ผมอยากให้ทุกคนเข้าใจประมวลรัษฎากร และนำไปใช้ได้อย่างถูกต้อง
สุเทพ พงษ์พิทักษ์

ออกใบกำกับภาษีและใบลดหนี้โดยไม่มีสิทธิที่จะออกตามกฎหมาย (นำมาจากเฟรสบุ๊ค อจ.)

ถามวันที่ 3 ธ.ค. 2560  .  ถามโดย wiwatc  .  เข้าชม 9 ครั้ง

คุณ Windy Let (29 ธันวาคม พ.ศ. 2560 เวลา 11:48 น.)
เรียน อ. สุเทพ หนูขอรบกวนปรึกษาปัญหาภาษี
เนื่องด้วย บริษัท ก ได้มีการขายและส่งมอบสินค้าพร้อมใบกำกับให้ ลูกค้า เมื่อวันที่ 16/12/59 ต่อมา บริษัท ก ได้มีการติดตามหนี้ในปี 60 ลูกค้าแจ้งกลับว่าไม่ได้รับใบกำกับภาษีและไม่ได้มีการใช้ภาษีซื้อด้วย จึงขอให้ทาง บริษัท ก ออกใบกำกับภาษีให้ใหม่เป็นวันที่ปัจจุบัน บริษัท ก จึงทำการออกใบลดหนี้ และออกใบกำกับภาษีให้ใหม่ แต่ลูกค้าปฏิเสธไม่รับใบลดหนี้ จะรับแค่ใบกำกับภาษีเท่านั้น กรณีนี้หากทาง บริษัท ก ออกใบลดหนี้และส่งมอบให้ลูกค้าแล้วแต่ลูกค้าไม่รับ บริษัท ก จะมีความผิดไหมคะ รบกวนอาจารย์ด้วยค่ะ
ขอบพระคุณมากค่ะ

สุเทพ พงษ์พิทักษ์
วิสัชนา:
กรณีบริษัท ก ได้มีการขายสินค้าและส่งมอบใบกำกับให้แก่ลูกค้า ไปแล้วเมื่อวันที่ 16 ธันวาคม พ.ศ. 2559 ต่อมาในปี 2560 บริษัท ก ได้ทำการติดตามทวงถามหนี้ แต่ลูกค้าแจ้งกลับว่าไม่ได้รับใบกำกับภาษีและไม่ได้มีการใช้ภาษีซื้อด้วย จึงขอให้บริษัท ก ออกใบกำกับภาษีให้ใหม่เป็นวันที่ปัจจุบัน บริษัท ก จึงทำการออกใบลดหนี้ และออกใบกำกับภาษีให้ใหม่ แต่ลูกค้าปฏิเสธไม่รับใบลดหนี้ จะรับแค่ใบกำกับภาษีเท่านั้น
กรณีเช่นนี้
1. บริษัท ก ควรตรวจสอบว่า ในเวลาที่ส่งมอบสินค้า และใบกำก้บภาษี บริษัทฯ มีหลักฐานการรับสินค้า และลงลายมือชื่อรับใบกำกับภาษีจากลูกค้าเป็นหลักฐานไว้หรือไม่เพียงใด
2. ใบกำกับภาษีฉบับแรกที่ออกไปให้แก่ลูกค้า บริษัท ก ได้นำไปบันทึกเป็นภาษีขาย และคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่ม สำหรับเดือนภาษีธันวาคม พ.ศ. 2559 แล้ว ย่อมเป็นภาษีซื้อของลูกค้าตามมาตรา 82/4 แห่งประมวลรัษฎากร แล้ว
3. การนำภาษีมูลค่าเพิ่มตามใบกำกับภาษีดังกล่าว ให้ถือเป็นภาษีซื้อของเดือนธันวาคม พ.ศ. 2559 เท่านั้น เว้นแต่ในระยะเวลาไม่เกิน 6 เดือนถัดจากเดือนที่ระบุในใบกำกับภาษี ผู้ประกอบการจดทะเบียนที่เป็นผู้ซื้อมีสิทธินำไปใช้เป็นภาษีซื้อของเดือนภาษีในช่วงเวลาดังกล่าวได้
4. ดังนั้น เมื่อพ้นกำหนดระยะเวลา 6 เดือนถัดจากเดือนที่ระบุในใบกำกับภาษี ผู้ประกอบการจดทะเบียนที่เป็นผู้ซื้อต้องนำใบกำกับภาษีซื้อสำหรับเดือนภาษีธันวาคม พ.ศ. 2559 ไปยื่นแบบเพิ่มเติมและขอคืนเป็นเงินสดสำหรับเดือนภาษีดังกล่าวเท่านั้น โดยต้องขอใบแทนใบกำกับภาษีตามมาตรา 82/12 แห่งประมวลรัษฎากร ไปใช้แทนใบกำกับภาษีฉบับเดิมเท่านั้น
5. การที่ผู้ประกอบการจดทะเบียนที่เป็นผู้ซื้อขอให้บริษัท ก ออกใบกำกับภาษีฉบับใหม่ลงวันเดือนปีปัจจุบันนั้น ถือเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้องในระบบภาษีมูลค่าเพิ่มอย่างยิ่ง ดัวยเหตุผลดังนี้
(1) เป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายภาษีมูลค่าเพิ่ม และทำลายความศักดิ์สิทธิ์ของระบบใบกำกับภาษีที่ตราไว้ในกฎหมาย
(2) การที่บริษัท ก ออกใบกำกับภาษีและใบลดหนี้พร้อมกัน ในเดือนภาษีปัจจุบัน ถือเป็นกรณีที่บริษัท ก ไม่มีสิทธิที่จะออกใบกำกับภาษีและใบลดหนี้ ตามมาตรา 86/13 แห่งประมวลรัษฎากร ต้องรับผิดเสียภาษีมูลค่าเพิ่มตามใบกำกับภาษี แต่ไม่มีสิทธินำภาษีมูลค่าเพิมตามใบลดหนี้ไปหักออกจากภาษีขายตามใบกำกับภาษีได้ เพราะเป็นการออกโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย หากแต่ต้องรับผิดเสียภาษีมูลค่าเพิ่มตามใบกำกับภาษีที่ออกให้ใหม่ พร้อมทั้งเบี้ยปรับตามมาตรา 89 (6) แห่งประมวลรัษฎากร อีก 2 เท่าของจำนวนภาษีตามใบกำกับภาษี และอีก 2 เทาของจำนวนภาษีมูลค่าเพิ่มตามใบลดหนี้ รวมเป็น 4 เท่าของจำนวนภาษีมูลค่าเพิ่ม และยังต้องระวางโทษทางอาญาตามมาตรา 90/4 (3) แห่งประมวลรัษฎากร โดยบริษัทฯ ต้องระวางโทษจำคุกโดยกรรมการ กระทงละตั้งแต่ 3 เดือนถึง 7 ปี และปรับตั้งแต่ 2,000 บาทถึง 200,000 บาท
(3) ผู้ประกอบการจดทะเบียนที่เป็นผู้ซื้อ ไม่มีสิทธินำภาษีซื้อตามใบกำกับภาษีที่บริษัท ก ออกให้ไปใช้เป็นภาษีซื้อเพื่อเครดิตหักออกจากภาษีขายในการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับเดือนภาษีปัจจุบับได้ เพราะเป็นใบกำกับภาษีที่ออกโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ต้องห้ามตามมาตรา 82/5 (5) แห่งประมวลรัษฎากร หากฝืนนำไปใช้ต้องรับผิดเสียเบี้ยปรับตามมาตรา 89 (3) หรือ (4) แห่งประมวลรัษฎากร เป็นเงิน 1 เท่าของจำนวนภาษีมูลค่าเพิ่มตามใบกำกับภาษี
6. ขอแนะนำให้บริษัท ก ยกเลิกใบกำกับภาษีและใบลดหนี้ที่ออกให้แกลูกค้า และหากมีความเชือเช่นเดียวกับคำตอบนี้ ก็รีบแจ้งให้ลูกค้าทราบถึงโทษทัณฑ์ทางภาษีที่จะเกิดขึ้นกับทั้งสองฝ่าย ไม่พึงดันทุรัง หากมีความเสียหายทางธุรกิจเกิดขึ้นเพราะการไม่ได้รับใบกำกับภาษี ให้เจรจาลดหนี้ค่าภาษีมูลค่าเพิ่มกันจะดีกว่า

1 คำตอบ
ดีแล้ว ชอบแล้ว (สาธุครับ)
ตอบเมื่อ 8 ม.ค. 2562  .  ตอบโดย อจ.สุเทพ