ผมอยากให้ทุกคนเข้าใจประมวลรัษฎากร และนำไปใช้ได้อย่างถูกต้อง
สุเทพ พงษ์พิทักษ์

รายจ่ายไปต่างประเทศเกี่ยวกับการพัฒนาระบบ

ถามวันที่ 20 ก.ค. 2559  .  ถามโดย Hkomut  .  เข้าชม 41 ครั้ง

เรียนอาจารย์สุเทพ
ผมขอสอบถาม ภาษีเงินได้สำหรับนิติบุคคล หัก ณที่จ่าย และ VAT สำหรับรายจ่ายที่พบเจอบ่อยเกี่ยวกับการพัฒนาระบบ โดยจ้างบริษัทต่างประเทศดังนี้

1 license fee
2 annual maintenance
2.1 ไม่ได้ส่งเจ้าหน้าที่เข้ามาในประเทศไทย แต่ให้บริการจากต่างประเทศ
2.2 ส่งเจ้าหน้าที่เข้าในประเทศแต่พำนักอยู่ไม่เกิน 180 วัน
2.3 ส่งตัวแทนมาให้บริการที่บริษัท
3. ค่าติดตั้งและพัฒนาระบบ
3.1โดยส่งชาวต่างชาติเข้ามาในไทย และพำนักอยู่เกิน 180วัน โดยมีค่าที่พักและตั๋วเครื่องเพิ่มเติม
3.2 โดยไม่ได้ส่งชาวต่างชาติเข้าในไทย แต่ให้บริการจากต่างประเทศ

ขอบคุณครับ
โกมุท

1 คำตอบ
เรียน คุณโกมุท
เกี่ยวกับรายจ่ายในการพัฒนาระบบคอมพิวเตอร์ โดยเฉพาะโปรแกรมคอมพิวเตอร์ โดยได้ซื้อสิทธิการใช้ลิขสิทธิ์โปรแกรมคอมพิวเตอร์ เพื่อนำมาใช้ในการทำงานของ บริษัทฯ และกลุ่มบริษัทย่อยโดยบริษัทฯ ไม่มีสิทธิดัดแปลง ทำซ้ำ หรือจำหน่ายให้แก่สาธารณชนนั้น แม้ Software ดังกล่าว เป็น Software มาตรฐานที่ผลิตขึ้นเพื่อจำหน่ายให้แก่บุคคลทั่วไป ไม่ใช่การรับจ้างเขียนเพื่อกิจการของบริษัทฯ โดยเฉพาะ ก็ถือว่าเป็นงานวรรณกรรมอันมีลิขสิทธิ์ ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 เงินได้จากการจำหน่าย Software ทั้งในส่วนที่เป็นค่า license fee หรือค่า annual maintenance โดยไม่ได้มีเจ้าหน้าที่เข้าในประเทศไทย แต่ให้บริการจากต่างประเทศ หรือส่งเจ้าหน้าที่เข้าในประเทศแต่พำนักอยู่ไม่เกิน 180 วัน หรือส่งตัวแทนมาให้บริการที่บริษัทฯ หรือค่าติดตั้งและพัฒนาระบบ โดยส่งชาวต่างชาติเข้ามาในไทย และพำนักอยู่เกิน 180 วัน โดยมีค่าที่พักและตั๋วเครื่องเพิ่มเติม หรือไม่ได้ส่งชาวต่างชาติเข้าในไทย แต่ให้บริการจากต่างประเทศ เหล่านั้นทุกกรณี เข้าลักษณะเป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (3) แห่งประมวลรัษฎากร (หนังสือกรมสรรพากรเลขที่ กค 0702/6596 วันที่ 30 สิงหาคม 2553)
1. กรณีภาษีเงินได้นิติบุคคล ณ ที่จ่ายตามมาตรา 70 แห่งประมวลรัษฎากร
1.1 กรณีจ่ายเงินได้ให้แก่บริษัทที่ตั้งอยู่ในประเทศที่มีอนุสัญญาภาษีซ้อนกับประเทศไทย ต้องพิจารณาว่า การติดตั้งและพัฒนาระบบในประเทศไทย รวมทั้งการบำรุงรักษาประจำปี (Annual Maintenance) โดยส่งเจ้าหน้าที่หรือตัวแทนเข้ามาให้บริการ นั้น เข้าลักษณะเป็นกรณีที่มีสถานประกอบการถาวรในประเทศไทยหรือไม่
(1) หากไม่ถือว่ามีสถานประกอบการถาวรในประเทศไทย ก็ให้คำนวณหักภาษีเงินได้นิติบุคคล ณ ที่จ่าย ตามมาตรา 70 แห่งประมวลรัษฎากร โดยพิจารณาว่า ตามอนุสัญญาภาษีซ้อน กำหนดให้ลดอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคลลงหรือไม่ เพียงใด
(2) หากถือว่ามีสถานประกอบการถาวรในประเทศไทย โดยส่งเจ้าหน้าที่เข้ามาให้บริการเป็นจำนวนวันตามที่อนุสัญญาภาษีซ้อนกำหนด บริษัทต่างประเทศนั้น มีหน้าที่เสียภาษีเงินได้จาก “กำไรจากธุรกิจ” โดยต้องเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลจากฐานกำไรสุทธิ ให้คำนวณหักภาษีเงินได้นิติบุคคล ณ ที่จ่าย ในอัตราร้อยละ 3.0 ของเงินได้ ตามมาตรา 3 เตรส แห่งประมวลรัษฎากร ประกอบกับคำสั่งกรมสรรพากรที่ ท.ป. 4/2528
1.2 กรณีจ่ายเงินได้ให้แก่บริษัทที่ตั้งอยู่ในประเทศที่มีอนุสัญญาภาษีซ้อนกับประเทศไทย
(1) กรณีที่มิได้ประกอบกิจการในประเทศไทย ให้คำนวณหักภาษีเงินได้นิติบุคคล ณ ที่จ่ายตามมาตรา 70 แห่งประมวลรัษฎากร ในอัตราร้อยละ 15.0 ของเงินได้
(2) กรณีมีลูกจ้างผู้ทำการแทนหรือผู้ทำการติดต่อในการประกอบกิจการในประเทศไทย ซึ่งเป็นเหตุให้ได้รับเงินได้หรือผลกำไรในประเทศไทย ให้ถือว่าประกอบกิจการประเทศไทยตามมาตรา 76 ทวิ แห่งประมวลรัษฎากร บริษัทต่างประเทศนั้น มีหน้าที่เสียภาษีเงินได้นิติบุคคลจากฐานกำไรสุทธิ ให้คำนวณหักภาษีเงินได้นิติบุคคล ณ ที่จ่าย ในอัตราร้อยละ 3.0 ของเงินได้ ตามมาตรา 3 เตรส แห่งประมวลรัษฎากร ประกอบกับคำสั่งกรมสรรพากรที่ ท.ป. 4/2528
2. กรณีภาษีมูลค่าเพิ่ม
2.1 กรณีบริษัทฯ ชำระเงินค่าพัฒนาโปรแกรมคอมพิวเตอร์ ให้แก่บริษัทในประเทศสิงคโปร์ ที่มิได้เข้ามาให้บริการในประเทศไทย ถือเป็นการจ่ายค่าบริการให้กับผู้ประกอบการ ซึ่งให้บริการในต่างประเทศและได้มีการใช้บริการนั้นในราชอาณาจักร บริษัทฯ มี หน้าที่ต้องนำส่งภาษีมูลค่าเพิ่ม ตามมาตรา 83/6 (2) แห่งประมวลรัษฎากร โดยฐานภาษี ได้แก่ มูลค่าทั้งหมดที่ผู้ประกอบการได้รับ หรือพึงได้รับจากการให้บริการ
2.2 กรณีบริษัทฯ ชำระเงินค่าพัฒนาโปรแกรมคอมพิวเตอร์ ให้แก่บริษัทในประเทศสิงคโปร์ ที่เข้ามาให้บริการในประเทศไทย ถือเป็นการจ่ายค่าบริการให้กับผู้ประกอบการ ซึ่งเข้ามาให้บริการในประเทศ โดยมิได้จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม บริษัทฯ มี หน้าที่ต้องนำส่งภาษีมูลค่าเพิ่ม ตามมาตรา 83/6 (1) แห่งประมวลรัษฎากร โดยฐานภาษี ได้แก่ มูลค่าทั้งหมดที่ผู้ประกอบการได้รับ หรือพึงได้รับจากการให้บริการ
ทั้งนี้ บริษัทฯ มีสิทธินำภาษีซื้อที่บริษัทฯ ได้เสียไปแล้ว มาหักออกจากภาษีขายในการคำนวณภาษี มูลค่าเพิ่มได้ตามมาตรา 82/3 แห่งประมวลรัษฎากร
ตอบเมื่อ 21 ก.ค. 2559  .  ตอบโดย อจ.สุเทพ