ผมอยากให้ทุกคนเข้าใจประมวลรัษฎากร และนำไปใช้ได้อย่างถูกต้อง
สุเทพ พงษ์พิทักษ์

บริษัทจดทะเบียนเป็นธุรกิจบริการ มีการรับจ้างขนส่ง จะได้รับการยกเว้น Vat หรือไม่

ถามวันที่ 29 ก.ค. 2559  .  ถามโดย noolex  .  เข้าชม 31 ครั้ง

1. บริษัทจดทะเบียนเป็นธุรกิจผู้ให้บริการ โดยไม่มีใบอนุญาตประกอบกิจการขนส่ง
ผู้วาจ้างจ้างให้ขนสินค้าไปส่งให้ จากจุดที่กำหนด บริษัทเองได้ว่าจ้างผู้รับจ้างช่วงที่ให้บริการขนส่ง ซึ่งมีใบอนุญาตประกอบกิจการขนส่งได้รับการยกเว้น Vat
กรณีนี้บริษัทจะถือว่าได้รับการยกเว้น Vat กรณีที่รับจ้างขนส่งด้วยหรือไม่คะ เนื่องจากบริษัทเองมีการให้บริการอื่นนอกจากการขนส่งแต่เป็นการให้บริการและมี Vat ทุกรายการค่ะ

**หมายเหตุ การรับจ้างขนส่งดังกล่าว ทางบริษัทเป็นเพียงตัวกลางเท่านั้น ไม่ได้มีการให้บริการอื่นเพิ่มเติมใดๆ จากการขนส่งค่ะ **

2 คำตอบ
เรียน คุณ noolex

กรณีประกอบกิจการให้บริการรับจ้างทำของ โดยมีการให้บริการขนส่ง โดยมิได้เป็นผู้ประกอบการให้บริการขนส่งเป็นปกติ ไม่ว่าจะแยกค่าขนส่งออกจากราคาค่าบริการรับจ้างทำของหรือไม่ ให้นำค่าบริการขนส่งมาถือรวมเป็นส่วนหนึ่งของฐานภาษีจากการให้บริการรับจ้างทำของเพื่อเสียมูลค่าเพิ่มด้วย เช่น กรณีบริษัทฯ เป็นผู้ประกอบการให้บริการดำเนินการออกของจากการท่าเรือและให้บริการขนส่งสินค้าแก่ลูกค้าด้วย หากบริษัทฯ มิได้เป็นผู้ประกอบการให้บริการขนส่งเป็นปกติธุระ แม้บริษัทฯ จะได้ให้บริการขนส่งสินค้าแก่ลูกค้าด้วยไม่ว่าจะใช้ยานพาหนะของตนเองหรือผู้อื่น และไม่ว่าจะแยกค่าขนส่งออกจากราคาค่าบริการออกของได้หรือไม่ บริษัทฯ ต้องนำมูลค่าของการให้บริการขนส่งมารวมกับ ค่าบริการออกของเพื่อรวมคำนวณเป็นฐานภาษีสำหรับการให้บริการ เพื่อเสียภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 79 แห่งประมวลรัษฎากร (เลขที่หนังสือ กค 0811(กม.06)/พ.1664 ลงวันที่ 3 พฤศจิกายน 2543)

กรณีให้บริการรับจ้างขนส่งเป็นปกติธุระ ไม่ว่าจะมีใบอนุญาตประกอบกิจการขนส่งหรือไม่ หากบริษัทฯ สามารถแยกค่าขนส่งและราคาสินค้าหรือค่าบริการออกจากกันได้ การให้บริการขนส่งดังกล่าวได้รับยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 81(1)(ณ) แห่งประมวลรัษฎากร เช่น กรณีบริษัทฯ ได้ให้บริการคลังสินค้า (รับฝากสินค้า) พร้อมขนส่งสินค้าให้กับลูกค้า โดยบริษัทฯ ประกอบกิจการให้บริการขนส่งเป็นปกติธุระ หากบริษัทฯ สามารถแยกค่าขนส่งและราคาค่าบริการเก็บรักษาสินค้าออกจากกันได้ การให้บริการขนส่งดังกล่าวได้รับยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 81(1)(ณ) แห่งประมวลรัษฎากร ส่วนการให้บริการเก็บรักษาสินค้า เข้าลักษณะเป็นการให้บริการ บริษัทฯ มีหน้าที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม โดยออกใบกำกับภาษีและเรียกเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับค่าบริการดังกล่าวตามมาตรา 77/1(10) มาตรา 77/2 และมาตรา 82/4 แห่งประมวลรัษฎากร ดังนั้น เมื่อบริษัทฯ เรียกเก็บค่าบริการจากลูกค้า จึงมีสิทธิแยกคำนวณค่าขนส่งต่างหากจากค่าบริการคลังสินค้าได้ (เลขที่หนังสือ กค 0706/พ./4804 ลงวันที่ 2 มิถุนายน 2549)

ตอบเมื่อ 4 ส.ค. 2559  .  ตอบโดย อจ.สุเทพ
ขอบคุณ อาจารย์มากค่ะ
ตอบเมื่อ 7 ต.ค. 2559  .  ตอบโดย noolex