ผมอยากให้ทุกคนเข้าใจประมวลรัษฎากร และนำไปใช้ได้อย่างถูกต้อง
สุเทพ พงษ์พิทักษ์

จำหน่ายทรัพย์สินออกจากทะเบียนทรัพย์สิน

ถามวันที่ 23 ก.ค. 2559  .  ถามโดย phuwiyada  .  เข้าชม 38 ครั้ง

บริษัท ต้องการจำหน่ายทรัพย์สินที่มีอยู่ในทะเบียนทรัพย์สินออกเนื่องจาก
1. ทรัพย์สินนั้น มีราคาตามบัญชี 1 บาทและทรัพย์สินชำรุดไม่สามารถใช้งานได้
2. ทรัพย์สินนั้นยังมีมูลค่าคงเหลือตามบัญชีมากกว่า 1 บาท แต่ชำรุดไม่สามารถใช้งานได้
จะมีวิธีการทำอย่างไรให้ถูกต้องตามหลักกรมสรรพากรค่ะ

1 คำตอบ
เรียน คุณ phuwiyada

หลักเกณฑ์การจำหน่ายทรัพย์สินที่มีอยู่ออกจากทะเบียนทรัพย์สิน กรมสรรพากรได้วางแนวทางปฏิบัติไว้ชัดเจนแล้ว ตามหนังสือตอบข้อหารือ เลขที่หนังสือ กค 0811/09658 ลงวันที่ 14 กันยายน 2542 เรื่อง ภาษีเงินได้นิติบุคคล กรณีการปรับปรุงและการทำลายทรัพย์สิน ดังนี้ (จึงไม่ขอตอบเพิ่มเติม)

ข้อกฎหมาย : มาตรา 65 ทวิ, มาตรา 65 ทวิ(2), มาตรา 65 ตรี (5), มาตรา 65 ตรี (13)
ข้อหารือ :
บริษัทฯ ประกอบธุรกิจโรงภาพยนตร์ระบบมัลติเพล็กซ์ที่ทันสมัย มีการนำเอาเทคโนโลยีที่นำสมัยมาใช้เสมอมาภายใต้สภาวะการแข่งขันที่รุนแรงในธุรกิจประเภทนี้ทางบริษัทฯ จึงจะต้องมีการปรับปรุงประสิทธิภาพของเครื่องมืออุปกรณ์ต่าง ๆ ให้มีความทันสมัยเพื่อสามารถแข่งขันกับคู่แข่งได้ ปัจจุบันมีประเด็นข้อปรึกษาเพื่อถือเป็นแนวทางในการปฏิบัติที่ถูกต้องดังนี้
1. บริษัทฯ ได้มีการเปลี่ยนแปลงระบบคอมพิวเตอร์และพรม โดยแต่เดิมต้นทุนของทรัพย์สินทั้งสองประเภทได้บันทึกเป็นทรัพย์สินตัดค่าเสื่อมราคา 10 ปี ต่อมาเมื่อใช้งานไปได้ 2 - 3 ปี พบว่าสภาพของทรัพย์สินค่อนข้างชำรุดเนื่องจากการใช้งานทำให้การบริการไม่มีประสิทธิภาพ ทางบริษัทฯ จึงตัดสินใจเปลี่ยนทรัพย์สินใหม่เพื่อรักษาภาพพจน์ต่อผู้มาใช้บริการ ส่วนสินทรัพย์ชุดเก่าได้ทุบทำลายและเผา โดยได้ทำการถ่ายวิดีโอเทปและถ่ายรูปไว้เป็นหลักฐาน แต่มิได้แจ้งเจ้าหน้าที่สรรพากรเกี่ยวกับการทำลายทรัพย์สินดังกล่าว ทางบริษัทฯ กระทำไปด้วยความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ แต่กระทำไปด้วยความสุจริตและมีข้อเท็จจริงแสดงเป็นหลักฐานอย่างชัดเจน ซึ่งผู้ตรวจสอบบัญชีของบริษัทฯ ก็รับทราบ
การกระทำดังกล่าวด้วย ทางบริษัทฯ จะสามารถนำต้นทุนที่เหลืออยู่ในบัญชีของทรัพย์สินดังกล่าวมาตัดเป็นค่าใช้จ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลในปีที่มีการทำลายทรัพย์สินนั้นได้หรือไม่ อย่างไร
2. บริษัทฯ ได้มีการทำลายอุปกรณ์เครื่องคอมพิวเตอร์จำนวนหนึ่งและได้นำมูลค่าสุทธิที่เหลืออยู่ทางบัญชีมาคำนวณเป็นค่าใช้จ่ายในการเสียภาษีเงินได้นิติบุคคล แต่ต่อมาภายหลังจากการตรวจเช็คทรัพย์สินปรากฏว่า มีอุปกรณ์คอมพิวเตอร์บางส่วนที่ยังมิได้ทำลายจริง และยังคงใช้งานอยู่ในปัจจุบัน จึงนำค่าใช้จ่ายที่ตัดจ่ายไปนั้นมาบวกกลับและเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลเพิ่มเติมให้ถูกต้องตามข้อเท็จจริง ทางบริษัทฯ จะสามารถนำค่าใช้จ่ายที่บวกกลับมาทยอยตัดเป็นค่าเสื่อมราคาของทรัพย์สินตามอายุการใช้งานที่เหลืออยู่อีกได้หรือไม่อย่างไร
3. บริษัทฯ มีการปรับปรุงทรัพย์สินบางประเภท เช่น เก้าอี้ เครื่องฉายภาพยนตร์ ให้อยู่ในสภาพที่สามารถใช้งานได้เป็นปกติตามอายุการใช้งานของทรัพย์สินแต่ละประเภท ต้นทุนค่าใช้จ่ายต่าง ๆ เพื่อการรักษาประสิทธิภาพการทำงานนี้ บริษัทฯ สามารถตัดเป็นค่าใช้จ่ายในงวดที่เกิดขึ้นจริงใน
การคำนวณกำไรสุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลได้หรือไม่อย่างไร
แนววินิจฉัย :
1. กรณีตาม 1. แยกพิจารณาได้ดังนี้
(1) กรณีทรัพย์สินชำรุดจนไม่สามารถใช้งานได้ บริษัทฯ จะนำมูลค่าต้นทุนที่เหลืออยู่ของทรัพย์สินนั้นตัดเป็นรายจ่ายทั้งจำนวนไม่ได้ แต่หากได้ทำลายหรือขายไปซึ่งทรัพย์สินนั้นก็มีสิทธิตัดต้นทุนที่เหลืออยู่เป็นรายจ่ายได้ ไม่ต้องห้ามตามมาตรา 65 ตรีแห่งประมวลรัษฎากร ทั้งนี้ ตามข้อ 1 แห่ง
คำสั่งกรมสรรพากรที่ ป. 58/2538 ฯ ลงวันที่ 2 สิงหาคม 2538
(2) กรณีการทำลายทรัพย์สินที่ชำรุดไม่สามารถใช้การได้อย่างมีประสิทธิภาพ หากบริษัทฯ สามารถพิสูจน์ได้ว่ามีการทำลายทรัพย์สินดังกล่าวจริง และมีผู้สอบบัญชีของบริษัทฯ รับรองการกระทำดังกล่าว ถือเป็นผลเสียหายจากการประกอบกิจการโดยตรงไม่ต้องห้ามตามมาตรา 65 ตรี (13) แห่งประมวลรัษฎากร จึงมีสิทธินำมูลค่าต้นทุนของทรัพย์สินที่เหลืออยู่ดังกล่าวมาถือเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิได้ ถึงแม้ไม่ได้แจ้งให้เจ้าหน้าที่สรรพากรทราบล่วงหน้าก่อนก็ตาม แต่ในการทำลายครั้งต่อไปเพื่อไม่ให้มีปัญหากับการตรวจของเจ้าหน้าที่จึงขอให้บริษัทฯ ปฏิบัติให้เป็นไปตามคำสั่งกรมสรรพากรที่ ป. 79/2541 ฯ ลงวันที่ 3 พฤศจิกายน พ.ศ. 2541
2. กรณีตาม 2. เมื่ออุปกรณ์เครื่องคอมพิวเตอร์ยังมิได้มีการทำลายจริงและบริษัทฯ ได้นำค่าใช้จ่ายที่ตัดไปนั้นมาบวกกลับและเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลเพิ่มเติมแล้ว บริษัทฯ จึงมีสิทธินำมูลค่าต้นทุนส่วนที่เหลือของอุปกรณ์เครื่องคอมพิวเตอร์ดังกล่าวมาหักค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคาตามอายุการใช้งานที่
เหลืออยู่ได้ตามมาตรา 65 ทวิ (2) แห่งประมวลรัษฎากร
3. กรณีตาม 3. หากการปรับปรุงทรัพย์สินดังกล่าวไม่ได้เป็นการต่อเติมเปลี่ยนแปลง ขยายออก หรือทำให้ดีขึ้นซึ่งทรัพย์สิน แต่เป็นการซ่อมแซมให้คงสภาพเดิมเพื่อให้ทรัพย์สินสามารถใช้การได้เป็นปกติ บริษัทฯ มีสิทธินำรายจ่ายดังกล่าวมาถือเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลได้ไม่ต้องห้าม ตามมาตรา 65 ตรี(5) แห่งประมวลรัษฎากร

เลขตู้ : 62/28306
ตอบเมื่อ 24 ก.ค. 2559  .  ตอบโดย อจ.สุเทพ