ผมอยากให้ทุกคนเข้าใจประมวลรัษฎากร และนำไปใช้ได้อย่างถูกต้อง
สุเทพ พงษ์พิทักษ์

สิทธิการเช่า ค่าแป๊ะเจี๊ยะ สัญญาเช่าช่วง

ถามวันที่ 8 ก.ย. 2559  .  ถามโดย p-audit  .  เข้าชม 21 ครั้ง

สวัสดีครับอาจารย์
ผมมีคำถามรบกวนขอสอบถามท่านอาจารย์ในประเด็นที่ผมไม่เข้าใจและสับสนมากดังนี้ครับ
1. ค่าสิทธิการเช่า หมายถึงอะไรครับ และ มีลักษณะอย่างไรครับ ค่าแป๊ะเจี๊ยะ เงินกินเปล่า ค่าหน้าดิน ถือเป็นค่าสิทธิการเช่าด้วยหรือไม่ครับ
2. ค่าสิทธิการเช่าเป็นเงินได้ตามมาตรา 40(8) ส่วนค่าแป๊ะเจี๊ยะ เงินกินเปล่า ค่าหน้าดิน ถือเป็นเงินได้ตามมาตรา 40(5) ใช่หรือไม่ครับ
3. ค่าสิทธิการเช่าถ้าเกิน 1.8 ล้านบาทถือว่าเข้าข่ายต้องจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม ส่วนค่าแป๊ะเจี๊ยะ เงินกินเปล่า ค่าหน้าดินได้รับยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มถูกต้องไหมครับ
4. ผมไปทำสัญญาเช่าที่ดินจากพ่อมาปีละ 5 แสนบาท และเอาที่ดินให้บุคคลอื่นเช่าต่อโดยตกลงเก็บค่าหน้าดิน 2 ล้านและค่าเช่าอีกเดือนละ 1 แสนบาท ในลักษณะแบบนี้ถือเป็นรายได้จากสิทธิการเช่า 2 ล้าน และ รายได้ค่าเช่าเดือนละ 1 แสนบาท ถูกต้องไหมครับหรือว่าถือเป็นรายได้ค่าเช่าทั้งจำนวนเลย

ขอขอบพระคุณท่านอาจารย์ล่วงหน้ามา ณ ที่นี้ครับ

พีเค

1 คำตอบ
เรียน คุณ p-audit

1. ค่าสิทธิการเช่า หรือต้นทุนเพื่อการได้มาซึ่งสิทธิการเช่า หมายรวมถึง เงินแป๊ะเจี๊ยะ เงินกินเปล่า เงินช่วยค่าก่อสร้าง ค่าหน้าดิน ที่ผู้เช่าได้จ่ายเป็นก้อนให้แก่ผู้เช่า เพื่อให้ได้มาซึ่งสิทธิการเช่าระยะยาว รวมทั้ง ค่าก่อสร้างอาคารแล้วยกให้แก่ผู้ให้เช่าเพื่อการได้สิทธิการเช่าตอบแทนระยะยาวด้วย
2. ค่าสิทธิการเช่า รวมทั้งค่าแป๊ะเจี๊ยะ เงินกินเปล่า ค่าหน้าดินเป็นเงินได้ตามมาตรา 40(5)(ก) แห่งประมวลรัษฎากร
3. ค่าสิทธิการเช่าถ้าเกิน 1.8 ล้านบาทถือว่าเข้าข่ายต้องจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม เฉพาะกรณีที่ผู้เช่าได้นำสิทธิการเช่านั้นมาใช้ในการประกอบกิจการที่อยู่ในข่ายที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม และต่อมาได้โอนสิทธิการเช่านั้นให้แก่บุคคลอื่น จึงถือเป็นการขายสินค้า (สังหาริมทรัพย์) ที่อยู่ในข่ายต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม ส่วนค่าแป๊ะเจี๊ยะ เงินกินเปล่า ค่าหน้าดิน ถือเป็นค่าเช่าอสังหาริมทรัพย์ของผู้ให้เช่าอสังหาริมทรัพย์ จึงได้รับยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม
4. กรณีทำสัญญาเช่าที่ดินโดยเสียค่าเช่าปีละ 5 แสนบาท โดยได้นำที่ดินนั้นไปให้บุคคลอื่นเช่าต่อ เรียกว่าการให้เช่าช่วง จึงต้องได้รับความยินยอมจากเจ้าของทีดินเดิมเสียก่อน มิฉะนั้นจะตกเป็นโมฆะ โดยตกลงเก็บค่าหน้าดิน 2 ล้าน และค่าเช่าอีกเดือนละ 1 แสนบาท เช่นนี้ ในแง่ของผู้ให้เช่า รายได้ทั้งหมดถือเป็น "ค่าเช่า" กรณีนีี้ให้ศึุกษาเพิ่มเติมจากคำสั่งกรมสรรพากรที่ ป. 148/2557
แต่ในแง่ของผู้เช่า ค่าหน้าดิน 2 ล้านบาท ถือเป็นสิทธิการเช่า และค่าเช่าเดือนละ 1 แสนบาท
ตอบเมื่อ 9 ก.ย. 2559  .  ตอบโดย อจ.สุเทพ