ผมอยากให้ทุกคนเข้าใจประมวลรัษฎากร และนำไปใช้ได้อย่างถูกต้อง
สุเทพ พงษ์พิทักษ์

เรียนถามเพิ่มเติม กรณีจ่ายเงินไปต่างประเทศค่ะ

ถามวันที่ 21 ก.ค. 2559  .  ถามโดย jittima.ve  .  เข้าชม 43 ครั้ง

บริษัท น. (นิติบุคคลไทย) ขายซอฟต์แวร์ พร้อมติดตั้ง และให้บริการพัฒนาซอฟต์แวร์ให้เหมาะสมกับองค์กร และลักษณะเฉพาะงาน

1. กรณีลูกค้า คือ ก อยู่ในไทย แต่บริษัท น. จ้างนิติบุคคล ตปท. คือ S. (นิติบุคคลที่สิงคโปร์) มาดำเนินการการพัฒนาซอฟต์แวร์ให้เหมาะสมกับองค์กร และลักษณะเฉพาะงาน ซึ่ง S ตปท. ส่ง พนง. มาอยู่ที่หน้างานของ ลูกค้าของ บริษัท น. ก็คือ ก. เกิน 183 วัน

1.1 หาก S ต้องยื่น ภงด.50 เสียภาษีเงินได้นิติบุคคลจากฐานกำไรสุทธิ
ต้องให้ พนง.ของ S ยื่นแทนใช่หรือไม่คะ
แล้วถ้า ติดต่อ พนง. ของ S ไม่ได้แล้ว ต้องทำอย่างไรคะ

(ตปท. ไม่มีสาขาในไทย แต่ทำ agreement ส่งพนง.มาไทย และ
บริษัท น. รับผิดชอบค่าที่พัก ค่าภาษี โดยไม่มีความเกี่ยวข้องว่าเป็นสาขาในไทย หรือ ไม่อิสระต่อกัน)

1.2 บริษัท น. ต้องหักภาษี ณ ที่จ่าย ร้อยละ 3 นำส่งด้วยแบบ ภงด.53 ใช่หรือไม่คะ

1.3 ต้องยื่น ภ.พ.36 นำส่งภาษีมูลค่าเพิ่มหรือไม่คะ

2. ลูกค้า ของ น. คือ P เป็นนิติบุคคลที่ฟิลิปปินส์ บริษัท น. จ้าง S ที่สิงคโปร์ ให้ไปพัฒนาซอฟต์แวร์ให้เหมาะสมให้กับลูกค้าของ น. ที่ฟิลิปปินส์

2.1 บริษัท น. ต้องหักภาษี ณ ที่จ่าย เมื่อจ่ายเงินได้ให้ S ตาม มาตรา 70 นำส่งร้อยละ 15 ตามแบบ ภงด.54 หรือไม่คะ

2.2 บริษัท น. ต้องนำส่งภาษีมูลค่าเพิ่ม ตามแบบ ภ.พ.36 หรือไม่คะ

1 คำตอบ
เรียน คุณ jittima.ve
กรณีบริษัท น. (นิติบุคคลไทย) ขายซอฟต์แวร์ พร้อมติดตั้ง และให้บริการพัฒนาซอฟต์แวร์ให้เหมาะสมกับองค์กร และลักษณะเฉพาะงาน
1. การที่บริษัท น. จ้างนิติบุคคล ตปท. คือ S. (นิติบุคคลที่สิงคโปร์) มาดำเนินการการพัฒนาซอฟต์แวร์ให้เหมาะสมกับองค์กร และลักษณะเฉพาะงาน ซึ่ง S ตปท. ส่ง พนง. มาอยู่ที่หน้างานของ ลูกค้าของ บริษัท น. ก็คือ ก. เกิน 183 วัน
1.1 เพียงแค่บริษัท S ส่งพนักงานเข้ามาปฏิบิติงานในประเทศไทยเกิน 183 วัน ยังไม่ถือเป็นสถานประกอบการถาวร เพราะไม่เข้าลักษณะตามวรรค 4 ของข้อ 5 แห่งอนุสัญญาภาษีซ้อนระหว่างประเทศไทย กับสาธารณรัฐสิงคโปร์ ดังนี้
“4. บุคคลที่ทำการในรัฐผู้ทำสัญญารัฐหนึ่งในนามของวิสาหกิจของรัฐผู้ทำสัญญาอีกรัฐหนึ่ง นอกจากนายหน้า ตัวแทนการค้าทั่วไป หรือตัวแทนอื่นใดที่มีสถานภาพเป็นอิสระซึ่งอยู่ในบังคับของวรรค 5 ให้ถือว่าเป็นสถานประกอบการถาวรของรัฐแรกแต่ต้องมีเงื่อนไขว่า
(ก) บุคคลนั้นมี และใช้อำนาจในการเจรจาและทำสัญญาเพื่อหรือในนามของวิสาหกิจนั้นอยู่ในรัฐแรกนั้นเป็นปกติ เว้นไว้แต่ว่ากิจกรรมต่างๆ ของบุคคลนั้นจำกัดอยู่แต่เฉพาะเพียงการซื้อของหรือสินค้าเพื่อวิสาหกิจนั้น หรือ
(ข) บุคคลนั้นได้เก็บรักษามูลภัณฑ์ของของหรือสินค้าซึ่งเป็นของวิสาหกิจนั้นอยู่ในรัฐแรกนั้นเป็นปกติ และดำเนินการส่งมอบของหรือสินค้าจากมูลภัณฑ์นั้น เพื่อหรือในนามของวิสาหกิจนั้นอยู่เป็นประจำ หรือ
(ค) บุคคลนั้นจัดหาคำสั่งซื้อทั้งหมดหรือเกือบทั้งหมดในรัฐแรกนั้นอยู่เป็นปกติเพื่อวิสาหกิจนั้นเอง หรือเพื่อวิสาหกิจนั้น และวิสาหกิจอื่นๆ ซึ่งอยู่ในความควบคุมของวิสาหกิจนั้น หรือมีผลประโยชน์ควบคุมอยู่ในวิสาหกิจนั้น”
ดังนั้นบริษัท S จึงไม่มีหน้าที่ต้องยื่น ภ.ง.ด.50 เสียภาษีเงินได้นิติบุคคลจากฐานกำไรสุทธิ
1.2 บริษัท น. ไม่ต้องหักภาษี ณ ที่จ่าย จากบริษัท S เพราะได้รับยกเว้นตามอนุสัญญาภาษีซ้อน ไทย – สิงคโปร์
1.3 ต้องยื่น ภ.พ.36 นำส่งภาษีมูลค่าเพิ่ม
2. กรณีลูกค้าของ น. คือ P เป็นนิติบุคคลที่ฟิลิปปินส์ บริษัท น. จ้าง S ที่สิงคโปร์ ให้ไปพัฒนาซอฟต์แวร์ให้เหมาะสมให้กับลูกค้าของ น. ที่ฟิลิปปินส์
2.1 บริษัท น. ไม่ต้องหักภาษี ณ ที่จ่าย มาตรา 70 แห่งประมวลรัษฎากร เมื่อจ่ายเงินได้ให้บริษัท S เนื่องจากบริษัท S มิได้มีแหล่งเงินได้ในประเทศไทย แต่อย่างใด
2.2 บริษัท น. ไม่ต้องนำส่งภาษีมูลค่าเพิ่ม ตามแบบ ภ.พ.36 เพราะเป็นกิจกรรมที่ไม่อยู่ในบงคับต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม (Out of VAT Scope)
ตอบเมื่อ 21 ก.ค. 2559  .  ตอบโดย อจ.สุเทพ