ผมอยากให้ทุกคนเข้าใจประมวลรัษฎากร และนำไปใช้ได้อย่างถูกต้อง
สุเทพ พงษ์พิทักษ์

พรฎ 604 กับ สัญญาเช่าซื้อเครื่องจักรระยะเวลา 48 เดือน

ถามวันที่ 14 ก.ย. 2559  .  ถามโดย boonruk888  .  เข้าชม 17 ครั้ง

กราบเรียนอาจารย์สุเทพ พงษ์พิทักษ์ที่เคารพ
สัญญาเช่าซื้อเครื่องจักรตกลงกันผ่อน 48 งวด หรือ 4 ปี หากนำไปใช้สิทธิยกเว้นภาษีเงินได้ ก็จะหักเป็นรายจ่ายลงทุนตามจำนวนค่างวดเช่าซื้อ ที่ไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่มได้เพิ่มภายในระยะเวลา 4 ปี ซึ่งไม่ตรงตามข้อกำหนดของข้อ 3 ในประกาศอธิบดีกรมสรรพากร ฉบับที่ 266 ออกโดยอาศัยอำนาจตาม พรฎ 604 ในทางปฏิบัติจะนำไปใช้สิทธิยกเว้นภาษีเงินได้ตามส่วนเฉลี่ยเป็นจำนวนเท่ากันเป็นระยะเวลา 5 ปี อย่างไร

กราบเรียนมาด้วยความเคารพอย่างสูงครับ

1 คำตอบ
เรียน อาจารย์ boonruk888 .

สัญญาเช่าซื้อเครื่องจักรตกลงกันผ่อน 48 งวด หรือ 4 ปี หากนำไปใช้สิทธิยกเว้นภาษีเงินได้ ก็จะหักเป็นรายจ่ายลงทุนตามจำนวนค่างวดเช่าซื้อ ที่ไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่มได้เพิ่มภายในระยะเวลา 4 ปี ซึ่งไม่ตรงตามข้อกำหนดของข้อ 3 ในประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 266) ซึ่งออกโดยอาศัยอำนาจตาม พ.ร.ฎ. (ฉบับที่ 604) นั้น

ตามมาตรา 3 แห่ง พ.ร.ฎ. (ฉบับที่ 604) พ.ศ. 2558 บัญญัติว่า
"มาตรา 3 ให้ยกเว้นภาษีเงินได้ (นิติบุคคล) ตามส่วน 3 หมวด 3 ในลักษณะ 2 แห่งประมวลรัษฎากร ให้แก่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล สําหรับเงินได้เท่ากับรายจ่ายที่ได้จ่ายเพื่อการลงทุน หรือการต่อเติม เปลี่ยนแปลง ขยายออก หรือทําให้ดีขึ้นซึ่งทรัพย์สินที่เกี่ยวเนื่องกับกิจการ แต่ไม่ใช่เป็นการซ่อมแซมให้คงสภาพเดิม ตามมาตรา 65 ตรี (5) แห่งประมวลรัษฎากร เป็นจํานวนร้อยละ 100 ของรายจ่ายตามจํานวนที่จ่ายจริง และต้องเป็นทรัพย์สินดังต่อไปนี้
(1) เครื่องจักร ส่วนประกอบ อุปกรณ์ เครื่องมือ เครื่องใช้ เครื่องตกแต่ง และเฟอร์นิเจอร์
(2) โปรแกรมคอมพิวเตอร์
(3) ยานพาหนะที่จดทะเบียนในราชอาณาจักรตามกฎหมายว่าด้วยยานพาหนะนั้น ๆ แต่ไม่รวมถึงรถยนต์นั่งหรือรถยนต์โดยสารที่มีที่นั่งไม่เกิน ๑๐ คน ตามกฎหมายว่าด้วยพิกัดอัตราภาษีสรรพสามิตที่มิใช่ได้มาเพื่อนําออกให้เช่า
(4) อาคารถาวร แต่ไม่รวมถึงที่ดินและอาคารถาวรที่ใช้เพื่อการอยู่อาศัย
รายจ่ายที่ได้จ่ายไปตามวรรคหนึ่ง ต้องจ่ายไปตั้งแต่วันที่ 3 พฤศจิกายน พ.ศ. 2558 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2559 ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีประกาศกําหนด (ซึ่งได้แก่ ประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 266)"
ตามข้อ 2 และข้อ 3 ของประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 266) ได้กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับเงินได้ที่ได้จ่ายเพื่อการลงทุนหรือการต่อเติม เปลี่ยนแปลง ขยายออกหรือทำให้ดีขึ้นซึ่งทรัพย์สิน แต่ไม่ใช่เป็นการซ่อมแซมให้คงสภาพเดิมตามมาตรา 65 ตรี (5) แห่งประมวลรัษฎากร ดังนี้
"ข้อ 2 ทรัพย์สินตามข้อ 1 (1)(2) และ (3) ต้องเกิดจากการลงทุน หรือการต่อเติม เปลี่ยนแปลง ขยายออก หรือทำให้ดีขึ้นซึ่งทรัพย์สินที่เกิดขึ้นจากสัญญา ใบสั่งซื้อ ใบสั่งจ้าง หรือข้อตกลงในลักษณะทำนองเดียวกันทั้งสิ้น แล้วแต่กรณี ที่ได้กระทำตั้งแต่วันที่ 3 พฤศจิกายน พ.ศ. 2558 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2559
ทรัพย์สินตามข้อ 1 (4) ต้องเกิดจากการลงทุน หรือการต่อเติม เปลี่ยนแปลง ขยายออก หรือทำให้ดีขึ้นซึ่งทรัพย์สินดังนี้
(1) ต้องขออนุญาตก่อสร้างหรือดัดแปลงอาคารตามพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 โดยยื่นคำขอต่อเจ้าพนักงานท้องถิ่นตั้งแต่วันที่ 3 พฤศจิกายน พ.ศ. 2558 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2559 หรือ
(2) ต้องแจ้งก่อสร้างหรือดัดแปลงอาคารตามมาตรา 39 ทวิ แห่งพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 ต่อเจ้าพนักงานท้องถิ่นตั้งแต่วันที่ 3 พฤศจิกายน พ.ศ. 2558 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2559 หรือ
(3) กรณีที่ไม่ถือเป็นการดัดแปลงอาคารตามพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 และกฎกระทรวง ฉบับที่ 11 (พ.ศ. 2528) ออกตามความในพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 จะต้องเกิดจากสัญญาจ้าง ใบสั่งจ้าง หรือข้อตกลงในลักษณะทำนองเดียวกันทั้งสิ้น แล้วแต่กรณี ที่ได้กระทำตั้งแต่วันที่ 3 พฤศจิกายน พ.ศ. 2558 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2559
การลงทุนในทรัพย์ตามข้อ 1 (4) ไม่รวมถึงการลงทุนในทรัพย์สินโดยการซื้อหรือเช่าซื้อทรัพย์สินนั้นมา”
(แก้ไขเพิ่มเติมโดยประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 270) เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับเงินได้ที่ได้จ่ายเพื่อการลงทุนหรือการต่อเติม เปลี่ยนแปลง ขยายออกหรือทำให้ดีขึ้นซึ่งทรัพย์สิน แต่ไม่ใช่เป็นการซ่อมแซมให้คงสภาพเดิมตามมาตรา 65 ตรี (5) แห่งประมวลรัษฎากร ลงวันที่ 28 มิถุนายน พ.ศ. 2559)
ข้อ 3 ให้บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลได้รับสิทธิยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับเงินได้เท่ากับรายจ่ายที่ได้จ่ายไปเพื่อการลงทุนหรือการต่อเติม เปลี่ยนแปลง ขยายออก หรือทำให้ดีขึ้นซึ่งทรัพย์สิน แต่ไม่ใช่เป็นการซ่อมแซมให้คงสภาพเดิม ตามมาตรา 65 ตรี (5) แห่งประมวลรัษฎากร เป็นจำนวนร้อยละหนึ่งร้อยของรายจ่ายตามจำนวนที่ได้จ่ายไปจริงตั้งแต่วันที่ 3 พฤศจิกายน พ.ศ. 2558 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2559 โดยให้ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลตามประเภทของทรัพย์สินตามหลักเกณฑ์ วิธีการ เงื่อนไขและระยะเวลาดังนี้
(1) ทรัพย์สินตามข้อ 1 (1) ให้ยกเว้นตามส่วนเฉลี่ยเป็นจำนวนเท่ากันของจำนวนเงินได้ที่ได้รับยกเว้นสำหรับระยะเวลาห้ารอบระยะเวลาบัญชีต่อเนื่องกัน
(2) ทรัพย์สินตามข้อ 1 (2) ให้ยกเว้นตามส่วนเฉลี่ยเป็นจำนวนเท่ากันของจำนวนเงินได้ที่ได้รับยกเว้นสำหรับระยะเวลาสามรอบระยะเวลาบัญชีต่อเนื่องกัน
(3) ทรัพย์สินตามข้อ 1 (3) ให้ยกเว้นตามส่วนเฉลี่ยเป็นจำนวนเท่ากันของจำนวนเงินได้ที่ได้รับยกเว้นสำหรับระยะเวลาห้ารอบระยะเวลาบัญชีต่อเนื่องกัน
(4) ทรัพย์สินตามข้อ 1 (4) ให้ยกเว้นตามส่วนเฉลี่ยเป็นจำนวนเท่ากันของจำนวนเงินได้ที่ได้รับยกเว้นสำหรับระยะเวลายี่สิบรอบระยะเวลาบัญชีต่อเนื่องกัน"

เนื่องจากตามมาตรา 3 แห่งพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 604) พ.ศ. 2558 ได้กำหนดให้สิทธิเฉพาะการจ่ายเงินระหว่างวันที่ 3 พฤศจิกายน พ.ศ. 2558 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2559 เท่านั้น ดังนั้น ในทางปฏิบัติจะนำไปใช้สิทธิยกเว้นภาษีเงินได้ตามส่วนเฉลี่ยเป็นจำนวนเท่ากันเป็นระยะเวลา 5 ปี เฉพาะการจ่ายค่าเช่าซื้อที่ได้จ่ายไปตั้งแต่วันที่ 3 พฤศจิกายน พ.ศ. 2558 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2559 เท่านั้น
ตอบเมื่อ 18 ก.ย. 2559  .  ตอบโดย อจ.สุเทพ