ผมอยากให้ทุกคนเข้าใจประมวลรัษฎากร และนำไปใช้ได้อย่างถูกต้อง
สุเทพ พงษ์พิทักษ์

ออกรถให้ผู้รับเหมา

ถามวันที่ 27 ก.ค. 2559  .  ถามโดย cattharien  .  เข้าชม 18 ครั้ง

เรียน อาจารย์สุเทพ ค่ะ
บริษัทดำเนินธุรกิจรับเหมาก่อสร้าง ได้ซื้อรถให้ผู้รับเหมาใช้ เมื่อรถได้จ่ายค่างวดหมดแล้วจะมีการขายโอนไปเป็นชื่อผู้รับเหมา อยากทราบว่า ระหว่างที่รถยังผ่อนค่างวดไม่หมด ทางบริษัทต้องออกบิลค่าเช่ารถ หรือว่าต้องทำอย่างไรบ้างคะ

1 คำตอบ
เรียน คุณ cattharien

กรณีบริษัทฯ ซึ่งประกอบกิจการรับเหมาก่อสร้าง ได้ซื้อรถยนต์ให้ผู้รัเหมาช่วงนำไปใช้งานรับเหมาช่วงกับบริษัทฯ รวมทั้งเพื่อประโยชน์ส่วนตัวของผู้รับเหมา หากเป็นรถยนต์กระบะตอนเดียว (ไม่ว่าจะมีแคบหรือไม่ก็ตาม) ซึ่งไม่ใช่รถยนต์นั่งหรือรถยนต์โดยสารที่มีที่นั่งไม่เกิน 10 คน ตามกฎหมายว่าด้วยพิกัดอัตราภาษีสรรพสามิต บริษัทฯ ย่อมมีสิทธินำภาษีซื้อจากการซื้อรถยนต์ดังกล่าวมาใช้เป็นเครดิตหักออกจากภาษีขายได้ เพราะถือเป็นภาษีซื้อที่เกี่ยวเนื่องโดยตรงกับการประกอบกิจการ แต่บริษัทฯ ต้องมีภาระภาษีดังต่อไปนี้
1. ภาษีมูลค่าเพิ่ม
บริษัทฯ ต้องนำภาษีขายจากการให้ใช้ผู้รับเหมาช่วงใช้รถยนต์ดังกล่าว โดยถือเป็นการให้บริการโดยไม่ได้รับประโยชน์หรือค่าตอบแทน ซึ่งความรับผิดในการเสียภาษีมูลค่าเพิ่มเกิดขึ้นเมื่อผู้รับเหมาช่วงได้ใช้รถยนต์ดังกล่าว ตามมาตรา 78/1 (1) แห่งประมวลรัษฎากร โดยอาจกำหนดเป็นการให้ใช้เป็นรายเดือน ทั้งนี้ หากบริษัทฯ เรียกเก็บภาษีขาย จากผู้รับเหมาข่วง ดังกล่าว บริษัทฯ มีหน้าที่ต้องออกใบกำกับภาษีสำหรับภาษีขายดังกล่าวด้วย แต่ถ้าไม่มีการเรียกเก็บภาษีขายจากผู้รับเหมาช่วง บริษัทฯ จะเลือกออกใบกำกับภาษีหรือไม่ก็ได้ ตามคำสั่งกรมสรรพากรที่ ป. 86/2542

2. ภาษีเงินได้นิติบุคคล
การนำรถยนต์ที่ซื้อมาออกให้ผู้รับเหมาช่วงใช้ (ยืมใช้คงรูป) ถือเป็นการให้บริการโดยไม่มีค่าบริการโดยไม่มีเหตุอันสมควร เจ้าพนักงานประเมินมีอำนาจตามมาตรา 65 ทวิ (4) แห่งประมวลรัษฎากร ในอันที่จะประเมินเรียกเก็บรายได้จากการให้บริการดังกล่าว เพื่อนำมารวมเป็นรายได้ในการคำนวณกำไรสุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลได้ เพื่อประโยชน์ในการเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลให้ถูกต้องตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขทีกฎหมายกำหนด บริษัทฯ จึงควรประเมินรายได้เองโดยไม่ต้องรอให้เจ้าพนักงานประเมินมาทำการประเมินเรียกเก็บ ซึ่งอาจต้องรับผิดเสียเบี้ยปรับ เงินเพิ่ม และใช้เป็นข้ออ้างในการเพิกถอนสิทธิการยกเว้นการตรวจสอบ และประเมินภาษีอากรย้อนหลังตามพระราชกำหนดยกเว้นและสนับสนุนการปฏิบัติการเกี่ยวกับภาษีอากรตามประมวลรัษฎากร พ.ศ. 2558 ได้
สำหรับภาษีขายที่ไม่เรียกเก็บนั้น กรมสรรพากรถือเป็นรายจ่ายต้องห้ามตามมาตรา 65 ตรี (6 ทวิ) แห่งประมวลรัษฎากร
ตอบเมื่อ 27 ก.ค. 2559  .  ตอบโดย อจ.สุเทพ