ผมอยากให้ทุกคนเข้าใจประมวลรัษฎากร และนำไปใช้ได้อย่างถูกต้อง
สุเทพ พงษ์พิทักษ์

การหักลดหย่อนบุคคลธรรมดา ลย.01

ถามวันที่ 21 ต.ค. 2559  .  ถามโดย jittima.ve  .  เข้าชม 12 ครั้ง

เรียน อาจารย์สุเทพ ขอสอบถามค่ะ

บริษัท ก. ให้พนักงานกรอกแบบ ลดหย่อนภาษี ลย.01 ตอนต้นปี 2557
และให้ลงลายมือชื่อรับรองการใช้สิทธิ์หักลดหย่อนของตนเอง
เพื่อบริษัท ก. ใช้ในการคำนวณภาษีหัก ณ ที่จ่าย ยื่น ภงด.1 ตลอดปี 2557
โดยไม่ได้ขอเอกสารประกอบการใช้สิทธิ์ว่า มีจริงหรือไม่

พนักงาน ช. กรอกค่าลดหย่อน ซื้อ LTF จำนวน 500,000 บาท โดยตลอดปี
ไม่ได้นำเอกสารการซื้อ LTF มาให้ บริษัท ก. แต่อย่างใด

ต่อมา พนักงาน ช. ยื่นแบบ ภงด.91 ปี 2557 มีการใช้สิทธิ์หักลดหย่อน LTF
ตามที่ซื้อจริง เพียง 20,000 บาท และได้ชำระภาษีบุคคลธรรมดาเพิ่มเติมใน
ส่วนที่บริษัท ก. หักภาษี ณ ที่จ่ายนำส่งไม่ครบถ้วนไว้แล้วการยื่นแบบ ภงด.91

ถามว่า
บริษัท ก. ในฐานะผู้จ่ายเงินได้ และมีหน้าที่หักภาษี ณ ที่จ่าย นำส่ง
เมื่อหักภาษี ณ ที่จ่าย นำส่งไม่ครบถ้วน บริษัท ก. ต้องรับผิดในภาษีที่ยังนำส่งไม่ครบถ้วน พร้อมเงินเพิ่ม 1.5 ต่อเดือนหรือไม่ อย่างไรคะ
หรือ รับผิดเฉพาะเงินเพิ่ม เพราะภาษีเวินได้ พนักงาน ช. ชำระไว้แล้ว
หรือ ไม่ต้องรับผิดทั้งภาษี และเงินเพิ่ม

ขอบพระคุณอาจารย์มากค่ะ

1 คำตอบ
เรียน คุณ jittima.ve

บริษัท ก. ให้พนักงานกรอกแบบ ลดหย่อนภาษี ลย.01 ตอนต้นปี 2557 และให้ลงลายมือชื่อรับรองการใช้สิทธิหักลดหย่อนของตนเอง เพื่อบริษัท ก. ใช้ในการคำนวณภาษีหัก ณ ที่จ่าย ยื่น ภ.ง.ด.1 ตลอดปี 2557 โดยไม่ได้ขอเอกสารประกอบการใช้สิทธิ์ว่า มีจริงหรือไม่
พนักงาน ช. กรอกค่าลดหย่อน ซื้อ LTF จำนวน 500,000 บาท โดยตลอดปี ไม่ได้นำเอกสารการซื้อ LTF มาให้ บริษัท ก. แต่อย่างใด
ต่อมา พนักงาน ช. ยื่นแบบ ภ.ง.ด.91 ปี 2557 มีการใช้สิทธิ์หักลดหย่อน LTF ตามที่ซื้อจริง เพียง 20,000 บาท และได้ชำระภาษีบุคคลธรรมดาเพิ่มเติมใน
ส่วนที่บริษัท ก. หักภาษี ณ ที่จ่ายนำส่งไม่ครบถ้วนไว้แล้วการยื่นแบบ ภ.ง.ด.91 นั้น
ตามข้อ 1 (2) วรรคสองของคำสั่งกรมสรรพากรที่ ป. 96/2543 ได้กำหนดแนวทางปฏิบัติเกี่ยวกับการหักลดหย่อนดังนี้
"การคำนวณหักค่าลดหย่อน ให้คำนวณตามที่ผู้มีเงินได้ได้แจ้งไว้พร้อมกับแนบสำเนาหลักฐานแสดงสิทธิในค่าลดหย่อนตามแบบ ล.ย.01 (แบบแจ้งรายการเพื่อการหักลดหย่อน) ทั้งนี้ ให้คำนวณหักค่าลดหย่อนได้ตามที่ผู้มีเงินได้ได้แจ้งไว้ตั้งแต่ต้นปีที่เริ่มหักภาษี ณ ที่จ่าย ไม่ว่าจะจ่ายค่าลดหย่อนนั้นในเดือนใดของปีก็ตาม เว้นแต่ค่าลดหย่อนเงินบริจาคให้คำนวณหักได้เมื่อมีการจ่ายเงินบริจาคจริงเท่านั้น"

ดังนั้น กรณีบริษัท ก. ในฐานะผู้จ่ายเงินได้ และมีหน้าที่หักภาษี ณ ที่จ่าย นำส่ง เมื่อหักภาษี ณ ที่จ่าย นำส่งไม่ครบถ้วน บริษัท ก. ไม่ต้องรับผิดทั้งภาษี และเงินเพิ่ม แต่อย่างใด เว้นแต่จะส่วนรู้เห็นเป็นใจกับพนักงานที่แจ้งรายการหักลดหย่อนไม่ถูกต้องเพื่อการหลีกเลี่ยงการเสียภาษี อาจต้องระวางโทษตามมาตรา 37 แห่งประมวลรัษฎากร จึงควรกำชับให้แจ้งรายการเพื่อการหักลดหย่อนตามความเป็นจริง สถิติการหักลดหย่อนของปีก่อนๆ ก็อาจใช้เป็นเกณฑ์ในการพิจารณาความถูกต้องของ ล.ย.01 รายการเพื่อการหักลดหย่อน ได้บ้างแต่ไม่ทั้งหมด
อย่างไรก็ตาม เมื่อพนักงาน ช. ยื่นแบบ ภ.ง.ด.91 ปี 2557 มีการใช้สิทธิ์หักลดหย่อน LTF ตามที่ซื้อจริง เพียง 20,000 บาท และได้ชำระภาษีบุคคลธรรมดาเพิ่มเติมใน
ส่วนที่บริษัท ก. หักภาษี ณ ที่จ่ายนำส่งไม่ครบถ้วนไว้แล้วการยื่นแบบ ภ.ง.ด.91 ก็เป็นอันหมดภาระหนี้ภาษีอากรแล้ว เพียงแต่รัฐได้รับเงินภาษีช้าไป ซึ่งไม่ใช่ความผิดของบริษัทฯ แต่อย่างใด
ตอบเมื่อ 22 ต.ค. 2559  .  ตอบโดย อจ.สุเทพ