ผมอยากให้ทุกคนเข้าใจประมวลรัษฎากร และนำไปใช้ได้อย่างถูกต้อง
สุเทพ พงษ์พิทักษ์

ผลของคำพิพากษาศาลฎีกา

ถามวันที่ 11 ก.ค. 2559  .  ถามโดย boonruk888  .  เข้าชม 78 ครั้ง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8303/2557

ป.รัษฎากร มาตรา 86/4 บัญญัติว่า ใบกำกับภาษีต้องมีรายการอย่างน้อยดังต่อไปนี้ ... (3) ชื่อ ที่อยู่ของผู้ซื้อสินค้าหรือผู้รับบริการ โดยบทกฎหมายดังกล่าวไม่ได้บัญญัติไว้เป็นที่ชัดเจนว่าจะต้องให้ชื่อ ที่อยู่ของผู้ซื้อสินค้าหรือผู้รับบริการตรงกับรายการที่จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มไว้ ทั้งโจทก์ขอให้การไฟฟ้าส่วนภูมิภาคและองค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทยผู้ออกใบกำกับภาษีแก้ไขแล้ว แต่ผู้ออกใบกำกับภาษีพิพาทไม่ยินยอมแก้ไขให้ เพียงแต่รับรองว่าเป็นใบกำกับภาษีที่ออกให้แก่โจทก์จริง ดังนั้น แม้ใบกำกับภาษีพิพาทระบุชื่อและที่อยู่ของผู้ซื้อสินค้าหรือผู้รับบริการ ไม่ตรงหรือไม่ครบถ้วนตามรายการที่จดทะเบียน แต่ก็ไม่ทำให้เกิดความเข้าใจผิดว่าเป็นใบกำกับภาษีของผู้ประกอบการรายอื่น จึงไม่ถือว่าใบกำกับภาษีพิพาทที่โจทก์ได้รับจากการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคและองค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทยเป็นใบกำกับภาษีที่มีข้อความไม่ถูกต้องหรือไม่สมบูรณ์ในส่วนที่เป็นสาระสำคัญตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่อธิบดีกำหนดไว้ ภาษีซื้อตามใบกำกับภาษีดังกล่าวจึงไม่ต้องห้ามให้นำมาหักในการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่ม ตาม ป.รัษฎากร มาตรา 82/5 โจทก์จึงมีสิทธินำภาษีมูลค่าเพิ่มตามใบกำกับภาษีพิพาทมาหักในการคำนวณภาษีตาม ป.รัษฎากร มาตรา 82/3 ได้

ป.รัษฎากร ม. 82/3, 82/5, 86/4
แหล่งที่มา

กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ชื่อองค์คณะ

เมทินี ชโลธร
สุทัศน์ ศิริมหาพฤกษ์
วีระพล ตั้งสุวรรณ
ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ที่ตัดสิน

ศาลภาษีอากรกลาง - นางณัชชา พาณิชวราห์

ผมใคร่ขอสอบถามว่า เหตุผลใดที่ศาลฎีกาไม่หยิบยกอนุบัญญัติ อาทิ ป. ปอ. ที่เกี่ยวข้องกับหลักเกณฑ์การออกใบกำกับภาษีมาพิจารณา ทั้งที่มีสภาพบังคับใช้ในฐานะกฎหมายลูก

ขอขอบพระคุณครับ

1 คำตอบ
เรียน คุณ boonruk888
จากแนวคำพิพากษาฎีกาที่ 8303/2557 ซึ่งองค์คณะผู้พิพากษาฎีกาได้วินิจฉัยว่า "แม้ใบกำกับภาษีพิพาทระบุชื่อและที่อยู่ของผู้ซื้อสินค้าหรือผู้รับบริการ ไม่ตรงหรือไม่ครบถ้วนตามรายการที่จดทะเบียน แต่ก็ไม่ทำให้เกิดความเข้าใจผิดว่าเป็นใบกำกับภาษีของผู้ประกอบการรายอื่น จึงไม่ถือว่าใบกำกับภาษีพิพาทที่โจทก์ได้รับจากการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคและองค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทยเป็นใบกำกับภาษีที่มีข้อความไม่ถูกต้องหรือไม่สมบูรณ์ในส่วนที่เป็นสาระสำคัญตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่อธิบดีกำหนดไว้ ภาษีซื้อตามใบกำกับภาษีดังกล่าวจึงไม่ต้องห้ามให้นำมาหักในการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่ม ตาม ป.รัษฎากร มาตรา 82/5 โจทก์จึงมีสิทธินำภาษีมูลค่าเพิ่มตามใบกำกับภาษีพิพาทมาหักในการคำนวณภาษีตาม ป.รัษฎากร มาตรา 82/3 ได้" นั้น
โดยความเคารพคำวินิจฉัยขององค์คณะผู้พิพากษาฎีกา ขออนุมานเหตุผลที่ศาลฎีกาไม่หยิบยกอนุบัญญัติ อาทิ คำสั่งกรมสรรพากรที่ ป. หรือประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม ที่เกี่ยวข้องกับหลักเกณฑ์การออกใบกำกับภาษีมาพิจารณา ทั้งที่มีสภาพบังคับใช้ในฐานะกฎหมายลูก นั้น ท่านคงพิจารณาเห็น "หลักความเป็นธรรม" ในการบริหารการจัดเก็บภาษีอากร ว่า เมื่อพิสูจน์จนเป็นที่ประจักษ์ชัดแก่ทั้งสองฝ่าย คือ ทั้งกรมสรรพากร และผู้ประกอบการแล้วว่า มีการซื้อขายสินค้าดังกล่าวกันจริง มีการชำระภาษีมูลค่าเพิ่มตามใบกำกับภาษีดังกล่าวไปจริง และกรมสรรพากรก็ได้รับภาษีขายจากผู้ประกอบการที่เป็นรัฐวิสหกิจที่เป็นผู้ออกใบกำกับภาษีนั้นแล้ว ใยต้องกริ่งเกรงว่า ใบกำกับภาษีนั้น จะไม่มีการชำระภาษีซื้อกันจริงตามที่่ปรากฏในใบกำกับภาษี
อีกประการหนึ่ง การไม่ยอมให้เครดิตภาษีซื้อเป็นภาระของผู้ประกอบการ ที่จะทำให้ต้นทุนเพิ่มขึ้น อันเป็นผลเสียต่อประเทศชาติ และในท้ายที่สดก็ไปกระทบต่อจำนวนกำไรสุทธิที่จะทำให้รัฐได้ภาษีเงินได้นิติบุคคลลดลงไปอีก รวมทั้งไม่สามารถแข่งขันกับต่างประเทศทั่วโลกได้ อันเป็นเจตนาของการนำระบบภาษีมูลค่าเพิ่มมาใช้
จึงพิจารณาเห็นด้วยกับแนวคำพิพากษาฎีกาดังกล่าว ครับ
หากคุณ boonruk888 หรือเพื่อนๆ ท่านอื่น มีความเห็นเพิ่มเติมประการใด ก็แชร์เข้าไปได้ครับ
ตอบเมื่อ 11 ก.ค. 2559  .  ตอบโดย อจ.สุเทพ