ผมอยากให้ทุกคนเข้าใจประมวลรัษฎากร และนำไปใช้ได้อย่างถูกต้อง
สุเทพ พงษ์พิทักษ์

ฐานภาษีมูลค่าเพิ่ม

ถามวันที่ 28 ก.ค. 2559  .  ถามโดย yuyee_pra  .  เข้าชม 21 ครั้ง

เรียนอาจารย์สุเทพค่ะ ขอสอบถามเกี่ยวกับภาษี2ข้อค่ะ
1.กรณีนายหน้าตัวแทนประกันชีวิตได้รับค่านาย40(2) บริษัทเอ.ไอ.เอ ออกหนังรับรองภาษีหักณที่จ่าย40(2). จำนวน2,200,000.- และมี50ทวิ เงินรางวัล40(8)อีก300,000.-บาทได้รับจากการทำยอดได้. สอบถามว่าเงินรางวัลที่ได้รับต้องนำมารวมเป็นฐานในการเสียภาษีมูลค่าเพิ่มหรือไม่ค่ะ

2. กรณีสัญญาเช่าที่ดินและสิทธิการเช่า. ทำสัญญาตั้งแต่ปี2533ถึงปี2563 สัญญาเช่าและโฉนดเป็นชื่อภรรยายื่นแบบภงด.93ตั้งแต่ปี2533ในชื่อสามี
ต่อมาปี2556ถึงปัจจุบัน ภรรยายื่นแบบภงด.90/94ค่าเช่าในชื่อภรรยาแต่สิทธิการเช่ายื่นแบบภงด.90ในชื่อสามีนำภาษีตามแบบภงด.93มาขอคืนในชื่อสามีเพราะเข้าใจเองว่าใบเสร็จภงด.93ที่ออกให้เป็นชื่อสามี กรณีเช่นนี้สามีสามารถทำได้หรือไม่ค่ะ
ขอบคุณอาจารย์ค่ะ

1 คำตอบ
เรียน คุณ yuyee_pra

1. เงินรางวัลที่นายหน้าตัวแทนประกันชีวิตได้รับจากบริษัทประกันชีวิต หากเป็นรางวัลที่ได้เพิ่มเติมอันสืบเนื่องมาแต่การเป็นตัวแทนนายหน้า ต้องนำมารวมเป็นฐานในการเสียภาษีมูลค่าเพิ่มด้วย แต่ถ้าเป็นรางวัลจากการประกวดแข่งขัน (Contest) ซึ่งเป็นรางวัลจากการส่งเสริมการขาย ที่เข้าลักษณะเป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (8) แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่งมิได้เกิดจากการให้บริการหรือการขายสินค้าใดๆ ให้แก่บริษัทประกันชีวิต ก็เป็นรายได้ที่ไม่อยู่ในบังคับที่ต้องเสียภาษีมูลค่าของฐานภาษีแต่อย่างใด (Out of VAT Scope)

2. ตามมาตรา 57 ฉ วรรคสาม แห่งประมวลรัษฎากร กำหนดว่า "สามีและภริยาจะตกลงยื่นรายการและเสียภาษีรวมกัน โดยให้ถือเอาเงินได้พึงประเมินของตนเป็นเงินได้ของสามีหรือภริยาอีกฝ่ายหนึ่งก็ได้ หรือจะแยกยื่นรายการและเสียภาษีเฉพาะส่วนที่เป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (1) โดยมิให้ถือเอาเป็นเงินได้ของอีกฝ่ายหนึ่งก็ได้"
ดังนั้น กรณีสัญญาเช่าที่ดินและสิทธิการเช่า ทำสัญญาตั้งแต่ปี 2533 ถึงปี 2563 สัญญาเช่าและโฉนดเป็นชื่อภรรยา ยื่นแบบ ภ.ง.ด.93 ตั้งแต่ปี 2533 ในชื่อสามี
ต่อมาปี 2556 ถึงปัจจุบัน ภรรยายื่นแบบ ภ.ง.ด.90/94 ค่าเช่าในชื่อภรรยา แต่สิทธิการเช่ายื่นแบบ ภ.ง.ด.90 ในชื่อสามีนำภาษีตามแบบ ภ.ง.ด.93 มาขอคืนในชื่อสามี เพราะเข้าใจเองว่าใบเสร็จ ภ.ง.ด.93 ที่ออกให้เป็นชื่อสามี กรณีเช่นนี้สามีสามารถทำได้ตามความในมาตรา 57 ฉ แห่งประมวลรัษฎากร ดัวกล่าว
ตอบเมื่อ 4 ส.ค. 2559  .  ตอบโดย อจ.สุเทพ