ผมอยากให้ทุกคนเข้าใจประมวลรัษฎากร และนำไปใช้ได้อย่างถูกต้อง
สุเทพ พงษ์พิทักษ์

ภาษีซื้อที่เกิดขึ้นจากการก่อสร้างอาคารบนที่ดินของกรรมการ

ถามวันที่ 11 ม.ค. 2561  .  ถามโดย อจ.สุเทพ  .  เข้าชม 24 ครั้ง

ปุจฉา กรณีบริษัทจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มทำธุรกิจเกี่ยวกับการให้บริการสถานที่ในการถ่ายทำละคร หนัง ภาพยนตร์ และได้ทำการลงทุนก่อสร้างอาคารสำนักงานบนที่ดินของกรรมการและขออนุญาตปลูกสร้างอาคารดังกล่าวในชื่อของกรรมการ โดยกรรมการได้จัดทำหนังสือยินยอมให้ที่ดินและอาคารดังกล่าวเป็นสถานประกอบการของบริษัทฯ โดยไม่จำกัดระยะเวลา ให้ใช้ตราบที่บริษัทฯ ยังคงประกอบกิจการ และกำหนดว่า ค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจากตัวอาคารดังกล่าวทั้งหมดบริษัทฯ เป็นผู้จ่าย อยากทราบว่า ภาษีซื้อที่เกิดขึ้นจากการก่อสร้าง และค่าใช้จ่ายในสถานประกอบการดังกล่าว
1. บริษัทฯ สามารถนำภาษีซื้อมาขอคืนในแบบ ภ.พ.30 ได้หรือไม่?
2. รายจ่ายจากการลงทุนในอาคาร บริษัทฯ สามารถนำมาคำนวณค่าเสื่อมเพื่อเป็นรายจ่ายของบริษัทฯ ได้หรือไม่

วิสัชนา กรณีตามข้อเท็จจริง กรรมการเป็นผู้ขออนุญาตปลูกสร้างอาคารสำนักงานบนที่ดินของตนเอง โดยกรรมการได้จัดทำหนังสือยินยอมให้ที่ดินและอาคารดังกล่าวเป็นสถานประกอบการของบริษัทฯ โดยไม่จำกัดระยะเวลา ให้ใช้ตราบที่บริษัทฯ ยังคงประกอบกิจการ และกำหนดว่า ค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจากตัวอาคารดังกล่าวทั้งหมดบริษัทฯ เป็นผู้จ่าย นั้น
1. บริษัทฯ เป็นเพียงผู้ออกค่าใช้จ่ายในการก่อสร้างอาคารบนที่ดินของกรรมการ หาใช่บริษัทฯ เป็นเจ้าของทรัพย์สินอาคารแต่อย่างใดไม่ เสมือนเป็นการสร้างอาคารแล้วยกให้แก่กรรมการ โดยได้สิทธิในการใช้อาคารไม่จำกัดเวลา ดังนั้น บริษัทฯ จึงไม่สามารถนำภาษีซื้อจากการก่อสร้างอาคารไปใช้เป็นเครดิตหักออกจากภาษีขายในการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่มที่ต้องชำระในแบบ ภ.พ.30 ได้ เนื่องจากอาคารไม่ใช่กรรมสิทธิ์ของบริษัท

2. การก่อสร้างอาคารให้แก่กรรมการ และได้สิทธิการใช้โดยไม่จำกัดอายุนั้น โดยทั่วไปในทางภาษีอากรถือว่า สิทธิการใช้อาคารดังกล่าวมีกำหนดเวลาอายุการใช้งาน 10 ปี หรือให้หักค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคาสิทธิอย่างอื่นไม่เกินร้อยละ 10 ของมูลค่าแห่งสิทธินั้น ตามมาตรา 4 (4) แห่งพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 145) พ.ศ. 2527 ดังนี้
“(4) ต้นทุนเพื่อการได้มาซึ่งสิทธิในกรรมวิธีสูตร กู๊ดวิล เครื่องหมายการค้าสิทธิประกอบกิจการตามใบอนุญาต สิทธิบัตร ลิขสิทธิ์หรือสิทธิอย่างอื่น กรณีไม่จำกัดอายุการใช้ ร้อยละ 10”
นอกจากนี้ มูลค่าอาคารที่บริษัทฯ ได้จ่ายย่อมถือเป็นเงินได้ของกรรมการตามนัยคำสั่งกรมสรรพากรที่ ป. 1/2526 ประกอบกับประกาศกระทรวงการคลัง เรื่อง ผู้มีเงินได้จากการให้เช่าทรัพย์สินไม่ยื่นรายการเงินได้ให้ครบถ้วน ลงวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2528

อย่างไรก็ตาม หากข้อเท็จจริงเปลี่ยนไปเป็นว่าบริษัทฯ เป็นผู้ปลูกสร้างอาคารเอง และถือกรรมสิทธิ์ในอาคารไว้ บริษัทฯ ก็ย่อมสามารถใช้ภาษีซื้อจากการก่อสร้างอาคารนั้นได้

ปุจฉา: กรณีบริษัทฯ ได้สร้างอาคารโรงงานบนที่ดินของกรรมการ โดยไม่ได้มีการทำสัญญาเช่าที่ดินต่อกัน และไม่ได้มีการคิดค่าเช่าที่ดิน เป็นการยินยอมให้ใช้เป็นสถานประกอบการ ซึ่งบริษัทฯ ได้ทำการก่อสร้างอาคารโรงงานเพื่อใช้ในการประกอบกิจการ จึงขอสอบถามอาจารย์ ดังนี้
- บริษัทฯ รับรู้อาคารโรงงานที่ก่อสร้างเป็นทรัพย์สินของบริษัทฯ ได้หรือไม่ โดยค่าเสื่อมราคาและภาษีซื้อที่เกิดจากการก่อสร้างโรงงานสามารถใช้ได้หรือไม่
ขอบคุณค่ะ"

วิสัชนา:
กรณีบริษัทฯ ก่อสร้างอาคารโรงงานบนที่ดินของกรรมการ เพื่อใช้ในการประกอบกิจการของบริษัทฯ โดยไม่ได้มีการทำสัญญาเช่าที่ดินต่อกัน และกรรมการไม่ได้คิดค่าเช่าที่ดิน และกรรมการยินยอมให้ใช้เป็นสถานประกอบการ นั้น อาจแยกพิจารณาได้ดังนี้
1. แม้ไม่มีสัญญาเช่าที่ดิน แต่การยินยอมให้ใช้ที่ดินเพื่อใช้เป็นสถานประกอบการของบริษัทฯ ก็ถือได้ว่ากรรมการยอมรับการก่อสร้างอาคารของบริษัทฯ บนที่ดินของกรรมการแล้ว
2. กรรมสิทธิ์ในอาคารโรงงานยังคงถือเป็นของบริษัทฯ ตราบเท่าที่กรรมการยังคงยินยอมให้ใช้ที่ดินอันเป็นทีตั้งอาคารโรงงานนั้น
3. เมื่อบริษัทฯ ไม่มีความจำเป็นต้องใช้อาคารโรงงานนั้นอีก กรรมสิทธิ์ในอาคารย่อมตกเป็นของกรรมการ โดยถือเป็นส่วนควบของที่ดิน ตามมาตรา 144 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ดังนี้
...."มาตรา 144 ส่วนควบของทรัพย์ หมายความว่า ส่วนซึ่งโดยสภาพแห่งทรัพย์ หรือโดยจารีตประเพณีแห่งท้องถิ่นเป็นสาระสำคัญในความเป็นอยู่ของทรัพย์นั้น และไม่อาจแยกจากกันได้ นอกจากจะทำลาย ทำให้บุบสลาย หรือทำให้ทรัพย์นั้น เปลี่ยนแปลงรูปทรง หรือสภาพไป เจ้าของทรัพย์ย่อมมีกรรมสิทธิ์ในส่วนควบของทรัพย์นั้น"
4. เมื่อกรรมสิทธิ์ในอาคารโรงงานตกเป็นของกรรมการวันใด ให้กรรมการรับรู้เป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (8) ประกอบมาตรา 39 แห่งประมวลรัษฎากร โดยจะต้องตีราคาทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดเป็นเงินได้พึงประเมิน ตามราคาหรือค่าอันพึงมีในวันที่ได้ทรัพย์สินหรือประโยชน์นั้น ตามมาตรา 9 ทวิ แห่งประมวลรัษฎากร
5. บริษัทฯ ต้องเสียภาษีโรงเรือนและที่ดินสำหรับอาคารโรงงาน

ต่อข้อถาม ขอเรียนว่า
1. บริษัทฯ รับรู้อาคารโรงงานที่ก่อสร้างเป็นทรัพย์สินของบริษัทฯ ได้ตามเงื่อนไขข้างต้น
2. บริษัทฯ มีสิทธิคำนวณค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคาสำหรับต้นทุนการก่อสร้างอาคารโรงงานได้ตามมาตรา 65 ทวิ (2) แห่งประมวลรัษฎากร ประกอบกับมาตรา 4 (1) แห่งพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 145) พ.ศ. 2527
3. บริษัทฯ มีสิทธินำภาษีซื้อที่เกิดจากการก่อสร้างอาคารโรงงานเพื่อใช้ในกิจการที่อยู่ในข่ายที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มไปเครดิตหักออกจากภาษีขายในการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่มที่ต้องเสียได้ตามมาตรา 82/3 แห่งประมวลรัษฎากร