

ข้อหารือ
1. บริษัทฯจำเป็นต้องจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มหรือไม่ หากบริษัทฯได้รับเงินจากลูกค้าเกิน 1.8 ล้านบาท/ปี ก่อนที่คลินิกจะเปิดดำเนินการ และก่อนได้รับใบอนุญาตประกอบกิจการสถานพยาบาล รวมถึงก่อนได้รับใบอนุญาตให้ดำเนินการสถานพยาบาล

2. หากบริษัทฯจำเป็นต้องจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม กิจการสามารถออกจากระบบภาษีมูลค่าเพิ่มหลังจากที่ได้รับใบอนุญาตประกอบกิจการสถานพยาบาลและดำเนินการสถานพยาบาลได้หรือไม่


3. หากบริษัทฯไม่จำเป็นต้องจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มตั้งแต่ต้น เงินได้ที่ได้รับจากลูกค้าเกิน 1.8 ล้านบาท/ปี ไม่จำเป็นต้องนำส่งภาษีมูลค่าเพิ่มใช่หรือไม่
4. กรณีที่บริษัทฯได้เช่าพื้นที่ในห้างสรรพสินค้าเพื่อให้เปิดดำเนินการคลินิกและให้บริการแก่ลูกค้า บริษัทฯจำเป็นต้องไปดำเนินการจดสาขาหรือไม่ (สถานที่จดทะเบียนจัดตั้งบริษัทฯไม่ได้เป็นที่อยู่เดียวกับที่ตั้งคลินิกที่เช่าพื้นที่ในห้างสรรพสินค้า)


ขอแสดงความนับถือ

1 คำตอบ
เรียน คุณ warin.n

1. กรณีบริษัทฯ ได้รับเงินค่าบริการ "คอร์สเสริมความงามให้แก่ลูกค้า" (Pre-sales) ก่อนเปิดดำเนินการคลินิก และลูกค้าจะเริ่มใช้บริการภายหลัง เมื่อคลินิกพร้อมให้บริการ ก่อนที่บริษัทฯ จะได้รับใบอนุญาตให้ประกอบกิจการสถานพยาบาล และใบอนุญาตให้ดำเนินการสถานพยาบาล โดยมีจำนวนเกินกว่า 1.8 ล้านบาทต่อปี บริษัทฯ มีหน้าที่ต้องจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม

2. และ 3. บริษัทฯ จำเป็นต้องจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม โดยระบุให้ชัดเจน ว่า สำหรับรายได้ค่าบริการรับล่วงหน้าก่อนเปิดสถานพยาบาล เพราะเหตุที่ยังไม่ได้รับใบอนุญาตให้ประกอบกิจการสถานพยาบาล และใบอนุญาตให้ดำเนินการสถานพยาบาล ดังนั้น เมื่อบริษัทฯ ได้รับใบอนุญาตให้ประกอบกิจการสถานพยาบาล และใบอนุญาตให้ดำเนินการสถานพยาบาล ก็ย่อมสามารถจดแจ้งเลิกกิจการภาษีมูลค่าเพิ่ม ได้ทันที เพี่ยงแต่ทรัพย์สิน ณ วันที่เลิกกิจการที่ลงทุนเพื่อการประกอบการกิจการสถานพยาบาล ต้องกันออกไปว่า เป็นทรัพย์สินของกิจการที่ไม่อยู่ในระบบภาษีมูลค่าเพิ่ม มิฉะนั้น จะต้องถือเป็นการขายตามมาตรา 77/1 (8)(ฉ) แห่งประมวลรัษฎากร

4. กรณีที่บริษัทฯ ได้เช่าพื้นที่ในห้างสรรพสินค้าเพื่อให้เปิดดำเนินการคลินิกและให้บริการแก่ลูกค้า บริษัทฯ ไม่จำเป็นต้องไปดำเนินการจดแจ้งเพิ่มสาขาตามมาตรา 85/7 แห่งประมวลรัษฎากร เพราะเป็นสถานที่่ใช้ประกอบกิจการสถานพยาบาล
ตอบเมื่อ 10 ก.ย. 2559  .  ตอบโดย อจ.สุเทพ