ผมอยากให้ทุกคนเข้าใจประมวลรัษฎากร และนำไปใช้ได้อย่างถูกต้อง
สุเทพ พงษ์พิทักษ์

ภาษีเงินได้นิติบุคคล

ถามวันที่ 31 ก.ค. 2560  .  ถามโดย nathanan_nan  .  เข้าชม 36 ครั้ง

เรียน อาจารย์สุเทพที่เคารพ

ขอปรึกษาอาจารย์ดังนี้ค่ะ
บริษัทจดทะเบียนในรูปนิติบุคคลประกอบกิจการทางด้านโรงเรียน โดยสอนทางด้านคอมพิวเตอร์กราฟฟิค เนื่องจากปัจจุบันไม่มีรายได้จากการสอนมาเป็นเวลานานแล้ว จึงมีความประสงค์ที่จะปิดกิจการ จึงอยากทราบว่ากรณีบริษัทฯ มีการยืนเงินบริษัทฯ ในเครือซึ่งถือหุ้นในบริษัทฯ ประมาณ 99% ซึ่งจำนวนหนี้สินค่อนข้างสูง จึงอยากทราบว่ากรณีเงินยืมที่ยืมบริษัทฯ ในเครือมา ถ้าหากบริษัทฯ ในเครือเห็นว่าอย่างไรบริษัทฯ ไม่มีความสามารถจ่ายคืนได้แน่นอนเนื่องจากบริษัทฯ ประกอบกิจการขาดทุนเกินทุน โดยยกหนี้ให้ ในแง่บริษัทฯ จะต้องถือเป็นรายได้เพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลหรือไม่ และไม่ทราบว่าจะต้องเสียภาษีอะไรบ้างที่
เกี่ยวข้องบ้างหรือเปล่าค่ะ ประกอบกับบริษัทฯ มีการจดแจ้งลงทะเบียนเป็นผู้ประกอบการบัญชีเดียวจะถือว่าทางบริษัทฯ ใช้สิทธิทางด้านภาษีแล้วปิดบริษัทหรือไม่ค่ะ
ขอบพระคุณอาจารย์มากค่ะ

1 คำตอบ
กรณีบริษัทฯ ประกอบกิจการโรงเรียนเอกชนนอกระบบ โดยสอนทางด้านคอมพิวเตอร์กราฟฟิค เนื่องจากปัจจุบันไม่มีรายได้จากการสอนมาเป็นเวลานานแล้ว จึงมีความประสงค์ที่จะปิดกิจการ แต่ทว่า บริษัทฯ มีการยืมเงินจากบริษัทฯ ในเครือซึ่งถือหุ้นในบริษัทฯ ประมาณ 99% ซึ่งจำนวนหนี้สินค่อนข้างสูง หากบริษัทฯ ในเครือเห็นว่าอย่างไรบริษัทฯ ไม่มีความสามารถจ่ายคืนได้แน่นอนเนื่องจากบริษัทฯ ประกอบกิจการขาดทุนเกินทุน โดยยกหนี้ให้ นั้น

กรณีเลิกกิจการ และมีการชำระบัญชี หากเจ้าหนี้ยอมยกหนี้ให้แก่บริษัทฯ ในทางภาษีอากรย่อมถือเป็นรายได้จากการประกอบกิจการ แต่จำนวนภาษีเงินได้นิติบุคคลที่จะชำระต่อทางราชการนั้น ผู้ชำระบัญชีมีหน้าที่รวบรวมจำนวนเงินที่บริษัทฯ มีอยู่เพื่อชำระค่าภาษีเงินได้นิติบุคคลเพียงเท่าที่มีส่วนที่เหลือเท่านั้น ไม่สามารถจะไปหาจากที่ใดมาชำระหนี้ จึงไม่อยู่ในความรับผิดของผู้ชำระบัญชี ทั้งนี้ ตามแนวคำพิพากษาฎีกาที่ 4638/2546 กรมสรรพากร โจทก์ บจ. เอ็มซารูอินเตอร์เนชั่นแนล กับพวก จำเลย เรื่อง ความรับผิดของผู้ชำระบัญชี

หน้าที่ของผู้ชำระบัญชี เมื่อ บริษัทจดทะเบียนเลิกกิจการ
ถ้าเจ้าหนี้คนใดมิได้ทวงถามให้ผู้ชำระบัญชีชำระหนี้ ผู้ชำระบัญชีจะนิ่งเฉยไม่ได้ ผู้ชำระบัญชีจะต้องวางเงินเท่าจำนวนหนี้นั้นต่อสำนักงานวางทรัพย์ กระทรวงยุติธรรม แทนการชำระหนี้
ผู้ชำระบัญชีจะเรียกให้ผู้ถือหุ้นชำระเงิน ค่าหุ้นที่ยังค้างอยู่ก็ได้ เมื่อผู้ถือหุ้นได้รับแจ้งแล้วผู้ถือหุ้นต้องชำระทันที ซึ่งการเรียกให้ผู้ถือหุ้นชำระเงินค่าหุ้นที่ค้างนั้นในทางปฏิบัติผู้ชำระบัญชีจะทำก็ต่อเมื่อทรัพย์สินของบริษัทที่มีอยู่ไม่พอชำระหนี้
ทรัพย์สินของบริษัท ผู้ชำระบัญชีจะต้องเอาไปชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้ของบริษัทก่อน จะนำไปแบ่งให้ผู้ถือหุ้นไม่ได้ จะเอาไปแบ่งได้ต่อเมื่อมีทรัพย์สินเหลือจากการชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้ทุกรายแล้ว ถ้าผู้ชำระบัญชีเห็นว่าทรัพย์สินของบริษัทมีไม่พอชำระหนี้สินที่มีอยู่ ผู้ชำระบัญชีต้องร้องขอต่อศาลทันทีเพื่อให้ศาลมีคำสั่งให้บริษัท ล้มละลาย
ผู้ชำระบัญชีต้องทำรายงานยื่นต่อสำนัก งานทะเบียนหุ้นส่วนบริษัททุก 3 เดือน เพื่อแสดงให้เห็นว่าผู้ชำระบัญชีได้จัดการชำระบัญชีไปอย่างไรบ้าง ซึ่งรายงานนี้ผู้ถือหุ้นและเจ้าหนี้มีสิทธิที่จะขอตรวจดูได้โดยไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียม และถ้าการชำระบัญชีไม่สามารถทำให้เสร็จสิ้นภายใน 1 ปี ผู้ชำระบัญชีจะต้องเรียกประชุมใหญ่ผู้ถือหุ้นในเวลาสิ้นปีทุกปีและต้องทำรายงานยื่นต่อที่ประชุมว่าได้จัดการชำระบัญชีไปอย่างไรบ้าง ทั้งแถลงให้ทราบถึงความเป็นไปของบัญชีโดยละเอียดด้วย
เมื่อการชำระบัญชีเสร็จสิ้น ผู้ชำระบัญชีต้องทำรายงานการชำระบัญชีแสดงว่าการชำระบัญชีนั้นได้ดำเนินไปอย่างใดและได้จัดการทรัพย์สินของบริษัทไปประการใด แล้วเรียกประชุมใหญ่ผู้ถือหุ้นเพื่อเสนอรายงานนั้น ถ้าที่ประชุมใหญ่ผู้ถือหุ้นอนุมัติรายงานนั้น ผู้ชำระบัญชีต้องนำผลการอนุมัตินั้นไปจดทะเบียนต่อนายทะเบียนภายใน 14 วันนับแต่วันประชุม เมื่อจดทะเบียนแล้วการชำระบัญชีจึงจะถือได้ว่าสิ้นสุดลงแล้ว
เมื่อการชำระบัญชีสิ้นสุดลงแล้วผู้ชำระบัญชีต้องจัดการมอบสมุดบัญชีและเอกสารทั้งหมดของบริษัทให้แก่นายทะเบียนภายใน 14 วัน นับแต่วันประชุมดังกล่าว และนายทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทมีหน้าที่เก็บรักษาสมุดบัญชีและเอกสารดังกล่าวไว้มีกำหนด 10 ปี นับแต่วัน จดทะเบียนเสร็จสิ้นการชำระบัญชี สมุดบัญชีเอกสารเหล่านี้บุคคลผู้มีส่วนได้มีสิทธิตรวจดูได้โดยไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียม (ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1264 - 1271)
ในการฟ้องคดีเรียกหนี้สินซึ่งบริษัท หรือ ผู้ถือหุ้น หรือผู้ชำระบัญชีเป็นลูกหนี้ เจ้าหนี้จะต้องฟ้องภายในกำหนดเวลา 2 ปี นับแต่วัน จดทะเบียนเสร็จสิ้นการชำระบัญชี (ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1272)
ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1250 และ 1264 ผู้ชำระบัญชีจะต้องจัดการชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้ของบริษัทที่ตนชำระบัญชี หากเจ้าหนี้คนใดไม่ทวงถามให้ชำระหนี้ ผู้ชำระบัญชีจะนิ่งเฉยไม่ได้ ผู้ชำระบัญชีต้อง วางเงินเท่าจำนวนหนี้นั้นต่อสำนักวางทรัพย์ กระทรวงยุติธรรมแทนการชำระหนี้ เมื่อกฎหมายกำหนดหน้าที่ไว้เช่นนี้ หากผู้ชำระบัญชีรู้ว่าบริษัทที่ตนชำระบัญชีเป็นหนี้เจ้าหนี้รายใด แต่ผู้ชำระบัญชีไม่จัดการชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้รายนั้น หรือจัดการวางทรัพย์แทนการชำระหนี้ ผู้ชำระบัญชีย่อมได้ชื่อว่า ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ เป็นการจงใจปฏิบัติหน้าที่โดยฝ่าฝืนกฎหมายอันเป็นการละเมิดต่อเจ้าหนี้รายนั้นตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 420 และ 422 เจ้าหนี้รายนั้นย่อมมีสิทธิเรียกร้องให้ผู้ชำระบัญชีรับผิดชำระหนี้ให้แก่ตนได้ในวงเงินไม่เกินเงินหรือทรัพย์สินที่บริษัทนั้นเหลืออยู่
ที่มา: Lawyer Sittiporn lelanapasak. สำนักงานกฎหมายและทนายความ
https://www.facebook.com/lawyer.sittiporn.lelanapasak/posts/777986182244100

ต่อข้อถาม ขอเรียนว่า
ประการที่ 1 ให้ศึกษาหน้าที่ของผู้ชำระบัญชี
ประการที่ 2 ผมยังคงยืนยันแนวคำตอบเดิมทุกประการ ที่เคยตอบว่า
“กรณีเลิกกิจการ และมีการชำระบัญชี หากเจ้าหนี้ยอมยกหนี้ให้แก่บริษัทฯ ในทางภาษีอากรย่อมถือเป็นรายได้เนื่องจากการประกอบกิจการ ตามมาตรา 65 แห่งประมวลรัษฎากร แต่จำนวนภาษีเงินได้นิติบุคคลที่จะชำระต่อทางราชการนั้น ผู้ชำระบัญชีมีหน้าที่รวบรวมจำนวนเงินที่บริษัทฯ มีอยู่เพื่อชำระค่าภาษีเงินได้นิติบุคคลเพียงเท่าที่มีส่วนที่เหลือเท่านั้น ไม่สามารถจะไปหาจากที่ใดมาชำระหนี้ จึงไม่อยู่ในความรับผิดของผู้ชำระบัญชี ทั้งนี้ ตามแนวคำพิพากษาฎีกาที่ 4638/2546 กรมสรรพากร โจทก์ บจ. เอ็มซารูอินเตอร์เนชั่นแนล กับพวก จำเลย”
ประการที่ 3 หากเจ้าพนักงานประเมินจะทำการประเมินบริษัทฯ ก็ย่อมเป็นอำนาจหน้าที่ของเจ้าพนักงานประเมินที่จะกระทำได้ แต่ดำเนินการไปแล้ว รัฐได้อะไรจากการดำเนินการนั้น นั่นก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง “หนี้ภาษีอากรเพิ่มขึ้น และแถมยังเป็นหนี้เสีย NPL ที่ไม่มีโอกาสจะได้รับชำระหนี้” กรมสรรพากรต้องมีภาระค่าใช้จ่ายในการติดตามเร่งรัดให้ชำระหนี้ แต่ก้ไม่ได้รับชำระอีกเป็นร้อย กระบวนงาน กระทบถึงงานอื่นๆ อีกมากมาย
ประการที่ 4 ในกรณี worst case กรณีบริษัทฯ ถูกประเมินภาษี
....“หากผู้ชำระบัญชีรู้ว่าบริษัทที่ตนชำระบัญชีเป็นหนี้เจ้าหนี้รายใด แต่ผู้ชำระบัญชีไม่จัดการชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้รายนั้น หรือจัดการวางทรัพย์แทนการชำระหนี้ ผู้ชำระบัญชีย่อมได้ชื่อว่า ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ เป็นการจงใจปฏิบัติหน้าที่โดยฝ่าฝืนกฎหมายอันเป็นการละเมิดต่อเจ้าหนี้รายนั้นตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 420 และ 422 เจ้าหนี้รายนั้นย่อมมีสิทธิเรียกร้องให้ผู้ชำระบัญชีรับผิดชำระหนี้ให้แก่ตนได้ในวงเงินไม่เกินเงินหรือทรัพย์สินที่บริษัทนั้นเหลืออยู่” ไม่ใช่ต้องควักเนื้อของตนเองแต่อย่างใด
ตอบเมื่อ 5 ส.ค. 2560  .  ตอบโดย อจ.สุเทพ