ผมอยากให้ทุกคนเข้าใจประมวลรัษฎากร และนำไปใช้ได้อย่างถูกต้อง
สุเทพ พงษ์พิทักษ์

การให้บริการที่ได้ทำในต่างประเทศ

ถามวันที่ 8 ต.ค. 2561  .  ถามโดย kateboonma  .  เข้าชม 12 ครั้ง

เรียน ท่านอาจารย์สุเทพ
รบกวนสอบถามอาจารย์เกี่ยวกับการให้บริการที่ทำในต่างประเทศค่ะ
บริษัท จดทะเบียน ด้านการให้บริการเกี่ยวกับงานด้านวิศวกรรม ทั้งด้านการออกแบบ และให้คำปรึกษาเกี่ยวกับธุรกิจทางทะเล ทุกประเภท รวมถึงการเป็นนายหน้าในการจัดหา จัดจ้าง และหาผู้เชี่ยวชาญ เกี่ยวกับงานอุตสาหกรรมด้านพลังงานทั้งในและต่างประเทศ

บริษัทได้รับการว่าจ้างจากบริษัทในประเทศอินโดนีเซียให้จัดหาคน ที่มีความรู้เกี่ยวกับการวางสายไฟใต้น้ำ เพื่อไปทำงานวางสายไฟ บนเกาะแห่งหนึ่งในประเทศอินโดนีเซีย โดย บริษัทจะส่งใบแจ้งหนี้ไปเรียกเก็บลูกค้าที่ประเทศอินโดนีเซียแบ่งออกเป็น 2 ประเภท
1.1 บริษัทต้องส่งอินวอยไปเรียกเก็บลูกค้าตามวันที่ทำงานจริง ตามค่าแรงที่ได้ตกลงกัน ในสัญญากับลูกค้าในประเทศอินโดนีเซีย (ต่อคน/ต่อวัน)
1.2 บริษัทต้องส่งอินวอยไปเรียกเก็บ ค่าเดินทาง ในข้อนี้หมายรวมถึง วันเดินทางออกจากบ้านของลูกจ้าง (ตามค่าจ้างรายวัน) จนวันที่ไปถึงเรือ พร้อมค่าตั๋วเครื่องบิน และค่าโรงแรมที่จะต้องพักในระหว่างเดินทาง โดยบริษัทลูกค้าจะจ่ายเพิ่มอีก 10% ของค่าตั๋วเครื่องบิน และค่าโรงแรมเป็นค่าดำเนินการให้แก่บริษัท

คำถาม:
1. กรณีที่บริษัทว่าจ้างบุคคลธรรมดาจากต่างประเทศ โดยการส่งประวัติการทำงานไปให้ลูกค้าดูก่อน เมื่อลูกค้าตกลง บริษัทจะเริ่มทำสัญญากับบุคคลนั้น โดยบุคคลดังกล่าวเป็นชาวต่างประเทศ ที่ไม่ได้เข้ามาในประเทศไทยเลย ธุรกรรมดังกล่าวถึงเป็นรายได้ out of Scope หรือไม่ และถ้าเป็น Out of Scope บริษัทจะต้องเฉลี่ยภาษีซื้อหรือไม่

2. ถ้าลูกค้าต้องการผู้เชี่ยวชาญด้านวิศกรรม และบริษัทส่งลูกจ้าง (ตามภงด.1) ซึ่งทำงานอยู่กับบริษัทในไทย โดยใบแจ้งหนี้ที่เรียกเก็บก็เรียกเก็บรวมกับข้อ 1 ธุรกรรมดังกล่าวยังถือเป็นรายได้ Out of Scope หรือไม่

ขอบพระคุณค่ะ

1 คำตอบ
เกี่ยวกับการให้บริการที่ทำในต่างประเทศ
กรณีบริษัทฯ ประกอบกิจการด้านการให้บริการเกี่ยวกับงานด้านวิศวกรรม ทั้งด้านการออกแบบ และให้คำปรึกษาเกี่ยวกับธุรกิจทางทะเล ทุกประเภท รวมถึงการเป็นนายหน้าในการจัดหา จัดจ้าง และหาผู้เชี่ยวชาญ เกี่ยวกับงานอุตสาหกรรมด้านพลังงานทั้งในและต่างประเทศ
บริษัทฯ ได้รับการว่าจ้างจากบริษัทในประเทศอินโดนีเซียให้จัดหาคน ที่มีความรู้เกี่ยวกับการวางสายไฟใต้น้ำ เพื่อไปทำงานวางสายไฟ บนเกาะแห่งหนึ่งในประเทศอินโดนีเซีย โดยบริษัทฯ จะส่งใบแจ้งหนี้ไปเรียกเก็บลูกค้าที่ประเทศอินโดนีเซียแบ่งออกเป็น 2 ประเภท
1. บริษัทฯ ต้องส่งอินวอยไปเรียกเก็บลูกค้าตามวันที่ทำงานจริง ตามค่าแรงที่ได้ตกลงกัน ในสัญญากับลูกค้าในประเทศอินโดนีเซีย (ต่อคน/ต่อวัน)
2. บริษัทฯ ต้องส่งอินวอยไปเรียกเก็บ ค่าเดินทาง ในข้อนี้หมายรวมถึง วันเดินทางออกจากบ้านของลูกจ้าง (ตามค่าจ้างรายวัน) จนวันที่ไปถึงเรือ พร้อมค่าตั๋วเครื่องบิน และค่าโรงแรมที่จะต้องพักในระหว่างเดินทาง โดยบริษัทลูกค้าจะจ่ายเพิ่มอีก 10% ของค่าตั๋วเครื่องบิน และค่าโรงแรมเป็นค่าดำเนินการให้แก่บริษัทฯ

ต่อข้อถาม ขอเรียนว่า:
....การให้บริการตามข้อเท็จจจริงดังกล่าว ของบริษัทฯ นั้น เป็นกิจกรรมการให้บริการในต่างประเทศ และได้ใช้ผลของการให้บริการนั้นในต่างประเทศ (Out - Out) เข้าลักษณะเป็นกิจการที่ไม่อยู่ในบังคับที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม (Out of VAT Scope) ตามมาตรา 77/2 (1) แห่งประมวลรัษฎากร
....1. กรณีที่บริษัทว่าจ้างบุคคลธรรมดาจากต่างประเทศ โดยการส่งประวัติการทำงานไปให้ลูกค้าดูก่อน เมื่อลูกค้าตกลง บริษัทจะเริ่มทำสัญญากับบุคคลนั้น โดยบุคคลดังกล่าวเป็นชาวต่างประเทศ ที่ไม่ได้เข้ามาในประเทศไทยเลย ธุรกรรมดังกล่าวถึงเป็นรายได้ out of VAT Scope
........เกี่ยวกับรายได้ที่ไม่อยู่ในบังคับที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม หรือ Out of VAT Scope กับการเฉลี่ยภาษีซื้อมีหลักเกณฑ์ดังนี้
........(1) กรณีผู้ประกอบการจดทะเบียนต้องเฉลี่ยภาษีซื้อตามส่วนของรายได้ ตามมาตรา 82/6 แห่งประมวลรัษฎากร และประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 29) ของกิจการประเภทที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม และกิจการประเภทที่ไม่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม นั้น ตามข้อ 4 วรรคสอง (ง) ของประกาศกาศอธิบดีกรมสรรพากร (ฉบับที่ 29)ฯ กำหนดให้ผู้ประกอบการจดทะเบียนไมต้องนำ "รายได้ที่เกิดขึ้นจากกรณีผู้ประกอบการจดทะเบียนมีการประกอบกิจการประเภทที่ไม่อยู่ในบังคับต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 77/2 แห่งประมวลรัษฎากร" มาใช้เป็นฐานในการเฉลี่ยภาษีซื้อ
........(2) ผลจากข้อ (1) กรณีผู้ประกอบการจดทะเบียนมีภาษีซื้อสำหรับทรัพย์สินหรือรายจ่ายที่ใช้ร่วมกันระหว่างกิจการที่อยู่ในบังคับที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม และกิจการประเภทที่มีรายได้ไม่อยู่ในบังคับที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม หรือ Out of VAT Scope นั้น ผู้ประกอบการจดทะเบียนไม่ต้องเฉลี่ยภาษีซื้อดังกล่าว แต่อย่างใด
........(3) ภาษีซื้อที่เกี่ยวข้อกับรายได้ที่ไม่อยู่ในบังคับที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม หรือ Out of VAT Scope บริษัทฯ ไม่สามารถนำมาใช้เป็นเครดิตหักออกจากภาษีขายในการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่ม ตามมาตรา 82/3 แห่งประมวลรัษฎากร เพราะเป็นภาษีซื้อต้องห้ามตามมาตรา 82/5 (3) แห่งประมวลรัษฎากร - ภาษีซื้อที่ไม่เกี่ยวข้องโดยตรงกับการประกอบกิจการที่อยู่ในบังคับที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม
....2. ถ้าลูกค้าต้องการผู้เชี่ยวชาญด้านวิศกรรม และบริษัทส่งลูกจ้าง (ตาม ภ.ง.ด.1) ซึ่งทำงานอยู่กับบริษัทในไทย โดยใบแจ้งหนี้ที่เรียกเก็บก็เรียกเก็บรวมกับข้อ 1 ธุรกรรมดังกล่าวยังถือเป็นรายได้ Out of VAT Scope อยู่ต่อไป
ตอบเมื่อ 12 ม.ค. 2562  .  ตอบโดย อจ.สุเทพ