ผมอยากให้ทุกคนเข้าใจประมวลรัษฎากร และนำไปใช้ได้อย่างถูกต้อง
สุเทพ พงษ์พิทักษ์

ภาษีมูลค่าเพิ่มและภาษีอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง

ถามวันที่ 13 ก.ย. 2559  .  ถามโดย nathanan_nan  .  เข้าชม 12 ครั้ง

เรียน อาจารย์สุเทพ ที่เคารพ
ขอเรียนถามอาจารย์ดังนี้ บริษัทฯ อยู่ในระบบภาษีมูลค่าเพิ่ม มีการเช่าที่ดินจากบุคคลธรรมดาโดยมีจดสิทธิการเช่าที่กรมที่ดินในนามบริษัท เพื่อทำการปลูกสร้างอาคารสำนักงานของบริษัท และได้มีการขอคืนภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับค่าใช้จ่ายในการก่อสร้างอาคารดังกล่าว แต่เนื่องจากทางบริษัทฯ ได้ผิดนัดชำระค่าเช่าที่ดินเป็นเวลาหลายปีแล้ว เลยคิดว่าจะคืนที่ดินดังกล่าวให้กับเจ้าของที่ดินโดยยกอาคารที่ปลูกสร้างแล้วให้กับเจ้าของที่ดินเป็นการชดเชยที่ไม่ได้จ่ายค่าเช่าที่ดิน จึงอยากทราบว่าถ้าบริษัทยกอาคารดังกล่าวให้กับเจ้าของที่ดินจะถือเป็นการขายหรือไม่ โดยสัญญาเช่าที่ดินดังกล่าวมีการระบุว่าเมื่อสัญญาเช่าสิ้นสุดลงแล้ว โดยไม่ใช่ความผิดของผู้ให้เช่า ผู้เช่าตกลงให้กรรมสิทธิในอาคารและส่ิงปลูกสร้างตกเป็นของผู้ให้เช่า และผู้เช่ามีสิทธิเลือกทีจะให้ผู้เช่ารื้อถอนอาคารและสิ่งปลูกสร้างต่าง ๆ ออกจากที่ดินที่เช่าได้จึงขอเรียนปรึกษาอาจารย์ดังนี้
1. การยกอาคารและส่ิงปลูกสร้างถือเป็นการขายหรือไม่ จะต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มหรือไม่ โดยหักล้างกับค่าเช่าค้างจ่ายที่บริษัทค้างจ่ายอยู่ และถ้าถือเป็นการขายบริษัทฯ สามารถนำมูลค่าสุทธิของอาคารและส่ิงปลูกสร้างมาเป็นต้นทุนของการขายได้หรือไม่ (ในกรณีที่บริษัทฯ ไม่ได้อยู่จนครบสัญญาเช่า เนื่องจากผิดสัญญาไม่ได้จ่ายค่าเช่า)

2. กรณีบริษัทฯ อยู่จนครบสัญญาโดยไม่ได้ค้างค่าเช่า การยกอาคารและส่ิ่งปลูกสร้างให้จะถือเป็นการขายหรือไม่
3. ทางด้านผู้เช่าเมื่อได้รับอาคารและส่ิงปลูกสร้างจะต้องเสียภาษีอะไรหรือไม่
รบกวนอาจารย์ช่วยแนะนำด้วยค่ะ
ขอบคุณค่ะ


1 คำตอบ
เรียน คุณ nathanan_nan

กรณีบริษัทฯ อยู่ในระบบภาษีมูลค่าเพิ่ม มีการเช่าที่ดินจากบุคคลธรรมดาโดยมีจดสิทธิการเช่าต่อเจ้าพนักงาน ณ สำนักที่ดินในนามบริษัท เพื่อทำการปลูกสร้างอาคารสำนักงานของ บริษัทฯ และได้มีการขอคืนภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับค่าใช้จ่ายในการก่อสร้างอาคารดังกล่าว แต่เนื่องจากทางบริษัทฯ ได้ผิดนัดชำระค่าเช่าที่ดินเป็นเวลาหลายปีแล้ว เลยดำริที่จะคืนที่ดินดังกล่าวให้กับเจ้าของที่ดินโดยยกอาคารที่ปลูกสร้างแล้วให้กับเจ้าของที่ดินเป็นการชดเชยที่ไม่ได้จ่ายค่าเช่าที่ดิน
เมื่อบริษัทฯ ยกอาคารดังกล่าวให้กับเจ้าของที่ดิน โดยสัญญาเช่าที่ดินดังกล่าวมีการระบุว่าเมื่อสัญญาเช่าสิ้นสุดลงแล้ว โดยไม่ใช่ความผิดของผู้ให้เช่า ผู้เช่าตกลงให้กรรมสิทธิ์ในอาคารและสิ่งปลูกสร้างตกเป็นของผู้ให้เช่า และผู้เช่ามีสิทธิเลือกทีจะให้ผู้เช่ารื้อถอนอาคารและสิ่งปลูกสร้างต่าง ๆ ออกจากที่ดินที่เช่าได้ นั้น
1. การยกอาคารและสิ่งปลูกสร้างไม่ถือเป็นการขายที่อยู่ในข่ายที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 77/1 (8) แห่งประมวลรัษฎากร หากแต่ภาษีซื้อสำหรับค่าก่อสร้างอาคารที่บริษัทฯ ได้เคยขอเครดิตหักออกจากภาษีขายไว้ในแต่ละเดือนภาษีตกเป็นภาษีซื้อต้องห้ามตามมาตรา 82/5 (6) แห่งประมวลรัษฎากร ประกอบกับข้อ 2 (4) ของประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 42) หากอาคารและสิ่งปลูกสร้างยังไม่เกินกว่า 3 ปี นับแต่เดือนภาษีที่อาคารเสร็จสมบูรณ์ บริษัทฯ ต้องยื่นแบบ ภ.พ.30 เพิ่มเติมในแต่ละเดือนภาษีที่เคยได้นำภาษีซื้อจากการก่อสร้างมาใช้เป็นเครดิตหักออกจากภาษีขายในการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่มที่ต้องชำระ
การนำมูลค่าอาคารหักล้างกับค่าเช่าค้างจ่ายที่บริษัทฯ ค้างจ่ายอยู่ เป็นการนำทรัพย์สินไปชำระค่าเช่าค้างจ่าย
(1) ในทางภาษีเงินได้นิติบุคคล บริษัทฯ ต้องรับรู้รายได้ตามราคาตลาดของอาคารและสิ่งปลูกสร้างนั้น ตามนัยมาตรา 65 ทวิ (4) แห่งประมวลรัษฎากร และสามารถนำมูลค่าสุทธิของอาคารและสิ่งปลูกสร้างมาเป็นต้นทุนของการขายได้
(2) ในทางภาษีธุรกิจเฉพาะ การโอนกรรมสิทธิ์ในอาคารให้แก่ผู้ให้เช่าที่ดิน เข้าลักษณะเป็นการขายอสังหาริมทรัพย์เป็นทางค้าหรือหากำไร ตามมาตรา 91/1 (4) และมาตรา 91/2 (6) แห่งประมวลรัษฎากร ตั้งแต่วันที่ 31 มกราคม 2542 เป็นต้นไป เนื่องจากการโอนกรรมสิทธิ์ในอสังหาริมทรัพย์ให้เจ้าของที่ดิน โดยไม่จดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมต่อเจ้าพนักงานที่ดิน ผู้ประกอบการจึงไม่มีหน้าที่เสียภาษีธุรกิจเฉพาะ ทั้งนี้ ตามมาตรา 91/8 วรรคสาม แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 34) พ.ศ. 2541 ประกอบกับมาตรา 4 แห่งพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 342) พ.ศ. 2541
(3) กรณีภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย บริษัทฯ มีหน้าที่ต้องคำนวณหักภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ณ ที่จ่ายในอัตราร้อยละ 5.0 ของค่าเช่า ตามมาตรา 3 เตรส แห่งประมวลรัษฎากร ประกอบกับข้อ 6 ของคำสั่งกรมสรรพากรที่ ท.ป. 4/2528

2. กรณีบริษัทฯ อยู่จนครบสัญญาโดยไม่ได้ค้างค่าเช่า การยกอาคารและสิ่งปลูกสร้างให้แก่ผู้ให้เช่า ย่อมไม่ถือเป็นการขาย หากมูลค่าอาคารสุทธิหลังหักค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคายังคงเหลืออยู่ ก็ให้รับรู้เป็นรายจ่ายในการดำเนินกิจการทั้งจำนวน

3. ทางด้านผู้เช่าเมื่อได้รับอาคารและสิ่งปลูกสร้างจะต้องเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา สำหรับเงินได้ค่าเช่าที่ได้รับชำระตามมูลค่าอาคารและสิ่งปลูกสร้างตามนัยมาตรา 9 ทวิ แห่งประมวลรัษฎากร ที่บัญญัติว่า "ถ้าจะต้องตีราคาทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดเป็นเงิน ให้ถือราคาหรือค่าอันพึงมีในวันที่ได้ทรัพย์สินหรือประโยชน์นั้น"
ตอบเมื่อ 2 ต.ค. 2559  .  ตอบโดย อจ.สุเทพ