ผมอยากให้ทุกคนเข้าใจประมวลรัษฎากร และนำไปใช้ได้อย่างถูกต้อง
สุเทพ พงษ์พิทักษ์

การคิดเบี้ยปรับ ภาษีมูลค่าเพิ่ม

ถามวันที่ 26 ก.ค. 2559  .  ถามโดย Pthanakusalinee  .  เข้าชม 44 ครั้ง

กิจการนำส่งภาษีขายไม่ครบถ้วน และมีภาษีซื้อของเดือนภาษีนั้นด้วย
เมื่อยื่นเพิ่มเติม กิจการต้องเสียเบี้ยปรับจากยอด ภาษีขาย-ภาษีซื้อ หรือ เสียเบี้ยปรับจากยอดภาษีขายอย่างเดียวแล้วนำภาษีซื้อมาหักทีหลังคะ
ขอบพระคุณคะ

1 คำตอบ
เรียน คุณ Pthanakusalinee

กรณีผู้ประกอบการจดทะเบียนยื่นแบบ ภ.พ.30 เพิ่มเติมตามมาตรา 83/4 แห่งประมวลรัษฎากร โดยที่แบบฉบับปกติยื่นภายในกำหนดเวลา นั้น หากตามแบบ ภ.พ.30 ที่ยื่นเพิ่มเติมมีทั้งภาษีขายแจ้งขาด และภาษีซื้อแจ้งขาด ผู้ประกอบการต้องรับผิดเสียเบี้ยปรับตามมาตรา 89 (3) และ (4) แห่งประมวลรัษฎากร กล่าวคือ
เบี้ยปรับตามมาตรา 89 (3) แห่งประมวลรัษฎากร บัญญัติว่า "(3) ยื่นแบบแสดงรายการภาษีหรือแบบนำส่งภาษีไว้ไม่ถูกต้องหรือมีข้อผิดพลาด อันเป็นเหตุให้จำนวนภาษีที่ต้องเสียหรือนำส่งในเดือนภาษีคลาดเคลื่อนไป ให้เสียเบี้ยปรับอีกหนึ่งเท่าของเงินภาษีที่เสียคลาดเคลื่อนหรือที่นำส่งคลาดเคลื่อน" จำนวนภาษีที่ต้องเสียคลาดเคลื่อน ได้แก่ ผลต่างของยอดภาษีขายแจ้งขาดหักยอดภาษีซื้อแจ้งขาด
และเบีี้บปรับตามมาตรา 89 (4) แห่งประมวลรัษฎากร บัญญัติว่า "(4) ยื่นแบบแสดงรายการภาษีไว้ไม่ถูกต้องหรือมีข้อผิดพลาด อันเป็นเหตุให้จำนวนภาษีขายหรือจำนวนภาษีซื้อในเดือนภาษีที่แสดงไว้คลาดเคลื่อนไป ให้เสียเบี้ยปรับอีกหนึ่งเท่าของจำนวนภาษีขายที่แสดงไว้ขาดไป หรือจำนวนภาษีซื้อที่แสดงไว้เกินไป"
กรณีตามข้อเท็จจริงที่แจ้งไป มีประเด็นที่ต้องรับผิดเสียเบี้ยปรับตามมาตรา 89 แห่งประมวลรัษฎากร ทั้งกรณี (3) และ (4) ซึ่งตามข้อ 3 ข้อ 4 และข้อ 5 ของคำสั่งกรมสรรพากรที่ ป. 81/2542 เรื่อง การคำนวณเบี้ยปรับหรือเงินเพิ่มภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 89 และมาตรา 89/1 แห่งประมวลรัษฎากร กำหนดให้เจ้าพนักงานประเมิน "เรียกเก็บเบี้ยปรับเพียงกรณีเดียวซึ่งเป็นกรณีที่จะทำให้เรียกเก็บเบี้ยปรับได้เงินเป็นจำนวนมากกว่า" อันได้แก่ เบี้ยปรับตามมาตรา 89 (4) แห่งประมวลรัษฎากร ที่กำหนดให้เสียเบี้ยปรับ "หนึ่งเท่าของจำนวนภาษีขายที่แสดงไว้ขาดไป" ดังนี้
ข้อ 3 กรณีผู้มีหน้าที่เสียภาษียื่นแบบแสดงรายการภาษี (ภ.พ.30) ไว้ไม่ถูกต้องหรือมีข้อผิดพลาด อันเป็นเหตุให้จำนวนภาษีขายหรือจำนวนภาษีซื้อที่แสดงไว้คลาดเคลื่อนไปตามมาตรา 89(4) แห่งประมวลรัษฎากร ทั้งนี้ ไม่ว่าจะได้ยื่นแบบแสดงรายการภาษีภายในกำหนดเวลาหรือยื่นแบบแสดงรายการภาษีเมื่อพ้นกำหนดเวลา ให้คำนวณเบี้ยปรับดังนี้
(1) กรณีแสดงจำนวนภาษีขายไว้ขาดไป และแสดงจำนวนภาษีซื้อไว้ถูกต้อง ให้คำนวณเบี้ยปรับหนึ่งเท่าของจำนวนภาษีขายที่แสดงไว้ขาดไป
(2) กรณีแสดงจำนวนภาษีขายไว้ขาดไป และแสดงจำนวนภาษีซื้อไว้ขาดไป ให้คำนวณเบี้ยปรับหนึ่งเท่าของจำนวนภาษีขายที่แสดงไว้ขาดไป
(3) กรณีแสดงจำนวนภาษีขายไว้ขาดไป และแสดงจำนวนภาษีซื้อไว้เกินไป ให้คำนวณเบี้ยปรับหนึ่งเท่าของจำนวนภาษีขายที่แสดงไว้ขาดไป และคำนวณเบี้ยปรับอีกหนึ่งเท่าของจำนวนภาษีซื้อที่แสดงไว้เกินไป
(4) กรณีแสดงจำนวนภาษีขายไว้เกินไป และแสดงจำนวนภาษีซื้อไว้ถูกต้อง ไม่ต้องคำนวณเบี้ยปรับแต่อย่างใด
(5) กรณีแสดงจำนวนภาษีขายไว้เกินไป และแสดงจำนวนภาษีซื้อไว้ขาดไป ไม่ต้องคำนวณเบี้ยปรับแต่อย่างใด
(6) กรณีแสดงจำนวนภาษีขายไว้เกินไป และแสดงจำนวนภาษีซื้อไว้เกินไป ให้คำนวณเบี้ยปรับหนึ่งเท่าของจำนวนภาษีซื้อที่แสดงไว้เกินไป
(7) กรณีแสดงจำนวนภาษีขายไว้ถูกต้อง และแสดงจำนวนภาษีซื้อไว้ขาดไป ไม่ต้องคำนวณเบี้ยปรับแต่อย่างใด
(8) กรณีแสดงจำนวนภาษีขายไว้ถูกต้อง และแสดงจำนวนภาษีซื้อไว้เกินไป ให้คำนวณเบี้ยปรับหนึ่งเท่าของจำนวนภาษีซื้อที่แสดงไว้เกินไป

ข้อ 4 กรณีผู้มีหน้าที่เสียภาษียื่นแบบแสดงรายการภาษี (ภ.พ.30) ภายในกำหนดเวลาไว้ไม่ถูกต้องหรือมีข้อผิดพลาดอันเป็นเหตุให้จำนวนภาษีที่ต้องเสียในเดือนภาษีคลาดเคลื่อนไป ให้คำนวณเบี้ยปรับหนึ่งเท่าของจำนวนภาษีที่เสียคลาดเคลื่อนตามมาตรา 89(3) แห่งประมวลรัษฎากร
จำนวนภาษีที่ต้องเสียในเดือนภาษีตามวรรคหนึ่ง หมายความถึง จำนวนภาษีที่ต้องเสียตามมาตรา 82/3 วรรคสอง แห่งประมวลรัษฎากร
จำนวนภาษีที่เสียคลาดเคลื่อนตามวรรคหนึ่ง หมายความถึงผลต่างระหว่างจำนวนภาษีขายหักด้วยภาษีซื้อตามแบบแสดงรายการภาษีกับจำนวนภาษีขายหักด้วยภาษีซื้อที่พึงต้องเสียในเดือนภาษีนั้น
จำนวนภาษีที่เสียคลาดเคลื่อนตามวรรคสาม ได้แก่
(1) กรณีผู้มีหน้าที่เสียภาษียื่นแบบแสดงรายการภาษี (ภ.พ.30) แสดงจำนวนภาษีที่ต้องชำระไว้น้อยกว่าจำนวนภาษีที่พึงต้องชำระในเดือนภาษีนั้น ให้คำนวณเบี้ยปรับตามวรรคหนึ่ง
(2) กรณีผู้มีหน้าที่เสียภาษียื่นแบบแสดงรายการภาษี (ภ.พ.30) แสดงจำนวนภาษีที่ขอคืนไว้มากกว่าจำนวนภาษีที่พึงได้คืนในเดือนภาษีนั้น ไม่ต้องคำนวณเบี้ยปรับตามวรรคหนึ่ง
(3) กรณีผู้มีหน้าที่เสียภาษียื่นแบบแสดงรายการภาษี (ภ.พ.30) แสดงจำนวนภาษีที่ขอคืน แต่ในเดือนภาษีนั้นนอกจากไม่มีจำนวนภาษีที่พึงได้คืนแล้ว ยังมีจำนวนภาษีที่พึงต้องชำระอีกด้วย ให้คำนวณเบี้ยปรับตามวรรคหนึ่งเฉพาะจำนวนภาษีที่พึงต้องชำระ
ข้อ 5 กรณีผู้มีหน้าที่เสียภาษียื่นแบบแสดงรายการภาษี (ภ.พ.30) ภายในกำหนดเวลาไว้ไม่ถูกต้องหรือมีข้อผิดพลาด อันเป็นเหตุให้จำนวนภาษีขายหรือจำนวนภาษีซื้อที่แสดงไว้คลาดเคลื่อนไปตามข้อ 3 และยังเป็นเหตุให้จำนวนภาษีที่ต้องเสียในเดือนภาษีตามข้อ 4 คลาดเคลื่อนไปด้วย ให้คำนวณเบี้ยปรับตามข้อ 3 และยังต้องคำนวณเบี้ยปรับตามข้อ 4 ด้วย

ดังนั้น กรณีผู้ประกอบการจดทะเบียน ยื่นแบบ ภ.พ.30 แสดงยอดภาษีขายขาดไป (ไม่ครบถ้วน) และแสดงยอดภาษีซื้อของเดือนภาษีนั้นขาดไปด้วย
เมื่อยื่นแบบ ภ.พ.30 เพิ่มเติม ผู้ประกอบการจดทะเบียนต้องรับผิดเสียเบี้ยปรับ ตามมาตรา 89 (4) แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่งคำนวณจากยอด "ภาษีขายแจ้งขาด" แต่ในการคำนวณเงินเพิ่มให้นำภาษีซื้อมาหักออกก่อน ที่จะคำนวณเงินเพิ่มในอัตรา 1.5% ของเงินภาษีที่ต้องชำระ
ตอบเมื่อ 26 ก.ค. 2559  .  ตอบโดย อจ.สุเทพ