ผมอยากให้ทุกคนเข้าใจประมวลรัษฎากร และนำไปใช้ได้อย่างถูกต้อง
สุเทพ พงษ์พิทักษ์

รายจ่าย 1 เท่า ตาม พรฏ604

ถามวันที่ 26 ก.ค. 2559  .  ถามโดย churma  .  เข้าชม 30 ครั้ง

เรียน อาจารย์สุเทพ รบกวนสอบถามดังนี้ค่ะ
1. บริษัทฯ นำเข้าเครื่องจักรจากต่างประเทศ เพื่อใช้ในประเทศไทย เครื่องจักรดังกล่าวสามารถใช้สิทธิได้หรือไม่
2. บริษัทฯ มีการก่อสร้างอาคาร คาดว่าจะเสร็จในปี 60 ซึ่งมีการจัดทำสัญญาบางส่วนในปี 59 จึงอยากสอบถามดังนี้
2.1 ค่าใช้จ่ายอื่นๆ ที่ไม่มีสัญญา เกิดขึ้นระหว่างวันที่ 2 พ.ย. 58-31 ธ.ค. 59 ซึ่งถือเป็นรายจ่ายฝ่ายทุนของอาคารสามารถใช้สิทธิได้หรือไม่ค่ะ
2.2 ค่าใช้จ่ายอื่นๆ ที่ไม่มีสัญญา หลังจากวันที่ 31 ธ.ค. 59 ซึ่งถือเป็นรายจ่ายฝ่ายทุนของอาคารเดียวกัน สามารถนำไปรวมเพื่อใช้สิทธิได้หรือไม่ค่ะ ถ้าไม่ได้ ต้องจัดทำแยกออกมาเป็นอาคารเพื่อใช้สิทธิทางภาษี ใช่หรือไม่ค่ะ
3. ค่าเช่าที่ดินเพื่อก่อสร้างอาคาร ถือเป็นรายจ่ายฝ่ายทุนหรือไม่ค่ะ

ขอบพระคุณมากค่ะ

1 คำตอบ
เรียน คุณ churma

เกี่ยวกับการใช้สิทธิประโยชน์ตามพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 604) พ.ศ. 2559
1. สำหรับเครื่องจักรที่บริษัทฯ นำเข้าเครื่องจักรจากต่างประเทศ เพื่อใช้ในประเทศไทย นั้น เครื่องจักรดังกล่าวสามารถใช้สิทธิได้หากเป็นไปตามเงื่อนไขตามประกาศอธิบดี เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 266) ลงวันที่ 17 พฤษภาคม พ.ศ. 2559 ดังต่อไปนี้
- ทรัพย์สินจะนำมาหักเป็นรายจ่ายได้สองเท่า ต้องมีลักษณะดังต่อไปนี้
(1) ไม่เคยผ่านการใช้งานมาก่อน
(2) ต้องสามารถหักค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคาตามมาตรา 65 ทวิ (2) แห่งประมวลรัษฎากร และต้องได้ทรัพย์สินนั้นมาและอยู่ในสภาพพร้อมใช้การได้ตามประสงค์ภายในวันที่ 31 ธันวาคม 2559
(3) ต้องอยู่ในราชอาณาจักร เว้นแต่ยานพาหนะที่จดทะเบียนในราชอาณาจักรตามกฎหมายว่าด้วยยานพาหนะนั้นๆ
(4) ไม่เป็นทรัพย์สินที่ได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษีที่เกี่ยวข้องกับทรัพย์สินนั้นตามพระราชกฤษฎีกาที่ออกตามความในประมวลรัษฎากร ไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน
(5) ไม่เป็นทรัพย์สินที่นำไปใช้ในกิจการที่ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมการลงทุน ไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน เว้นแต่เป็นการนำไปใช้ในโครงการตามมาตรการเร่งรัดการลงทุนของคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนที่ได้รับสิทธิประโยชน์ตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมการลงทุนที่ยังไม่มีการลงทุนจริงและเลือกที่จะไม่ใช้สิทธิประโยชน์นั้น
- ต้องเกิดจากการลงทุน หรือการต่อเติม เปลี่ยนแปลง ขยายออก หรือทำให้ดีขึ้นซึ่งทรัพย์สินที่เกิดขึ้นจากสัญญา ใบสั่งซื้อ ใบสั่งจ้าง หรือข้อตกลงในลักษณะทำนองเดียวกันทั้งสิ้น แล้วแต่กรณี ที่ได้กระทำตั้งแต่วันที่ 3 พฤศจิกายน 2558 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2559

2. กรณีบริษัทฯ มีการก่อสร้างอาคาร คาดว่าจะเสร็จในปี 2560 ซึ่งมีการจัดทำสัญญาบางส่วนในปี 2559 นั้น
- สำหรับอาคารถาวร แต่ไม่รวมถึงที่ดินและอาคารถาวรที่ใช้เพื่อการอยู่อาศัย ต้องเกิดจากการลงทุน หรือการต่อเติม เปลี่ยนแปลง ขยายออก หรือทำให้ดีขึ้นซึ่งทรัพย์สิน นอกจากคุณลักษณะ 5 ข้อตามข้อ 1 ดังนี้
(1) ต้องขออนุญาตก่อสร้างหรือดัดแปลงอาคารตามพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 โดยยื่นคำขอต่อเจ้าพนักงานท้องถิ่นตั้งแต่วันที่ 3 พฤศจิกายน พ.ศ. 2558 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2559 หรือ
(2) ต้องแจ้งก่อสร้างหรือดัดแปลงอาคารตามมาตรา 39 ทวิ แห่งพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 ต่อเจ้าพนักงานท้องถิ่นตั้งแต่วันที่ 3 พฤศจิกายน พ.ศ. 2558 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2559 หรือ
(3) กรณีที่ไม่ถือเป็นการดัดแปลงอาคารตามพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 และกฎกระทรวง ฉบับที่ 11 (พ.ศ. 2528) ออกตามความในพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 จะต้องเกิดจากสัญญาจ้าง ใบสั่งจ้าง หรือข้อตกลงในลักษณะทำนองเดียวกันทั้งสิ้น แล้วแต่กรณี ที่ได้กระทำตั้งแต่วันที่ 3 พฤศจิกายน พ.ศ. 2558 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2559
ต่อข้อถาม ขอเรียนว่า
2.1 ค่าใช้จ่ายอื่นๆ ที่ไม่มีสัญญา เกิดขึ้นระหว่างวันที่ 3 พ.ย. 58 - 31 ธ.ค. 59 ซึ่งถือเป็นรายจ่ายฝ่ายทุนของอาคาร ย่อมไม่สามารถนำมาใช้สิทธิตามกฎหมายได้ เพราะ ต้องตีความโดยเคร่งครัด
2.2 ค่าใช้จ่ายอื่นๆ ที่ไม่มีสัญญา หลังจากวันที่ 31 ธ.ค. 59 ซึ่งถือเป็นรายจ่ายฝ่ายทุนของอาคารเดียวกัน ก็ไม่สามารถนำไปรวมเพื่อใช้สิทธิได้เช่นเดียวกัน ดังนั้น จึงต้องจัดทำรายการแยกต่างหากเพื่อการใช้สิทธิประโยชน์ทางภาษีตาม พ.ร.ฎ. (604) พ.ศ. 2558 แต่ก็ยังคงเป็นทรัพย์สินที่สามารถนำไปหักค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคาตามมาตรา 65 ทวิ (2) แห่งประมวลรัษฎากร ประกอบกับพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 145) พ.ศ. 2527

3. ค่าเช่าที่ดินเพื่อก่อสร้างอาคาร ถือเป็นรายจ่ายฝ่ายทุน แต่ไม่มีสิทธินำมาหักค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคา จึงไม่ได้สิทธิตามพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 604) พ.ศ. 2558 แต่อย่างใด
ตอบเมื่อ 27 ก.ค. 2559  .  ตอบโดย อจ.สุเทพ