ผมอยากให้ทุกคนเข้าใจประมวลรัษฎากร และนำไปใช้ได้อย่างถูกต้อง
สุเทพ พงษ์พิทักษ์

งบการเงินที่ต้องยื่นต่อกรมสรรพากร กรณีควบรวมกิจการ

ถามวันที่ 30 เม.ย. 2560  .  ถามโดย rattanabwc2009  .  เข้าชม 6 ครั้ง

เรียนอาจารย์สุเทพที่เคารพ

ดิฉันขอสอบถามเรื่องของงบการเงินที่ต้องยื่นต่อกรมสรรพากร กรณีควบรวมกิจการ
ข้อมูลดังนี้
1. บริษัท ก ได้ทำการควบรวมกับ บริษัท ข (ทั้งสองทำธุรกิจประเภทเดียวกัน) ผลจากการควบรวมคือ บริษัท ก เลิกไป หลังจากควบรวมแล้ว บริษัท ข ยังคงอยู่ต่อไป (โดยใช้ชื่อ บริษัท ข ในการดำเนินกิจการ)
2. บริษัท ก ได้ส่งงบการเงิน ณ วันควบกิจการ(เลิก) ต่อกรมพัฒนาธุรกิจการค้า ณ วันควบรวม 4ตุลาคม2559 และยื่นงบการเงินรอบบัญชีสิ้นสุด 4ตค59 และแบบ ภงด.50 ต่อกรมสรรพากร รวมถึงการยื่นแบบ ภพ.09 เพื่อแจ้งชำระบัญชีต่อกรมสรรพากรแล้วเช่นกัน
3. บริษัท ข ได้จัดทำงบการเงิน ณ 4ตค 2559 เพื่อยื่นต่อกรมสรรพากร พร้อมยื่นแบบ ภพ.09 โดยถือเป็นการเลิกบริษัทและชำระบัญชี
4. ในขณะที่ งบการเงินสำหรับจัดส่งกรมพัฒนาธุรกิจการค้า (ซึ่งการควบกรณีดังกล่าว ไม่ถือเป็นการเลิกกิจการ) ทำให้บริษัท ต้องส่งงบการเงินของ บริษัท ข สำหรับรอบระยะเวลาบัญชี 1มค-31ธค 59 (ซึ่งรวมรายการที่มีการรับโอนสิทธิและทรัพย์สินสุทธิจาก ก เรียบร้อยแล้ว)

คำถาม
1. บริษัท ข ที่ยังคงอยู่ ต้องส่งงบการเงินดังนี้คือ
- งบการเงิน รอบ 1มค - 4 ตค59 (วันควบกิจการ) และยื่นแบบ ภงด.50 รอบระยะเวลาบัญชีเดียวกัน ต่อกรมสรรพากร ภายในกำหนดไม่เกิน 150 วันหลังวันสิ้นงวดดังกล่าว โดยถือเป็นการเลิกกิจการ ใช่หรือไม่
- งบการเงิน รอบ 5ตค - 31ธค 59 (หลังควบกิจการ) และยื่นแบบ ภงด.50 รอบระยะเวลาบัญชีเดียวกัน ต่อกรมสรรพากร ภายในกำหนดไม่เกิน 150 วันหลังวันสิ้นงวดดังกล่าว โดยถือเป็นการยื่นแบบตามปกติ ใช่หรือไม่
- งบการเงินดังกล่าวข้างต้นที่ต้องยื่นต่อกรมสรรพากร จำเป็นต้องเป็นชุดเดียวกันกับที่ต้องยื่นต่อกรมพัฒนาธุรกิจการค้าหรือไม่ (ในแง่เอกสารที่ต้องจัดส่งต่อกรมสรรพากร เช่น ต้องแนบสำเนาใบนำส่งงบการเงินต่อกรมพัฒน์ฯไปด้วยหรือไม่)

เท่ากับในปีที่มีการควบรวมกิจการ บริษัท ข (ซึ่งเป็นบริษัทที่เกิดจากการควบรวมแต่ใช้ชื่อเดิม) มีหน้าที่ต้องยื่นงบการเงินและแบบ ภงด.50 ต่อกรมสรรพากรรวม 2 ชุด ดังกล่าว

2. จากคำถามข้อ 1 จะมีประเด็นความขัดแย้งกับงบการเงินที่จะต้องจัดส่งต่อกรมพัฒนาธุรกิจการค้า คือรอบระยะเวลาบัญชี 1 มค - 31ธค 59 ในชื่อบริษัท ข (หมายเลขนิติบุคคลใหม่) หรือไม่อย่างไร

กราบขอบพระคุณอาจารย์เป็นอย่างสูงค่ะ
Rattana




1 คำตอบ
ตามข้อเท็จจริง ที่ได้แจ้งไปดังนี้
1. บริษัท ก ได้ทำการควบรวมกับ บริษัท ข (ทั้งสองทำธุรกิจประเภทเดียวกัน) โดยบริษัท ก โอนกิจการทั้งหมดให้แก่บริษัท ข และเลิกกิจการตามมาตรา 73 แห่งประมวลรัษฎากร
2. บริษัท ก ได้ส่งงบการเงิน ณ วันควบกิจการ (วันเลิกกิจการ) ต่อกรมพัฒนาธุรกิจการค้า ณ วันควบรวม 4 ตุลาคม 2559 และยื่นงบการเงินรอบบัญชีสิ้นสุด 4 ตุลาคม 2559 และแบบ ภ.ง.ด.50 ต่อกรมสรรพากร รวมถึงการยื่นแบบ ภ.พ.09 เพื่อเลิกประกอบการภาษีมูลค่าเพิ่ม ต่อกรมสรรพากรแล้วเช่นกัน
3. บริษัท ข ได้จัดทำงบการเงิน ณ 4 ตุลาคม 2559 เพื่อยื่นต่อกรมสรรพากร พร้อมยื่นแบบ ภพ.09 โดยถือเป็นการเลิกบริษัทและชำระบัญชี
4. ในขณะที่ งบการเงินสำหรับจัดส่งกรมพัฒนาธุรกิจการค้า (ซึ่งการควบกรณีดังกล่าว ไม่ถือเป็นการเลิกกิจการ) ทำให้บริษัท ต้องส่งงบการเงินของ บริษัท ข สำหรับรอบระยะเวลาบัญชี 1มค-31ธค 59 (ซึ่งรวมรายการที่มีการรับโอนสิทธิและทรัพย์สินสุทธิจาก ก เรียบร้อยแล้ว)

ต่อข้อถาม ขอเรียนว่า
1. บริษัท ข ที่ยังคงดำเนินกิจการต่อไป
- บริษัทฯ ไม่ต้องยื่นแบบ ภงด.50 และส่งงบการเงิน สำหรับรอบระยะเวลาบัญี 1 ม.ค. - 4 ต.ค. 2559 (ณ วันควบกิจการ) ต่อกรมสรรพากร ภายในกำหนดไม่เกิน 150 วันหลังวันสิ้นงวดดังกล่าว แต่อย่างใด เนื่องจากบริษัท ข. ยังคงดำเนินกิจการต่อไปตามปกติ ยังไม่ถือเป็นการเลิกกิจการ
- งบการเงินดังกล่าวข้างต้นที่ต้องยื่นต่อกรมสรรพากร จำเป็นต้องเป็นชุดเดียวกันกับที่ต้องยื่นต่อกรมพัฒนาธุรกิจการค้า (ในแง่เอกสารที่ต้องจัดส่งต่อกรมสรรพากร เช่น ต้องแนบสำเนาใบนำส่งงบการเงินต่อกรมพัฒน์ฯไปด้วย)

2. จากคำถามข้อ 1 จะไม่มีประเด็นความขัดแย้งกับงบการเงินที่จะต้องจัดส่งต่อกรมพัฒนาธุรกิจการค้า เพราะบริษัท ข มีรอบระยะเวลาบัญชีเป็นปกติ ค่อ 1 ม.ค - 31 ธ.ค. 2559 ในชื่อบริษัท ข แม้ว่าหมายเลขนิติบุคคลของบริษัท ข. จะเป็นหมายเลขใหม่แล้วก็ตาม

ทั้งนี้ บริษัท ข. ต้องปฏิบัติตามมาตรา 74 (1) แห่งประมวลรัษฎากรดังนี้
"มาตรา 74 ในกรณีที่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลเลิกกัน หรือควบเข้ากันกับบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลอื่น การคำนวณกำไรสุทธิเพื่อคำนวณภาษีให้เป็นไปตามวิธีการในมาตรา 65 มาตรา 65 ทวิ และ มาตรา 66 เว้นแต่
(1) การตีราคาทรัพย์สิน
(ก) ในกรณีที่เลิกบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล ให้ตีตามราคาตลาดในวันเลิก
(ข) ในกรณีที่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลควบเข้ากัน ให้ตีตามราคาตลาดในวันที่ควบเข้ากัน แต่ไม่ให้ถือว่าราคาดังกล่าวเป็นรายได้หรือรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิหรือขาดทุนสุทธิของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลเดิมอันได้ควบเข้ากันนั้น และให้บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลใหม่อันได้ควบเข้ากันถือราคาของทรัพย์สินนั้นตามราคาที่ปรากฏในบัญชีของบริษัท หรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลเดิมในวันที่ควบเข้ากันเพื่อประโยชน์ในการคำนวณกำไรสุทธิหรือขาดทุนสุทธิ จนกว่าจะได้มีการจำหน่ายทรัพย์สินนั้นไป ทรัพย์สินรายการใดมีสิทธิหักค่าสึกหรอ และค่าเสื่อมราคาก็ให้หักค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคาในการคำนวณกำไรสุทธิหรือขาดทุนสุทธิตามหลักเกณฑ์ วิธีการ เงื่อนไข และอัตราที่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลเดิมใช้อยู่เพียงเท่าที่ระยะเวลาและมูลค่าต้นทุนที่เหลืออยู่สำหรับทรัพย์สินนั้นเท่านั้น และห้ามมิให้นำผลขาดทุนสุทธิของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลเดิมมาถือเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิหรือขาดทุนสุทธิ
(ค) ในกรณีที่มีการโอนกิจการระหว่างบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลด้วยกัน โดยที่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลผู้โอนกิจการต้องจดทะเบียนเลิก และมีการชำระบัญชีในรอบระยะเวลาบัญชีที่โอนกิจการนั้น ให้ตีตามราคาตลาดในวันที่จดทะเบียนเลิก และให้นำความใน (ข) มาใช้บังคับโดยอนุโลม"
ตอบเมื่อ 12 พ.ค. 2560  .  ตอบโดย อจ.สุเทพ