ผมอยากให้ทุกคนเข้าใจประมวลรัษฎากร และนำไปใช้ได้อย่างถูกต้อง
สุเทพ พงษ์พิทักษ์

กิจการรถตู้รับส่งนักท่องเที่ยวค่ะ

ถามวันที่ 23 ก.ค. 2559  .  ถามโดย pornnipa.noon  .  เข้าชม 22 ครั้ง

บริษัทดำเนินธุรกิจเกี่ยวกับรถตู้ ประเภทธุรกิจที่แจ้งคือรับขนคนโดยสาร และรายได้ของบริษัทเกิน 1.8 ล้านแต่ไม่ได้จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม เนื่องจากเป็นธุรกิจขนส่งค่ะ

รายได้ของบริษัททั้งหมด มาจากการทำสัญญากับบริษัททัวร์ ซึ่งบริษัทจะต้องจัดหารถตู้พร้อมคนขับเพื่อรับนักท่องเที่ยวไปส่งตามสถานที่ท่องเที่ยวต่างๆ โดยจะได้รับค่าจ้างเป็นรายเดือน และได้รับค่าจ้างเป็นรายเที่ยวสำหรับกรณีที่นักท่องเที่ยวต้องการไปที่อื่นนอกเหนือจากโปรแกรมทัวร์ ซึ่งค่าจ้างรายเที่ยวก็จะได้รับจากบริษัททัวร์เช่นกัน ทั้งนี้บริษัทถูกหัก ณ ที่จ่าย 1 % เป็นค่าขนส่ง
เนื่องจากรถตู้ของบริษัทมีจำนวนไม่พอ จึงมีการจ้างรถตู้จากบุคคลภายนอกร่วมด้วย ซึ่งเป็นการจ้างรถตู้พร้อมคนขับเช่นกัน และหัก ณ ที่จ่าย 1% จากรถตู้ร่วมเป็นค่าขนส่งเช่นกัน
บริษัทเคยขอคืนภาษีปี 56 และในปี 57 บริษัทได้ขอคืนภาษีอีกครั้ง แต่ทางเจ้าหน้าที่สรรพากร(คนละทีมกับปี 56)แจ้งมาเบื้องต้นว่า การดำเนินธุรกิจของบริษัทน่าจะเข้าข่ายเป็นการรับจ้างมากกว่าการขนส่ง โดยส่งข้อหารือภาษีอากร กค 0706/4939 วันที่ 29/5/2546 มาให้ค่ะ ซึ่งตอนนี้ยังไม่ได้มีการสรุปว่าเป็นแบบไหน
อยากทราบว่าการดำเนินธุรกิจของบริษัท เข้าลักษณะเป็นรับจ้าง หรือว่า ขนส่งคะ
ขอบคุณค่ะ

1 คำตอบ
เรียน คุณ pornnipa.noon

ตามหนังสือตอบข้อหารือกรมสรรพากร เลขที่ กค 0706/4939 ลงวันที่ 29 พฤษภาคม 2546 (ตามที่แนบมาท้ายนี้) การที่จะพิจารณาว่า “การตกลงรับขนส่งผู้โดยสารทางเรือและรับเงินค่าขนส่งผู้โดยสารจากโรงแรมและบริษัททัวร์ เข้าลักษณะเป็นการให้บริการที่มิใช่บริการขนส่งสาธารณะ” นั้น ต้องมีข้อเท็จจริงอื่นเพิ่มเติมเข้ามาให้เห็นว่า ผู้ประกอบการขนส่งได้ให้บริการอย่างอื่น เช่น การนำเที่ยว มีไกด์พาชมสถานที่ต่างๆ มิใช่เพียงรับขนส่งเพียงอย่างเดียว

ดังนั้น ตามข้อเท็จจริงที่แจ้งไป หากเป็นสัญญาขนส่งคนโดยสาร ซึ่งมีการดำเนินการขนส่งคนโดยสารจากที่หนึ่งไปยังอีกแห่งหนึ่ง โดยไม่มีการให้บริการใดเพิ่มเติม ถือเป็นการให้บริการขนส่ง ตามมาตรา 608 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ เข้าลักษณะเป็นการให้บริการขนส่งในราชอาณาจักร ไม่เข้าลักษณะเป็นสัญญาจ้างทำของตามมาตรา 587 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
มาตรา 608 อันว่าผู้ขนส่งภายในความหมายแห่งกฎหมายลักษณะนี้คือบุคคลผู้รับขนส่งของหรือคนโดยสารเพื่อบำเหน็จเป็นทางค้าปกติของตน
มาตรา 634 ผู้ขนส่งจะต้องรับผิดต่อคนโดยสารในความเสียหายอันเกิดแก่ตัวเขา หรือในความเสื่อมเสียอย่างใด ๆ อันเป็นผลโดยตรงแต่การที่ต้องชักช้าในการขนส่ง เว้นแต่การเสียหายหรือชักช้านั้นเกิดแต่เหตุสุดวิสัยหรือเกิดแต่ความผิดของคนโดยสารนั้นเอง

เลขที่หนังสือ : กค 0706/4939 วันที่ 29 พฤษภาคม 2546
เรื่อง : ภาษีเงินได้นิติบุคคล กรณีการรับจ้างขนส่งผู้โดยสารทางเรือ
ข้อกฎหมาย: คำสั่งกรมสรรพากร ที่ ท.ป.4/2528 ฯ, คำสั่งกรมสรรพากร ที่ ท.ป.101/2544 ฯ
ข้อหารือ:
การรับจ้างขนส่งทางเรือในทะเลโดยการให้บริการรับส่งผู้โดยสารทั่วไปไปยังสถานที่ใด
เวลาใด และค่าโดยสารเท่าใดขึ้นอยู่กับการตกลง ส่วนกรณีผู้โดยสารซึ่งติดต่อผ่านตัวแทนคือโรงแรมหรือ บริษัททัวร์ การคิดค่าโดยสารจะเป็นไปตามข้อตกลงระหว่างเจ้าของเรือกับตัวแทน และเจ้าของเรือจะรับเงินค่าโดยสารจากตัวแทนไม่ได้รับเงินจากผู้โดยสารโดยตรง โดยเป็นการตกลงด้วยวาจาว่าโรงแรม หรือบริษัททัวร์จะให้เจ้าของเรือไปรับและส่งผู้โดยสารตามคำสั่งของผู้ว่าจ้างโดยคิดค่าบริการเหมาลำ ซึ่งชมรมเรือรับจ้างฯ เห็นว่า กิจการรับจ้างขนส่งทางเรือเป็นการขนส่งผู้โดยสารสาธารณะ บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลหรือนิติบุคคลอื่น ผู้จ่ายเงินได้พึงประเมินที่เป็นค่าขนส่งไม่มีหน้าที่ต้องหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย
แนววินิจฉัย:
การรับจ้างขนส่งผู้โดยสารทางเรือ หากเป็นการรับส่งผู้โดยสารเป็นการทั่วไปเป็นปกติธุระ เข้าลักษณะเป็นการขนส่งสาธารณะ เงินได้จากค่าโดยสารดังกล่าวไม่อยู่ในบังคับต้องถูกหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย
สำหรับกรณีการตกลงรับขนส่งผู้โดยสารทางเรือและรับเงินค่าขนส่งผู้โดยสารจากโรงแรมและบริษัททัวร์ เข้าลักษณะเป็นการให้บริการที่มิใช่บริการขนส่งสาธารณะ ผู้จ่ายเงินได้ซึ่งเป็นบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลหรือนิติบุคคลอื่นมีหน้าที่ต้องหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย กล่าวคือการจ่ายเงินได้ค่าบริการขนส่งตั้งแต่วันที่ 16 กรกฎาคม 2544 ต้องหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย ในอัตราร้อยละ 3.0 ตามข้อ 12/1 ของคำสั่งกรมสรรพากร ที่ ท.ป.4/2528 ฯ ลงวันที่ 26 กันยายน พ.ศ.2528 ซึ่งแก้ไข เพิ่มเติมโดยคำสั่งกรมสรรพากร ที่ ท.ป.101/2544 ฯ ลงวันที่ 27 มิถุนายน พ.ศ.2544 การจ่ายเงินได้ค่าบริการขนส่งตั้งแต่วันที่ 15 กันยายน 2544 เป็นต้นไป ต้องหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายในอัตราร้อยละ 1.0 ตามข้อ 12/4 ของคำสั่งกรมสรรพากร ที่ ท.ป.4/2528 ฯ ลงวันที่ 26 กันยายน พ.ศ. 2528 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยคำสั่งกรมสรรพากร ที่ ท.ป.104/2544 ฯ ลงวันที่ 15 กันยายน พ.ศ. 2544 และการจ่ายเงินได้พึงประเมินที่ต้องหักภาษี ณ ที่จ่าย ต้องมีจำนวนตามสัญญารายหนึ่ง ๆ มีจำนวนตั้งแต่หนึ่งพันบาทขึ้นไป แม้การจ่ายนั้นจะได้แบ่งจ่ายครั้งหนึ่ง ๆ ไม่ถึงหนึ่งพันบาท

เลขตู้ : 66/32452

เลขที่หนังสือ : 0702/6433 วันที่ 9 กรกฎาคม 2558
เรื่อง : อากรแสตมป์ กรณีสัญญาขนส่งสินค้า
ข้อกฎหมาย : ลักษณะแห่งตราสาร 4. และ 6 แห่งบัญชีอัตราอากรแสตมป์
ข้อหารือ:
บริษัท ก. จำกัด หารือปัญหาอากรแสตมป์ กรณีสัญญาขนส่งสินค้า ดังนี้
1. หากเป็นสัญญาขนส่งสินค้า โดยผู้รับจ้างขนส่งสินค้าของผู้ว่าจ้างจากที่หนึ่งไปยังอีกที่หนึ่ง สัญญาต้องเสียอากรแสตมป์หรือไม่ อย่างไร
2. หากเป็นสัญญาขนส่งสินค้า โดยผู้รับจ้างต้องมีรถยกเพื่อขนสินค้าของผู้ว่าจ้างจากคลังสินค้าเรียงขึ้นรถบรรทุก รวมถึงผู้รับจ้างจัดให้มีกรรมกรประจำรถอย่างน้อย ๑ คน เพื่อขนสินค้าลงเรียงกองเก็บ ณ หน่วยงานลูกค้าของผู้ว่าจ้าง และ/หรือหน่วยรับสินค้าปลายทางตามข้อตกลงที่ได้ตกลงกันไว้ กรณีขนขึ้นอาคารให้ขนขึ้นได้ถึงชั้นที่ 2 หากเกินนั้นให้ผู้รับจ้างแจ้งให้ผู้ว่าจ้างทราบเพื่อตกลงค่าจ้างเป็นครั้งคราวโดยไม่ชักช้า สัญญานี้ต้องเสียอากรแสตมป์หรือไม่ อย่างไร
แนววินิจฉัย:
1. กรณีตาม 1. หากเป็นสัญญาขนส่งสินค้า ซึ่งมีการดำเนินการขนส่งสินค้าจากที่หนึ่งไปยังอีกแห่งหนึ่งโดยไม่มีการให้บริการใดเพิ่มเติม ถือเป็นการให้บริการขนส่ง ตามมาตรา ๖๐๘ แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ เข้าลักษณะเป็นการให้บริการขนส่งในราชอาณาจักร ไม่เข้าลักษณะเป็นสัญญาจ้างทำของตามมาตรา 587 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ผู้รับจ้างขนส่งจึงไม่มีหน้าที่เสียอากรแสตมป์ ตามลักษณะแห่งตราสาร 4. แห่งบัญชีอัตราอากรแสตมป์ แต่อย่างไรก็ดี กรณีผู้รับจ้างขนส่งมีการออกใบรับของซึ่งออกให้เนื่องจากกิจการรับขนสินค้าและลงลายมือชื่อพนักงานหรือนายสินค้าของยานพาหนะรับขนส่ง ซึ่งออกรับของดังระบุไว้ในใบรับนั้นเมื่อไม่ได้ออกบิลออฟเลดิง ผู้ออกใบรับของดังกล่าวจะต้องเสียอากรแสตมป์ฉบับละ 1 บาท ตามลักษณะแห่งตราสาร 16. ใบรับของ แห่งบัญชีอัตราอากรแสตมป์
2. กรณีตาม 2. หากเป็นสัญญาขนส่งสินค้า โดยผู้รับจ้างต้องมีรถยกเพื่อขนสินค้าของผู้ว่าจ้างจากคลังสินค้าเรียงขึ้นรถบรรทุก รวมถึงผู้รับจ้างจัดให้มีกรรมกรประจำรถอย่างน้อย 1 คน เพื่อขนสินค้าลงเรียงกองเก็บ ณ หน่วยงานลูกค้าของผู้ว่าจ้าง และ/หรือหน่วยรับสินค้าปลายทาง หากเป็นบริการที่มุ่งผลสำเร็จของงาน เข้าลักษณะเป็นสัญญาจ้างทำของ ตามมาตรา 587 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ผู้รับจ้างมีหน้าที่ต้องเสียอากรแสตมป์ 1 บาท ทุกจำนวนเงิน 1,000 บาท หรือเศษของ 1,000 บาท แห่งสินจ้างที่กำหนดไว้ในสัญญาจ้างทำของ ทั้งนี้ ตามลักษณะแห่งตราสาร 4. จ้างทำของ แห่งบัญชีอัตราอากรแสตมป์

เลขตู้ : 78/39770
ตอบเมื่อ 24 ก.ค. 2559  .  ตอบโดย อจ.สุเทพ