ผมอยากให้ทุกคนเข้าใจประมวลรัษฎากร และนำไปใช้ได้อย่างถูกต้อง
สุเทพ พงษ์พิทักษ์

ภาระภาษี การประกอบกิจการในต่างประเทศ

ถามวันที่ 28 ก.ย. 2559  .  ถามโดย watchara_boy  .  เข้าชม 15 ครั้ง

เรียน ท่านอาจารย์สุเทพ ครับ

ขอรบกวนสอบถามดังนี้ครับ บริษัท ได้รับงานขุดขนดินที่ประเทศลาว ระยะเวลา 5 ปี โดยบริษัทไม่ได้จดสาขาที่ลาว เพียงแค่ขอมีเลขผู้เสียภาษีอากรที่ลาวเท่านั้น ขอสอบถาม ดังนี้ครับ
1. การประกอบกิจการที่ลาว บริษัทฯ จำเป็นต้องจดทะเบียนเพิ่มสาขาหรือไม่ครับ
2. การที่บริษัทมีแค่เลขผู้เสียภาษีที่ลาว ถือได้ว่าบริษัทมีสถานประกอบการถาวรที่ลาว หรือไม่ครับ (ข้อเท็จจริงคือบริษัทมีพนักงานไปประจำที่ลาว โดยได้สร้างบ้านพักให้ ซึ่งจะรื้อทิ้ง เมื่องานเสร็จสิ้น)
3. บริษัทจ่ายเงินเดือนให้กับพนักงานคนไทย ที่ไปทำงานประจำที่ลาว ต้องหัก ณ ที่จ่ายหรือไม่ครับ (พนักงานเสียภาษีที่ลาวอยู่แล้ว ตามหลักถิ่นที่อยู่ เพราะอยู่เกิน 6 เดือน) คือเข้าใจว่า อนุสัญญาภาษีซ้อนบอกว่าหากเสียภาษีในรัฐหนึ่งแล้ว (ลาว) ไม่อาจเก็บภาษีในอีกรัฐหนึ่งได้ (ไทย) ผมเข้าใจถูกหรือไม่ครับ
4. จากข้อ 3 หากการจ่ายเงินเดือน จ่ายโดยผ่านบัญชีออมทรัพย์ในประเทศไทย กับ จ่ายผ่านบัญชีออมทรัพย์ในประเทศลาว มีผลทางภาษีแตกต่างกันหรือไม่ครับ

ขอความกรุณาท่านอาจารย์ด้วยครับ ขอบคุณครับ

2 คำตอบ
เรียน คุณ watchara_boy

กรณีบริษัทฯ ได้รับงานขุดขนดินที่ประเทศลาว ระยะเวลา 5 ปี โดยบริษัทฯ ไม่ได้จดสาขาที่ลาว เพียงแค่ขอมีเลขผู้เสียภาษีอากรที่ลาวเท่านั้น นั้น
1. การประกอบกิจการที่ลาว บริษัทฯ จำเป็นต้องจดทะเบียนเพิ่มสาขาในประเทศไทยที่กระทรวงพาณิชย์ด้วย แต่ไม่ต้องแจ้งเพิ่มสาขาในทางภาษีมูลค่าเพิ่ม เพราะเป็นรายได้ไม่อยู่ในบังคับที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม ตามมาตรา 77/2 (1) แห่งประมวลรัษฎากร
2. การที่บริษัทฯ มีเลขประจำตัวผู้เสียภาษีอากรที่ประเทศลาว ถือได้ว่าบริษัทฯ มีสถานประกอบการถาวรที่ลาว ตามอนุสัญญาภาษีซ้อนระหว่างประเทศไทยกับประเทศลาว เพราะเหตุที่บริษัทฯ มีกิจการที่กระทำในประเทศลาว และบริษัทฯ มีพนักงานไปประจำที่ประเทศลาว
3. การที่บริษัทฯ จ่ายเงินเดือนให้กับพนักงานคนไทย ที่ไปทำงานประจำที่ลาว ถือเป็นแหล่งเงินได้ในประเทศลาว บริษัทฯ ไม่ต้องคำนวนหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายตามมาตรา 50 (1) แห่งประมวลรัษฎากร เพราะไม่มีหน้าที่ต้องเสียภาษีเงินได้ตามมาตรา 41 วรรคสองและวรรคสาม แห่งประมวลรัษฎากร เว้นแต่กรณีพนักงานพำนักอยู่ในประเทศไทยถึง 180 วัน และได้นำเงินได้จากประเทศลาวเข้ามาในประเทศไทย
อย่างไรก็ตาม กรณีที่พนักงานได้เสียภาษีเงินได้สำหรับเงินเดือนที่ประเทศลาวแล้ว ตามหลักถิ่นที่อยู่ เพราะอยู่ในประเทศลาวเกิน 183 วัน ตามข้อ 15 แห่งอนุสัญญาภาษีซ้อนระหว่างประเทศไทยและประเทศลาวกำหนดว่า
ขอ 15 บริการสวนบุคคลที่ไมเปนอิสระ

1. ภายใตบังคับแหงบทบัญญัติของขอ 16, 18 และ 19 เงินเดือน คาจาง และคาตอบแทนอยางอื่นที่คลายคลึงกัน ซึ่งผูมีถิ่นที่อยูในรัฐผู้ทำสัญญารัฐหนึ่ง (ไทย) ไดรับในสวนที่เกี่ยวกับการจางงาน จะเก็บภาษีไดเฉพาะในรัฐผู้ทำสัญญารัฐนั้น (ไทย) เวนแตการจางงานนั้นไดกระทําในรัฐผู้ทำสัญญาอีกรัฐหนึ่ง (ลาว) หากมีการจางงานเชนวานั้น คาตอบแทนที่ไดรับจากการนั้น อาจเก็บภาษีไดในรัฐผู้ทำสัญญาอีกรัฐหนึ่งนั้น (ลาว)
2. แมจะมีบทบัญญัติของวรรค 1 คาตอบแทนที่ผูมีถิ่นที่อยูในรัฐผู้ทำสัญญารัฐหนึ่ง (ไทย) ไดรับในสวนที่เกี่ยวกับการจางงานที่กระทําในรัฐผู้ทำสัญญาอีกรัฐหนึ่ง (ลาว) จะเก็บภาษีไดเฉพาะในรัฐผู้ทำสัญญาที่กลาวถึงรัฐแรก (ไทย) ถา
(ก) ผูรับเงินอยูในรัฐผู้ทำสัญญาอีกรัฐหนึ่ง (ลาว) สําหรับระยะเวลาหนึ่งหรือหลายระยะเวลารวมกันไมเกิน 183 วัน ภายในระยะเวลา 12 เดือนใดๆ และ
(ข) คาตอบแทนนั้นจายโดย หรือในนามของนายจางผูซึ่งมิไดเปนผูมีถิ่นที่อยูในอีกรัฐ (ลาว) และ
(ค) คาตอบแทนนั้นมิไดตกเปนภาระแกสถานประกอบการถาวรหรือฐานประกอบการประจํา ซึ่งนายจางมีอยูในอีกรัฐหนึ่ง (ลาว)
ดังนั้น หากพนักงานพำนักอยู่ในประเทศลาว สําหรับระยะเวลาหนึ่งหรือหลายระยะเวลารวมกันเกิน 183 วัน ภายในระยะเวลา 12 เดือนใดๆ ก็ให้เสียภาษีเงินได้ในประเทศลาวเท่านั้น
4. จากข้อ 3 หากการจ่ายเงินเดือน จ่ายโดยผ่านบัญชีออมทรัพย์ในประเทศไทย กับ จ่ายผ่านบัญชีออมทรัพย์ในประเทศลาว มีผลทางภาษีแตกต่างกัน คือ การจ่ายผ่านบัญชีออมทรัพย์ในประเทศไทย ถือว่าผู้มีเงินได้ได้นำเงินได้นั้นกลับเข้ามาในประเทศไทยแล้ว ส่วนกรณีจ่ายผ่านบัญชีออมทรัพย์ในประเทศลาว ข้อเท็จจริงยังไม่แจ้งชัดว่าได้มีการนำเงินได้กล้บเข้ามาในประเทศไทยหรือไม่
ตอบเมื่อ 2 ต.ค. 2559  .  ตอบโดย อจ.สุเทพ
ได้คำตอบที่ชัดเจนมาก ๆ ครับ ขอบคุณมากๆ ครับ
ตอบเมื่อ 4 ต.ค. 2559  .  ตอบโดย watchara_boy