ผมอยากให้ทุกคนเข้าใจประมวลรัษฎากร และนำไปใช้ได้อย่างถูกต้อง
สุเทพ พงษ์พิทักษ์

ภาษีมูลค่าเพิ่ม

ถามวันที่ 21 ก.ค. 2559  .  ถามโดย anny_nas  .  เข้าชม 38 ครั้ง

ภพ.30-06/59 ภาษีซื้อแจ้งไว้เกิน ไม่มีเสียภาษีเพิ่ม เป็นเครดิตยกไป ถึงจะไม่มีภาษียอดที่ยื่นเกินนี้ก็ไม่มีเสียภาษีคะ ไม่ทราบว่าต้องคำนวณเบี้ยปรับเงินเพิ่มอย่างไรค่ะ

1 คำตอบ
เรียน คุณ anny_nas
กรณียื่นแบบ ภ.พ.30 สำหรับเดือนภาษีมิถุนายน 2559 โดยมีภาษีซื้อแจ้งเกิน เช่นนี้ ให้ปรับปรุงยอดภาษีซื้อที่ขอคืนเป็นเครดิตลดลงเท่ากับจำนวนภาษีซื้อที่แจ้งเกิน แล้วยกไปใช้ในเดือนภาษีกรกฎาคม 2559 ให้ถูกต้องตามความเป็นจริง
สำหรับเบี้ยปรับกรณีภาษีซื้อแจ้งเกินสำหรับเดือนภาษีมิถุนายน 2559 นั้น ผู้ประกอบการจดทะเบียน ต้องรับผิดเสียเบี้ยปรับ 1 เท่าของเงินภาษีซื้อที่แจ้งเกินตามมาตรา 89 (4) แห่งประมวลรัษฎากร แต่ผู้ประกอบการสามารถขอลดเบี้ยปรับได้ตามข้อ 5 ของคำสั่งกรมสรรพากรที่ ท.ป. 81/2542 ดังนี้
“ข้อ 5 การลดเบี้ยปรับตามมาตรา 89 (1) มาตรา 89 (2) มาตรา 89 (3) และมาตรา 89 (4) แห่งประมวลรัษฎากร ให้เจ้าพนักงานประเมินมีอำนาจพิจารณาสั่งลดได้ โดยให้ลดลงคงเสียตามอัตราและเงื่อนไขดังต่อไปนี้
(1) ในกรณีผู้มีหน้าที่เสียภาษีหรือผู้มีหน้าที่นำส่งภาษีตามมาตรา 83/7 แห่งประมวลรัษฎากร ได้ยื่นแบบแสดงรายการภาษีหรือแบบนำส่งภาษีและชำระภาษีมูลค่าเพิ่ม พร้อมกับการยื่นแบบแสดงรายการหรือแบบนำส่งนั้น โดยไม่ได้รับคำเตือนหรือคำเรียกตรวจ สอบไต่สวนโดยตรงเป็นหนังสือ ให้เสียเบี้ยปรับดังนี้
(ก) ถ้าชำระภายใน 15 วัน นับแต่วันพ้นกำหนดเวลาชำระภาษี มูลค่าเพิ่ม ให้เสียร้อยละ 2 ของเบี้ยปรับ
(ข) ถ้าชำระภายหลัง 15 วัน แต่ไม่เกิน 30 วัน นับแต่วันพ้น กำหนดเวลาชำระภาษีมูลค่าเพิ่ม ให้เสียร้อยละ 5 ของเบี้ยปรับ
(ค) ถ้าชำระภายหลัง 30 วัน แต่ไม่เกิน 60 วัน นับแต่วันพ้น กำหนดเวลาชำระภาษีมูลค่าเพิ่ม ให้เสียร้อยละ 10 ของเบี้ยปรับ
(ง) ถ้าชำระภายหลัง 60 วัน นับแต่วันพ้นกำหนดเวลาชำระภาษี มูลค่าเพิ่ม ให้เสียร้อยละ 20 ของเบี้ยปรับ...”
ทั้งนี้ โดยยื่นแบบ ภ.พ.30 เพิ่มเติมกรอกเฉพาะเบี้ยปรับตามมาตรา 89 (4) แห่งประมวลรัษฎากรที่ต้องเสียเท่านั้น
ตอบเมื่อ 21 ก.ค. 2559  .  ตอบโดย อจ.สุเทพ