ผมอยากให้ทุกคนเข้าใจประมวลรัษฎากร และนำไปใช้ได้อย่างถูกต้อง
สุเทพ พงษ์พิทักษ์

การออกใบกำกับภาษีอย่างย่อ

ถามวันที่ 24 ก.ค. 2559  .  ถามโดย Pthanakusalinee  .  เข้าชม 23 ครั้ง

กิจการจดทะเบียนภาษีมูลต่าเพิ่ม แจ้งว่าค้าปลีก ... แต่ไม่ใช้เครื่องบันทึกเงินสด กิจการปฎิบัติ ดังนี้
1.ออกใบกำกับภาษีอย่างย่อ(พิมพ์เป็นเล่ม มีเล่มที่-เลขที่) สำหรับรายการค้าที่ผู้ซื้อไม่ขอหลักฐาน/ใบกำกับภาษีเต็มรูป
2.ใบกำกับภาษีอย่างย่อดังกล่าว กิจการไม่ได้ขออนุมัติจากกรมสรรพากร
กิจการขายสินค้าทางอินเทอร์เน็ตและขายสินค้าตามงานแฟร์ต่างๆ
คำถาม การปฎิบัติดังกล่าว ถูก/ผิด ประการใด ขอคำแนะนำคะ

ขอบพระคุณคะ

1 คำตอบ
เรียน คุณ Pthanakusalinee

อธิบดีกรมสรรพากร อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 86/6 แห่งประมวลรัษฎากร กำหนดลักษณะและเงื่อนไขของการประกอบกิจการขายสินค้าในลักษณะขายปลีกหรือประกอบกิจการให้บริการในลักษณะบริการรายย่อยแก่บุคคลจำนวนมาก ให้เป็นกิจการค้าปลีก ตามประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 32) เรื่อง กำหนดลักษณะและเงื่อนไขของการประกอบกิจการขายสินค้าในลักษณะ ขายปลีกหรือประกอบกิจการให้บริการในลักษณะบริการรายย่อยแก่บุคคลจำนวนมาก ให้เป็นกิจการค้าปลีกตามมาตรา 86/6 แห่งประมวลรัษฎากร ลงวันที่ 7 กรกฎาคม พ.ศ. 2535 โดยให้ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2535 เป็นต้นไปดังต่อไปนี้
"ข้อ 1 ให้ยกเลิกประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 6) เรื่อง กำหนดลักษณะและเงื่อนไขของการประกอบกิจการขายสินค้าในลักษณะขายปลีกหรือประกอบกิจการให้บริการในลักษณะบริการรายย่อยแก่บุคคลจำนวนมาก ให้เป็นกิจการค้าปลีกตามมาตรา 86/6 แห่งประมวลรัษฎากร ลงวันที่ 25 ธันวาคม พ.ศ.2534
ข้อ 2 การประกอบกิจการขายสินค้าในลักษณะขายปลีกหรือการให้บริการในลักษณะบริการรายย่อยแก่บุคคลจำนวนมาก ซึ่งเป็นกิจการค้าปลีกต้องมีลักษณะหรือเงื่อนไขดังต่อไปนี้
(1) เป็นการขายสินค้าที่ผู้ขายทราบโดยชัดแจ้งว่าเป็นการขายให้แก่ผู้บริโภคโดยตรงและได้ขายในปริมาณซึ่งตามปกติวิสัยของผู้บริโภคนั้นจะนำสินค้าไปบริโภคหรือใช้สอยโดยมิได้มีวัตถุประสงค์ที่จะนำไปขายต่อไป เช่น การขายสินค้าของกิจการแผงลอยกิจการขายของชำ กิจการขายยา กิจการจำหน่ายน้ำมัน และกิจการห้างสรรพสินค้า ทั้งนี้ เฉพาะในการขายสินค้าที่เป็นไปตามลักษณะและหรือเงื่อนไขดังกล่าวข้างต้น
(2) การให้บริการในลักษณะบริการรายย่อยแก่บุคคลจำนวนมาก เช่น การให้บริการของกิจการภัตตาคาร กิจการโรงแรม กิจการซ่อมแซมทุกชนิด กิจการโรงภาพยนต์ และกิจการสถานบริการน้ำมัน เป็นต้น
กิจการภัตตาคารได้แก่กิจการขายอาหารหรือเครื่องดื่มไม่ว่าชนิดใด ๆ รวมทั้งกิจการรับจ้างปรุงอาหารหรือเครื่องดื่ม ทั้งนี้ ไม่ว่าในหรือนอกสถานที่ซึ่งจัดไว้ให้ประชาชนเข้าไปบริโภคได้
(3) ผู้ประกอบการตาม (1) และ (2) ต้องจัดทำใบกำกับภาษีและสำเนาใบกำกับภาษี ซึ่งมีรายการครบถ้วนตามมาตรา 86/4 แห่งประมวลรัษฎากร สำหรับการขายสินค้าหรือการให้บริการทุกครั้งที่ผู้ซื้อสินค้าหรือผู้รับบริการเรียกร้อง พร้อมทั้งส่งมอบใบกำกับภาษีดังกล่าว ให้แก่ผู้ซื้อสินค้าหรือผู้รับบริการ"

การออกใบกำกับภาษีอย่างย่อเป็นสิทธิและหน้าที่ของผู้ประกอบการจดทะเบียนที่ประกอบกิจการขายสินค้าในลักษณะขายปลีกหรือการให้บริการในลักษณะบริการรายย่อยแก่บุคคลจำนวนมาก โดยไม่ต้องขออนุมัติต่ออธิบดีกรมสรรพากร เว้นแต่ประสงค์จะออกใบกำกับภาษีอย่างย่อด้วยเครื่องบันทึกการเก็บเงิน (Cash Register) จึงจะต้องได้รับอนุมัติจากอธิบดีกรมสรรพากร การดำเนินการเกี่ยวกับใบกำกับภาษีอย่างย่อ ตามที่แจ้งไปจึงชอบด้วยกฎหมายแล้ว แต่อย่างไรก็ตามหากผู้ซื้อสินค้าหรือผู้รับบริการประสงค์ที่จะได้ใบกำกับภาษีแบบเต็มรูปตามมาตรา 86/4 แห่งประมวลรัษฎากร ผู้ประกอบการจดทะเบียนก็ต้องมีและจัดทำให้ได้ในทันทีที่ความรับผิดในการเสียภาษีมุลค่าเพิ่มเกิดขึ้น
ตอบเมื่อ 25 ก.ค. 2559  .  ตอบโดย อจ.สุเทพ