ผมอยากให้ทุกคนเข้าใจประมวลรัษฎากร และนำไปใช้ได้อย่างถูกต้อง
สุเทพ พงษ์พิทักษ์

การจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มโดยระบุให้ชัดเจนว่าเป็นการจดเฉพาะค่าบริการรับล่วงหน้า

ถามวันที่ 4 ต.ค. 2559  .  ถามโดย Warin  .  เข้าชม 9 ครั้ง

เรียนอาจารย์สุเทพ พงษ์พิทักษ์

ข้อมูลของกิจการ
กิจการ A ได้จดทะเบียนจัดตั้งบริษัท โดยได้แจ้งวัตถุประสงค์ในการประกอบกิจการคือประกอบกิจกรรมคลินิกโรคทั่วไป และได้ดำเนินการกิจการดังต่อไปนี้
1. กิจการมีวัตถุประสงค์ในการให้บริการเสริมความงาม นวดหน้า ทำทรีตเม้นท์ ฉีดโบท๊อก ฉีดฟิลเลอร์
โดยมีหมอที่มีใบอนุญาตประกอบโรคศิลป์เป็นแพทย์ประจำคลินิก และเป็นผู้ให้การรักษาในกรณีฉีดโบท๊อกซ์ ฉีดฟิลเลอร์ หรือบริการอื่นๆที่ต้องให้บริการโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ รวมถึงหมอเป็นผู้สั่งจ่ายยาให้กับลูกค้าหลังการรักษา ส่วนบริการนวดหน้าและทำทรีตเม้นท์ขั้นต้น จะมีพนักงานที่ได้รับการฝึกอบรมเป็นผู้ให้บริการ
2. หลังจากจดจัดตั้งบริษัท กิจการได้เริ่มขายคอร์สเสริมความงามให้แก่ลูกค้า (Pre-sales) ก่อนเปิดดำเนินการคลินิก และลูกค้าจะเริ่มใช้บริการภายหลัง เมื่อคลินิกพร้อมให้บริการ

3. คลินิกที่ทำการ กำลังอยู่ในระหว่างการดำเนินการก่อสร้างและตกแต่ง

4. หากคลินิกดำเนินการก่อสร้างและตกแต่งเสร็จเรียบร้อยแล้ว กิจการมีแผนที่จะดำเนินการขอใบอนุญาต
ดังต่อไปนี้ คือ
1) ใบอนุญาตให้ประกอบกิจการสถานพยาบาล : เจ้าของกิจการเป็นผู้ขอเอง
2) ใบอนุญาตให้ดำเนินการสถานพยาบาล : แพทย์ที่ได้รับใบประกอบวิชาชีพต้องเป็นผู้ขอ
ซึ่งการดำเนินการขอใบอนุญาตดังกล่าว จะใช้เวลาประมาณ 5-6 เดือนหลังเปิดทำการคลินิก หากได้ใบอนุญาตประกอบการแล้ว ถือว่าเป็นกิจการสถานพยาบาล ซึ่งเป็นกิจการที่ไม่จำเป็นต้องจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม

5. กรณีบริษัทฯ ได้รับเงินค่าบริการ "คอร์สเสริมความงามให้แก่ลูกค้า" (Pre-sales) เป็นจำนวนเกินกว่า 1.8 ล้านต่อปีก่อนเปิดดำเนินการคลินิกและก่อนที่บริษัทฯ จะได้รับใบอนุญาตให้ประกอบกิจการสถานพยาบาล และใบอนุญาตให้ดำเนินการสถานพยาบาล บริษัทฯ มีหน้าที่ต้องจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม โดยต้องการระบุให้ชัดเจนว่าเป็นการจดภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับรายได้ค่าบริการค่าบริการรับล่วงหน้าก่อนได้รับใบอนุญาตให้ประกอบกิจการสถานพยาบาลและใบอนุญาตให้ดำเนินการสถานพยาบาลเท่านั้น ยกเว้นทรัพย์สินที่ลงทุนเพื่อการประกอบการกิจการสถานพยาบาล จะเป็นทรัพย์สินที่ไม่อยู่ในระบบภาษีมูลค่าเพิ่ม เนื่องจากในวันที่จดแจ้งเลิกภาษีมูลค่าเพิ่ม จะไม่ถือว่าเป็นการขายทรัพย์สินตามมาตรา 77/1 (8)(ฉ) แห่งประมวลรัษฎากร

6. บริษัทฯมีแผนจะจดแจ้งเลิกกิจการภาษีมูลเพิ่มทันทีที่ได้รับใบอนุญาต (เนื่องจากสถานพยาบาลเป็นกิจการที่ได้รับการยกเว้นไม่ต้องจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม)

ข้อหารือ
1. บริษัทฯจะต้องแจ้งจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มอย่างไร (ในแบบคำขอจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มไม่มีให้ระบุ และเจ้าหน้าที่สรรพากรเขตพื้นที่ไม่ทราบวิธีการ) หากต้องการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม โดยระบุให้ชัดเจน ว่าเป็นการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มเฉพาะรายได้ค่าบริการรับล่วงหน้าก่อนได้รับใบอนุญาตให้ประกอบกิจการสถานพยาบาล และใบอนุญาตให้ดำเนินการสถานพยาบาลเท่านั้น ยกเว้นทรัพย์สินที่ลงทุนเพื่อการประกอบการกิจการสถานพยาบาล จะเป็นทรัพย์สินที่ไม่อยู่ในระบบภาษีมูลค่าเพิ่ม เนื่องจากในวันที่จดแจ้งเลิกภาษีมูลค่าเพิ่ม จะไม่ถือว่าเป็นการขายทรัพย์สินตามมาตรา 77/1 (8)(ฉ) แห่งประมวลรัษฎากร

2. ภาษีซื้อที่บริษัทจ่ายเพื่อซื้อทรัพย์สินเพื่อการประกอบกิจการสถานพยาบาลและไม่เป็นทรัพย์สินที่ไม่อยู่ในระบบภาษีมูลค่าเพิ่มตามข้อ 1 บริษัทฯไม่มีสิทธิขอคืนภาษีซื้อ แต่สามารถถือเป็นต้นทุนของทรัพย์สินและคิดค่าเสื่อมราคาใช่หรือไม่


3. ภาษีซื้อที่บริษัทจ่ายไปเพื่อเป็นต้นทุนบริการและค่าใช้จ่ายในการบริหารของกิจการ (ไม่ใช่เป็นการจ่ายเพื่อซื้อสินทรัพย์ลงทุน) และมีใบกำกับภาษีซื้อที่ถูกต้อง บริษัทฯสามารถขอคืนเป็นภาษีซื้อได้หรือไม่


ขอแสดงความนับถือ

1 คำตอบ
เรียน คุณ warin.n

กรณีบริษัท A มีวัตถุประสงค์ที่จะประกอบกิจการสถานพยาบาล เป็นคลินิกรักษาโรคทั่วไป และได้ดำเนินการกิจการดังต่อไปนี้
1. ให้บริการเสริมความงาม นวดหน้า ทำทรีตเม้นท์ ฉีดโบท๊อก ฉีดฟิลเลอร์ โดยมีแพทย์ที่มีใบอนุญาตประกอบโรคศิลป์เป็นแพทย์ประจำคลินิก และเป็นผู้ให้การรักษาในกรณีฉีดโบท๊อกซ์ ฉีดฟิลเลอร์ หรือบริการอื่นๆที่ต้องให้บริการโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ รวมถึงแพทย์ผู้สั่งจ่ายยาให้กับลูกค้าหลังการรักษา ส่วนบริการนวดหน้าและทำทรีตเม้นท์ขั้นต้น จะมีพนักงานที่ได้รับการฝึกอบรมเป็นผู้ให้บริการ
2. บริษัทฯ ขายคอร์สเสริมความงามให้แก่ลูกค้า (Pre-sales) ก่อนเปิดดำเนินการคลินิก และลูกค้าจะเริ่มใช้บริการภายหลัง เมื่อคลินิกพร้อมให้บริการ
3. คลินิกที่ทำการ กำลังอยู่ในระหว่างการดำเนินการก่อสร้างและตกแต่ง
4. หากคลินิกดำเนินการก่อสร้างและตกแต่งเสร็จเรียบร้อยแล้ว กิจการมีแผนที่จะดำเนินการขอใบอนุญาตประกอบกิจการสถานพยาบาลและดำเนินการสถานพยาบาล ซึ่งใช้เวลาประมาณ 5-6 เดือนหลังเปิดทำการคลินิก หากได้ใบอนุญาตประกอบการแล้ว ถือว่าเป็นกิจการสถานพยาบาล ซึ่งเป็นกิจการที่ได้รับยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม
5. เนื่องจากบริษัทฯ ได้รับเงินค่าบริการ "คอร์สเสริมความงามให้แก่ลูกค้า" (Pre-sales) เป็นจำนวนเกินกว่า 1.8 ล้านต่อปี ก่อนเปิดดำเนินการคลินิกและก่อนที่บริษัทฯ จะได้รับใบอนุญาตให้ประกอบกิจการสถานพยาบาล และใบอนุญาตให้ดำเนินการสถานพยาบาล บริษัทฯ จึงมีหน้าที่ต้องจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม โดยต้องการระบุให้ชัดเจนว่าเป็นการจดภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับรายได้ค่าบริการค่าบริการรับล่วงหน้าก่อนได้รับใบอนุญาตให้ประกอบกิจการสถานพยาบาลและใบอนุญาตให้ดำเนินการสถานพยาบาลเท่านั้น ยกเว้นทรัพย์สินที่ลงทุนเพื่อการประกอบการกิจการสถานพยาบาล จะเป็นทรัพย์สินที่ไม่อยู่ในระบบภาษีมูลค่าเพิ่ม เนื่องจากในวันที่จดแจ้งเลิกภาษีมูลค่าเพิ่ม จะไม่ถือว่าเป็นการขายทรัพย์สินตามมาตรา 77/1 (8)(ฉ) แห่งประมวลรัษฎากร
6. บริษัทฯ มีแผนจะจดแจ้งเลิกกิจการภาษีมูลเพิ่มทันทีที่ได้รับใบอนุญาต (เนื่องจากสถานพยาบาลเป็นกิจการที่ได้รับการยกเว้นไม่ต้องจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม)

ต่อขอถาม ขอเรียนว่า
1. การที่บริษัทฯ จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับการให้บริการนั้น มีความชัดเจนอยู่แล้วว่า เป็นการจดทะเบียนสำหรับการให้บริการอย่างอื่นที่มิใช่สถานพยาบาล อันได้แก่ ค่าบริการ "คอร์สเสริมความงามให้แก่ลูกค้า" (Pre-sales) ที่ได้รับจากลูกค้าเท่านั้น ในแบบคำขอจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มจึงให้ระบุว่า "ให้บริการอื่นที่มิใช่บริการสถานพยาบาล" โดยมีหนังสือชี้แจงเหตุผลข้อเท็จจริงดังกล่าว เรียนอธิบดีกรมสรรพากรผ่านสรรพากรพื้นที่ ซึ่งเป็นการแสดงเจตนารมณ์ของบริษัทให้ชัดเจนว่า เป็นการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มเฉพาะรายได้ค่าบริการรับล่วงหน้าก่อนได้รับใบอนุญาตให้ประกอบกิจการสถานพยาบาล และใบอนุญาตให้ดำเนินการสถานพยาบาลเท่านั้น ในส่วนของการประกอบกิจการสถานพยาบาลนั้น โดยข้อกฎหมายบริษัทฯ ไม่สามารถยื่นคำขอจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มได้ ดังนั้น ทรัพย์สินที่ลงทุนเพื่อการประกอบการกิจการสถานพยาบาล จะเป็นทรัพย์สินที่ไม่อยู่ในระบบภาษีมูลค่าเพิ่ม ไม่เกี่ยวข้องกับกิจการที่ขอจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มมูลค่าเพิ่มแต่อย่างใด เมื่อบริษัทฯ แจ้งเลิกการประกอบกิจการภาษีมูลค่าเพิ่ม จึงไม่ถือว่าทรัพย์สินดังกล่าวเข้าลักษณะเป็นการขายทรัพย์สินตามมาตรา 77/1 (8)(ฉ) แห่งประมวลรัษฎากร เนื่องจากเป็นทรัพย์สินของกิจการที่ได้รับยกเว้นภาษีมุลค่าเพิ่ม
2. ภาษีซื้อที่บริษัทจ่ายเพื่อซื้อทรัพย์สินเพื่อการประกอบกิจการสถานพยาบาลและไม่เป็นทรัพย์สินที่ไม่อยู่ในระบบภาษีมูลค่าเพิ่มตามข้อ 1 ดังกล่าว บริษัทฯ ย่อมไม่มีสิทธิขอคืนภาษีซื้อ แต่สามารถถือเป็นต้นทุนของทรัพย์สินและนำไปคำนวณหักค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคาของกิจการสถานพยาบาลได้ตามปกติ ถูกต้องแล้ว
3. บริษัทฯ ไม่พึงขอคืนภาษีซื้อที่บริษัทจ่ายไปเพื่อเป็นต้นทุนบริการและค่าใช้จ่ายในการบริหารของกิจการ (ไม่ใช่เป็นการจ่ายเพื่อซื้อสินทรัพย์ลงทุน) แม้จะมีใบกำกับภาษีซื้อที่ถูกต้อง เพราะเมื่อพ้นจากการเป็นผู้ประกอบการจดทะเบียน ก็ต้องนำไปใช้ในกิจการสถานพยาบาลอยู่ดี ภาษีซื้อนั้นก็จะกลับกลายเป็นภาษีซื้อต้องห้าม
4. การคำนวณภาษีขายจากรายได้จากการประกอบกิจการให้บริการอย่างอื่น สำหรับค่าบริการ "คอร์สเสริมความงามให้แก่ลูกค้า" (Pre-sales) ที่ได้รับจากลูกค้า ให้คำนวณโดยนำรายได้ด้งกล่าวในส่วนที่เกิน 1.8 ล้านบาท มาคูณด้วย 7 หารด้วย 107 ซึ่งภาษีขายดังกล่าวย่อมเข้าลักษณะเป็นรายจ่ายต้องห้ามตามมาตรา 65 ตรี (ุ6) แห่งประมวลรัษฎากร ตามความเห็นของกรมสรรพากร

ปล. ขอเชิญท่านผุ้รู้ร่วมแสดงความคิดเห็นใน บล็อกถัดไปได้แล้วครับ หรือท่านที่ถามไปจะแสดงความเห็นเพิ่มเติมก็ได้ครับ
ตอบเมื่อ 7 ต.ค. 2559  .  ตอบโดย อจ.สุเทพ